รีวิว Cowboy Bebop Netflix ดัดแปลงจากอนิเมะในตำนานปลายยุค 90s ดูย่อยง่าย พากย์ไทยฮา
Cowboy Bebop
สรุป
ซีรีส์ Live-Action ที่ดัดแปลงจากอนิเมะขึ้นหิ้งในตำนานปลายยุค 90s ยำรวมระหว่าง หนังคาวบอย กังฟูสไตล์บรู๊ซลี ยานอวกาศ เพลงแจ๊ส ดูสนุกแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก มีพากย์ไทย แต่แคสติ้งและฉากแอ็กชั่นบางอย่างดูขัดตาไปหน่อย
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- โปรดักชั่นจัดว่าดีสำหรับซีรีส์แนว Live Action
- นักแสดงหลักเล่นดี
- เดินเรื่องรวดเร็ว กระชับ
- ฉากแอ็กชั่นสนุก มีสีสัน ผสมอารมณ์ตลกเข้าไปได้ลงตัว
- เพลงแจ้สประกอบเพราะมากตลอดเรื่อง
- ภาพรวมแล้วทีมสร้างเคารพต้นฉบับมาก
Cons
- นักแสดงหลักบทเฟย์โดนคอสตูมทำร้าย จงใจลดความเซ็กซี่เกินไป
- นักแสดงรองๆบางคนอาจดูขัดตา
- ภาพรวมซีรีส์มีความหลอกตาอยู่บ้างในแบบ Live Action
- ฉากแอ็กชั่นบางจังหวะยังดูไม่เนียนเท่าไหร่
Cowboy Bebop Netflix รีวิว ซีรีส์ ดัดแปลงจากอนิเมะขึ้นหิ้งในตำนานในปลายยุค 90s เป็นการยำรวมระหว่าง หนังคาวบอย กังฟูสไตล์บรู๊ซลี ยานอวกาศ เพลงแจ้ส คอบรา ผสมผสานบรรยากาศของหนังให้อารมณ์ทำภารกิจเป็นตอนๆบวกการไล่ล่าแบบหนังตำรวจและหนังมาเฟียเข้าด้วยกัน พร้อมด้วยเพลงแจ๊สคลอประกอบไปตลอดเรื่อง
ซีรีส์มีทั้งหมด 10 ตอนจบ รับชมได้เลยใน Netflix มีพากย์ไทย แล้วก็พากย์ได้ดีมาก โดยเฉพาะบทพูดยียวนกวนประสาทรับส่งกันระหว่างตัวละครในเรื่อง
ล่าสุดประกาศยกเลิกการสร้างซีซันสองไปแล้ว สาเหตุเพราะยอดวิวไม่สูงอย่างที่คาดไว้และคำวิจารณ์ออกมาไม่ดีเท่าไหร่นักทั้งฝั่งนักวิจารณ์และคนดู ถือว่าน่าเสียดายมาก
ตัวอย่าง Cowboy Bebop Netflix Trailer
Cowboy Bebop เรื่องย่อและตัวละคร
เรื่องราวของเหล่า “คาวบอยอวกาศ” หรือ นักล่าค่าหัวในโลกยุคอนาคตที่การเดินทางระหว่างดวงดาวเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สังคมก็ยังเต็มไปด้วยอาชญากรรมมากมายที่หน่วยงานและตำรวจไม่สามารถปราบได้ จึงทำให้มีอาชีพนักล่าค่าหัวเพื่อตามจับเหล่าอาชญากรระหว่างดวงดาวเกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกของยาน “Bebop” ที่ประกอบด้วย สไปค์ สปีเกล และ เจ็ต แบล็ก ในฐานะคาวบอยอวกาศชื่อดังก็ต้องรับภารกิจล่าค่าหัวตามจับเหล่าอาชญากร ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้เจอกับ เฟย์ วาเลนไทน์ หญิงนักล่าค่าหัวปริศนาที่เข้ามาร่วมกลุ่ม ตามด้วย เอ็ด แฮกเกอร์หญิงอัจฉริยะ ซึ่งการรวมตัวกันของพวกเขาจะทำให้ทีมคาวบอยบีบ็อบออกป่วนไปทั่วระบบสุริยะ
เรื่องราวอีกด้านหนึ่งยังโฟกัสไปที่อดีตของสไปค์ที่ยังคงตามมาหลอกหลอนเขาเป็นระยะ ในฐานะอดีตนักฆ่าแถวหน้าขององค์กรอาชญากรรม “เรดดรากอน” และเขายังต้องเผชิญหน้ากับอดีตเพื่อนเก่าอย่าง วิเชียส ที่กลายเป็นศัตรูสำคัญ และ จูเลีย หญิงคนรักเก่าของสไปค์
