รีวิว Midnight Mass สยองขวัญแบบลึกซึ้งคมคายผ่านบทสนทนาต่างความเชื่อศาสนา (ไม่มีสปอยล์)
Midnight Mass
สรุป
ผลงานของผู้สร้างแนวสยองขวัญชื่อดัง ไมค์ ฟลานาแกน ที่คราวนี้แทบไม่ทำให้รู้สึกสยองอะไรมาก หรือมีฉากผีหลอกครีเอทเจ๋งๆ อะไรเลย แต่กลับเน้นหนักไปที่บทสนทนาถกเถียงแบบคมคายถึงเรื่องศาสนาคริสต์ อิสลาม และเอทิสต์ ที่น่าแปลกว่าทำให้เรื่องราวดูลุ่มลึกและสนุกไปกับการขบคิดตามบทสนทนาในเรื่องได้เป็นอย่างดี จนไม่อยากให้เรื่องเป็นแนวสยองขวัญเลยด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายพอเรื่องวกกลับมาสยองขวัญเต็มตัว ในขณะที่ยังต้องรักษาแก่นเรื่องความคิดไว้ ก็เหมือนการจับปลาสองมือทำให้เรื่องราวไปไม่สุดทั้งสองด้านสักเท่าไหร่ และยังหาทางลงให้กับเรื่องราวตอนท้ายง่ายไปจนดูไม่สมเหตุผล ไม่ค่อยประทับใจในตอนจบนัก แม้ผู้สร้างจะพยายามทำให้มันดูสวยงามก็ตามที
Overall
8/10User Review
( votes)Pros
- บทสนทนาถกเถียงในเรื่องศาสนา ปรัชญา ชีวิตมนุษย์ ที่ลุ่มลึกชวนคิดตลอดเวลา
- ผลงานของ ไมค์ ฟลานาแกน ที่เขียนบทกับกำกับสร้างเองอีกครั้ง
- มีฉากเลือดสาดกันในตอนหลังเยอะ ความรุนแรงสูงมาก
- นักแสดงเล่นได้ดีสมบทบาทจนทำให้อินกับเรื่องได้
- คาดเดาเรื่องต่อฉากได้ยากมากว่าจะไปในทิศทางไหน
- ลิมิเต็ดซีรีส์ 7 ตอนจบเลย
- มีเสียงพากย์ไทยที่ดี
- มีระบบเสียง Atomos
Cons
- ไม่ค่อยมีฉากทำให้รู้สึกสยองหรือตกใจได้เลย
- ตอนจบที่หาทางลงง่ายๆ จนดูไม่สมเหตุผล
- บทสนทนาที่เยอะและยาวนานต่อฉากมาก โดยเฉพาะบทที่อ้างอิงไบเบิล อาจจะทำให้คนตามไม่ทัน
Midnight Mass (มิดไนท์ แมส) ลิมิเต็ดซีรีส์ 7 ตอนจบ ผลงานซีรีส์จากไมค์ ฟลานาแกน ผู้สร้าง The Haunting of Hill House เรื่องราวของเกาะเล็กๆ ชุมชนห่างไกลที่พบเหตุการณ์สุดอัศจรรย์ก่อนจะกลายเป็นเหตุสยองขวัญในเวลาต่อมา ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อในศาสนาและท้าทายสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อเรื่องพระเจ้าในใจมนุษย์
ตัวอย่าง Midnight Mass (มิดไนท์ แมส)
ณ ตอนนี้ชื่อของ ไมค์ ฟลานาแกน น่าจะเป็นชื่อเครดิตที่คนจำได้ดีแล้วจากผลงานแนวสยองขวัญเขียนบทเองกำกับเองต่อเนื่องมาตั้งแต่หนังโรงอย่าง Oculus, Ouija: Origin of Evil, Doctor Sleep ตามมาด้วยงานซีรีส์เปิดตัวเรื่องแรกใน Netflix อย่าง The Haunting of Hill House (เฉพาะซีซั่น 1 ที่เขาเขียนบทกำกับเอง ซีซั่น 2 เป็นแค่โปรดิวเซอร์กับเขียนบท) ซึ่งลายเซ็นต์เฉพาะตัวของเขาคือ มุมกล้อง งานภาพ กับเรื่องราวสยองขวัญที่มักเกี่ยวข้องกับจิตใจมนุษย์เสมอ และยังเป็นแนวผีหลอกสยองขวัญที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ควบคู่ร่วมอยู่ด้วย จนบางครั้งเกือบเป็นหนังผีพ่วงไซไฟไปเลยด้วยซ้ำ และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบนี้ทำให้มีแฟนๆ ติดตามผลงานเขามากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าขายชื่อนำหน้าได้แล้วแน่นอน จนมาถึงผลงานล่าสุดอย่างมิดไนท์ แมส ที่เขาลงมาเขียนบทกับกำกับเองอีกครั้ง ด้วยการเสนอเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ บนเกาะที่ต้องมาเจอเรื่องสยองขวัญที่ตั้งอยู่บนความเชื่อทางศาสนาคริสต์ พร้อมการถกเถียงจุดประเด็นข้อขบคิดทางศาสนาระหว่าง คริสต์ อิสลาม และผู้ที่ไม่ศรัทธาในศาสนาใดๆ (เอทิสต์) ซึ่งชวนให้ผู้ชมขบคิดติดหัวออกมาทั้งระหว่างรับชมและหลังจบได้แน่นอน
เนื้อเรื่องเริ่มจากการกลับมาบ้านเกิดบนเกาะคร็อกเก็ตต์ของ “ไรลี่ย์ ฟลินน์” ชายหนุ่มที่ต้องโทษ 4 ปีเพราะเมาแล้วขับรถชนคนตาย จนกลายเป็นบาดแผลในใจติดตัวมาตลอด โดยเขาเป็นเอทิสต์บนเกาะที่ชุมชนมีความเชื่อเรื่องศาสนาคริสต์อย่างแรงกล้า โดยมี “พอล” บาทหลวงคนใหม่มาประจำโบสถ์ พร้อมเหตุการณ์สุดอัศจรรย์ที่เป็นปริศนาท้าทายความเชื่อของไรลี่ย์ และนอกจากนี้ยังมีนายอำเภอคนใหม่ที่เป็นมุสลิมพ่อลูกสองคนบนเกาะที่ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งลึกๆ เรื่องศาสนากับคนในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
รีวิว Midnight Mass
ซีรีส์เรื่องนี้แม้วางตัวเป็นแนวสยองขวัญ แต่เอาจริงๆ นี่น่าจะเป็นผลงานที่แทบไม่สยองขวัญ หรือสยองน้อยที่สุดของ ไมค์ ฟลานาแกน เลยก็ได้ โดยตอน 1-3 แทบจะไม่มีฉากสยองเลยสักนิด นอกจากเรื่องแมวที่ตายเกลื่อนชายหาดแบบปริศนา อาจจะมีภาพแหวะๆ ตรงนี้เข้ามาเท่านั้น ก่อนที่ตอน 4 ถึงจะเริ่มเรื่องสยองขวัญชัดเจนขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังไม่ใช่แนวสยองขวัญหรือผีหลอกแบบครีเอทใหม่ๆ แบบผลงานก่อนๆ ของเขา แต่เป็นแนวหลอนระทึกว่าอะไรจะเกิดขึ้นแบบเงียบๆ คาดเดาเหตุการณ์ต่อไปไม่ได้ โดยมีเรื่องศาสนามาเป็นแบ็คกราวด์อ้างอิงไปยังความเชื่อเรื่องพระเจ้า ที่ถูกตีความใหม่จนกลายเป็นศรัทธาสุดโต่งก่อเชื้อไฟให้เกิดเรื่องราวสยองแนวเลือดสาดกับทั้งชุมชนบนเกาะในตอนท้ายเรื่อง และยังพร้อมขยายวงไปยังโลกภายนอกด้วย ซึ่งนี่เป็นการเล่าเรื่องแนวสยองขวัญแบบใหม่ของ ไมค์ ฟลานาแกน เลยก็ได้ เพราะมันเป็นการตีความทางศาสนาที่นำไปสู่ความน่ากลัวในใจมนุษย์ออกมาในรูปการกระทำต่อคนด้วยกัน ในชุมชนเล็กๆ ที่ทุกคนรู้จักสนิทสนมกันหมด แต่กลับต้องมาเจอความบ้าคลั่งของศาสนาทำลายผู้คน โดยมีเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นผลักดันอยู่เบื้องหลังอีกที
เมื่อแนวสยองขวัญเป็นแค่เรื่องบังหน้าของซีรีส์เรื่องนี้ แล้วอะไรคือจุดขายที่ดึงดูดให้ผู้ชมต้องสนใจ ก็ต้องบอกว่าจุดขายนั้นคือ บทสนทนาถกเถียงเรื่องความเชื่อทางศาสนาระหว่าง คริสต์ อิสลาม เอทิสต์ ที่ชวนให้ขบคิดลึกๆ ซึ่งฟังดูอาจจะรู้สึกเข้าใจได้ยากกับดูน่าเบื่อ แต่ ไมค์ ฟลานาแกน กลับทำมันออกมาได้น่าติดตามมาก มากซะจนผู้เขียนรู้สึกว่าเรื่องสยองขวัญไม่ต้องมีโผล่ออกมาเลยก็ได้ แถมยังรู้สึกว่าเรื่องสยองที่ใส่มากลับเป็นตัวทำลายความน่าติดตามในส่วนนี้ไป เพราะการที่เนื้อเรื่องเปิดประเด็นของ ไรลี่ย์ ตัวเอกที่เป็นเอทิสต์แบบไม่เชื่อในเรื่องศรัทธาใดๆ แต่ก็ไม่ได้ก้าวร้าวต่อใคร และตัวเขายังมีบาดแผลในใจไม่หาย ต้องมาเจอกับตัวละครที่ศรัทธาในศาสนาแรงกล้ามากๆ อย่างพอล บาทหลวงที่พยายามช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ทางใจแบบปราถนาดีจริงๆ โดยการตั้งกลุ่มบำบัดขึ้นบนเกาะคุยกับเขาเพียงคนเดียว ในเรื่องจะมีฉากสนทนาของสองคนนี้เป็นบทพูดนิ่งๆ ตอบโต้กันไปมาแบบสุภาพ บทพูดเต็มไปด้วยความลึกซึ้งคมคาย ทั้งทางวิทย์ จิต ปรัชญา ศาสนา สังคมเป็นอะไรที่คนดูต้องขบคิดตลอดเวลาที่ได้ฟัง โดยไม่ขึ้นกับว่าผู้ชมจะนับถือศาสนาไหนหรือมีความเชื่อแบบใดก็สามารถฟังได้แบบเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละฝั่ง ทั้งยังโน้มเอียงให้คนดูคล้อยตามได้ทั้งคู่ด้วย
นอกจากนี้การเป็นเอทิสต์ของไรลี่ย์ยังส่งผลกระทบไปยังคนรู้จักทั้งในครอบครัวที่พ่อแม่บังคับให้เขาต้องเข้าโบสถ์กับครอบครัวทุกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่เชื่อในเรื่องนี้ แม้ตอนเด็กจะเคยเป็นเด็กรับใช้บาทหลวงในที่แห่งนี้ ซึ่งอดีตตรงนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในปัจจุบันด้วย อีกคนคือหญิงสาวที่เขาหลงรักมานานอย่าง “เอริน กรีน” สาวที่อุ้มท้องหนีจากสามีกลับมาอยู่บนเกาะ มีอาชีพเป็นครูสอนเด็กในโรงเรียนรัฐแห่งเดียวบนเกาะ เธอเป็นผู้มีศรัทธาในแบบไม่งมงาย เลือกเชื่อในจุดที่เธอสบายใจ เข้าใจการมีอยู่ของพระเจ้าในแบบเครื่องยึดเหนี่ยวในใจ ในเรื่องไรลี่ย์กับเอรีนจะมีฉากสนทนากันถึงประเด็นศาสนา ชีวิต ความตาย ที่ต่างไปอีกแบบจากไรลี่ย์กับบาทหลวงพอล ซึ่งเอรินเป็นเหมือนตัวกลางระหว่างเอทิสต์กับศาสนา เธอเข้าใจทั้งสองฝ่าย และก็รู้ว่าไรลีย์ก็มีความคิดในแบบของเอทิสต์ที่ก็ไม่ผิด แต่เธอเลือกเชื่อศาสนาคริสต์ในแบบที่นำสมดุลย์มาให้กับชีวิตของเธอ ก่อนที่เรื่องปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นและส่งผลกับเธอในแง่ร้าย ที่ทำให้เธอต้องทบทวนความคิดในเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งฉากสนทนาของทั้งคู่ก็มีหลายฉากพอๆ กับบาทหลวง และถูกให้ความสำคัญมากในตอนจบของเรื่อง ที่ชวนให้คนดูคิดและแอบซึ้งไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นท่ามกลางฉากสยองขวัญเลือดท่วมในตอนท้ายไปด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ ในเรื่องยังมีตัวละครที่เป็นคู่ถกเถียงต่างศาสนาอย่าง นายอำเภอชาบาซ กับ เบฟ ผู้ช่วยบาทหลวงพอล ซึ่งสองตัวละครนี้คือความแตกต่างของคนเชื่อในศาสนาสองขั้วที่ดูแรงกว่าคนอื่น ในแบบความพยายามเอาชนะกัน โดยชาบาซนับถือเชื่อมั่นอิสลาม มีพระอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าองค์เดียว พระเยซูคือศาสดาองค์หนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานที่บันทึกเรื่องราวคำสอนดั้งเดิมแท้จริงของพระเจ้าไว้ ต่างกับเบฟที่เป็นคริสเตียนที่เชื่อในพระเยซูกับคำสอนในไบเบิลอย่างหมกหมุ่น และพยายามยัดเยียดความเชื่อในแบบของเธอให้กับทุกคนบนเกาะ ซึ่งก็มากระทบกับชาบาซอย่างจัง ผ่านตัวลูกชายของเขาที่เริ่มโน้มเอียงไปทางศาสนาคริสต์ และหันมาตั้งคำถามกลับไปยังพ่อ อย่างการที่เขาไม่เคยได้เลือกเชื่อในพระเจ้าด้วยตัวเอง เพราะพ่อเป็นคนเลือกให้เขา ซึ่งขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของศาสนาอิสลามที่ต้องเชื่อแบบหมดใจในแนวทางของคนเป็นมุสลิม ในขณะที่ชาบาซก็อธิบายกลับให้ลูกฟังในหลายๆ สิ่ง อย่างการตั้งคำถามถึงปาฏิหาริย์ในศาสนาคริสต์ว่าไม่มีจริง นี่ไม่ใช่การทำงานของพระเจ้า ที่ต้องมีความเท่าเทียมไม่เลือกช่วยใครคนใดคนหนึ่ง (ในอิสลามทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือพระประสงค์ของพระเจ้าไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้) ต่างกับเบฟที่พยายามอธิบายถึงทุกสิ่งทุกอย่างในแบบโยงตีความเข้ากับคำสอนทุกบทในไบเบิลได้ ซึ่งตัวเรื่องนำเสนอให้เห็นถึงความบิดเบี้ยววิกลจริตที่เกิดขึ้นหลังจากมนุษย์นำพระเจ้ามาใช้ในแบบของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาบาซพูดให้ฟังว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกเชื่อในไบเบิลในคริสต์ศาสนา แม้พระเยซูจะเป็นศาสดาองค์หนึ่งในศาสนาอิสลามที่เขานับถือก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะดูแอนตี้คริสต์มากหน่อย และมีการตั้งคำถามถึงศาสนาอิสลามอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เพราะว่าตัวศาสนาผิด ดังนั้นผู้ชมที่นับถือศาสนาทั้งคู่ก็สามารถรับชมได้ ทั้งยังทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปอย่างเข้าใจมากขึ้นด้วยครับ
แต่ถึงเรื่องราวที่นำเสนอการถกเถียงทางศาสนาจะเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ แต่ตัวเรื่องก็มีปัญหาจากจุดนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อเรื่องยังคงเป็นแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติ พอส่วนนี้ปรากฎเข้ามาในเรื่องหลังตอนที่ 3 ไปแบบจังๆ เต็มๆ (โดยมีท้ายตอน 2 เป็นจุดเปลี่ยนเรื่องราว) ก็ทำให้ข้อถกเถียงในช่วงก่อนนี้ดูลดคุณค่าลง เพราะการมีเรื่องเหนือธรรมชาติสยองขวัญแทรกมาทำให้ธีมอารมณ์ของเรื่องเปลี่ยนไปมาก เหมือนพาคนดูหลุดกลับมายังเรื่องแต่งนิยายมากกว่าเรื่องจริงเชิงแนวคิดที่เป็นจริงใน 3 ตอนแรก แต่ยังดีที่เรื่องยังพอคุมโทนในการนำเสนอบทสนทนาแนวคิดคล้ายๆ แบบเดิมได้ แค่มีเรื่องเหนือธรรมชาติเพิ่มเข้ามาเป็นประเด็นสำคัญในบทสนทนาของทุกคน แต่ด้วยความที่เรื่องเหมือนหาทางออกที่ดีๆ ของสองอย่างนี้ไปพร้อมกันไม่ได้ จะไปแนวสยองขวัญก็ไม่สุด จะรักษาเรื่องจริงจังทางความคิดของตัวละครก็ติดที่เรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามามีบทบาทหลักในตอนหลังมากไปอีก ทำให้สุดท้ายเรื่องราวจบลงแบบไม่ค่อยลงตัวนัก แม้จะพยายามอิงกับตำนานในไบเบิลอย่างวันสิ้นโลก รวมถึงเปลี่ยนเป็นแนวความรัก การเสียสละ ก็ยังดูเป็นบทสรุปที่ไม่ค่อยอินเท่าไหร่ อีกทั้งความคิดเหตุผลกระทำของตัวละครในตอนท้ายหลายคนก็หาทางลงง่ายเกินไปจนดูไม่สมเหตุผล เพียงเพราะผู้สร้างซีรีส์ต้องการจบเรื่องราวในแบบแฮปปี้เอนดิ้งเศร้าๆ ให้ดูสวยเท่านั้น (แอบดูติสๆ มากไปด้วย แต่ไม่มีการตีความอะไรให้งงครับ)
