รีวิว Little America รวมฝัน 8 เรื่องสั้น ผู้อพยพอเมริกันดรีม
Little America
สรุป
Little America มีโครงเรื่องราวกับคอนเซ็ปต์น่าสนใจ และคิดว่าถ้าได้รับความนิยมทางแอปเปิลคงทำต่อได้เรื่อยๆ สำหรับซีซั่นแรกนี้เรื่องราวมีที่โดดเด่นน่าสนใจหลายตอน แต่บางตอนก็ค่อนข้างกลวงจนเกินไป และก็ยังมีขาดๆ เกินๆ ในบางตอน ซึ่งคงเพราะด้วยเวลาที่สั้นไปทำให้ต้องรวบรัดเรื่องราวสรุปตัดจบ ซึ่งบางตอนก็ตัดจบห้วนเกินไปครับ
แต่ถ้าต้องการดูหนังซีรีส์สั้นๆ สบายๆ ไม่เครียด เน้นดราม่าสร้างฝันได้แรงบันดาลใจ+ตลก (ไม่ใช่ทุกตอน) ก็แนะนำเลยครับ
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- สร้างจากเรื่องจริง (มีแต่งเติมเพิ่มด้วย)
- คอนเซ็ปต์เรื่องผู้อพยพไปอเมริกามีหลายอย่างน่าสนใจ
- เรื่องราวดราม่าคอเมดี้ที่สนุกบันเทิงย่อยง่าย
- มีความซึ้งในเรื่องราวทุกตอน แต่อาจจะไม่มากขนาดมีน้ำตา
Cons
- หนังสั้นทำให้ตัดจบสั้นๆ ห้วนๆ ไม่ส่งอารมณ์ให้สุดได้
- บางตอนกลวงมากๆ จนไม่น่าเอามาทำรวมกันกับเรื่องดีๆ
- คอนเซ็ปต์ขายฝันมาตั้งรกรากที่อเมริกา จนดูเหมือนโฆษณาชวนเชื่ออเมริกันดรีมมากไปเหมือนกัน
Little America มินิซีรีส์ขนาดสั้น 8 เรื่อง ตอนละ 30 นาทีจบในตอนของ Apple Tv+ สร้างจากเรื่องจริงของผู้อพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอเมริกา ซึ่งก็ต้องพบกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตและปัญหาอื่นๆ ตามมาในภายหลัง ก่อนจะฝ่าฟันจนผ่านพ้นไปได้ และก็กลายมาเป็นบันทึกเรื่องเล่าในซีรีส์ชุดนี้
ตัวอย่าง Little America
ซีรีส์เรื่องแรกของปี 2020 จาก Apple TV+ สตรีมมิ่งของค่ายแอปเปิลที่พึ่งเปิดตัวใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังทุนสูงแบบล็อตหนังเปิดตัวชุดแรกแล้ว ดูเหมือนหลังจากนี้ก็ด้วยที่ยังไม่มีหนังทุนสูงประกาศตามมาเลย อาจจะเรียกว่าแอปเปิลหมดก๊อกหรืออย่างไรก็ไม่ทราบครับ แต่ก็ใช่ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะไม่มีคุณภาพดีตามนโยบายแอปเปิลที่ประกาศไว้ว่าคัดหนังมาทำ เพียงแต่ว่าซีรีส์เรื่องนี้มาในแนวหนังสั้นเบาๆ 8 ตอน ซึ่งดูแล้วเป็นเหมือนงานระดับทั่วไป แถมบางตอนยังออกแนวอินดี้เหมือนงานทดลองสร้างแนวใหม่ๆ แบบที่ Netflix ชอบทำอีกด้วย