สไปค์ สปีเกล
คาวบอยอวกาศ นักล่าค่าหัวที่มีชื่อเสียงเก่งกาจ เชี่ยวชาญวิชาต่อสู้ในสไตล์กังฟู (แนวบรู๊ซลี) ชอบฟังเพลงแจ้ส ชอบสูบบุหรี่ นิสัยยิ้มแย้ม ชิลๆ ชอบใช้เวลาไปกับการนอนและทำเรื่องเรื่อยเปื่อยระหว่างรอทำภารกิจ ที่จริงแล้วเขามีอดีตที่มืดมนจากการเป็นมือสังหารในองค์กรเรดดรากอน ทั้งยังมีบัญชีความแค้นกับ วิเชียส ซึ่งเป็นตัวเอ้ขององค์กร รวมถึงความรักที่ไม่สมหวังกับ จูเลีย นักร้องสาวชื่อดัง
เฟย์ วาเลนไทน์
หญิงสาวปริศนา นักล่าค่าหัว นักต้มตุ๋น นักพนัน และอื่นๆอีกสารพัด เป็นหญิงสาวสวยสุดเซ็กซี่ที่ถนัดการใช้มารยาและกลยุทธ์ต่างๆในการหลอกล่อฝ่ายตรงข้าม ได้เจอกับพวกสไปค์ในภารกิจหนึ่ง สุดท้ายเข้าร่วมทีมบีบ็อบเพราะสถานการณ์พาไป หลังจากร่วมผจญภัยกันยาวนานจึงเกิดความผูกพันขึ้น (ในต้นฉบับอนิเมะ เธอเป็นลูกคุณหนูผู้ดีเก่า แต่ในฉบับซีรีส์อาจจะปรับบทใหม่)
เจ็ต แบล็ก
ชายผิวสีร่างใหญ่ เจ้าของยานบีบ็อบ นักล่าค่าหัวที่ร่วมงานกับสไปค์มานาน เป็นอดีตนายตำรวจที่ต้องออกจากราชการมาเป็นนักล่าค่าหัวเพราะถูกเพื่อนร่วมงานหักหลัง มีแขนข้างหนึ่งเป็นแขนเทียม มีความสามารถในการต่อสู้ วิเคราะห์ เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์และการขับยาน ชอบเพลงแจ้สและบลู ซึ่งเขาเอามาตั้งเป็นชื่อยาน เขายังรับบทเสมือนพ่อของกลุ่มด้วย (ในซีรีส์มีการดัดแปลงให้เจ็ตมีภรรยาและลูกสาวที่หย่าไป)
เอ็ด
แฮกเกอร์หญิงอัจฉริยะ เป็นเด็กกำพร้า ที่เข้าร่วมกับทีมหลังจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องราว ส่วนในซีรีส์ บทของเธอจะเปิดตัวในตอนท้ายเรื่อง สนิทสนมกับเจ้าหมาเอ็นที่พวกเจ็ตเอามาเลี้ยงมาก
Cowboy Bebop รีวิว
ซีรีส์เป็นแนว Live-Action ที่ดัดแปลงจากผลงานอนิเมะระดับตำนานในชื่อเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้โด่งดังมากในปลายยุค 90s ซึ่งในสมัยนั้นอนิเมะเป็นผลงานการสร้างจากสตูดิโอดังอย่าง Sunrise ส่วนสาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จและโด่งดังมากในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นการหยิบเอาองค์ประกอบหลายอย่างที่ชาวตะวันตกชื่นชอบมาผสมยำรวมกันแล้วดันออกมาลงตัวมาก
ที่สำคัญคือเรื่องนี้มีความหลากหลายสูงมากแง่เชื้อชาติและรูปลักษณ์ตัวละคร ที่มีหลายเชื้อชาติ บุคลิกที่แตกต่างกันสุดขั้ว แล้วเอามารวมทีมด้วยกัน ซึ่งทุกตัวเป็นตัวละครที่มีบทบาทโดดเด่นในเรื่องและผู้คนชื่นชอบได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกอย่าง สไปค์ สปีเกล ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นที่ถนัดวิชากังฟู ชอบฟังเพลงแจ้ส แต่งตัวในสไตล์ตะวันตกยุค 60-70 พร้อมพฤติกรรมที่แสดงออกในฐานะคาวบอย คู่หูคนสนิทอย่าง เจ็ท แบล็ก กัปตันยานที่เป็นคนผิวดำร่างใหญ่ผู้พึ่งพาได้ เฟย์ วาเลนไทน์ ตัวเอกหญิงเชื้อชาติจีนของเรื่องที่เป็นอดีตลูกคุณหนูสู่การเป็นนักล่าค่าหัว และ เอ็ด เด็กสาวแฮกเกอร์อัจฉริยะที่เป็นเด็กกำพร้า
สำหรับการดัดแปลงเป็นฉบับซีรีส์ของเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าทำได้ดีกว่าการดัดแปลงจากอนิเมะหลายเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งก่อนอื่นต้องยอมรับว่า เวลาที่ฮอลลีวูดจะดัดแปลงอนิเมะญี่ปุ่นสักเรื่องมาเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ ผลงานมักจะออกมาแย่มากกว่าดี ตัวอย่างมากมายในอดีตที่ตามหลอนแฟนคลับ เห็นจะไม่พ้น Dragon Ball หรือแม้แต่เรื่องที่สร้างออกมาได้ในระดับหนึ่งอย่าง Ghost in the Shell และ Alita ก็ยังไม่ถึงกับประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่สำหรับคาวบอยบีบ๊อบ ต้องถือว่าทำออกมาได้ดีกว่าที่คาดคิด ผู้สร้างยังให้การเคารพต้นฉบับอย่างสูง ถ้าใครได้ดูตอนแรกที่เป็นคดีเรื่องยาเรดอายส์ จะเห็นว่าฉากที่อาสิมอฟฉีดยาเข้าร่างกายแล้วเกิดคลั่งเล่นงานพวกศัตรูที่บุกเข้ามาในร้านนั้น ในซีรีส์ทำออกมาแทบจะตรงกันเลยในหลายจุด แม้แต่ภาพจากสายตาของตัวละครตอนคลั่งที่โดนยาเข้าไปแล้วก็ก็อปปี้เอาแนวทางมาจากอนิเมะเลย
เพียงแต่การดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดง มันก็ต้องมีการปรับให้ย่อยง่ายขึ้น รวมถึงการขายตลาดโลก เลยจะเห็นว่ามีการปรับคาแรคเตอร์บางอย่างของตัวละครหลักให้ดูจับต้องได้มากขึ้น โดยเฉพาะตัวละคร สไปค์ สปีเกล ที่ถูกตีความใหม่ จากแต่เดิมเป็นตัวเอกสไตล์ชิลๆ ชอบฮัมเพลงแจ้ส บางครั้งก็แสดงท่าทียิ้มแย้มเพื่อปกปิดบุคลิกนักฆ่าเก่าของตนเอง แต่ในซีรีส์พยายามปรับให้เป็นตัวละครที่พูดกวนจาประสาทเยอะขึ้นมากกว่าจะทำทีเป็นมาดนิ่งๆ โดยเฉพาะการพูดคุยรับส่งมุกกับเจ็ตที่มีไดอาล็อคฮาๆเยอะมาก
สำหรับการปรับบุคลิกตัวละครตรงนี้เข้าใจว่าเพราะซีรีส์ต้องการนำเสนอความเป็นมนุษย์ที่จับต้องง่ายขึ้นของตัวละคร ที่ยุคนี้ตัวละครแนวบุคลิกกวนๆ และการมีมุมตลกในบทพูดของตัวละครบ้างก็ช่วยทำให้เรื่องสนุกมีสีสันและขายง่ายกว่านั่นเอง
(ตรงนี้จะเห็นว่าบุคลิกหลายอย่างของสไปค์จะคล้าย ซาเอบะ เรียว ในเรื่อง ซิตี้ฮันเตอร์ แต่ความระมัดระวังตัวและความนิ่งในสถานการณ์อันตรายจะดูด้อยกว่าเรียวเยอะ อีกทั้งสตูดิโอที่ทำอนิเมะเรื่องนี้ก็คือ Sunrise ที่ทำซิตี้ ฮันเตอร์ ฉบับอนิเมะ เลยถ้าจะบอกว่าสไปค์ได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากตัวละครเรียวก็ว่าได้)
เรื่องยังมีการเก็บคอนเซปต์บางอย่างจากอนิเมะฉบับดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรื่องที่กระชับ ฉับไว เปี่ยมด้วยสีสัน แต่บทที่จะดราม่าก็ได้ฟีลเหมือนดู MV เพลงแจ้สไปด้วย แล้วยังมีแนวคิดเรื่อง การใช้ชีวิตแบบหนึ่งที่เสมือนความฝัน และสักวันก็ต้องตื่น ซึ่งซีรีส์มีการเอามาพูดถึงไว้เป็น Easter Egg ตั้งแต่ตอนแรกด้วย รวมถึงคำโปรยตอนท้ายเรื่องที่ใช้วิธีเดียวกับในอนิเมะ นับว่าเป็นทีมสร้างซีรีส์ที่พยายามเคารพอนิเมะต้นฉบับไว้มากพอสมควร ซึ่งหากไม่ได้ไปนั่งดูอนิเมะดั้งเดิมอย่างละเอียดมาก่อน หรือถ้าไม่ใช่แฟนที่ชอบอนิเมะชุดนี้มาบ้างก็คงไม่สามารถทำซีรีส์แล้วนำเสนอออกมาแบบนี้ได้แน่นอน
