รีวิว Juvenile Justice ตั้งใจเล่นประเด็นร้อน แต่ผ่อนกับแผ่วลงเรื่อยๆ จนจืดสนิท (ไม่มีสปอยล์)
Juvenile Justice
สรุป
ซีรีส์ที่ทำตัวอย่างมาเหมือนแนวอาชญากรเด็กในคดีโหด แต่พอเรื่องจริงกลับมีแค่คดีแรก 2 ตอน จากนั้นไปคดีในเรื่องกลับผ่อนกับแผ่วลงเรื่อยๆ การสืบคดีกับสู้คดีในศาลก็ไม่ได้ดุเดือดอย่างที่ควรจะเป็น แถมตรกะกับความสมเหตุผลหลายอย่างในเรื่องดูผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จนกลายเป็นซีรีส์ที่มีความตั้งใจเล่นประเด็นร้อนของสังคมได้ดี แต่กลับทำออกมาเสียของมากๆ ไม่สมกับงานออริจินอลเน็ตฟลิกซ์เท่าไหร่ ถ้าเป็นแบบซีรีส์ฉายละครทีวีเกาหลีทั่วไปก็คงรู้สึกเหมาะสมกว่านี้
Overall
6/10User Review
( vote)Pros
- หลายแง่มุมของเรื่องราวแวดวงคดีอาชญากรเด็กกับการทำหน้าที่ของคนในศาลเยาวชน
- นำเสนอรายละเอียดของขั้นตอนในศาลเยาวชนได้ดี
- แอ็คติ้งการแสดงของอาชญากรเด็กทำได้ดี
- มีพากย์ไทย
Cons
- นำเสนอตัวละครผู้พิพากษาที่มีคาแรกเตอร์การกระทำที่บิดเบี้ยวหลายอย่าง
- ช่วงท้ายตัวละครมีความย้อนแย้งในตรกะวิธีคิดการทำงานด้านนี้
- การสืบคดีกับสู้คดีในศาลไม่ได้ดุเดือดอย่างที่ควรจะเป็น
- ทิ้งปมการแก้กฎหมายอาชญากรเด็กไปแบบเงียบๆ
- บทคู่หูนางเอกเหมือนเป็นลูกน้องมากกว่าผู้พิพากษาร่วม
- ช่วงคดีสุดท้ายตัวนางเอกมีฉากไม่สมเหตุผลอย่างแรงมาก
Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน ซีรีส์เกาหลี Original Netflix 10 ตอนจบ เรื่องราวของผู้พิพากษาศาลเยาวชนที่มีไฟแค้นมาเพื่อจัดการลงโทษอาชญากรเด็กโดยเฉพาะ กับประเด็นอาชญากรรมความรุนแรงของเด็กสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กฎหมายกลับลงโทษพวกเขาไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ตัวอย่าง Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน
เรื่องย่อ
ซิมอึนซอก ผู้พิพากษาผู้เกลียดอาชญากรเด็กจากสาเหตุเบื้องลึกในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อน ได้ขอย้ายตัวเองมาทำหน้าที่ในศาลเยาวชนในตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ เพื่อหวังจัดการลงโทษเด็กเหล่านี้ให้สาสม โดยมีแทจูผู้พิพากษาผู้ร่วมงานด้วยที่ไม่เห็นด้วยกับทัศนคติของเธอ แต่ทั้งคู่ก็ต้องกลายมาเป็นคู่หูร่วมมือกันในการสืบสวนคดีที่อาชญากรเด็กเหล่านี้ปกปิดซ่อนเร้นไว้
Juvenile Justice รีวิว
ซีรีส์เกาหลี Original Netflix ที่มารวดเดียว 10 ตอนจบอีกเรื่อง โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเนื้อเรื่องหลักยาวๆ ไปจนจบ แต่เรื่องนี้เนื้อเรื่องแบ่งเป็นคดีๆ ประมาณ 2 ตอนต่อ 1 คดีไปจนจบ ซึ่งเอาจริงๆ ตัวโครงเรื่องแบบนี้เหมาะที่จะทำเป็นซีรีส์ฉายลงทีวีมากกว่า แต่ที่ผันมาทำลงเน็ตฟลิกซ์ก็คงเพราะว่าต้องการขายประเด็นแรงๆ เรื่องความโหดเหี้ยมของอาชญากรเด็กในปัจจุบันที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก จุดนี้เองที่น่าจะเป็นประเด็นแมสทำให้คนดูทั่วโลกสนใจเพราะมีความใกล้ตัว ทุกประเทศต่างมีคดีอาชญากรเด็กโหดๆ ที่กฎหมายไม่อาจจะลงโทษได้เต็มที่เพราะติดเรื่องอายุกับความเป็นผู้เยาว์ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะเกณฑ์อายุแตกต่างกันไป ส่วนในเกาหลีเรื่องนี้ถ้าอายุยังไม่ถึง 14 ปีจะใช้กฎหมายเยาวชนลงโทษไม่ได้ ทำได้แค่ส่งไปสถานพินิจมีโทษสุงสุด 2 ปี ส่วนถ้า 14 ปีขึ้นไปและยังไม่บรรลุนิติภาวะอายุครบ 20 ปีจะเป็นกฎหมายเยาวชนที่มีอัตราโทษกับหลักการพิจารณาแบบเยาวชนที่ต่างออกไปจากฎหมายผู้ใหญ่ มีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แต่ในการพิจารณาจะเป็นแบบปิดไม่เปิดเผย และมีการลดหย่อยผ่อนโทษอื่นๆ มากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้คือประเด็นหลักที่เรื่องนี้ต้องการสำรวจตีแผ่และนำเสนอออกมาสู่ผู้ชมในสังคม