ซีรีส์แบ่งเป็น 8 ตอน 8 เรื่องราว ต่างประเทศ ต่างภาษา โดยมีการใช้ภาษาพูดท้องถิ่นของผู้อพยพอยู่ในเรื่องทุกตอนสลับกับภาษาอังกฤษ โดยที่ซับไตเติลของภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาไทยไปเลย ไม่ได้มีซับไตเติลอังกฤษซ้อนไว้ให้รกตา ซึ่งตรงขอชมเลยว่าตั้งแต่ดูมางานแปลของแอปเปิลเรียกว่าเนี๊ยบและใส่ใจมากที่สุดกว่าทุกค่ายที่มีในไทยเลย ซึ่งการที่แอปเปิลเลือกทำซีรีส์ชุดนี้มองอีกด้านคือ เป็นหนังเพื่อทำการตลาดแบบตั้งใจให้เข้าถึงหลายชาติพร้อมกัน เพราะเรื่องราวไม่ได้มีฉากแค่ในอเมริกา แต่มีฉากโลเกชั่นประเทศท้องถิ่นที่เลือกมาทำด้วย (น่าจะใช้การกำกับจากหลายประเทศแยกกัน แล้วมารวมกัน) แล้วก็เป็นซีรีส์ที่ขายความเป็นตัวตนอเมริกาออกมาแบบภาคภูมิใจมากด้วย
ด้วยความว่าทั้ง 8 ตอนนี้มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน แม้ภาพรวมจะออกมาเป็นธีมเดียวกันคือเล่าเรื่องอุปสรรคต่างๆ ก่อนจะมาเป็นคนอเมริกาได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และพอตัดจบเรื่องจริงแทรกมาหลายคนก็กลายเป็นตัวแทนของเมริกาในด้านต่างๆ ที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศด้วย แต่บางตอนก็ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะตัวมากๆ แถมนำเสนอในแบบอินดี้เล่าเรื่องราวแบบใหม่ ดังนั้นจะขอรีวิวสั้นๆ แยกเป็นตอนๆ เพื่อให้ได้เห็นความแตกต่างของทุกตอนชัดเจนมากขึ้นครับ ซึ่งสามารถเลือกดูเฉพาะตอนที่น่าสนใจเลยก็ได้ด้วยครับ
ตอนที่ 1 The Manager
ตอนแรกของซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวผู้อพยพชาวอินเดียที่มาปักหลักสร้างฐานะในอเมริกาจนมั่นคงแล้ว ด้วยการทำธุรกิจโรงแรมขนาดกลางในเมืองกรีนริเวอร์ รัฐไวโอมิง ได้สำเร็จ แต่อยู่มาวันหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบและพบว่าพวกเขามีปัญหากับการเข้าเมืองมาผิดกฏหมาย จนต้องกลับไปอยู่อินเดีย ทิ้งลูกชายคนเดียวที่เกิดที่นี่ให้ต้องดูแลกิจการโรงแรมต่อไปอย่างไม่มีกำหนด…
ตอนนี้เป็นตอนเปิดเรื่องราวที่ดี แนะนำให้รับชมกันเลย เพราะว่ามีความสนุกของเรื่องราวในแบบภาพยนตร์อยู่มากที่สุด ขนาดที่ว่าแยกออกไปทำเป็นหนังเต็มๆ เรื่องเลยก็น่าจะยังได้ เพราะว่าตัวลูกชายของทั้งคู่ ไม่ได้นั่งงอมืองอเท้ารอพ่อแม่เท่านั้น แต่เขาดันเก่งสะกดคำจากที่ตอนเด็กพ่อหลอกว่าถ้าสะกดคำในดิคชันนารีจนหมดเล่มได้จะซื้อรถให้ขับ และนั่นก็กลายเป็นว่าเขาเชื่อและตั้งใจท่องคำศัพท์ 4 แสนกว่าคำจนกลายมาเป็นเด็กที่ทางโรงเรียนส่งเข้าแข่งขันระดับชาติ ซึ่งเขาไม่ได้หวังรางวัล แต่เผอิญได้ยินจากครูว่าถ้าชนะเข้ารอบสุดท้ายจะได้เข้าพบ สุภาพสตรีหมายเลข 1 (ภรรยาของประธานาธิบดีสหรัฐ) เขาจึงตั้งเป้าหวังไปพบให้ได้เพื่อขอให้ช่วยพ่อแม่กลับมาอยู่อเมริกาได้อีกครั้ง
