รีวิว My Father’s Violin (Netflix) หนังตุรกีที่สอนบทเรียนครอบครัวผ่านดนตรีคลาสสิก
My Father’s Violin
สรุป
หนังครอบครัวสัญชาติตุรกีที่ค่อนข้างแปลกตา พล็อตเรื่องแนวครอบครัวพื้นๆ โปรดักชั่นธรรมดา แต่กลับทำออกมาดูดีอย่างน่าประหลาด มีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ การแสดงก็โดดเด่นในบางจุด ดนตรีประกอบไพเราะเพลิดเพลินมาก
Overall
7/10User Review
( vote)Pros
- เพลงประกอบเพราะทั้งเรื่อง
- หนังฟีลกู้ดย่อยง่าย
- นักแสดงเล่นดี
Cons
- เป็นหนังพลอตง่ายที่เห็นจนเฝือแล้ว
- เรื่องไม่เน้นสมจริงอะไรมาก
My Father’s Violin Netflix รีวิว ภาพยนตร์ตุรกี ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงและพ่อของเธอผ่านการเล่นไวโอลิน และการมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอาที่เป็นนักไวโอลินที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ผู้เป็นอาก็ไม่ได้เต็มใจแต่แรก
โดยรวมแล้วเป็นหนังแนวให้กำลังใจ การเตือนให้คนเราระลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่แม้ว่าอาจจะเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่แรก แต่ในบางครั้งสายเลือดมันก็ยากที่จะตัดกันขาดได้
หนังมีความยาว 1 ชม. 52 นาที รับชมได้เลยใน Netflix
ตัวอย่าง My Father’s Violin Trailer
My Father’s Violin เรื่องย่อ
เรื่องย่อ เกี่ยวกับเรื่องราวของ เอิซเลิม เด็กหญิงที่ตระเวนไปเล่นไวโอลินเปิดหมวกหาเงินกับพ่อ ที่จู่ๆวันหนึ่งเธอต้องสูญเสียพ่อที่ล้มป่วยจนกลายเป็นเด็กกำพร้าอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่ความจริงแล้วเธอยังมีคุณอาคนหนึ่งที่ไม่เคยพบหน้ามาก่อน นั่นคือ มาฮีร์ ซึ่งเป็นนักไวโอลินผู้มีชื่อเสียงและมีฐานะร่ำรวยในระดับหนึ่ง ความจริงแล้วมาฮีร์มีความขัดแย้งกับพ่อของเธออย่างรุนแรงและไม่เจอหน้ากันเลยเป็นเวลานานหลายปี ด้านมาฮีร์ก็ไม่ได้อยากจะรับเลี้ยงหลานสาวที่ไม่เคยพบหน้ากันเลยสักครั้งและก็เพิ่งจะรู้ว่ามีตัวตนอยู่
แต่บรรดาเพื่อนๆที่ร่วมเล่นดนตรีเปิดหมวกกับพ่อของเธอต้องการรับเธอไปดูแลเอง เพียงแต่พวกเขาไม่ใช่ญาติ ดังนั้นเลยต้องการลายเซ็นจากมาฮีร์เพื่อรับรองการจับเด็กไปเลี้ยงจากสังคมสงเคราะห์ แต่ก็ยังติดเงื่อนไขว่ามาฮีร์ต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถดูแลเด็กได้อย่างดีในระดับหนึ่งโดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยไปสอดส่องโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้มาฮีร์จำใจต้องรับเอิซเลมมาดูแลชั่วคราวจนกว่าทางสังคมสงเคราะห์จะยอมรับ
แต่แล้วการเข้ามาอยู่ร่วมกันของพวกเขากลับกลายเป็นการทลายหัวใจที่เย็นาของมาฮีร์และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปอย่างไม่น่าเชื่อ
My Father’s Violin รีวิว
หนังลักษณะที่จับเอาสองตัวละครหลักคือ ผู้ใหญ่ + เด็ก มาร่วมกันเดินเรื่อง โดยสองตัวละครมักมีลักษณะพื้นเพแตกต่างกัน แล้วต้องมาอยู่ร่วมกันแบบจับพลัดจับผลู เป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมมากและคาดหวังเลยว่า หนังครอบครัวในแนวนี้ระหว่างที่ดูไปคุณจะได้เจอฉากเรียกน้ำตาซึ้งๆ หรือฉากดราม่าและบทสรุปที่มาแนวให้กำลังใจ เรื่องนี้ก็ถูกสร้างมาในแนวนี้เช่นกัน
แต่หนังเรื่องนี้ยังเพิ่มองค์ประกอบที่น่าสนใจมากเข้ามาอีกก็คือ ดนตรี โดยการเซตติ้งให้ตัวเอกของเรื่องเป็นนักไวโอลิน ทำให้เราได้ฟังเพลงประกอบในเรื่องกันแบบเพลินๆ ได้จนจบเรื่อง
ช่วงต้นของหนังมีการนำเสนอประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ และหนังแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่องเลยก็คือการเปรียบเทียบการเล่นดนตรีกับอารมณ์ความรู้สึกและสถานการณ์ของแต่ละผู้คนในเวลานั้น ว่าทุกคนมีอารมณ์ที่หลากหลายกันไปตามแต่ละช่วงเวลา ซึ่งดนตรีสามารถนำเสนอออกมาได้ เช่น คนกำลังสนุกสนาน ทะเลาะกัน โศกเศร้า เดือดดาล และอื่นๆ ดนตรีสามารถถ่ายทอดและเปรียบได้กับอารมณ์เหล่านั้น
