รีวิว The White Tiger (Netflix) พยัคฆ์ขาวรำพัน หนังอินเดียตลกร้ายที่ตีแผ่ด้านมืดของระบบวรรณะ
The White Tiger
สรุป
หนังอินเดียดัดแปลงจากนิยายขายดี นำเสนอเรื่องสายดาร์กปนตลกร้าย มุ่งจิกกัดและตีแผ่ด้านมืดของระบบชนชั้นวรรณะในอินเดียอย่างไม่เกรงใจคนดู เดินเรื่องได้น่าติดตาม เหมือนเป็นหนังอินเดียที่สร้างมาให้คนต่างชาติดูมากกว่า
Overall
8/10User Review
( votes)Pros
- นักแสดงหลักเล่นดี น่าเอาใจช่วย
- ตีแผ่ด้านมืดของอินเดียในระดับที่ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนนำเสนอขนาดนี้มาก่อน
- ฉากและโปรดักชั่น ทำมาดี
- มีเสียงพากย์ไทย
Cons
- การเดินเรื่องบางจุดดูไม่จำเป็นเท่าไหร่
- ตัวหนังไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนและปัญหาในครอบครัวของพลรามให้ออกมาชัดเจนได้มากกว่านี้
The White Tiger Netflix รีวิว พยัคฆ์ขาวรำพัน หนังอินเดียสายดาร์กตลกร้ายที่ไม่มีฉากเต้น มุ่งจิกกัดและตีแผ่ด้านมืดของระบบชนชั้นวรรณะในอินเดียแบบไม่เกรงใจคนดู
ตัวภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายขายดีของ อราร์วินด์ อดิกา ในชื่อเดียวกัน ส่วนผลงานกำกับโดย Ramin Bahrani ผู้กำกับชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายอิหร่านที่สร้างผลงานระดับเข้าชิงรางวัลอย่าง Fahrenheit 451 (2018) ซึ่งผลงานเรื่องนี้เป็นการร่วมงานกับทาง Netflix โดยตรง
ภาพต้นฉบับนิยาย
อาจกล่าวได้ว่านี่คือ หนังอินเดียที่สร้างให้ชาวโลกดู มากกว่าจะสร้างให้คนอินเดียดูเสียมากกว่า แล้วยังเป็นการล้มล้างขนบเดิมของหนังอินเดียที่ต้องมีฉากตัวละครในเรื่องมาร่วมกันเต้นและร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานออกไปจนหมดสิ้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรับชมได้ใน Netflix เลยครับ ความยาว 2 ชม. 5 นาที
ตัวอย่าง The White Tiger Trailer
The White Tiger เรื่องย่อ
การเล่าเรื่องจะเป็นแนวบอกเล่าเส้นทางชีวิตของ พลราม ฮาลวัย ชายหนุ่มที่ต้องการถีบตัวเองขึ้นมาจากคนยากจน ซึ่งถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย แล้วเขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่หักเหชีวิตจนหมดสิ้น
เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นการเล่าเรื่องในลักษณะเล่าย้อนผ่านทางอีเมล์ที่ พลราม ได้เขียนถึงรัฐมนตรีจีนที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศอินเดีย ดังนั้นการเล่าเรื่องจะเป็นในมุมมองของ บุคคลที่ 1 หรือตัวเอกอย่างพลรามเป็นหลัก ซึ่งก็เหมือนทำให้เราได้ติดตามดูเส้นทาชีวิตของเขาว่า จากคนอินเดียยากจน เขาทำยังไงถึงสามารถขึ้นมาสร้างตัวเป็นหนึ่งในนักธุรกิจท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ
ตัวเรื่องจะชวนให้ลุ้นถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของเจ้าตัวที่เราจะได้รับชมตลอดเรื่อง รวมถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่เขาย้ำอยู่ในเรื่องว่า คนอินเดียเวลานี้มีเพียง 2 วรรณะคือ คนจน และ คนรวย แล้ววิธีการที่คนจนจะขึ้นมารวยได้มีแค่สองทางเท่านั้น นั่นคือ การเมือง หรือไม่ก็ต้อง ก่ออาชญากรรม
The White Tiger รีวิว
ก่อนดูหนังเรื่องนี้ ให้เตะความคิดหรือภาพลักษณ์เก่าๆในการดูหนังอินเดียออกไปเลยครับ เพราะนี่ไม่ใช่หนังอินเดียที่สร้างโดยบอลลีวูดแบบที่เราเคยเห็นกันมา ที่จะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น การเอาตัวละครในเรื่องมาเต้นร่วมกัน หรือตอนจบที่ตัวเอก ตัวร้าย ก็จะได้มาเต้นกันหมด ไปจนถึงฉากที่สร้างมาในแนว ทำกรรมดีได้รับผลดี ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วในตอนท้าย
แต่นี่คือหนังอินเดียที่พยายามนำเสนอ “ด้านมืด” ของสังคมอินเดีย ตามที่ตัวเอกของเรื่องคือพลรามบอกไว้ในเรื่องเองหลายครั้ง