ด้วยความที่พล็อตเรื่องเป็นการผจญภัยเด็กๆ ไปสู่ทำเนียบขาว หนังจึงออกมาดูลุ้นสนุก สดใส ตลกและก็มีเรื่องราวหดหู่ที่เด็กคนนี้ต้องถูกทิ้งไว้เผชิญชะตากรรมในอเมริกาเพียงคนเดียว จนเรียกว่าแกร่งเกินเด็กทั่วไปเลยก็ว่าได้ เป็นตอนที่สนุกและจบเรื่องราวได้ดี มีพลิกนิดหน่อยแต่ก็ประทับใจเล็กๆ ครับ
คะแนน 8/10
ตอนที่ 2 The Jaguar
“เสือจากัวร์” เป็นชื่อตอนในเรื่องราวนี้ที่เกี่ยวกับครอบครัวชาวสเปนเข้ามาอเมริกาทำงานเป็นคนทำความสะอาดตามบ้านเศรษฐี โดยมีตัวเอกของเรื่องเป็นสาววัยรุ่นหัวขบถ ที่แอนตี้ทุกอย่างในโรงเรียน และก็ไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไมในเมื่อตัวเธอเองก็ยังไม่ได้เป็นคนอเมริกาเต็มตัว (ยังไม่มีไอดีการ์ด) และก็มองไม่เห็นโอกาสทำงานในชีวิตที่ประเทศนี้ ในขณะที่พี่ชายต้องออกจากโรงเรียนมาเพื่อหาเงินส่งเธอไปเรียนให้จบ แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปเมื่อได้ไปลงเล่น “สควอช” (Squash) เพียงเพื่อจะเอารองเท้าฟรี แต่เธอกลับได้พบโค้ชที่มองเห็นแววของเธอจากความปราดเปรียวเหมือนเสือจากัวร์
ในตอนนี้เรื่องราวออกแนว Coming of Age เมื่อสาววัยรุ่นที่ติดตามแม่มาอยู่ประเทศนี้ได้ค้นพบสิ่งที่จะเป็นใบเบิกทางให้เธอมีชีวิตที่ดีกว่าการทำงานเป็นคนรับใช้ดูแลบ้านเศรษฐีอเมริกา หนังมาแบบแนวกีฬาเต็มตัว มีการฝึกซ้อม การต่อสู้กับตัวเอง รวมถึงโค้ชที่มองเห็นแววในตัวเธอ และก็พยายามเคี่ยวกรำด้วยคำพูดที่กดดันเพื่อให้เธอก้าวข้ามมาเป็นนักกีฬาตัวจริงให้ได้ หนังยังทำให้คนที่ไม่รู้จักสควอชได้รู้ว่ากีฬานี้มีอะไรมากกว่าการตีลูกโต้ผนัง ซึ่งถือว่าเป็นตอนที่เก็บรายละเอียดกีฬานี้มาแบบย่อมๆ แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าสควอชมีความสนุกและลึกซึ้งไม่ใช่เล่นเลยครับ
คะแนน 8/10
ตอนที่ 3 The Cowboy
หนุ่มชาวไนจีเรียที่ครอบครัวส่งมาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาตอนโตแล้ว โดยหวังให้เขาได้เรียนจบมีลู่ทางทำมาหากินช่วยเหลือทางบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากประเทศรวยจากน้ำมันในอดีต แต่กำลังจะพบกับความล่มจมจากการพึ่งพาแต่น้ำมันเพียงอย่างเดียว
นี่เป็นตอนที่เป็นปกของเรื่อง Little America ซึ่งก็ต้องยกให้เลยว่าเป็นตอนที่สนุกที่สุด มีความเป็นอเมริกามากสุด จากความบ้าคาวบอยตามอิทธิพลจากหนังฮอลลีวู๊ดในสมัยก่อนที่นิยมทำแนวคาวบอยเยอะมาก และตัวเอกในเรื่องก็ได้รับชมผ่านหนังกลางแปลงในวัยเด็ก จนมีความสนใจอเมริกามาตลอด และฝันอยากมาที่นี่ อยากมาแต่งตัวเป็นคาวบอยเดินเท่ๆ ในประเทศนี้ ในขณะที่เงินจากทางบ้านมีแค่พอเรียนเท่านั้น ซึ่งหนังทำอุปสรรคไว้หลายอย่างทั้งการเงิน ปัญหาการเข้าสังคม รวมถึงปัญหาการเมืองที่ไม่นิ่งของไนจีเรียจากทหารมีอำนาจมากกว่าประชาชนอีกด้วย
