รีวิว Squid Game (Netflix) เกมเด็กพื้นบ้านสุดโหด แต่ขาดทริกจนดูฆ่ากันทื่อๆ (ไม่มีสปอยล์)
Squid Game เล่นลุ้นตาย
สรุป
ความพยายามฉีกกรอบขนบแนวเดิมๆ ของซีรีส์เกาหลีมายังแนวใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีความเหมือนตามรอยแนวนิยมของมังงะกับซีรีส์ญี่ปุ่นที่ทำออกมาหลายเรื่องแล้ว แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีพอตัวในส่วนของเกมที่แตกต่างออกไปเป็นแนวเกมพื้นบ้านมาแปลงให้โหด แล้วก็ไปเน้นที่ดราม่าความสัมพันธ์หนักๆ มากกว่า ซึ่งก็เป็นของถนัดที่เกาหลีทำมาตลอด ถ้าใครชอบในจุดนี้ก็น่าจะชอบเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าใครหวังกับความสดใหม่ของเนื้อเรื่องหรือทริกการเล่นเกมก็คงต้องมีผิดหวังกันบ้าง เพราะยังทำไม่ได้ถึงแบบที่ญี่ปุ่นทำออกมาจริงๆ และตัวซีรีส์ก็ไม่จบในซีซั่น มีค้างไว้เพื่อไปต่อซีซั่น 2 กันตรงๆ (จบเคลียร์เกมหมด แต่มีขึ้นเกมใหม่ต่อไปอีก)
Overall
6.5/10User Review
( votes)Pros
- เกมพื้นบ้านมาดัดแปลงให้โหดถึงตาย
- ดราม่าความสัมพันธ์ตัวละครที่ทำออกมาบีบหัวใจ
- มีความรุนแรงสูงมาก รวมถึงมีฉาก SEX โป๊เปลือยด้วย
- นักแสดงเล่นได้ดีสมบาททุกคน
- กงยูในบทรับเชิญเล็กๆ
- มีเสียงพากย์ไทยที่ดีมาก
Cons
- ขาดทริกการผ่านเกมแบบฉลาดๆ เกมก็ไม่ครีเอทีฟอะไรมาก
- เนื้อเรื่องแนวเดิมๆ สำหรับคนที่ดูแนวนี้มาก่อน
- ตัวละครเปลี่ยนอารมณ์กลับไปกลับมาเร็วจนไม่เมคเซนส์หลายครั้ง
- มีจุดไม่เมคเซนส์ค่อนข้างเยอะ (แต่มองข้ามไม่สนใจได้)
- ชุดพวกตัวร้ายดูเป็นการ์ตูนมากไปหน่อย
- แรงจูงใจของบอสที่สร้างเกมค่อนข้างอ่อน
- เกมตอนจบง่อยมาก
- การกระทำของพระเอกในตอนจบดูไม่สมเหตุผล
Squid Game สควิดเกม เล่นลุ้นตาย ซีรีส์เกาหลี Original Netflix สร้างเองจำนวน 9 ตอนจบซีซั่นแรก แนวทริลเลอร์ เรื่องราวของกลุ่มคนที่ติดหนี้สินมากมายได้รับเชิญเข้ามาร่วมเล่นเกมเสี่ยงชีวิตจะอยู่หรือตาย ใครรอดชีวิตจะได้รางวัล 45,600 ล้านวอนไปครอบครอง
ตัวอย่าง Squid Game สควิดเกม เล่นลุ้นตาย
ซีรีส์เรื่องนี้เป็นผลงานผู้กำกับภาพยนตร์ที่ไม่เคยทำซีรีส์มาก่อนอย่าง ฮวังดงฮยอก และเขียนบทเองด้วย โดยมีนักแสดงนำ อีจองแจ ผู้ที่เคยมีผลงานติด Box Office อย่าง Along with the Gods: The Two Worlds (2017) และ Deliver Us From Evil (2020) มาประกบคู่กับ พัคแฮซู นักแสดงมากฝีมือจากซีรีส์ Prison Playbook (2017)
