รีวิว Pacific Rim: The Black ปลุกชีพไคจูเยเกอร์ใหม่สไตล์อนิเมะญี่ปุ่นที่ติดโม้จนออกทะเลไปในที่สุด (ไม่มีสปอยล์)
Pacific Rim The Black
สรุป
ความพยายามปลุกชีพแปซิฟิคริมกลับมาอีกครั้ง แต่มาในรูปอนิเมะ ซึ่งถ้าเป็นแฟนแปซิฟิคริมก็คงต้องดูต่อ (เพราะไม่มีหนังให้ดูแล้ว) อยู่ในเกณฑ์แค่พอดูได้ อย่าหวังอะไรมาก แต่ถ้าไม่ใช่แฟนก็ข้ามไปได้เลย เพราะเรื่องแม้จะพยายามเชื่อมต่อกับหนังภาคแรก แต่สุดท้ายก็กลายเป็นออกทะเลเลอะเทอะมากในตอนจบ
Overall
6/10User Review
( votes)Pros
- เนื้อเรื่องมีส่วนเชื่อมต่อกับภาคแรกตรงๆ
- เส้นเรื่องใหม่เกิดที่ออสเตรเลีย ไคจูโผล่จากรอบแยกบนแผ่นดินแทนใต้ทะเล
- ฉากประสานและต่อสู้ในแบบแปซิฟิกริมที่ยังพอให้แฟนเรื่องนี้คิดถึงได้
- มีเสียงพากย์ไทย
Cons
- มีส่วนโม้แบบการ์ตูนญี่ปุ่นไม่มีเหตุผลรองรับดีพอยัดเข้ามามากไป
- ขาดดนตรีประกอบดั้งเดิมของภาคแรก
- ตัวละครหน้าตาโหลจากโปรแกรม 3D แบบไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
- ตอนจบกับเหตุผลที่เรื่องให้ไว้พาออกทะเลไปไกลมาก
- งานออกแบบไคจูไม่มีอะไรโดดเด่น
Pacific Rim The Black สงครามอสูรเหล็ก สมรภูมิมืด อนิเมะ Netflix ที่นำแปซิฟิคริมหนังดังที่เจ๊งหมดโอกาสทำต่อไปแล้วกลับมาปลุกชีพใหม่ เป็นเรื่องราวบทใหม่สไตล์อนิเมะญี่ปุ่น แต่ยังคงพยายามให้ได้กลิ่นอายของแปซิฟิกริมดั้งเดิมไว้อยู่
ตัวอย่าง Pacific Rim The Black สงครามอสูรเหล็ก สมรภูมิมืด
อนิเมะที่ต่อยอดจากหนังแปซิฟิคริมมาเป็นภาคแยกเส้นเรื่องใหม่ โดยมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับภาคแรกปะปนอยู่ (ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาค 2) เมื่อฝูงไคจูปรากฎตัวอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นออสเตรเลีย และรอยแยกปรากฎบนผิวดินแทนใต้ทะเล พี่น้องเทย์เลอร์และเฮย์ลี เด็กน้อยที่มีพ่อกับแม่เป็นนักขับเยเกอร์ที่ออกไปต่อสู้กับไคจูแล้วไม่กลับมา จนเวลาผ่านไปพวกเขาเติบโตขึ้นและบังเอิญได้พบกับหุ่นเยเกอร์สำหรับฝึกหัดที่ถูกทิ้งไว้ในฐานแห่งหนึ่ง พวกเขาจึงขับเยเกอร์ออกเดินทางตามหาพ่อแม่ที่หายสาบสูญไป
ต้องบอกว่าที่อเนิเมะแปซิฟิคริมเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างได้อีกครั้ง หลังจากหนังภาคสองที่ได้ทุนจากจีนมาช่วยถือว่าล้มเหลว ทำรายได้ไปเพียง 290 ล้านทั่วโลกจากทุนสร้างเกิน 150 ล้าน และเชื่อว่าแฟนแปซิฟิกริมเองก็ไม่ได้อยากจะจดจำภาคสองไว้เลยด้วย เพราะนอกจากจะขาดเสน่ห์ในแบบภาคแรกที่มีหลายอย่าง ตัวละครหลักในภาคแรกก็ถูกตัดหายหรือนำมาฆ่าทิ้งกันง่ายๆ จนแทบไม่เหลืออะไรดีงามในภาค 2 เลย แต่ทุกคนก็ยังอยากดูเรื่องราวของไคจูกับเยเกอร์อยู่อีกจากเสน่ห์กลิ่นอายของภาคแรกที่ทำออกมาได้ดีจริงๆ ดังนั้นในอนิเมะเรื่องนี้จึงพยายามจะนำสิ่งเหล่านั้นกลับมา พร้อมทั้งเชื่อมต่อเรื่องราวหากันโดยตรงอีกด้วย