หนังผสมผสานเรื่องราวความฝันอยากเป็นคาวบอยเข้ากับการต่อสู้ดิ้นรนใช้ชีวิตในอเมริกาได้อย่างสนุก ตลก ฮาแบบมีกัดแม้กระทั่งแฮมเบอร์เกอร์ว่าอร่อยตรงไหน ใครคิดทำอาหารนี้ขึ้นมา และก็ได้พาคนดูไปรู้จักความเป็นคาวบอยว่าต้องมีอะไรบ้างที่ไม่ใช่แค่การแต่งตัวเฉยๆ ก็เป็นได้
แถมยังมีความพิเศษของเรื่องราวตรงที่ตัวเอกไม่มีเงินโทรติดต่อทางไกลข้ามประเทศ ก็เลยต้องติดต่อกับทางบ้านด้วยการอัดเทปเล่าเรื่องชีวิตแลกเปลี่ยนกับครอบครัว หนังทำเก๋ด้วยการให้ตัวละครทั้งสองฝั่งมาเจอกันในฉากแบบจินตนาการสมมุติ พร้อมกับเสียงเล่าเรื่องพูดโต้ตอบเสมือนอยู่ตรงหน้ากันจริงๆ ถ้าดูตอนแรกไม่ทันเข้าใจอาจจะงงนิดว่าตัวเอกกลับไปกลับมาระหว่างประเทศได้ไง แล้วยังใช้การบันทึกเทปนี้ปิดท้ายด้วยเสียงของชีวิตคาวบอยส่งกลับไปให้ทางบ้านเกิดได้ฟัง นี่จึงเป็นตอนที่แนะนำมากๆ ว่าดีจริง และดูเพลินมากที่สุด พร้อมฉากจบจากเรื่องจริงที่ประทับใจเลยว่าชาวไนจีเรียคนนี้กลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
คะแนน 9/10
ตอนที่ 4 The Silence
สาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาอเมริกาคนเดียว ก่อนจะเข้ารวมกลุ่มค่ายธรรมะฝึกสมาธิของศาสนาพุทธ ที่กำหนดให้ทุกคนที่เข้าร่วมต้องห้ามพูดอะไรเลยเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งเธอแทบทนรับกับความเงียบไม่ไหว ก่อนจะมาเจอกับชายหนุ่มหล่อล่ำชาวอเมริกาที่มาแสวงหาความสงบจากค่ายธรรมมะนี้ด้วยเช่นกัน
นี่เป็นตอนที่แปลกแยกออกมาจากตอนทั้งหมด ด้วยการเล่าเรื่องแบบไม่มีบทพูดไปจนตอนจบถึงมีบทสนทนาออกมาให้ได้ยินกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตอนที่ทดลองสร้างแนวเก๋ๆ ให้ผู้ชมได้ดูหนังเงียบแนวเรื่องรักเรื่องใคร่ในจินตนาการ จากการที่นางเอกชอบฟุ้งคิดไปไกลว่ามีความสัมพันธ์กับหนุ่มหล่อล่ำที่หมายตาไว้ในค่าย หนังทำออกมาผิดแนว ผิดคอนเซ็ปต์เรื่องราวจาก 3 ตอนแรกมาก แถมมากแบบล้นทะลักไปด้วยเรื่องรักๆ ใคร่ๆ จนเกินไป และด้วยการที่ไม่มีบทพูดด้วย ทำหนังเน้นแช่กล้องจับอิริยาบถตัวละครในเรื่องจนอืด ดูแล้วแทบหาความสนุกเพลินๆ ไม่ได้เลย แม้แต่มุกตลกก็ยังไม่ขำ แป๊กเอามากๆ แม้แต่ตอนเฉลยว่าเรื่องจริงของเจ้าตัวเป็นยังไงก็ยังรู้สึกแบบ เอิ่ม…แค่นี้เองเหรอ ซึ่งไม่รู้ว่าคัดเอามาสร้างเป็นหนังได้ยังไงครับ นอกจากความแปลกในการสร้างหนังเงียบเท่านั้น
คะแนน 5/10
ตอนที่ 5 The Baker