พล็อตเรื่องแนวเกมเสี่ยงตายที่มีมาก่อนแล้วในซีรีส์ญี่ปุ่นอย่าง Liar Game สร้างจากมังงะที่เป็นเรื่องดังในตำนานจนเกาหลีซื้อไปรีเมคเมื่อปี 2014 และล่าสุดปีก่อน Netflix สร้างเองก็ Alice In Borderland สร้างจากมังงะเช่นกัน ซึ่งเรื่องแนวๆ นี้มีอีกมากมายจนเรียกว่าเป็นพล็อตหลักของการ์ตูนไปแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ได้มาจากการ์ตูนเรื่องไหน โดยเป็นผลงานเขียนบทจากผู้กำกับฮวังดงฮยอกที่ปลุกปั้นมานานเป็น 10 ปี ซึ่งไอเดียนี้เรียกว่าเก่าไปแล้วในยุคนี้ แต่ถึงอย่างนั้นคนดูส่วนใหญ่ก็ยังน่าจะชื่นชอบพล็อตนี้อยู่ ซึ่งก็ต้องมาวัดกันว่าไอเดียของเกมแปลกแตกต่างแค่ไหน เรื่องราวที่มาของเกมทำได้ดีหรือไม่ ซึ่งสองอย่างนี้เรียกว่าเป็นหัวใจของพล็อตเรื่องแนวนี้มากกว่าอย่างอื่นที่เป็นส่วนเสริมอีกที ซึ่งสควิดเกมก็มีความพยายามในส่วนนี้อยู่ แต่มันกลับทำไม่ได้ดีกว่าสองเรื่องที่ผ่านมาเลย
เนื้อเรื่องเริ่มจากพระเอกกีฮุนที่เป็นผีพนัน ครอบครัวแตกแยก ลูกกำลังถูกแม่พาไปอเมริกา แม่ก็ป่วยหนัก เขาก็ไม่มีงานทำ เป็นหนี้สิ้นมากมายจนวันหนึ่งได้มาเจอคนแปลกหน้าชวนเล่นเกมง่ายๆ ในสถานีรถไฟใต้ดิน และได้ทิ้งนามบัตรชวนให้ไปเล่นเกมที่ใหญ่โตได้เงินมากกว่านั้น เขาจึงตัดสินใจลองเสี่ยงไปเล่นดู จนพบกับคนที่ติดหนี้สินเป็นเหมือนเขาอีกมากมายมาร่วมเล่นเกมด้วย ก่อนจะมารู้ว่าเกมที่เขาสมัครเข้ามาเล่นมีเดิมพันถึงตาย แต่เขาก็คิดว่ายอมเสี่ยงตายในเกมดีกว่าพบกับนรกในชีวิตที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในแง่ไอเดียของเกมในเรื่องนี้พยายามแตกต่างด้วยการเอาเกมละเล่นพื้นบ้านสมัยเด็กๆ มาเพิ่มความรุนแรงลงไป โดยมีทั้งหมด 6 เกมในเรื่อง ซึ่งที่เปิดมาให้เห็นในตัวอย่าง (ขอลงไว้แค่นี้เพื่อเป็นการไม่สปอยล์เกม) คือ “เออีไอโอยู” กับ “ชักเย่อ” ซึ่งผู้ชมไทยก็คงรู้จักดีเช่นกัน แต่นอกจากนั้นค่อนข้างเป็นเกมพื้นบ้านของเกาหลีมากกว่า แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่เข้าใจเพราะเกมเหล่านี้ก็เป็นแนวการเล่นที่เข้าใจง่ายอยู่แล้ว ไม่ใช่เกมที่ค่อนข้างซับซ้อนแปลกใหม่อย่างเรื่องก่อนๆ ที่ทำกันมา ซึ่งไอเดียนี้ผู้เขียนถือว่าผ่านโอเคเลย และลุ้นมากกับเกมชักเย่อในเรื่องที่เล่นกันบนที่สูงดึงอีกฝ่ายให้ตกลงมาตาย รวมถึงเกมเปิดเรื่องตอนแรกเออีไอโอยูที่ใครขยับจะโดนตุ๊กตายักษ์ยิงตายก็ทำได้ดี แต่ปัญหาคือเกมอื่นๆ นอกจากนั้นค่อนข้างไม่มีอะไรเลย อาจจะเพราะด้วยความที่เรื่องฟิกให้เป็นเกมบ้านๆ มันก็เลยขาดทริกการผ่านแบบเร้าใจไป ในเกมแทบจะเป็นแนวการผ่านแบบ ส่งคนไปตายก่อน ฟลุ๊คดวงรอด