แต่ก็มีบางอย่างที่นำเสนอแตกต่างออกไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปูมหลังบางอย่างของตัวละคร เช่น บทของเจ็ตที่ปรับให้มีภรรยาและลูกสาว หรือปูมหลังของเฟย์ที่ดูเหมือนซีรีส์อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากอนิเมะ ส่วนของสไปค์และเอ็ดคงต้องรอดูไปว่าจะมีการปรับเรื่องปูมหลังมากน้อยแค่ไหน
อีกจุดที่มีการปรับจากอนิเมะคือ ชุดของเฟย์ ซึ่งในอนิเมะมีการเปิดเผยเนื้อหนัง เนินอก และหน้าท้องให้เห็นตลอดเรื่อง เรียกว่าเป็นนางเอกที่ขายความเซ็กซี่สุดๆในสมัยนั้น แต่ในซีรีส์ปรับตรงนี้ออกด้วยการทำชุดของเฟย์ให้มิดชิดขึ้น อีกทั้งนักแสดงที่เลือกมารับบเฟย์อย่าง ดาเนียล พิเนด้า ที่จริงแล้วเป็นนักแสดงสาวหน้าตาดี หุ่นดี แต่จากคอสตูมในเรื่องกลับไม่ได้ช่วยขับเน้นส่วนนี้ของเธอเท่าไหร่ ก็เลยอาจจะดูขัดๆไปบ้างในการปรับคอสตูมและภาพลักษณ์ของเฟย์ในฉบับซีรีส์
แล้วยังมีการแคสติ้งนักแสดงหลักอยู่จุดหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ก็คือการเลือก จอห์น โช นักแสดงเกาหลีที่มีผลงานในฮอลลีวูดหลายเรื่อง โดยเฉพาะบทของ ซูลู ต้นหนในเรื่อง สตาร์เทรค ฉบับรีบูท ซึ่งเขาได้มารับบทเป็นสไปค์ พระเอกของเรื่อง ซึ่งการเอานักแสดงเกาหลีมารับบทพระเอกอนิเมะที่ค่อนข้างได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่นมานับทศวรรษ อาจจะดูแล้วขัดตาพอสมควร แม้ว่าตัวของนักแสดงจะทำได้ดีในแง่การแสดงก็ตาม แต่ก็น่าจะมีตัวเลือกอื่นๆ จากนักแสดงชาวญี่ปุ่นมากกว่า
แล้วส่วนหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนไปเยอะมากเลยก็คือการตีความคาแรคเตอร์ตัวร้ายที่เป็นคู่ปรับหลักของพระเอกในเรื่องนี้อย่าง วิเชียส ที่นักแสดงบทนี้หน้าตาไม่ค่อยเข้ากับคาแรคเตอร์เท่าไหร่ แล้วดูการแสดงก็ออกไปทางจงใจทำหน้าตาเล่นใหญ่มากเกินไปหน่อย รวมถึงคาแรคเตอร์ จูเลีย คนรักเก่าของสไปค์ที่ดูมีความร้ายแฝงอยู่มากกว่าในอนิเมะ
ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นซีรีส์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ มีจุดติ จุดขัดตาอยู่เยอะ แต่ในภาพรวมแล้วต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่สร้างแบบ Live Action ที่ดีและดูเพลินมากเรื่องหนึ่ง แล้วทีมสร้างยังค่อนข้างทำการบ้านจากฉบับอนิเมะมาได้ดีพอสมควร มีการเก็บฉากแอ็กชั่นบางอย่างที่แทบจะถอดจากอนิเมะมาเลยก็ว่าได้ น่าเสียดายที่ไม่ได้ไปต่อในซีซันสองทั้งที่ปูทางไว้แล้ว
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference Website