playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

[รีวิว] ‘ทัชมาฮาล 1989’ มหาวิหารรวมเรื่องรักยุคคลาสสิค แต่เล่าเรื่องทันสมัยเก๋ไก๋วัยรุ่น

ทัชมาฮาล 1989

สรุป

ต้องบอกเลยว่าหนังดีผิดคาดเอามากๆ ด้วยเรื่องราวการเล่าทันสมัย แต่อยู่ในยุคคลาสสิค 80s-90s ของอินเดีย แม้จะไม่ตรงกับไทยนัก แต่ก็มีบางอย่างร่วมสมัยให้คิดถึงเหมือนกัน บวกกับบทดีๆ ที่ผูกพันทุกตัวละครเข้ามาบรรจบไว้ด้วยกันกับสิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างขึ้นด้วยความรักอย่าง ‘ทัชมาฮาล’ ได้อย่างแนบเนียนสมกับชื่อเรื่องนี้จริงๆ ครับ

Overall
8/10
8/10
Sending
User Review
5 (2 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • รวมเรื่องรักทุกวัยหลายประเด็นได้อย่างน่าสนใจมาก
  • หนังตลกนำหน้าดราม่าเครียดๆ ก็ยังทำให้ตลกได้
  • บทดราม่าซึ้งๆ เศร้าๆ ก็ทำได้ถึง
  • สภาพแวดล้อมยุคเก่าที่หาไม่ได้ในปัจจุบัน (อย่างรถลากสามล้อถีบ)
  • การเลือกตั้งกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในมหาวิทยาลัยยุคนั้น
  • มีเรื่องท้าทายความเชื่อศาสนาขนบธรรมเนียมในอินเดียมาเกี่ยวข้องด้วยตรงๆ
  • ตัวเรื่องมี 7 ตอน ตอนละ 30 นาทีสั้นๆ ใช้เวลาการรับชมไม่นานนัก

Cons

  • บางคู่เรื่องรวบรัดตัดให้รักกันไวไปหน่อย
  • ขาดฉากเต้นที่เป็นเสน่ห์ของหนังอินเดีย
  • ประเด็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้มีการสานต่อให้จบในตอนหลัง

ทัชมาฮาล 1989 (Taj Mahal 1989) หนังรักตลกย้อนยุคที่พาเราท่องอดีตไปดูเรื่องราวความรักในปี 1989 ของอินเดีย สมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนหรือแอพทินเดอร์มาเป็นตัวช่วยเรื่องความรัก แล้วต้องพบเจอกับอุปสรรคในเรื่องราวความรักยุคคลาสสิค ที่รับประกันเลยว่าดูแล้วขำเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มตลอดเรื่องแน่นอนครับ

 Taj Mahal 1989 (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง ทัชมาฮาล 1989

หน้าหนังกับตัวอย่างอาจจะดูแล้วงงๆ ว่าเรื่องราวในเรื่องแท้จริงเป็นแบบไหน นิยามสั้นๆ เลยละกันครับว่าเรื่องนี้คือ Love Actually ฉบับอินเดีย ที่รวมเรื่องราวความรักหลายช่วงอายุไว้ด้วยกันในเรื่องเดียว แล้วก็มี ‘มหาวิหารทัชมาฮาล’ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกเป็นตัวเชื่อมโยงทุกตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน แต่สิ่งหนึ่งต่างออกไปจากหนังรวมเรื่องรักปกติคือ หนังพาเราย้อนยุคไปในปี 1989 อย่างตั้งใจสร้างให้ดูเลยว่าตัวหนังคลาสสิคก็จริง แต่การเล่าเรื่องราวทันสมัยเหมือนหนังวัยรุ่นในปัจจุบัน มีตัวละครในเรื่องหันมาพูดคุยกับคนดูได้ มีการบอกว่ารู้จักทินเตอร์ แต่คุณต้องเข้าใจว่ายุคนี้ไม่มีตัวช่วยอะไรแบบนั้นหรอกนะ แล้วคุณเจอใครใกล้ตัวก็ต้องมีโอกาสหลงรักคนๆ นั้นธรรมดา (อันนี้เป็นเสียงเล่าจากตัวละครในเรื่องเอง) ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องจะมีมุมมองความรักในเชิงตั้งคำถามแนวปรัชญา ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินไปจนถึงตอนจบ แล้วก็พบคำตอบของความรักในแบบของตัวเอง…