หลอกลวงกัน ไม่ก็ผ่านแบบง่ายๆ เลยก็มี ทำให้คนที่คาดหวังการผ่านเกมแบบใช้ทริกเชาว์ปัญญาคงผิดหวัง เรียกว่ามันไม่เหมือนอย่างที่ Alice In Borderland กับ Lair Game เป็นเลยดีกว่า ตัวเรื่องเน้นหนักไปที่ความรุนแรงเน้นคนตายจากเกมง่ายๆ เป็นหลัก จนบางทีรู้สึกเหมือนคนเขียนบทไม่ได้มีไอเดียการผ่านเกมอะไรเลย แค่ต้องการเอาตัวละครมาฆ่าเล่นไปเรื่อยๆ โดยไม่ตรงกับกฎนัก โดยจะเห็นได้จากเกมแรกเออีไอโอยูที่เอาจริงๆ พอคนรู้ว่าเล่นยังไงก็น่าจะแทบไม่พลาดแล้ว แต่ในเรื่องกลับใส่ฉากยิงคนตายเกลื่อนไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มองยังไงก็ไม่เห็นว่าคนที่ตายขยับอะไร จนดูแปลกๆ และพอในเกมต่อๆ มาก็จะเริ่มเห็นชัดว่าตัวเรื่องไม่ได้ต้องการขายทริกการผ่านอะไรนัก แต่เน้นที่ฉากฆ่าคนตายล้วนๆ ซะมากกว่าจากกรรมการที่คอยคุมเกมยิงตายดื้อๆ หลังจากรู้ผลว่าใครแพ้ชนะในเกมพื้นบ้าน ซึ่งก็คงได้แค่ความสะใจ แต่กลับไม่ประเทืองสมองอย่างที่คิดเลยครับ โดยเกมที่มีทริกการผ่านมากสุดคือเกมชักเย่อเท่านั้น นอกนั้นอย่าไปตั้งความหวังอะไรไว้เลยดีกว่า ยิ่งเกมสุดท้ายกลายเป็นอะไรที่แทบไม่เรียกว่าเกมได้เลยดีกว่า เหมือนแค่จัดฉากมวยวัดมาต่อยกันให้ตายๆ ไปเท่านั้น บอกตรงๆ คือง่อยมาก และยังมีเกมที่หลุดธีมเกมพื้นบ้านอีกในเกมที่ 5 กลายเป็นเกมที่ดูเสี่ยงตายก็จริงแต่มันไม่ใช่เกมพื้นบ้านแบบเกมอื่นๆ เลย จนคนดูเองก็คงงงเหมือนกันว่าหลุดธีมมาได้ยังไง
แต่ถึงตัวเกมจะค่อนข้างอ่อนและมีปัญหาในตัวคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้แบบนั้น ตัวเกมก็ยังทำให้คนดูรู้สึกบีบคั้นหัวใจได้ดีพอตัวเลย อาจจะเรียกว่าเป็นแนวถนัดของดราม่าเกาหลีก็ว่าได้ ซึ่งตัวเกมถูกโฟกัสไปที่เรื่องราวดราม่าความสัมพันธ์ตัวละครที่ต้องมาเล่นเกมแข่งกันเองมากกว่า โดยตัวพระเอก “กีฮุน” ดูทั้งจนทั้งโง่นิสัยจริงก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ได้ความดีตรงเป็นคนซื่อๆ ไม่ได้เป็นพิษภัยกับใคร จนทำให้เขามีความสัมพันธ์อันดีกับคนในทีมหลายคน โดยเฉพาะคนแก่เบอร์ 1 ในเรื่อง (ในเรื่องใช้เรียกเบอร์ตัวเลขลำดับที่เข้าร่วมแทนชื่อคน) ที่เข้าร่วมเกมคนแรกและบอกว่าตัวเองป่วยเนื้องอกในสมองใกล้ตาย ตัวเรื่องบิ้วความสัมพันธ์ของพระเอกกับคนนี้มากที่สุด จนทำให้เกิดเรื่องสะเทือนใจตามในเกมหลังๆ กับอีกคนหนึ่งที่นักล้วงกระเป๋าสาวเกาหลีเหนือที่หนีมาเกาหลีใต้ ตัวเรื่องได้นักแสดงหน้าใหม่ครั้งแรกอย่าง Jung Ho-Yeon มาเล่น