ตัวเรื่องมีการจิกกัดสังคมอินเดียในเชิงลึกและเป็นมุมที่อาจคาดไม่ถึง ซึ่งหลายเรื่องฝังรากในระดับสถาบันครอบครัวของอินเดีย โดยตัวเอกมีการเปรียบเทียบว่า สาเหตุที่สังคมอินเดียมีปัญหาเรื่องชนชั้นวรรณะมากมาย ชนิดที่ว่าต่อให้เอาของทันสมัยมายัดใส่มือผู้คนยากจนส่วนใหญ่ในประเทศ มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรนัก เพราะคนอินเดียที่ยากจนเกือบทั้งประเทศ เหมือนอยู่ในกรงขังไก่ ในขณะที่คนอินเดียแต่ละรุ่น จะมีคนอยู่ประเภทหนึ่งที่หาพบได้ยากมาก ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า เหมือนกับ “เสือขาว” ซึ่งเป็นเสือพันธุ์หายาก แต่มันอยู่ที่ว่า เราจะทำตัวเองให้เป็นเสือขาวได้ยังไง
ในเรื่องราว พลราม ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเสือขาวเมื่อวัยเด็ก จากความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ เขายังมองออกว่า ปัญหาของครอบครัวเขาคืออะไร ซึ่งเขาพยายามบอกว่า นี่คือปัญหาเดียวกับของคนอินเดียส่วนใหญ่ ที่มักต้องติดอยู่กับครอบครัวขนาดใหญ่ของตนเองที่ขูดรีดเงินที่พ่อและพี่ของเขาหามาได้ไปหมด
พลราม ยังเปรียบเปรยสังคมอินเดียว่า มีเทพให้กราบไหว้มาก และมีวรรณะมากกว่า 6,000 วรรณะ แต่ในปัจจุบันมีเพียง 2 วรรณะเท่านั้น คือคนรวยและคนจน แต่พลรามมีความฉลาดและความปากหวาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าไหวพริบเป็นเครื่องมือ ซึ่งยังไปถึงขั้นเจ้าเล่ห์และฉลาดแกมโกงอยู่บ้าง แต่มันก็ผลักดันให้เขาได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเป็นคนขับรถยนต์ส่วนตัวให้กับ นกกระสา ซึ่งเป็นชื่อที่เขาเรียกผู้มีอิทธิพลคนดังในท้องถิ่น กระทั่งเขาได้วางแผนจนกลายมาเป็นคนขับรถประจำตัวของ คุณอโศก ลูกชายของนกกระสา ซึ่งเป็นคนหนุ่มหัวสมัยใหม่ที่เพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกับภรรยาสาวสวยคือ พิงกี้ ซึ่งเป็นคนอินเดียที่ไปเติบโตในสหรัฐอเมริกาด้วย
แล้วต่อมา พลรามยังได้มีโอกาสไปอยู่ที่เมืองเดลี เมืองหลวงของประเทศ พร้อมกับทำงานให้พวกเขา ซึ่งในระหว่างนี้เอง มันได้ช่วยเปิดโลกทัศน์และทำให้เขาได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่ ได้มีโอกาสเห็นความสัมพันธ์ซับซ้อนของเศรษฐีและนักการเมือง ซึ่งภายหลัง มันได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและโหดเหี้ยม แต่ก็ทำให้เขาหลุดจากสถานะ คนจน ออกมาได้
ข้อเด่นสำคัญคือ การนำเสนอของตัวหนังที่ไม่ได้ทำมาเพื่อมุ่งที่จะตัดสินการกระทำของพลราม ว่าเขาทำผิดหรือถูก ถึงแม้ว่าการกระทำของเขามันแน่ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง แต่ตัวหนังก็มุ่งเน้นที่จะนำเสนอให้เห็นว่า สังคมแบบที่มีในเรื่อง เราอาจพบได้ในประเทศของเราหรือไม่ แล้วคนอย่างพลรามก็ยังมีให้เห็นอยู่มากในสังคมทั่วโลกด้วย ดังนั้นถ้าวันหนึ่งพวกเขาลุกขึ้นมาทำแบบที่พลรามได้ลงมือก่ออาชญากรรมในตอนท้ายเรื่องแล้ว มันจะเป็นยังไงกันละ
ข้อเด่นอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือพลังการแสดงของ Adarsh Gourav ในบท พลราม ที่ทำได้ดีมาก ทั้งน่าสงสาร น่าเวทนา น่าเอาใจช่วยไปพร้อมกัน
ข้อด้อยของหนังก็มีอยู่ไม่น้อย ในแง่ของการเดินเรื่องบางจุดที่ดูไม่จำเป็นกับตัวเรื่องมากนัก หรือการที่ตัวหนังให้นำ้หนักในช่วงท้ายน้อยเกินไปนิดหลังจากที่พลรามตัดสินใจทำเรื่องร้ายแรงไปแล้ว ตรงนี้น่าจะมีการบอกเล่ารายละเอียดเพิ่มอีกสักนิด
ข้อด้อยอีกจุดคือ ตัวหนังไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนและปัญหาเรื่องภายในครอบครัวของพลรามให้ออกมาชัดเจนได้ จนเต็มไปด้วยคำถามมากมายว่า ทำไม พ่อและพี่ชายของพลราม ถึงไม่สามารถสลัดออกจากครอบครัวนี้ ถึงแม้ตัวหนังจะพยายามอธิบายผ่านแนวคิดของพลรามเรื่องกรงไก่ก็ตามที
ในด้านการเล่าเรื่องที่มีลักษณะแบบกึ่งเหนือจริง คือมีความเป็นตัวละครในการ์ตูน ผสมผสานกับความสมจริงแบบสายดาร์กก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หนังไม่เครียดหรือหดหู่เกินไป และดูสนุกขึ้น
ภาพรวมแล้ว จัดว่าเป็นหนังอินเดียน้ำดีที่มีลักษณะการเล่าเรื่องแบบกึ่งเหนือจริงผสมผสานกับแนวสมจริงได้ดีและสนุกที่สุดเรื่องหนึ่ง
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website