เรื่องราวในภาคนี้ตอนแรกไม่ได้มีบอกช่วงเวลาใดๆ เลย แต่เรารู้ว่าน่าจะเป็นช่วงหลังจากจบภาคแรก โดยไม่มีภาคสองมาเกี่ยวเพราะเทคโนโลยีในเรื่องยังเทียบเคียงพอๆ กับภาคแรกอยู่ ไคจูที่ปรากฎตัวในภาคนี้ก็อยู่ที่ระดับ 3-4 พอๆ กับภาคแรก (ภาคสองเว่อร์เกินไปหลายระดับมาก) โดยเดินเรื่องผ่านการเดินทางไปเรื่อยๆ ของพี่น้องตัวเอกคู่นี้ โดยมีไคจูคู่ปรับระดับ 4 ตามราวีตลอดเรื่องเป็นช่วงๆ เหตุที่สู้กันไม่จบก็เพราะหุ่นที่พวกเขาใช้ไม่มีอาวุธ เลยต้องต่อยกันดุ้นๆ ทำให้ไคจูตัวนี้ไม่ตายสักที ฉากแอ็กชั่นจึงไม่ได้มีอะไรมาเร้ามากตามไปด้วย เรียกว่าดูแบบจืดๆ ไม่ได้สนุกมันส์อะไรมาก ดนตรีประกอบก็ไม่ได้นำที่ติดหูจากภาคแรกมาใช้ด้วย ซึ่งทำให้เสน่ห์ของเรื่องดั้งเดิมหดหายไปมากทีเดียว มีแค่ตอนประสานเข้ากับเยเกอร์ที่ยังพอทำให้รู้สึกแบบนั้นได้เท่านั้นเมื่อถึงช่วงกลางเรื่องจะเผยให้เห็นจุดเชื่อมโยงกับตัวละครนักขับเยเกอร์ภาคแรก ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเซอร์วิสแฟนๆ ได้นิดนึง เพราะเอาจริงๆ ก็แค่หยิบชื่อกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาใช้กับตัวละครใหม่ ว่ามีฝีมือถึงขั้นสูงเท่าตัวละครในภาคแรก แม้จะเป็นเด็กวัยรุ่นทั้งเรื่องตามสูตรอนิเมะญี่ปุ่นอันนี้เราไม่ว่ากัน เพราะเรื่องก็พยายามปูแล้วว่าตัวเอกเทย์เลอร์เป็นนักขับที่สอบผ่านการควบคุมมาแล้วสมัยที่พ่อแม่กับแม่ยังอยู่ แต่ยังไม่มีหุ่นเป็นของตัวเองเท่านั้น ส่วนน้องสาวเฮย์ลีก็อาศัยกฎที่ว่านักขับเยเกอร์สองคนต้องประสานซิงโครทางความทรงจำให้ได้ 100% ถึงจะขับ พอเป็นพี่น้องกันก็เลยสามารถขับหุ่นเยเกอร์ได้เลย และในเรื่องนี้ก็มีคนอื่นที่ขับเยเกอร์ได้อีกปรากฎออกมา พร้อมกับนำเรื่องปมความทรงจำเจ็บปวดที่ซ่อนไว้แต่ต้องเปิดเผยให้คู่ขาขับหุ่นรู้มาใช้ตามแบบภาคแรก
แต่เรื่องมีจุดสำคัญเชื่อมโยงกับตอนจบภาคแรกเพิ่มมาในตอนท้าย EP 6 (มี 7 EP จบซีซั่นแรก) ซึ่งจุดนี้เป็นอะไรที่ไม่เข้าท่ามาก จนทำให้เรื่องดูกลายเป็นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นจ๋า แบบเด็กน้อยมีพลังลึกลับยิ่งใหญ่ กับหุ่นเยเกอร์ที่ได้อิทธิพลมาจากอีวานแกเลี่ยนโหมดคลั่งเต็มๆ ซึ่งมุกนี้มันเก่าแล้ว และก็ทำให้เรื่องดูออกทะเลไปในทันที อีกทั้งยังเอาแนวทางเกมร็อคแมนเปลี่ยนแขนที่ขาดก็ได้อาวุธใหม่มาใช้อีก