และก็เล่นได้ดีเรียกว่าทัดเทียมกับดารารุ่นใหญ่ในเรื่องได้สบายๆ แถมบทของเธอก็เด่นมากจากนิสัยไม่ไว้ใจใครจนมาไว้ใจพระเอกในภายหลัง และก็กลายมาเป็นดราม่าสะเทือนใจที่สุดตอนท้าย โดยมีรุ่นน้องพระเอกที่พัคแฮซูเล่นเป็นมันสมองของทีมที่ดูเป็นคนดีในตอนแรก แต่แล้วเมื่อเกมผ่านไปเรื่อยๆ ก็เปลี่ยนแปลงเขาให้กลายเป็นคนอีกแบบในที่สุด ซึ่งเป็นพล็อตสำเร็จรูปของแนวนี้เลยก็ว่าได้ แต่ถึงดราม่าบีบคั้นจิตใจจะทำได้ดีก็ยังมีปัญหากับความเมคเซนส์ทางอารมณ์ตัวละครอยู่หลายครั้ง โดยตัวละครในเรื่องมักแสดงอารมณ์แบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากดีเป็นร้าย ร้ายเป็นดีกันแบบปุ๊บปั๊บ โดยขาดเหตุผลรองรับให้อินเชื่อตามไม่ได้หลายฉากเลย บางฉากแอบงงด้วยว่าอยู่ๆ ทำไมตัวละครนี้ถึงเปลี่ยนอารมณ์เป็นแบบนั้นซะงั้น ซึ่งตรงนี้กลายมาเป็นจุดด้อยบางส่วนของช่วงดราม่าตรงนี้ไป
ส่วนที่มาเหตุผลของเกมกับผู้สร้างเกม ต้องอ้างอิงเลยว่าสควิดคงได้ไอเดียมาจาก Lair Game มาไม่น้อย โดยเฉพาะการเล่นกับความโลภของคนที่เข้ามาร่วมเล่นเกมเอง สควิดก็ไม่ได้บังคับหรือหลอกอะไรผู้เล่นมาก เรียกว่าใช้ความโลภกับความจนตรอกของคนๆ นั้นดึงมาร่วมเล่นเกมโดยตรง โดยมีกฎให้ออกจากเกมได้ถ้าโหวตเกินกึ่งหนึ่งของผู้เล่นแบบระบบประชาธิปไตย แต่เกมก็ยังดำเนินต่อไปไม่หยุด เพราะแต่ละคนก็อยู่ในสภาพหนี้สิ้นมากมายจนใช้ชีวิตต่อไปลำบาก ซึ่งเรื่องก็เปิดโอกาสให้เอาจุดนี้มาร่วมเป็นดราม่าขยี้ซ้ำในระหว่างที่เกมที่ดำเนินไป แต่ไม่ได้มีการแฟลชแบ็คย้อนอะไรมาก ตัวเรื่องใช้การบอกเล่าประวัติผู้เล่นแต่ละคนจากจากการพูดคุยตอนเล่น ซึ่งก็ใช้ช่วงพักเกมเป็นช่วงสนทนาถึงความเป็นมาของแต่ละคน รวมถึงแสดงให้เห็นนิสัยกันในตอนนั้น ทำให้เรื่องเสียเวลายืดไปกับส่วนนี้มากพอดูเลย อย่างเกม 1 มา เกม 2 ต้องดูไปถึงตอน 3 โดยเสียเวลาช่วงพักหลังจบเกมไป 1 ตอนแทบเต็มๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเกมต่อเนื่องกันทุกตอนอย่างที่คิด
และสุดท้ายคือที่มาที่ไปของเกมว่ามาจากไหน ผู้สร้างคือใคร เพราะทั้งเรื่องตัวละครฝ่ายร้ายใส่ชุดกับหน้ากากปิดบังใบหน้ามาตลอด (จนดูเป็นการ์ตูนมากไปเหมือนกัน) ซึ่งตัวเรื่องไม่ได้ดำเนินไปแบบให้ผู้เล่นไปสืบสวนค้นหาผู้สร้างผู้คุมเกม แต่ใช้ตัวละครเพิ่มนอกเหนือจากผู้เล่นเกมเป็นตำรวจหนุ่มที่มาตามหาพี่ชายที่หายไป (รับบทโดย Wi Ha-Joon จากซีรีส์ 18 Again) โดยเขาได้เข้ามาสืบแฝงตัวลับๆ ในเกมนี้ในฐานะทีมงานผู้ควบคุมเกม ซึ่งตรงนี้จะแยกออกไปจากเรื่องเลยไม่มาเกี่ยวกับกลุ่มตัวเอกที่เล่นเกม