ทัชมาฮาล 1989ซีรีส์เรื่องนี้ความยาว 7 ตอน ทุกตอนความยาว 30 นาทีนิดๆ ในตอนแรกที่รับชมอาจจะงงนิดๆ กับตัวละครชื่ออินเดียเรียงหน้าโผล่มาแนะนำตัวเยอะเหลือเกิน (แนะนำตัวจริงๆ แบบหันมาพูดกับคนดูเลย) แต่ทุกตัวละครจะมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่ง โดยเริ่มแรกจาก “ธรรม” หนุ่มนักศึกษากับ “รัศมี” แฟนสาวที่เป็นคู่รักใหม่ เขาต้องมาพบกับวิกฤติความรักเนื่องจากมีผู้ชายคนอื่นพยายามเข้ามาจีบเธอด้วยเช่นกัน นั่นยังไม่รวมเพื่อนรักร่วมห้องพัก “อังคัท” ที่สนิทและทำดีกับแฟนสาวของเขา จนดูแล้วหวั่นใจว่าเพื่อนรักจะหักเหลี่ยมโหดหรือไม่ ทำให้ธรรมต้องหันไปหาตัวช่วยจากแก๊งผู้มีอิทธิพลให้คนอื่นยำเกรงไม่กล้ายุ่งกับแฟนเขา แต่ต้องแลกกับการลงแข่งเลือกตั้งประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ซึ่งเขาไม่เคยรู้อะไรเรื่องนี้เลย แต่ก็ต้องยอมมาเป็นหุ่นเชิดให้จนได้

ในขณะเดียวกัน “อังคัท” เองก็ต้องช่วย “โสนตุ” เพื่อนสนิทลูกคนรวยให้ชนะใจเหรัญญิกของกลุ่มนักศึกษาหัวคอมมิวนิสต์สุดโต่งอย่าง “มัมตา” ซึ่งเข้าร่วมการเลือกตั้งประธานนักศึกษานี้เช่นกัน โดยการจะเข้าถึงใจมัมตาได้ก็ต้องเปลี่ยนแขกโพกหัวอย่างโสนตุให้เป็นคอมมิสนิสต์บ้าเชิดชูไอดอลอย่าง ‘เช กูวาร่า’ ให้ได้ ซึ่งเป็นภารกิจที่ฮาพิลึกๆ แต่แล้วกลายเป็นว่ามัมตากลับสนใจอังคัทเองซะนี่

ทัชมาฮาล 1989

ไม่ใช่มีแค่รักวัยรุ่นเท่านั้น แต่หนังยังแบ่งเรื่องมายังอาจารย์ของพวกเขาโดยเป็น ‘อัขตาร์กับสริตา’ สองสามีภรรยาที่แต่งงานกันมา 22 ปีจนความรักเริ่มจืดจาง พูดอะไรก็ไม่ค่อยเข้าหูกัน สริตาแม้จะสอนฟิสิกส์แต่กลับติดการดูหนังดูละครหนัก จนไม่สนใจรับรู้ข่าวสารในอินเดีย ซึ่งอัขตาร์เป็นอาจารย์สอนปรัชญามักจะชวนคุยเรื่องราวข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นประจำ ความไม่เข้าใจกันตรงนี้เริ่มหนักจนสริตาเริ่มคิดหาทางหย่า นั่นทำให้อัขตาร์ต้องหาทางกู้วิกฤติโดยด่วนด้วยคำแนะนำของ ‘สุธากร’ เพื่อนรักสมัยเรียนที่พึ่งมากลับมาเจอกันอีกครั้ง ด้วยการพาเธอไปฮันนีมูนครั้งสุดท้ายวัดใจก่อนหย่าที่ทัชมาฮาล และที่นี่ก็เป็นบทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวทุกคู่ด้วยเช่นกัน
จุดเด่นของเรื่องนี้คือการผูกปมของทุกคู่ให้ขมวดเกลียวเข้ามายังทัชมาฮาลในตอนท้ายได้อย่างแนบเนียน แม้อาจจะมีบางตัวละครไม่ได้มาที่นี่ตรงๆ แต่ก็ยังมีส่วนเกี่ยวพันมาถึงสถาณที่นี้ในทางใดทางหนึ่งด้วยเช่นกัน แล้วหนังก็นำสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตในยุคนั้นที่เด่นๆ ใส่เข้ามาในเรื่องอย่างชัดเจน อย่างการถ่ายรูปด้วยกล้องดีๆ ที่สมัยนั้นราคาแพงจนต้องหายืมเพื่อนมาใช้ หรือการได้เห็นรถลากรถสามล้อถีบ ที่ปัจจุบันกำลังสูญหายไปหมดแล้ว  เป็นการเดินทางไปมาตลอดเรื่อง และต้องบอกว่าที่เล่ามาข้างต้นยังไม่ครบทุกตัวละคร เพราะหนังมีตัวละครเพิ่มมาจากตอนแรกเรื่อยๆ ถ้าลงไว้จะเป็นการสปอยล์มากไป แต่หลักๆ แล้วหนังเดินเรื่องด้วยคู่ของอาจารย์  ‘อัขตาร์กับสริตา’ และ‘อังคัท’ หนุ่มบ้านๆ ขี้เล่นนิสัยดีจนสาวๆ แอบปลื้ม แต่เขาเองไม่เชื่อในความรัก ดันกลับต้องมาติดในวังวนรัก 4 เส้าของเขากับเพื่อนสนิทร่วมห้องพักซะนี่

