รีวิว One-Way to Tomorrow (Netflix) สองคนแปลกหน้ากับเส้นทางความหวังของเขาและเธอ…
One-Way to Tomorrow
สรุป
หนังออริจินอล เนตฟลิกซ์เรื่องแรกของตุรกี ที่มาในแบบหนังรักโรแมนติคตามสูตร น่าเสียดายที่แม้สองนักแสดงจะมีเสน่ห์แบบที่แตกต่างจากหนังรักอเมริกัน แต่ตัวงานไม่ได้ฉายเสน่ห์เฉพาะตัวของประเทศตุรกี หรือโดดเด่นจากหนังรักเรื่องอื่นแต่อย่างใด
Overall
5/10User Review
( vote)Pros
- หนังรักที่เน้นบทสนทนาได้ค่อนข้างลื่นไหลระหว่างชายหญิงแปลกหน้า ฉายเสน่ห์ของนักแสดงทั้งสองคน
- บรรยากาศทิวทัศน์ข้างทางรถไฟของตุรกีที่สวยโดดเด่น
- สองนักแสดงที่บุคลิกแปลกต่างจากหนังรักจากอเมริกา
Cons
- เนื้อหาของหนังรักที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะลงเอยแบบไหน
- เหตุการณ์ในเรื่องเต็มไปด้วยความบังเอิญของชายหญิงคู่นี้จนขาดความน่าเชื่อถือ
- ฉากเลิฟซีนที่ใส่เข้ามาอย่างเร่งรีบขาดชั้นเชิง
รถไฟอาจเป็นหนึ่งในการสัญจรยอดนิยม และเปี่ยมเสน่ห์ บ่อยครั้งก็ช่วยขับเน้นบรรยากาศโรแมนติคให้กับคู่รัก ดังปรากฎในหนังรักชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Brief Encounter ของ เดวิด ลีน , หรือ Before Sunrise ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ รวมถึงหนังรักจากตุรกีเรื่องนี้
One-Way to Tomorrow หรือ Yarina Tek Bilet เป็นการรีเมคหนังสวีเดนเรื่อง How to Stop Wedding (Hur man stoppar ett bröllop) ของ ดราเซน คุลยนิน ซึ่งมีจุดขายในการเป็นงานที่ถ่ายทำเพียง 5 ชั่วโมงระหว่างเดินทางรถไฟเท่านั้น น่าเสียดายที่พอถูกนำมาสร้างใหม่ ตัวงานแม้จะมีมาตรฐานในทุกด้าน หากก็ไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์อะไรให้น่าจดจำได้ เป็นเพียงหนังรักอีกเรื่องหนึ่ง
ตัวอย่าง One-Way to Tomorrow
หนังเป็นผลงานเน็ตฟลิกซ์ ออริจินัล เรื่องแรกของประเทศตุรกี โดยผู้กำกับ โอซาน อาชิคทาน (Ozan Açiktan) คนทำหนังชาวตุรกี วัย 42 ปี ซึ่งสร้างชื่อจากหนังเรื่อง Sen Kimsin? ที่กลายเป็นหนังทำเงินระดับต้นๆ ในประเทศเมื่อปี 2012 และ ซีรี่ส์โทรทัศน์เรื่อง The Gift (2019 อ่านรีวิวคลิกที่นี่) อาชิคทานจบสาขานิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ในปี ค.ศ.2000 จากมหาวิทยาลัยอันคารา ซึ่งเริ่มมีหนังสั้นที่สร้างชื่อแล้ว ก่อนจะไปเรียนต่อสาขากำกับภาพที่ Polish National Film School ประเทศโปแลนด์ นอกจากผลงานหนัง เขายังทำงานโฆษณาซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Turkish Association of Advertising Agencies มาแล้วในปี 2006
แต่หากเอ่ยถึงวงการภาพยนตร์ตุรกีจากสื่อ เรามักนึกถึงผลงานสร้างชื่อในเทศกาลหนังโดยเฉพาะของผู้กำกับ นูริ บิลเกต์ ซีลัน ซึ่งโดดเด่นในการทำหนังเลี้ยงบรรยากาศแช่มช้า สอดแทรกด้วยมุขตลก การถ่ายภาพทัศนียภาพของที่ราบสูงอันโดดเด่น เวิ้งว้าง สะท้อนความเหงา เจ็บปวดของชีวิตผู้คนในประเทศท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึง Winter Sleep หนังปี ค.ศ. 2014 ซึ่งสามารถคว้ารางวัลปาล์มทอง รางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เทศกาลหนังที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาครองได้
