The Current War สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ
สรุป
หนังจำลองช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ออกมาได้ดี น่าติดตาม แม้ว่าเราจะรู้ผลลัพธ์ที่ว่านี้อยู่แล้วก็ตาม หนังทำให้เห็นอีกด้านของเอดิสันที่สีเทาๆ ไม่ได้เป็นภาพนักประดิษฐ์ขาวสะอาดแบบที่เห็นกันตามปกติ
Overall
8/10User Review
( votes)Pros
- นักแสดงชั้นนำเต็มเรื่อง
- เรียนรู้ประวัติศาสตร์อีกด้านของเอดิสัน
- ได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ยุคแรกหลายอย่าง
Cons
- หนังให้บทเทสลาน้อยมากจริงๆ
รีวิว The Current War สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ
ปกติเรามักคุ้นชินชื่อของ “เอดิสัน” อัจฉริยะผู้พาให้โลกให้สว่างไสวในยามกลางคืนด้วยหลอดไฟฟ้า จากหนังสือเรียนสมัยประถม ภาพลักษณ์เอดิสันในหนังสือเรียนมีแต่ด้านดีงาม เป็นตัวแทนของความอุตสาหะ มีพรสวรรค์กับพรแสวงพร้อมกันในตัว แต่ในหนัง The Current War จะพาคุณไปพบกับข้อเท็จจริงอีกด้านว่า เอดิสันก็เป็นคนมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีทั้งทิฐิ เย่อหยิ่งจองหอง มิหนำซ้ำยังเล่นสกปรกสาดโคลนใส่คู่แข่งเพียงเพื่อชัยชนะทางธุรกิจเท่านั้น…
หนังพาเราไปพบกับจุดเริ่มต้นของสงครามไฟฟ้า หลังจากที่ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” ประดิษฐ์หลอดไฟส่องสว่างยาวนานได้สำเร็จ และต้องการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้ากระแสตรง DC เพื่อใช้กับหลอดไฟกระแสตรงของเขา แต่ไม่ใช่เอดิสันคนเดียวที่ลงมาทำสิ่งนี้ “จอร์จ เวสติงเฮ้าส์” นักประดิษฐ์และนายทุนธุรกิจเกี่ยวกับแก๊สก็ได้เข้ามาร่วมวงด้วยการผลักดันกระแสไฟฟ้าสลับ AC สู้กับเอดิสัน พร้อมทั้งมีหลอดไฟในแบบของตัวเช่นกัน (แต่ส่องสว่างสั้นกว่า) รวมถึงการมาของ “นิโคลา เทสลา” อัจฉริยะนักประดิษฐ์อีกคนที่เคยทำงานกับเอดิสัน ก่อนจะออกมาฉายเดี่ยวภายหลัง ซึ่งทั้ง 3 คนนี้จะมีบทบาทหลักตามประวัติศาสตร์จริง ในยุคที่กระแสไฟฟ้าพึ่งเริ่มนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คน
โทมัส อัลวา เอดิสัน
ใน The Current War หนังเลือกมอบบทบาทให้ทั้ง 3 คนไม่เท่าเทียมกันทั้งเวลาและบท แต่ก็เป็นไปตามจริงเพื่อทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมเอดิสันถึงกลายมาเป็นที่จดจำของคนทั่วโลกมากกว่า ทั้งๆ ที่กระแสไฟตรง DC ของเอดิสันเป็นผู้แพ้? หนังฉายให้เห็นว่าเอดิสัน (เบเนดิคท์ คัมเบอร์แบตช์) เป็นนักประดิษฐ์ผู้กระหายทำฝันของตัวเองให้สำเร็จ โดยใช้อีโก้ของตัวเองเป็นตัวนำแม้ใครจะทักท้วงก็ตาม ซึ่งเขารู้ทั้งรู้ว่ากระแสไฟตรงที่ตัวเองพัฒนามีจุดด้อยกว่าไฟฟ้ากระแสสลับ (กำลังส่งใกล้ ต้นทุนสูงกว่ามาก) ก็ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทาง ด้วยนิสัยเย่อหยิ่ง ไม่คบค้าสมาคมกับใครง่ายๆ เขามีทิฐิว่าสิ่งที่ตัวเองคิดต้องดีกว่า ปลอดภัยกว่า จึงพร้อมผลาญเงินนายทุนตามอีโก้ของตัวเองอย่างไม่แคร์ สุดท้ายก็ทำให้เขาโดนเท นายทุนหันไปหากระแสไฟฟ้าสลับของ จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ที่ต้นทุนถูกกว่า เมื่อสู้ในเกมตรงๆ ไม่ได้ เอดิสันก็เลือกสาดโคลนให้กระแสไฟฟ้าสลับดูน่ากลัวเกินจริง ด้วยการจัดฉากช็อต หมา แมว กระต่าย ม้า ไปจนถึงช้างให้ตายต่อหน้านักข่าว รวมถึงเป็นคนต้นคิดออกแบบสร้างเก้าอี้ไฟฟ้าไว้ประหารนักโทษขึ้นมา โดยตั้งใจไว้โจมตีคู่แข่งเพียงแค่นั้น (ซึ่งในแบบเรียนของเด็กๆ คงไม่กล้าใส่ไว้แน่นอน) ทั้งที่ในความเป็นจริงไฟฟ้า DC ก็ช็อตคนตายได้เหมือนกัน แต่เอดิสันเลือกพูดไม่หมด แถมพูดย้ำออกสื่อเสมอว่าจะไม่คิดประดิษฐ์สิ่งที่ทำร้ายผู้คน เขาเป็นนักการตลาดสร้างภาพในตัว เลือกส่งภาพลักษณ์ด้านสว่างแก่สื่อให้ตัวเองดูดี แล้วก็สาดความมืดใส่คู่แข่งแบบไม่แย่แสใดๆ เอดิสันชอบพรีเซนต์ชื่อตัวเองปะไว้กับทุกอย่าง แม้ว่าหลายอย่างเขาจะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นจริงก็ตาม (ลูกน้องในบริษัทคิด) การตลาดหลายๆ อย่างนี้เองทำให้ชื่อของเอดิสันเป็นที่จดจำมากกว่าผู้ชนะอย่าง “จอร์จ เวสติงเฮ้าส์” มาจนถึงปัจจุบัน
จอร์จ เวสติงเฮ้าส์
สำหรับ “จอร์จ เวสติงเฮ้าส์” เจ้าของบริษัท Westinghouse Electric ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าสลับและชนะในสงครามครั้งนี้ แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่นัก เนื่องมาจากเขาเป็นนักประดิษฐ์และนักลงทุนที่ทำธุรกิจตรงไปตรงมา และไม่ได้สนใจจะเข้าไปตอบโต้ออกสื่อ หรือเล่นในเกมที่เอดิสันจัดฉากให้ชื่อเขาเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตายทางอ้อม เขายืนยันว่าธุรกิจนี้วัดกันที่คุณภาพของสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสุดท้ายจุดยืนของเขาก็พิสูจน์ว่าถูกต้อง สินค้าที่ด่ีราคาเหมาะสมนั่นย่อมตอบโจทย์มากกว่าเสมอ ภาพของ จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ ในหนังเป็นคนดี มีศีลธรรม ห่วงใยลูกน้องในโรงงาน แม้ตัวเองจะพบวิกฤติแค่ไหนก็ยังพยายามโอบอุ้มให้ได้มากที่สุด หนังตัดสลับให้เวลากับจอร์จพอกับๆ เอดิสัน แต่ดำเนินไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและการทำงานเรียบๆ ลุ่มลึก จริงจัง โดยมีคู่หูนักประดิษฐ์และภรรยาของเขาช่วยผลักดันให้จอร์จทำความหวังผลิตไฟฟ้าทั่วอเมริกาให้สำเร็จ หนังทำชีวิตจอร์จมาเรียบๆ ตรงตามประวัติศาสตร์ ซึ่งจอร์จมีภาพลักษณ์ของนายทุนนักประดิษฐ์ ที่เลือกอยู่เงียบๆ เบื้องหลัง มากกว่าจะเอาตัวเองมาเป็นจุดขายแบบเอดิสัน