เรื่องราวของนักเรียนสาวจากประเทศแร้นแค้น “ยูกันดา” ที่ครอบครัวทำอาชีพขนมคุ๊กกี้มาตลอดหลายชั่วอายุคน แล้วก็ส่งเธอที่เป็นพี่สาวคนโตมาเรียนที่อเมริกาหวังให้เธอได้ทำอาชีพอื่นตั้งตัวได้เพื่อช่วยยกระดับให้น้องทางๆ บ้านมีโอกาสในชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่แล้วชีวิตกลับไม่เป็นดั่งที่ครอบครัวหวังไว้ เธอกลายมาเป็นคนล้มเหลวในชีวิต แม้จะจบได้ปริญญามาแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถหางานทำได้ จนต้องขายคุ๊กกี้ประทังชีวิต
ตอนนี้เหมือนเป็นตอนที่เรื่องราวตรงข้ามกับตอน The Cowboy ที่ตัวเอกเป็นคนผิวดำ มาจากประเทศที่ลำบาก ทางบ้านส่งมาหวังให้ได้รับโอกาสใหม่ๆ แต่ในตอน The Cowboy พระเอกกระตือรือร้นที่จะประสบความสำเร็จที่นี่ให้ได้ แต่ตอนนี้กลับกันคือตัวเองที่เป็นหญิงสาวกลับใจแตก ชีวิตย่ำแย่มีลูกติด หนังมาในแนวการสู้ชีวิตรันทดเหมือนเป็นขอทานขายของข้างถนนที่ผิดกฏหมายในอเมริกา แต่เรื่องราวก็เดินไปให้เห็นว่าเธอกลับค้นพบเส้นทางใหม่ในชีวิตที่ไม่ต้องปริญญาก็สามารถมีเงินมีงานที่ดีในประเทศแห่งนี้ ด้วยสกิลการทำคุ๊กกี้สูตรของครอบครัวมาขายในอเมริกา พร้อมเอกลักษณ์การแต่งตัวและขายของแบบบ้านๆ นำมาใช้กับที่นี่จนประสบความเร็จในที่สุด ซึ่งพอเฉลยเรื่องจริงมาตอนจบก็ยิ่งทึ่งว่าตัวจริงไปไกลเกินกว่าในหนังซะอีกครับ
คะแนน 8/10
ตอนที่ 6 The Grand Prize Expo Winners
เรื่องราวของผู้หญิงจีนที่แยกทางกับสามีในอเมริกา แล้วต้องดูแลลูก 2 คนด้วยตนเองมาตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ก่อนที่เธอจะถูกรางวัลใหญ่ของงาน Expo ท่องเที่ยว และได้พาครอบครัวเดินทางขึ้นเรือโดยสารหรูไปดูพระอาทิตย์ที่อลาสก้า
ตอนนี้เป็นตอนที่ครอบครัวผู้อพยพ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับความเป็นอยู่ในอเมริกา แต่เป็นเรื่องราวของช่วงเวลาสั้นๆ ในระหว่างเดินทางที่เธอกลับพบว่าตัวเองรักลูกมากเกินไปจนพวกเขารำคาญแม่ แล้วก็แอบหนีไปเที่ยวในเรือตามลำพังปล่อยเธอทิ้งไว้แบบไม่สนใจ โดยหนังใช้การแฟลชแบ็คให้เห็นเป็นระยะๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเธอในวัยเด็กก่อนมายังประเทศนี้ ซึ่งในฐานะลูกสาวคนจีนในอดีตก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการของครอบครัว แถมด้วยความยากจนแร้นแค้นของจีนในสมัยก่อน ทำให้เธอได้มาอยู่อเมริกาในแบบไม่ได้ยินยอมตั้งใจด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความหลังบาดแผลฝังใจมาตลอด ซึ่งก็ทำให้เธอกลายมาเป็นคนที่อยู่ติดลูกไม่ไปไหนจนทำให้ลูกอึดอัดกับความเป็นแม่ที่มากเกินไปนี้
หนังมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างจากเรื่องอื่น และก็เป็นชาวเอเชียเรื่องเดียวในซีรีส์ชุดนี้ ตัวเรื่องพยายามทำออกมาในแนวหนังจีนดราม่าครอบครัวแบบฟูมฟายมากไปเหมือนกัน แม้ว่าตอนจบจะทำให้ซึ้งๆ แต่ด้วยแอ็กติ้งกับเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ วนๆ อยู่ในเรือไปมากับเรื่องเดิมๆ แถมนิสัยความเป็นแม่แบบน่ารำคาญในเรื่องก็เยอะจริงๆ จนดูแล้วรู้สึกเบื่อเธอไปด้วย นี่เป็นตอนที่คอนเซ็ปต์ของเรื่องดี แต่กลีับเดินเรื่องไม่สนุกเอาซะเลยครับ (ตอนนี้เขียนบทโดยลูกชายของตัวเอกในเรื่องด้วย)
คะแนน 6.5/10
ตอนที่ 7 The Rock
เรื่องราวของครอบครัวชาวอิหร่านที่ย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ โดยผู้เป็นพ่อพยายามหาลู่ทางธุรกิจในอเมริกาหลายอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ตามความตั้งใจ จนลูกชายที่เริ่มโตเป็นวัยรุ่นต้องการแยกตัวออกไปอยู่กับเพื่อน ทำให้เขาคิดสร้างบ้านหลังใหญ่ให้ครอบครัวในประเทศนี้ให้สำเร็จ แต่มีเงินเพียงแค่ซื้อที่ดินที่เต็มไปด้วยหินกองโตไม่มีใครเอาแล้วเท่านั้น
หนังมาในแนวคุณพ่อผู้พยายามขายฝันการมีชีวิตหรูในอเมริกา แต่ลูกที่โตมาไม่เชื่อว่าพ่อจะทำได้จริง แถมกลายเป็นว่าความฝันของพ่อทำให้ลูกๆ รู้สึกถูกทอดทิ้งไปซะอีก จนหาทางแยกตัวออกไปจากครอบครัว ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตอิหร่านที่ครอบครัวใหญ่อยู่ด้วยกัน ทำให้คนเป็นพ่อต้องหาทางกู้วิกฤตินี้ให้ได้ด้วยการปลูกบ้านในอเมริกาให้สำเร็จ หลังจากที่ครอบครัวต้องทนเช่าอยู่ในอพาร์ทเม้นท์โทรมๆ มาตลอด
ตอนนี้เป็นตอนที่ดูแล้วอึ้งทึ่งว่าคนอะไรจะบ้าได้ขนาดนี้ กับการพยายามขุดทำลายหินที่ใหญ่โตมากๆ แต่นี่สร้างจากเรื่องจริง และมีความน่ารักในตัว ซึ่งในตอนท้ายเราจะได้รู้ว่าเขาทำได้สำเร็จหรือไม่กับโปรเจ็กต์มหาหินขนาดนี้ และยังมีฟีลลิ่งของสามีภรรยาแบบที่มองตาก็รู้ใจไม่ห้ามความฝันบ้าๆ ซึ่งมีเฉลยเล็กๆ ว่าทำไมคนเป็นภรรยาถึงยังเชื่อใจว่าสามีจะทำได้สำเร็จ หนังในตอนนี้อาจจะไม่ได้อะไรมาก แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีคนแปลกๆ เข้ามาหาความฝันในอเมริกาแบบที่ใครมองก็ว่าบ้า แต่แค่เป็นการมองโอกาสที่ต่างกันออกไปเท่านั้น
คะแนน 8/10
ตอนที่ 8 The Son
หนุ่มชาวซีเรียที่ปิดบังทางบ้านว่าเป็นเกย์ แต่แล้วความแตกจนทำให้เขาต้องหลบหนีออกจากบ้าน เพราะพ่อกับน้องชายรับเรื่องนี้ไม่ได้จนตามมาทำร้ายเขา ทำเขาต้องหาทางหนีไปอยู่อเมริกา ดินแดนที่เปิดกว้างยอมรับในเรื่องความแตกต่างทางเพศนี้ได้