เป็นพล็อตรองที่ถูกปูไว้เพื่อช่วยอธิบายระบบเบื้องหลังเกมอีกที โดยมีปมการตามพี่ชายของตัวละครนี้มาเป็นเส้นเรื่องที่นำไปสู่การต่อยอดไปซีซั่น 2 ภายหลัง ซึ่งจุดนี้ยังไม่เคลียร์ แต่ส่วนที่เคลียร์คือที่มาของเกมว่าบอสผู้สร้างเกมคือใคร จุดประสงค์จริงๆ คืออะไร ซึ่งต้องบอกว่าใครที่ดู Lair Game มาก่อนก็คงคิดว่าสควิดก็อปมาไม่น้อยแน่ๆ แต่เหตุผลและแรงจูงใจดูอ่อนกว่ามาก แม้ตัวละครบอสสุดท้ายอาจจะดูหักมุมกันสุดๆ (ที่จริงก็คล้าย Liar Game ด้วย และไม่ใช่กงยูที่มาในตอนแรกเพราะเขามาเล่นในบทแขกรับเชิญสั้นๆ เท่านั้น) ซึ่งพอเหตุผลมันอ่อนก็เลยทำให้ดูไม่น่าประทับใจในตอนจบสักเท่าไหร่นักครับ
ฉากการตายในเรื่องมีความรุนแรงสูงมาก มีฉากจ่อยิงกันแทบทั้งเรื่อง ยิงหัวเห็นเนื้อสมองฉีกขาด ชิ้นเนื้อกระจุย ฉากผ่าล้วงอวัยวะคนตายกันจะหลายครั้ง ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดที่เคยเห็นมาในซีรีส์เกาหลีเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้ Netflix ทำลงฉายทั่วโลกไม่ใช่ละครร่วมทุนสร้างลงทีวีที่มีเรตติ้งกับช่วงเวลาการฉายกำกับ ทำให้กลุ่มผู้ชมเปิดกว้างมากกว่า จนสามารถใส่ฉากพวกนี้ลงไปได้ รวมถึงฉาก SEX เอากันเห็นก้นเห็นนม ซึ่งก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการทำซีรีส์เกาหลีได้เหมือนกัน แต่ผู้ชมที่ดูซีรีส์เกาหลีปกติอาจจะไม่ชินเท่านั้นครับ
งานโปรดักชั่นในเรื่องด้วยความที่เกมถูกล็อกมาเป็นเกมพื้นบ้านก็เลยอยู่ในกรอบโลเกชั่นจำกัดแคบๆ ซะส่วนมาก โดยส่วนมากจะเป็นห้องที่ถูกเซ็ตให้เป็นสนามของเกมในแต่ละแบบ ซึ่งไม่ใช่ฉากลงทุนสูงอย่างอลิซที่ค่อนข้างเว่อร์กว่ามาก มีกลไกกับดักต่างๆ สควิดจะไม่มีอะไรแบบนั้น ที่เห็นมากสุดคือตุ๊กตาตอนแรกของเกมเออีไอโอยู แล้วก็ฉากโชว์มุมสูงของสนามเกม แต่ตรงนี้ใช้ CG สร้างขึ้นมา
สรุปโดยรวม Squid Game เป็นความพยายามฉีกกรอบขนบแนวเดิมๆ ของซีรีส์เกาหลีมายังแนวใหม่ๆ ซึ่งอาจจะมีความเหมือนตามรอยแนวนิยมของมังงะกับซีรีส์ญี่ปุ่นที่ทำออกมาหลายเรื่องแล้ว แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดีพอตัวในส่วนของเกมที่แตกต่างออกไป แล้วก็ไปเน้นที่ดราม่าความสัมพันธ์หนักๆ มากกว่า ซึ่งก็เป็นของถนัดที่เกาหลีทำมาตลอด ถ้าใครชอบในจุดนี้ก็น่าจะชอบเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าใครหวังกับความสดใหม่ของเนื้อเรื่องหรือทริกการเล่นเกมก็คงต้องมีผิดหวังกันบ้าง เพราะยังทำไม่ได้ถึงแบบที่ญี่ปุ่นทำออกมาจริงๆ