แม้ One-Way to Tomorrow จะเป็นงานที่สร้างเพื่อส่งตรงสตรีมมิ่ง Netflix แต่ก็พอจะบอกเราได้เช่นกันว่าแท้จริงวงการหนังของตุรกีมีอะไรหลากหลายกว่าหนังในเทศกาล มีหนังที่สื่อสารกับผู้ชมวงกว้างได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมเฉพาะสำหรับผู้ชมชาวมุสลิมอย่างที่หลายคนอาจตั้งแง่เมื่อนึกถึงประเทศนี้ เพราะเมื่อดูจนจบเราแทบจะไม่เห็นสิ่งที่แตกต่างไปจากการเดินทางรถไฟประเทศอื่น หรือความรักที่แตกต่างจากสังคมตะวันตกในยุโรปแบบเห็นได้ชัด เป็นหนังรักที่ใครก็สามารถสัมผัสเรื่องราวเช่นที่ทั้งคู่ประสบไม่ยากเลย
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ อาลี (เมติน อัคดุลญา จาก Sahsiyet ) ทนายความหนุ่มพบว่าที่นั่งบนรถไฟเส้นทางไปอันคารา-อิซเมียร์ ของเขา มีหญิงสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ก่อนแล้ว (ดิแลน ชิเช็ค เดนิช จาก The Gift) ความช่างพูดช่างถามของเขาทำให้ความสัมพันธ์เริ่มต้นไม่ดีนักในฐานะที่เป็นคนแปลกหน้าต่อกัน และต้องนั่งใกล้กันบนรถไฟซึ่งจัดที่นั่งแยกเป็นห้องไว้อย่างมิดชิด ก่อนจะทราบภายหลังว่าเธอชื่อ เลย์ล่า กำลังเดินทางไปยังอิซเมียร์เพื่อไปงานแต่งงานเหมือนกัน
ความสัมพันธ์พัฒนาด้วยบทสนทนาที่ทำให้เราเห็นว่า เลย์ล่า นักไวโอลิน มีนิสัยแตกต่างจากอาลีโดยสิ้นเชิง แม้เขาจะช่างพูด หากก็เป็นคนที่สุภาพเรียบร้อย ทำตัวอยู่ในระเบียบแบบแผนจนถูกมองว่าน่าเบื่อ มีนิสัยชอบคิดแทนคนอื่น ผิดกับเธอที่เป็นสาวเปรี้ยวสมัยใหม่ โผงผาง ของขึ้นง่าย พูดสบถบ่อยๆ เมื่ออารมณ์เสีย แต่ก็เป็นคนพูดตรงไปตรงมากว่าเขา ก่อนที่ต่อมาพวกเขาจะเผยเรื่องราว และจุดประสงค์ในการเดินทางต่อกัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ต่างรับรู้ได้ถึงบาดแผลจากความรักในอดีตที่หวังใจว่าการเดินทางไปงานแต่งงานครั้งนี้จะเป็นหนทางในการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรในชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่นที่อาลีเผยว่าเขาจะไปเพื่อบอกยับยั้งงานแต่ง บอกว่าเขารักเธอมากแค่ไหน ?
ปมในอดีตของตัวละครก็นับว่าน่าสนใจ ดังที่อาลีเผยในภายหลังว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่แค่เรื่องเหลวไหลแบบที่เธอยิ้มเยาะ แต่เพราะชีวิตที่ผ่านมาเขาใช้ชีวิตตามกรอบของพ่อแม่ที่คอยเป็นห่วงมาตลอด ไม่เคยผ่านการตัดสินใจเอง ทุกอย่างต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ รวมไปถึงการมีอาชีพทนายที่ทำให้เขารู้สึกมั่นคง แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่เคยทำอะไรที่ท้าทายหรือตื่นเต้นสักครั้ง ขณะที่เลย์ล่าแม้ภายนอกจะดูมั่นใจ และกล้าลองอะไรใหม่ๆ แต่ก็มีความทุกข์ที่เมื่ออาลีพูดจี้ใจดำเมื่อไร เธอก็เลือกจะหนีมากกว่าเผชิญหน้ากับมัน