นี่เป็นตอนปิดท้ายที่พิเศษกว่าตอนอื่นอยู่หลายอย่าง ด้วยความที่ตอนอื่นเป็นเรื่องราวที่ตัวละครใช้ชีวิตในอเมริกาอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้เป็นเรื่องของการพยายามหาทางเข้ามาอยู่อเมริกาด้วยการลี้ภัย ผ่านการยื่นเรื่องขอไปทาง UN และก็ต้องรอการอนุมัติว่ามีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งหนังเผยให้เห็นความโหดร้ายของการไม่ยอมรับในเรื่องนี้ที่ซีเรีย ที่ผู้เป็นพ่อไม่อาจจะยอมรับลูกว่าเป็นเกย์ได้ด้วยเหตุผลทางศาสนาว่าคนเป็นเกย์ตายไปต้องตกนรก จึงทำร้ายลูกตั้งแต่เด็กเพื่อหวังให้หลุดจากความเป็นเกย์ แต่กลายเป็นว่าเขาต้องแอบซ่อนความเป็นเกย์ไว้อย่างอึดอัด จนสุดท้ายก็ต้องหนีจากซีเรียมาอเมริกาให้ได้
หนังไม่ได้มีเรื่องของตัวเอกหลักเพียงคนเดียว แต่มีตัวละครสมทบอีกตัวเป็นเพื่อนใหม่ของตัวเอกที่เป็นเกย์สาวแบบเปิดเผย โดยพยายามหาทางไปอยู่อเมริกาเป็นดารานักแสดงให้ได้ ซึ่งตัวละครนี้มีบทบาทสำคัญทำให้ตัวเอกต้องสู้ชีวิตอดทนเพื่อไปตามฝันให้ได้ด้วยกัน
แต่หนังกลับไม่ได้จบที่ปลายทางอเมริกา ดันไปไกลกว่านั้นด้วยเรื่องราวการปลดปล่อยหาความสุขจากสถาณที่เที่ยวของเกย์ในอเมริกา ซึ่งแม้จะใส่มาเพื่อให้เป็นแนวเรื่อง LGTB โดยสมบูรณ์ แต่ก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่ต้องมาถึงจุดตรงนี้ กลายเป็นส่วนการต่อสู้ฝ่าฟันที่ทำมาได้ดี กลับจบลงด้วยอารมณ์แปลกๆ เหมือนหาบทสรุปไม่ลงเลยต้องจบแบบเกินเลบไปสักหน่อยครับ (แต่ถ้าคนดูเป็นเพศสภาพตามนี้ก็อาจจะชอบที่จบแบบนี้ครับ)
นอกจากนี้เรื่องราวในตอนนี้ยังดูเหมือนพยายามโฆษณาชวนเชื่อไปสักหน่อยว่าการเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ในอเมริกาปลอดภัย จนใครๆ ที่มีปัญหาในเรื่องนี้ก็หาทางย้ายมาที่นี่เถอะ ซึ่งดูก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าปลอดภัยจริงขนาดนั้นครับ (ในบ้านเรายังดูปลอดภัยกว่ามาก) แต่ก็ถือว่าเป็นตอนที่นำเสนอเรื่องราวเจาะจงไปที่ LGTB ให้เข้ากับเรื่อง Little America ได้อย่างน่าสนใจครับ
คะแนน 7.5/10
Little America มีโครงเรื่องราวกับคอนเซ็ปต์น่าสนใจ และคิดว่าถ้าได้รับความนิยมทางแอปเปิลคงทำต่อได้เรื่อยๆ สำหรับซีซั่นแรกนี้เรื่องราวมีที่โดดเด่นน่าสนใจหลายตอน แต่บางตอนก็ค่อนข้างกลวงจนเกินไป และก็ยังมีขาดๆ เกินๆ ในบางตอน ซึ่งคงเพราะด้วยเวลาที่สั้นไปทำให้ต้องรวบรัดเรื่องราวสรุปตัดจบ ซึ่งบางตอนก็ตัดจบห้วนเกินไปครับ
แต่ถ้าต้องการดูหนังซีรีส์สั้นๆ สบายๆ ไม่เครียด เน้นดราม่าสร้างฝันได้แรงบันดาลใจ+ตลก (ไม่ใช่ทุกตอน) ก็แนะนำเลยครับ