ประโยคหนึ่งที่ถือว่าเป็นการสะท้อนภาพเกี่ยวกับคำว่าสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่เรื่องนี้พยายามนำเสนอได้ดีมากก็คือประโยคที่ตัวเอกของเรื่องอย่างมาฮีร์เพิ่งเข้าใจความสำคัญของการเสียสละและทุ่มเทเพื่อครอบครัว เขากล่าวว่า “ครอบครัวคือดนตรีที่สวยงามที่สุดที่ประกอบกันขึ้นมาจากโน้ตต่างๆกัน” เป็นอีกหนึ่งฉากที่นำเสนอได้ดีว่า แม้คนในสมาชิกครอบครัวจะมีความขัดแย้งกันบ้าง มีพื้นเพที่มา วิถีชีวิต บุคลิกนิสัย ความคิดอ่านที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วมันจะเป็นครอบครัวขึ้นมาได้ก็ด้วยการเข้ามารวมกัน เสมือนบทเพลงหนึ่งๆ ที่ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้เลยหากไม่มีโน้ตและเครื่องดนตรีมากมายที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันสุดขั้ว แต่มาบรรเลงประสานจนกลายเป็นบทเพลงหนึ่งๆ ขึ้นมา
จุดหนึ่งที่ตัวหนังนำเสนออกมาได้อย่างชนิดที่ว่ายอดเยี่ยม ก็คือการนำเสนอดนตรีตัดผ่านอารมณ์ของตัวละคร ประหนึ่งว่าในเวลานั้นตัวละครกำลังมีความรู้สึกอย่างไร ดนตรีและบทเพลงต่างๆ ก็จะถูกบอกเล่าออกมาตามจังหวะอารมณ์ของเหล่าตัวละครในห้วงเวลานั้น ดนตรีและบทเพลงที่เลือกนำมาใช้มีตั้งแต่บทเพลงคลาสสิกของเหล่านักแต่งเพลงชื่อดัง ซึ่งหากเป็นคอดนตรีคลาสสิกก็อาจจะคุ้นหูกันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น โมสาร์ท โชแปง บีโทเฟน แต่ก็มีบทเพลงใหม่ๆที่ถูกนำเสนอขึ้นมาในเรื่องด้วย เรียกว่าดูหนังแล้วได้ฟังเพลงคลาสสิกกันแบบเต็มอิ่มไปด้วยเลย
อีกส่วนที่ต้องขอชื่นชมเลยก็คือพลังการแสดงของหนูน้อย Gülizar Nisa Uray ในบทของเอิซเลิม ที่แสดงได้สุดยอดเกินอายุ แม้บางฉากยังดูแข็งๆไปบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วเธอเล่นได้สุดยอดจริงๆ รับรองว่าโตไปเธอเป็นดารามากฝีมือแน่นอน เพียงแต่ก็ต้องบอกว่าบทมันส่งให้เธอโชว์การแสดงด้วย แล้วหนังยังมีช่วงให้แอบลุ้นแบบเสียววาบเล็กน้อย ชนิดที่คนดูอาจจะร้องเฮ้ยกันเลย ซึ่งก็ยังดีที่หนังไม่ได้เลือกทำออกมาโหดร้ายแบบนั้น
หนังยังแอบจิกกัดโครงสร้าง ระบบสังคม ระบบสวัสดิการ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ของตุรกีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมโลกจริงๆในเวลานี้ด้วย และก็เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งของสังคมตะวันตกที่พยายามนำเสนอว่า สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานหน่วยย่อยที่สุดของสังคมนี่เองคือสิ่งสำคัญที่สุดนั่นเอง
แต่ข้อด้อยก็มีอยู่ เช่นพลอตเรื่องแสนธรรมดาที่เราพบบ่อยในหนังฮอลลีวูด หรือหนังชาติอื่น และความไม่สมจริงของเรื่องราวในหลายจุด บทจะราบรื่นก็ง่ายเกินไป บทจะยากก็โอเว่อร์เกินไป เพียงแต่ต้นเรื่องของหนังมันก็นำเสนอความเป็นหนังย่อยง่ายที่ไม่ต้องเน้นความสมจริงแบบนี้เอาไว้แต่แรกแล้ว
สรุป My Father’s Violin สนุกและดีไหม?
ดูสนุกครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง ออกแนวฟีลกู้ดให้กำลังใจดี โดยสรุปแล้ว เรื่องนี้เป็นหนังตุรกีที่ดูง่าย เป็นแนวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่บอกเล่าผ่านชีวิตของผู้ใหญ่และเด็กคู่หนึ่งโดยมีไวโอลินและดนตรีคลาสสิกเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวในแนวให้กำลังใจ มีลุ้นๆดราม่าบ้างเป็นระยะ เหมาะสำหรับคลายเครียดได้ดี และเป็นหนึ่งในหนังที่เหมาะกับทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกๆ น่าจะได้ดูร่วมกันสักครั้งครับ
ติดตามบทความทั้งหมดของผู้เขียนคลิกที่นี่
Reference