หนังเดินเรื่องด้วยเรื่องตลกนำหน้าผสมกับดราม่าหนักๆ แต่ไม่ทำให้เครียด แม้เรื่องราวจะดูจริงจังถึงขนาดมีแก๊งอิทธิพลหรือการนำความเชื่อคอมมิวนิสต์ใส่เข้ามาในเรื่องก็ตาม แต่ก็ยังใส่มุกตลกเข้ามาได้จังหวะขำฮาได้ดีมากทุกครั้ง ซึ่งรับรองเลยว่าดูไปมีขำเปื้อนด้วยรอยยิ้มไปตลอดการรับชมแน่นอน รวมถึงแง่มุมโรแมนติกดีๆ กับความรักที่กำลังเกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว การแอบรัก รักหลายเส้า การเติมเต็มความรักที่จางหายไป หรือแม้กระทั่งดราม่าหนักๆ เรียกน้ำตาเลยก็มี จากความรักต้องห้ามที่มีอดีตมาเกี่ยวพัน (เป็นคู่ที่ไม่ได้เอ่ยถึงในงานนี้ แต่สนใจอ่านในสปอยล์ต่อไปได้) แล้วก็ยังมีเรื่องการผจญภัยสืบสวนแนวอาชญากรรมแทรกเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง โดยยังเกี่ยวพันกับเรื่องราวความรักได้อย่างลงตัว ต้องบอกเลยว่าซีรีส์อินเดียเรื่องนี้เขียนบทรวมเรื่องความรักออกมาได้ครบกลมกล่อมทุกอารมณ์เอามากๆ โดยที่ไม่มีตัวละครไหนหลุดกรอบหัวเรื่องทัชมาฮาล ที่มาผูกพันกันในตอนจบได้เลยแม้แต่คนเดียว

หนังจัดดราม่าหนักๆ ไว้กับคู่รักของสุธากร ที่แม้ว่าเขาจะฉลาดเรียนเก่งมากจนชนะอัขตาร์ที่เป็นอาจารย์ปรัชญาในเรื่อง แต่กลับมาทำอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าในตรอกเล็กๆ หาเช้ากินค่ำไปวันๆ กับแฟนของเขาซึ่งมีอดีตเป็นโสเภณี ที่เขาพบเจอตอนเรียนมหาวิทยาลัย และพยายามชนะใจเธอจนสำเร็จ แต่กลับต้องมาพบว่าอดีตของเธอไม่เคยจางหายไปจากคนในสังคมอินเดีย ที่ไม่มีใครยอมรับผู้หญิงแบบนี้มาเป็นภรรยาได้ และนั่นก็กลายมาเป็นอุปสรรคในชีวิตที่ทำให้สุธากรต้องสร้างทัชมาฮาลในฝันเพื่อให้เธอมีความสุขให้ได้

แต่ข้อเสียของเรื่องก็คงเป็นการที่ตัวละครเยอะมาก ก็เลยทำให้เรื่องราวบางคู่ไม่มีเวลาพอปูให้อินมากพอ หนังรวบรัดตัดให้รักกันง่ายไปเหมือนกัน แล้วก็ยังมีเรื่องการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยที่ปูมาเข้ากันได้กับเรื่องน่าลุ้นมาก แต่พอถึงตอนลงคะแนนกลับตัดจบรู้ผลเอาง่ายๆ และก็ไม่ได้เล่นประเด็นคอมมิวนิสต์ต่อเลย ทั้งๆ ที่วางไว้อย่างน่าสนใจกับสาวหัวขบถที่สวยเด่นจนเกือบเหมือนนางเอกของเรื่องนี้ กับอีกสิ่งที่หายไปคือฉากเต้นในหนังอินเดีย ซึ่งเข้าใจว่าพอทำเป็นซีรีส์ทุนเน็ตฟลิกซ์มักจะไม่ใส่เข้ามา สำหรับคนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับฉากเต้นก็อาจจะมองว่าเป็นส่วนเกินน่ารำคาญ แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นเสน่ห์ที่ลงตัวแล้วก็ขาดไม่ได้กับหนังอินเดียดีๆ เลยครับ แต่ยังดีที่มีเพลงประกอบเพราะๆ เข้ามาในฉากสำคัญช่วยส่งเสริมอารมณ์ของเรื่องได้อยู่ครับ

ต้องบอกเลยว่า ทัชมาฮาล 1989 เป็นหนังซีรีส์อินเดียที่ดีผิดคาดมาก ด้วยเรื่องราวการเล่าทันสมัย แต่อยู่ในยุคคลาสสิค 80s-90s ของอินเดีย แม้จะไม่ตรงกับไทยนัก แต่ก็มีบางอย่างร่วมสมัยให้คิดถึงเหมือนกัน บวกกับบทดีๆ ที่ผูกพันทุกตัวละครเข้ามาบรรจบไว้ด้วยกันกับสิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างขึ้นด้วยความรักอย่าง ‘ทัชมาฮาล’ ได้อย่างแนบเนียนสมกับชื่อเรื่องนี้จริงๆ ครับ


อ่านรีวิวหนังอินเดีย Netflix คลิกที่นี่

Leave a comment
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