นักแสดงในเรื่องถือว่ามีส่วนช่วยทำให้เรื่องราวที่เต็มไปด้วยบทสนาทยาวๆ ดูดีขึ้นมาก อย่าง ไรลี่ย์ ฟลินน์ ที่แสดงโดย Zach Gilford ชายหนุ่มที่ไม่เป็นที่รักของชุมชนเพียงเพราะเขาเป็นเอทิสต์ เลือกเชื่อคนละแบบ จนต้องมีปัญหากับครอบครัว เขาแสดงสีหน้าท่าทางอมทุกข์ไว้ตลอดเวลา อีกทั้งยังเห็นภาพติดตาคนตายที่เขาจินตนาการขึ้นทุกคืนแบบไม่กลัว แต่เป็นความเศร้าเสียใจที่ไม่จางหายไปในชีวิต แต่ในเวลาที่เขาอยู่กับหญิงอันเป็นที่รักอย่างเอริน เขากลับสบายใจปลอดโปร่ง โดยมีความรักห่วงใยเอรินมากกว่าตัวเอง การแสดงของเขามีเสน่ห์กับเรื่องมาก ทำให้คนดูสามารถอินเชื่อไปกับอารมณ์ของตัวละครได้ และแอบคาดหวังว่าตัวละครนี้ควรจะพบกับความสุขได้ในที่สุด
บาทหลวงพอล แสดงโดย Hamish Linklater กับบทที่ดูเป็นตัวละครปริศนามากมาย ทั้งยังดูเป็นตัวร้ายของเรื่องที่นำพาเรื่องสยองบิดเบี้ยวมายังที่นี่ แต่บทจริงๆ เขาคือชายที่มีความรักศรัทธาในพระเจ้าเพื่อนำมามอบให้มนุษย์แบบบริสุทธิ์ ตลอดเวลาที่ดูแม้เราจะรู้ว่าเขาเป็นตัวร้าย แต่กลับไม่รู้สึกว่าเป็นคนเลว นักแสดงทำให้เห็นเลยว่าพอลหวังดีบริสุทธิ์ใจจริงๆ อาจจะมีความผิดพลาดต่างๆ ในเรื่องที่ทำให้เขาถูกมองเป็นคนเลว แต่ก็ไม่ใช่เพราะเขาโดยตรง ถึงแม้จะมีการบิดเบี้ยวคำสอนเข้าหาตัวเองบ้าง แต่ก็เพื่อผลลัพธ์ช่วยคนให้สบายใจ ซึ่งตัวละครนี้ก็จะได้บทเรียนผลลัพธ์ในสิ่งที่ทำลงไปในภายหลัง นักแสดงทำได้น่าประทับใจในบทนี้มาก ถือว่ายากกับการเล่นเป็นตัวร้ายที่คนดูคงเกลียดเขาไม่ลง
แต่ตัวละครที่คนดูต้องเกลียดสุดแน่นอนคือ เบฟ รับบทโดย Samantha Sloyan ตัวละครที่คลั่งศาสนาพร้อมกับการพูดทุกอย่างเข้าข้างตัวเองทั้งหมดอย่างน่าเกลียด เป็นตัวละครที่ดูไปเครียดกับบทพูดของเธอไปเหมือนอย่างป้าคลั่งพระเจ้าในหนังสยองขวัญ The mist (มฤตยูหมอกกินมนุษย์) ไม่มีผิดเพี้ยน ซึ่งแน่นอนว่านักแสดงเล่นได้สมบทบาทจนคนเกลียดได้แบบคงเส้นคงวาตั้งแต่เปิดเรื่องยันจบเรื่อง แต่บทนี้ก็มีเหตุผลเข้ากับเรื่อง ไม่ใช่การใส่มาเพื่อให้คนดูรำคาญ
Midnight Mass เป็นงานสยองขวัญของ ไมค์ ฟลานาแกน ที่พยายามฉีกออกไปจากรูปแบบเก่าๆ ที่เขาทำออกมา ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ยิ่งคะแนนในเว็บมะเขือนักวิจารณ์ต่างชื่นชอบทั้งนั้นจนได้คะแนนสูงมากตามภาพ แต่ถ้าในมุมคนดูทั่วไปนี่อาจจะเข้าไม่ถึงได้ในวงกว้าง ไม่แมสสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นแฟนผลงานของเขามาก่อนก็คงยังชื่นชอบเรื่องนี้อยู่แน่นอนครับ และดูเหมือนเขายังติดใจเอาชื่อมิดไนท์นี้ไปต่อยอดทำซีรีส์ลง Netflix ต่อไปในชื่อ The Midnight Club กำหนดฉายปีหน้า ก็ต้องมารอดูว่าผลงานของเขาจะฉีกแตกต่างออกไปอีกหรือไม่ครับ