สำหรับ “นิโคลา เทสลา” ผู้ชนะที่แทบจะถูกลืมเลือนไปจากสงครามครั้งนี้ รวมถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาได้ประดิษฐ์ต่อมาด้วย ทั้งที่ในความจริงเขามีความสามารถไม่แพ้เอดิสันเลย แถมเป็นนักประดิษฐ์อัจฉริยะตัวจริงที่เริ่มทำงานจากในหัวของตัวเองคนเดียวล้วนๆ ให้สำเร็จ ต่างกับเอดิสันที่เน้นลองผิดลองถูกจ้างคนช่วยทำแล้วใช้ชื่อเขาแทนหลายอย่าง (เพราะชื่อเอดิสันขายได้มากกว่า) สองคนนี้เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ หนังสะท้อนให้เห็นว่าเทสลานั้นเป็นนักประดิษฐ์แบบที่ไม่มีหัวการค้า ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมใดๆ หนังเลือกใช้ดาราหน้าซื่ออย่าง “นิโคลัส โฮลท์” ที่คนดูหนังคุ้นชินจาก X-men ในบทเดอะบีสต์อสุรกายสีฟ้าในร่างมนุษย์ที่มีนิสัยซื่อๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เอาแค่หน้าตาท่าทาง นิโคลัส โฮลท์ ก็ทำให้เราเชื่อแล้วว่า นิโคลา เทสลา เป็นคนซื่อแบบนั้นจริงๆ ซึ่งตามประวัติศาสตร์เทสลาเป็นคนสุภาพเรียบร้อย สุภาพบุรุษ ครองตัวเป็นโสด หมกหมุ่นอยู่กับการทำสิ่งในหัวให้ออกมาสำเร็จ เป็นอัจฉริยะที่โลก (เคย) ลืมมาก่อน ไม่มีแม้ในแบบเรียนของเด็กๆ (ในยุคของผู้เขียน ไม่รู้ว่าปัจจุบันมีไหม) หลายๆ คนพึ่งมารู้จักเทสลาเอาตอนโต หรือจากบริษัทรถไฟฟ้าของ อีลอน มัสก์ ที่เอาชื่อ Tesla มาตั้งเป็นแบรนด์ให้คนจดจำ หนังเลือกให้บทของเทสลามาภายหลังเดินเรื่องไปแล้วสักพัก แถมให้เวลากับชีวิตของเทสลาน้อยที่สุดในเรื่อง ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ค่อยประติดปะต่อกันนัก เหมือนจงใจไม่ให้เด่นตามแบบอัจฉริยะโลกลืมจริงๆ ซึ่งชีวิตของเทสลาก็สะท้อนความจริงอันโหดร้ายให้เห็น ว่าแม้จะเป็นอัจฉริยะฉลาดแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตจริงได้ ถ้าขาดสังคม ขาดคอนเน็คชั่น ขาดหัวการค้าในทางธุรกิจ ในฉากหนึ่งที่สำคัญของเรื่องกับการเจรจาซื้อ “มอเตอร์เหนี่ยวนำไฟฟ้ากระแสสลับ” เทสลาไม่รู้กระทั่งมูลค่าของราคาในสิ่งประดิษฐ์ของเขาว่าเท่าไหร่ ยอมลดราคาลงเรื่อยๆ เพียงเพราะกลัวว่านายทุนจะไม่ซื้อ ดูเหมือนขำๆ แต่ก็สะท้อนความจริงอันอาภัพของอัจฉริยะผู้นี้ได้เป็นอย่างดี (หนังไม่ได้ทำจนถึงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิตเทสลา ที่มีหนี้สินมากมายและเสียชีวิตในห้องพักโรงแรมตัวคนเดียว)
หนังสร้างทั้ง 3 ตัวละครแบบแยกบทชัดเจนว่าใครร้ายใครดี แต่ก็ไม่ใช่การจงใจใส่ร้ายใคร แค่เป็นไปตามปกติที่มนุษย์เดินดินเป็นกัน ไม่ได้มีใครผิดหรือถูกไปทั้งหมด ถึงหนังให้เอดิสันเหมือนตัวร้าย แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ร้ายไปหมด เมื่อสงครามจบเขาเป็นผู้แพ้ก็ยอมรับแต่โดยดี และหันไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อื่นให้โลกจดจำต่อไป (หลังจากนั้นเอดิสันก็ทำเครื่องบันทึกและฉายภาพยนตร์สำเร็จ เปิดอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้เราได้ดูหนังกันอยู่ทุกวันนี้) จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ แม้เป็นผู้ชนะ แต่เขาก็ต้องยอมเสียอุดมการณ์บางอย่างไป เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งสงครามไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่มีผู้แพ้หรือผู้ชนะอย่างแท้จริง เพราะในเวลาต่อมาบริษัท General Electric ของเอดิสันก็ซื้อลิขสิทธิ์ไฟฟ้ากระแสสลับของเวสติงเฮาส์มาใช้กับธุรกิจ จนประสบความสำเร็จเช่นกัน (แต่ปัจจุบันบริษัทของทั้งคู่อยู่ในภาวะตกต่ำกันทั้งคู่ สนใจอ่านจากลิ้งท้ายรีวิวครับ)
หนังเดินเรื่องไปตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกช่วงเวลาเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ไว้เกือบครบถ้วน (เหตุเพราะเอดิสันชอบออกสื่อ และสื่อก็จับตาสงครามประวัติศาสตร์ครั้งนี้มาก) และจบเรื่องตัดสินแพ้ชนะกันที่การประมูล งานนิทรรศการ World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก เป็นงานระดับโลกครั้งแรกหลังมีระบบส่องสว่างด้วยไฟฟ้า แต่ต้องย้ำว่าหนังก็คือหนัง สิ่งที่เห็นก็ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด บางอย่างก็คงไว้เป็นสีสันตามข่าวลือ อย่างเรื่องเอดิสันโกงเงินเทสลา (ผู้เขียนบทยืนยันว่าเอดิสันไม่ได้โกง) หนังถ่ายทอดเบื้องหลังนักประดิษฐ์ยุคก่อนได้สนุกมีสีสันสมจริง รวมถึงสอนความจริงอันโหดร้ายของวงการธุรกิจหลายอย่าง ถ้าคุณคิดว่าฉลาดเป็นอัจฉริยะ ก็ไม่ได้มีค่าถ้าแปรเป็นเงินให้นายทุนเห็นไม่ได้ ที่นี่ไม่มีที่ยืนให้กับคนที่ไม่ทันคน การมีอุดมการณ์ดูดี แต่ก็กินไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยอมขายเพื่อแลกกับเงินเลี้ยงปากท้องในชีวิตจริง
บทสรุปสุดท้ายของ The Current War ชี้ให้เห็นว่า สิ่งประดิษฐ์พลิกโลกทุกชิ้นตั้งแต่ในอดีต ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองได้จากความคิดของใครเพียงคนเดียว สิทธิบัตรหลายอย่างก็ต้องพึ่งพากันมาตั้งแต่อดีตแล้ว หนังสะท้อนสงครามธุรกิจจากยุคอดีตมาถึงปัจจุบัน การฟ้องร้อง ละเมิดลิขสิทธิ์ยังวนเวียนไม่จบสิ้น อย่างสงครามการค้าอย่างอเมริกากับหัวเว่ยไม่นานมานี้ ซึ่งมีแต่เจ็บตัวกันทั้งคู่ ขอแค่คิดได้ พบกันครึ่งทาง โลกคงพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าการก่อสงครามแน่นอนครับ
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Current War สงครามไฟฟ้า
- โทมัส เอดิสัน พ่อมดนักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนโลก
- นิโคลา เทสลา อัจฉริยะเดียวดายผู้สร้างความสว่างไสวให้กับโลกแต่ไร้คนจดจำ
- “The Current War” เอดิสัน VS เทสลา เรื่องจริงในสงครามทฤษฎีกระแสไฟฟ้าเปลี่ยนโลก
- วิกฤต General Electric (GE) ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรม
- Westinghouse Electric ถูกขายทิ้งหลังโตชิบ้าซื้อมาแล้วขาดทุนหนัก
อ่านรีวิวหนังอื่นในเว็บไซต์คลิกที่นี่