ผู้กำกับอาชิคทานถ่ายทัศนียภาพระหว่างทางของรถไฟ และยามค่ำคืน คลอไปกับดนตรีประกอบหลากแนวจากตุรกีคู่กับอารมณ์ต่างๆ ที่สองตัวละครพบ ทั้งเรื่องสนุกชวนหัว ทำอะไรบ้าๆ ร่วมกัน ลุ้นตื่นเต้นกับเรื่องไม่คาดคิด หรือเศร้าซึมกับความรัก ซึ่งส่งผลให้มีตั้งแต่เพลงพื้นเมืองสไตล์อาหรับ ไปจนถึงเพลงป๊อปช้าๆ ขณะเดียวกันพล็อตที่ว่าด้วยการอยู่บนรถไฟเป็นหลัก เขาก็สามารถถ่ายจากหลายมุมมอง สอดแทรกคลิปจากละคร ไปจนถึงวางองค์ประกอบได้อย่างน่าพอใจ หลายเหตุการณ์เชื่อว่าผู้ชมชาวไทยก็อาจเคยประสบไม่ต่างจากตัวละครในเรื่อง เช่นการจอดพักตามสถานี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ให้เสียเวลาจนตกรถ ต้องตีรถแท็กซี่ หรือรถโดยสารอื่นๆ ไปยังสถานีถัดไปเพื่อขึ้นรถให้ทัน
ความบังเอิญที่ชายหญิงมานั่งรถไฟร่วมกันพัฒนาเป็นความรักนั้น ตัวหนังเองก็ปรับบทให้เข้ากับยุคปัจจุบันที่เรื่องดังกล่าวทำได้ยากขึ้น เพราะการซื้อตั๋วรถไฟ รวมถึงตั๋วรถโดยสารเหล่านี้สามารถเลือกที่นั่งได้ และมักจะเลือกให้ผู้โดยสารนั่งกับเพศเดียวกัน ให้ที่นั่งดังกล่าวอาลีซื้อมาให้เพื่อนอีก 3 คน ขณะที่เลย์ล่ากระเป๋าเดินทางหาย และเธอซื้อได้แค่ตั๋วสำหรับวันพรุ่งนี้ ทำให้หญิงสาวนึกอุตริแอบขึ้นรถไฟมานั่งที่นั่งว่างๆ ตรงนั้นพอดี ก่อนจะขอให้เขาช่วยไกล่เกลี่ยพนักงานตรวจตั๋วทีหลัง
น่าเสียดายที่หลังจากนั้นแม้เคมีของสองนักแสดง อัคดุลญา และชิเช็ค เดนิช จะเป็นได้ด้วยดี เผยเสน่ห์ของบุคลิกหล่อสวยแบบยูเรเซียที่ผสมระหว่างคนยุโรป และอาหรับ หนังก็เต็มไปด้วยเรื่องบังเอิญที่ใส่เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า พอหนังใช้ซ้ำๆ ความน่าเชื่อถือ และรู้สึกร่วมเอาใจช่วยตัวละครก็น้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย
หลังจากสนทนามากขึ้นทั้งอาลี และเลย์ล่า จบพบว่าแท้จริงจะไปงานแต่งงานเดียวกัน อาลีเคยเป็นแฟนของเจ้าสาว ขณะที่เลย์ล่าเคยเป็นแฟนกับเจ้าบ่าว ยิ่งเมื่อพูดคุยกันจึงได้รู้ว่าทั้งสองนอกใจพวกเขาระหว่างที่คบกันอยู่ก่อนแล้ว และพวกเขาอาจไม่รู้จักคู่รักของตนดีพอแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่านินทาลับหลัง หรือความเข้าใจผิดว่าอีกฝ่ายชอบบทกวีที่ตนมอบให้
พร้อมกันนั้นเมื่อเนื้อเรื่องมีช่องโหว่ ไม่ว่าจะในแง่การถ่ายทำที่เห็นข้อจำกัดเมื่ออยู่บนรถไฟ ซึ่งผู้กำกับพยายามหาเทคนิคและสถานการณ์ต่างๆ มาเล่น แต่ก็ยังไม่โดดเด่นจนเห็นชัด…ที่แน่ๆ คือไม่ได้ดูคูลดูเท่ห์แบบที่ดีไซน์ผ่านหน้าหนังอย่างโปสเตอร์ของมันเป็นแน่ รวมไปถึงฉากเลิฟซีนที่เหมือนจงใจใส่เข้ามาให้เพิ่มความหวือหวา ขณะที่เรายังพบว่าอารมณ์ของทั้งคู่ยังพัฒนาไม่ได้สุกงอมดีนักด้วยซ้ำ
หากเปรียบเทียบกับหนังที่คล้ายคลึงกันและเดินเรื่องด้วยบทสนทนาอย่าง Before Sunrise จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า One-Way to Tomorrow ไม่ได้มีประเด็นที่ชัดและแหลมคมเท่า หนังของลิงค์เลเทอร์แม้จะถกกันสารพัดเรื่องตั้งแต่ปรัชญา วรรณกรรม หรือนิสัยเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ลงเอยอย่างดงาม มีฉากที่ยากจะลืมเมื่อทั้งคู่ต้องจากลาและสัญญาต่อกัน ผิดกับเรื่องนี้ที่การจับเอาเรื่องในเสี้ยวชีวิต กลับมีบทสรุปของทางเลือกที่ทำให้รู้สึกดีเพียงแค่ช่วงสั้นๆ สื่อถึงการตัดสินใจในความสัมพันธ์ที่เป็นการลองอะไรใหม่ๆ ของทั้งคู่ในท้ายที่สุด
ที่อาจจบลงหลังจากนั้นไม่นาน เช่นเดียวกับการถูกคนดูหลงลืมอย่างง่ายดาย
คลิกรับชมผ่าน Netflix ได้ที่นี่