รีวิว Gerald’s Game เกมวิตถาร พันธนาการชีวิตคุณนายสาว
Gerald's Game
สรุป
เป็นหนังที่สนุกกับการเล่นสถานการณ์ภายใต้พื้นที่และตัวละครที่จำกัด ใครที่ชอบหนังเขย่าขวัญในแบบเรื่อง Phonebooth ที่โหดกว่า นับเป็นทางเลือกในการชม
Overall
7/10User Review
( votes)Pros
- อีกหนึ่งผลงานดัดแปลงจากปลายปากกาของ สตีเฟ่น คิง ที่ทำออกมาได้น่าพอใจ
- ตื่นเต้นไปการแก้ไขสถานการณ์ถูกมัดของตัวละคร
- สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ทางจิตใจของคนภายใต้สถานการณ์สิ้นหวังไร้ทางออก
Cons
- หนังมีตอนจบที่ยืดเยื้อ และบานปลายเกินความจำเป็น
- มีความพยายามให้บทสรุปที่มีความสุขโดยไม่จำเป็น
- ตัวละครในช่วงท้ายไม่มีความน่าเชื่อถือมากนัก ซึ่งทำลายความสนุกของหนังไป
Gerald’s Game เกมกระตุกขวัญ วิลเลียม โกลด์แมน นักเขียนบทชื่อดังของฮอลลีวู้ด เจ้าของผลงานอย่าง Butch Cassidy and Sundance Kid (1969) เคยเขียนไว้ในหนังสือ Which Lie Did I Tell? ซึ่งเป็นเสมือนบทบันทึกด้านงานเขียนบทของเขาเมื่อปี ค.ศ.2000 ว่ามีบทประเภทหนึ่งที่ต่อให้เนื้อเรื่องดียังไงเขาจะไม่เขียนเด็ดขาด นั่นคือบทหนังที่ให้ตัวละครเพียงคนเดียว ติดอยู่ในสถานการณ์หนึ่งเพียงที่เดียวตลอดเกือบทั้งเรื่อง นั่นก็เพราะมันเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะทำให้คนดูสนุก หรือลุ้นไปกับเหตุการณ์ตรงหน้าได้โดยหาสถานการณ์ที่น่าเชื่อถือมาแทรกไว้ได้ตลอดเรื่อง
ตัวอย่างหนัง Gerald’s Game เกมกระตุกขวัญ
แต่ความยาวของข้อจำกัดนี้ก็มักมีคนทำหนังชอบเสี่ยงกับการทำหนังในลักษณะเดียวกันนี้อยู่เรื่อยๆ งานที่นึกออกได้ทันทีคือ Phonebooth(2003) ของ โจเอล ชูมัคเกอร์ ที่ให้ตัวเอกต้องตรงอยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะที่มีคนข่มขู่เขาให้อยู่ในตู้ดังกล่าวเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งบ่อยครั้งเราจะพบว่าหากผู้สร้างรู้จักสิ่งที่กำลังจะเล่า เราจะได้ชมหนังที่สนุกอย่างคาดไม่ถึง
Gerald’s Game เป็นผลงานดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ สตีเฟน คิง ในปี ค.ศ.1992 ซึ่งกำหนดเนื้อเรื่องให้อยู่ภายใต้สถานการณ์พื้นที่จำกัดได้อย่างฉลาดเรื่องหนึ่ง
หนังพาเราไปรู้จักสามีภรรยาคู่หนึ่งเลือกจะลาไปใช้ชีวิตในบ้านกลางป่าห่างไกลผู้คนช่วงพักร้อน กระท่อมที่ร่มรื่นเต็มไปด้วยอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เห็นได้ชัดว่าผู้เป็นสามีนั้นมีอันจะกิน ที่มาพักร้อนห่างไกลความเจริญเช่นนั้นก็เพื่อหวังจะมีเซ็กส์ที่สุขสมร่วมกันให้ได้หลังจากที่ผ่านมาไม่เคยประสบผล โดยเจอรัลด์-สามีของเธอนั้นอายุไม่น้อยแล้ว แต่เพราะไม่เคยสุขสมกับภรรยาสักครั้ง เขาจึงอะไรคิดวิตถารที่เชื่อว่าจะทำให้เจสซี่ภรรยาของเขามีความสุขกับสิ่งนั้นได้
มันคือการเล่นเกมแบบ BDSM จับเธอใส่กุญแจมือที่แขนทั้งสองข้างเธอมัดกุญแจกับหัวเตียง แต่เพียงเริ่มลองรักเช่นนั้นได้ไม่นาน เธอก็รู้แล้วว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ตนปรารถนาแน่ๆ …ทว่าน่าเสียดายขณะมีปากเสียงกับเขา ชายวัยกลางคนที่กินยากระตุ้นมากเกินพอดีก็เกิดหัวใจวายไปต่อหน้าต่อตา สถานการณ์ของเธอเลวร้ายยิ่งยากจะหลุดจากพันธนาการในกลางป่าลึก ไม่รู้จักใคร ไม่มีเพื่อนที่สนิทพอจะติดต่อมา โทรศัพท์มือถือแบตเตอรี่ก็ใกล้หมด แถมยังมีหมาหิวโหยที่เธอใจดียื่นเนื้อให้มันที่หน้าบ้านเดินมาวนเวียนเข้ามาไม่ไกลนัก…
ไมค์ ฟลานาแกน หนึ่งในผู้กำกับหนังสยองขวัญที่ต้องเรียกว่ามือขึ้นอย่างในยุคปัจจุบัน(ผลงานเด่น เช่น Before I Wake ในปี 2016 และ Doctor Sleep ในปี 2019) มาทำหนังให้กับ Netflix และต้องนับว่ามือยังไม่ตก เขาเข้าใจวิธีการใส่ลูกล่อลูกชนในสถานการณ์ที่มีตัวละครและสถานที่จำกัดให้สามารถลุ้นระทึกตลอดทั้งเรื่อง หากเดินเรื่องช้าและนิ่งไป ในฐานะหนังเขย่าขวัญเรื่องหนึ่งมันอาจจะไปต่อไม่ได้ บทจึงเลือกให้ตัวละครพูดกับตัวเอง กลายร่างเป็นเธออีกคนที่คอยมาแนะนำ มีสามีจำแลงอีกคนมาพูดจาเย้ยหยัน สนทนากับเธอตลอด ก่อนจะผลักพาให้เธอไปเจอกับอดีตที่อยากจะลืม แต่ยังไม่พอตกดึกกระท่อมแห่งนี้ก็มาพร้อมกับฝันร้ายที่ต้องพบพากับอสูรกายตนหนึ่งที่ปรากฎตัวพร้อมกับพระจันทร์ ที่เมื่อสำรวจชีวิตทั้งชีวิตของตนแท้จริงแล้วมันไม่ใช่สถานการณ์ที่มาจากความคิดบ้าๆ ของสามีถ่ายเดียว หากเธอเองก็มีส่วนอย่างยิ่งที่ผลักให้ตนมาเผชิญกับสถานการณ์ที่หัวเราะไม่ออกแบบนี้
คาร่า กูจิโน่ นักแสดงนำของเรื่องอายุจะ 50 แล้วแต่ยังดูดีอยู่ ไม่น่าแปลกใจที่แม้จะไม่ได้โด่งดังแต่ในยุคหนึ่งเธอเคยเป็นนักแสดงสาวเซ็กซี่ที่มีบทวาบหวามอยู่หลายเรื่อง นี่เป็นบทที่พิสูจน์เธออย่างยิ่งเนื่องจากหนังแทบจะอยู่กับเธอตลอดทั้งเรื่อง ในอีกด้านหนึ่งสรีระ และความสวยที่เลยวัยสาวทำให้เราเชื่อได้ว่าสามีของเธอยังมีหลงใหล แต่ในขณะเดียวกันริ้วรอยอันโรยราก็ถูกใช้ประโยชน์ขับเน้นอารมณ์ความหวาดกลัว และเจ็บปวดขณะถูกพันธนาการได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ฉากสุริยุปราคาถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของเรื่อง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ (เงาจากดวงจันทร์ที่มาบดบังดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเสมือนด้านมืดในชีวิตที่มาทำลายคนๆ หนึ่ง และครอบครัวให้พังทลายลง) นั้นชวนให้นึกถึงหนังที่ดัดแปลงจากงานของสตีเฟ่น คิงอีกเรื่องคือ Dolores Claiborne(1995) สองประเด็นนี้คล้ายกันมากเพราะเกี่ยวกับตัวเอกหญิงที่พยายามกอบกู้ชีวิตที่ล้มเหลวจากปมในครอบครัว
น่าเสียดายว่าแค่สถานการณ์การหนีตายของเธอก็น่าสนใจและสนุกเพียงพอแล้ว แม้หนังจะไม่ได้เล่นกับเรื่องการจำกัดสถานที่ทั้งหมดก็ตาม(หนังมีฉากย้อนอดีตของตัวเอกในเรื่องแทรกเข้ามากลางเรื่อง) แต่เพราะหนังน่าจะเลือกดัดแปลงให้ตรงกับนิยายต้นฉบับ ช่วงท้ายที่พอเฉลยเหตุการณ์ทุกอย่างก็มีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเข้าไปจนรู้สึกว่ามันกลายเป็นส่วนเกินไปอย่างช่วยไม่ได้
คลิกรับชมผ่าน Netflix ได้ที่นี่