ซึ่งมันดูง่ายเกินไป แถมที่มาของอาวุธก็ออกจะตลกมาก เรียกว่าพอมาถึงจุดนี้เรื่องราวกลายเป็นแนวการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วไปโม้แตกที่นึกอยากให้มีอะไรก็มีไปแล้ว และในตอนต่อมาเรื่องก็เละเทะขึ้นไปอีกจริงๆ แบบกู่ไม่กลับ แม้จะมีฉากต่อสู้ไคลแม็กซ์กับไคจูตัวร้ายที่ตามมาตลอดที่คราวนี้พระเอกมีเยเกอร์ติดอาวุธแล้ว ซึ่งก็โอเคได้อารมณ์สนุกกว่าช่วงแรกที่ไม่มีอาวุธ แต่กลับมีตัวละครเว่อร์ๆ มาร่วมวงเพิ่มด้วยอีก พร้อมกับเหตุผลในตอนจบที่ฟังแล้วส่ายหน้าจริงๆ เชื่อเลยว่าแปซิฟิกริมภาคนี้ถ้าทำต่อไปก็คงเละเทะไม่ต่างอะไรจากภาค 2 เป็นแน่แท้ (แต่ก็คงตามดูอยู่ดี) แต่ที่จริงเรื่องนี้ก็ส่อแววออกทะเลตั้งแต่ตอนแรกแล้วที่มีหมาไคจูปรากฎขึ้นมาไล่ตามตัวเอกในเมืองร้าง ให้ความรู้สึกเหมือนหมาใน Resident Evil แบบชัดเจน แต่ช่วงนั้นมีแค่สั้นๆ แล้วก็ไม่มีหมาพวกนี้โผล่มาอีกจนตอนจบถึงโผล่มาอีกครั้ง
สปอยล์ตอนจบ
ตอนจบซีซั่นมีเฉลยว่าเด็กที่ตามพระเอกมาตลอดคือ เมสสิยาห์ของไคจู (พระเจ้าของไคจู)
ในเรื่องยังมีตัวละครแบบพ่อค้าทำธุรกิจจัดหาชิ้นส่วนไคจูเหมือนภาคแรกอยู่ ซึ่งก็ยังเป็นไปแบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นแลกกับชิ้นส่วนเยเกอร์แทน และก็เป็นที่มาของชื่อภาค The Black สงครามอสูรเหล็ก สมรภูมิมืด นี้ด้วย ซึ่งส่วนนี้เป็นพล็อตรองเสริมมาอีกทีว่ามีตัวร้ายเป็นคนรวมอยู่ในเรื่องด้วย และก็มีนางเอกเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับพวกนี้ ซึ่งหน้าตานี่ถอดแบบเรย์ของอีวานแกเลี่ยนมาเลยแต่ขื่อ เม ซึ่งตัวละครในเรื่องนี้รวมๆ ค่อนข้างหน้าตาโหลแบบถอดแบบมาจากโปรแกรมสร้างแอนิเมชั่น 3D ของ Netflix เลย ถ้าไม่ใช่คนดูบ่อยๆ ก็อาจจะไม่ติดใจมาก แต่ถ้าเคยดูมาจะรู้สึกตะหงิดๆ ตลอดเลยว่าทำไมไม่เปลี่ยนบล็อกหน้าตากันบ้างถึงซ้ำๆ กันขนาดนี้หลายเรื่อง จนดูไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเลย
งานสร้างแอนิเมชั่นเรื่องนี้อยู่ภายใต้สตูดิโอ Polygon Pictures ซึ่งก็มีผลงานจาก Godzilla: Planet of the Monsters (2017) ที่ทำเป็นไตรภาคลงโรง แอนิเมชั่นถือว่าไม่มีอะไรเสียหาย ดูลื่นไหลแบบอนิเมะ 3D ปกติ ไม่ใช่งานทุนต่ำ แต่งานออกแบบไคจูในเรื่องออกจะดูซ้ำๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ฝ่ายเยเกอร์มีหุ่นแค่ 2 ตัว แต่ยังไงดูแล้ว Netflix ก็คงตั้งเป้าให้เป็นแฟรนไชนส์อนิเมะใหม่ที่ดังไปทั่วโลก ซึ่งก็คงได้ทำต่อจนจบ แม้บทจะไม่ได้ดีมากก็ตามครับ (น่าจะเป็นไตรภาคจบแบบก็อดซิลล่าของสตูดิโอนี้)