เชื่อเลยว่าใครที่ได้ดูตัวอย่างเรื่องนี้ก่อนคงคิดว่าจะมาในแนวดุเดือดโหดอำมหิตกับอาชญากรเด็กในแต่ละรูปแบบอย่างที่ตัวอย่างตัดมาให้เข้าใจแบบนั้น ซึ่งตัวเรื่อง 2 ตอนแรกก็ขายแบบนั้นด้วยการนำเสนอคดีเด็กอายุ 13 ปีฆ่าหั่นศพเด็กอายุ 8 ขวบอย่างเลือดเย็น ก่อนจะไปมอบตัวกับตำรวจแบบไม่สะทกสะท้าน ด้วยความที่รู้ว่ากฎหมายเอาผิดเขาเต็มๆ ไม่ได้ ซึ่งในคดีแรกก็เป็นการเปิดตัว “ซิมอึนซอก” (รับบทโดย คิมฮเยซู) นางเอกของเรื่องที่พึ่งย้ายตัวมารับผิดชอบคดีในศาลเยาวชน แต่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้พิพากษาโดยตรง เป็นตำแหน่งสมทบ หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือผู้ช่วยผู้พิพากษาใหญ่อีกที (คังวอนจุง รับบทโดย อีซองมิน ) ซึ่งจะมี “แทจู” (รับบทโดย คิมมูยอล )เป็นผู้ร่วมงานในตำแหน่งเดียวกันอีกคน ตัวเรื่องจะใช้เวลาอธิบายรูปแบบการทำคดีในศาลเยาวชนให้ผู้ชมได้เข้าใจ ในคดีใหญ่ๆ จะมีผู้พิพากษา 3 คน คดีเล็กลงมาหน่อยผู้พิพากษาก็จะลงมาเป็น 2 คนหลักกับรอง หรือคนเดียวรับผิดชอบทั้งหมดคนอื่นเข้ามาก้าวก่ายไม่ได้ ซึ่งคดีฆ่าหั่นศพเคสแรกจะเป็นรูปแบบผู้พิพากษา 3 คน ตัวนางเอกคือตำแหน่งสมทบ ไม่ได้มีหน้าที่อ่านคำตัดสิน และในงานของผู้พิพากษาเองก็จะไม่พยายามสืบสวนหาหลักฐานเพิ่มจากที่ตำรวจกับอัยการส่งขึ้นมา รวมถึงต้องตัดความรู้สึกส่วนตัวออกไป แต่ในคดีแรกนี้เองที่นางเอกได้ก้าวเข้ามเปลี่ยนแปลงการทำงานแบบเดิมของศาลเยาวชนไปหมด เธอพยายามหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีเพื่อหาสิ่งที่ซ่อนเร้นไว้กว่าหลักฐานที่มี และยังใช้อารมณ์โกรธแค้นส่วนตัวเข้ามาเป็นแรงจูงใจในการไล่บี้อาชญากรเด็กให้ได้รับโทษสูงสุดเสมอ ซึ่ง 2 ตอนแรกนี่เรียกว่าเนื้อเรื่องเดือดสุดๆ ทั้งการสืบคดีนอกเหนือขอบเขตการทำงาน ที่สุดท้ายคดีหั่นศพนี้ไปไกลกว่าที่เห็นตอนแรกอีกชั้น ความวิปริตของตัวเด็กที่ก่อคดี ที่รู้ว่าตัวเองยังไงก็รอด กระแสสังคมที่เรียกร้องบทลงโทษกับอาชญากรเด็กก็กดดันขึ้นเรื่อยๆ และยังมีเรื่องความขัดแย้งในการทำงานกับทั้งแทจูกับหัวหน้าของเธอ ซึ่งไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงเป็นคนที่แหกกรอบแข็งกร้าวกับเด็กขนาดนี้ เหมือนต้องการบี้เอาให้ตายมากกว่าจะเป็นการช่วยรักษาฟื้นฟูอาชญากรเด็กไม่ให้เติบโตขึ้นมาเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอีก ซึ่งนี่เป็นหัวใจของการทำงานของศาลนี้มากกว่าศาลผู้ใหญ่ที่เน้นบทลงโทษจำคุกโดยตรง
เรื่องราวในคดีแรกเรียกว่าจุดไฟให้ผู้ชมติดได้แน่ๆ เพราะมันเป็นอะไรที่จับต้องได้เป็นจริงในปัจจุบัน และส่วนใหญ่ก็คงมองเห็นว่าเป็นความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งตัวเรื่องเปิดประเด็นเรื่องการแก้กฎหมายเรื่องนี้ไว้ว่า ควรยกเลิกไปเลยใช้กฎหมายเดียวกับผู้ใหญ่ หรือเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น หรือควรเน้นเพิ่มจำนวนความช่วยเหลือกับเด็กมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งตัวเรื่องพยายามเล่นปมนี้สอดแทรกไว้ตลอด เพื่อนำมาใช้เป็นเรื่องราวใหญ่ในตอนหลัง (แต่ไม่ใช่ไคลแม็กซ์ของเรื่อง) เนื้อเรื่องหลังจากนี้ก็เลยเป็นการสำรวจโลกของงานในศาลคดีเยาวชนมากกว่า ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องจากที่ขึ้นต้นได้แรงพีคสุดๆ กลับเล่นคดีเบาลงมาทันที โดยคดีสองเป็นการเยี่ยมชมตรวจสอบศูนย์ฟื้นฟูอาชญากรเด็ก ที่เหมือนบ้านพักดูแลจิตใจเด็กต่าง ไปจากสถานพินิจ สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีโทษแรง ซึ่งเรื่องราวก็กลายเป็นไปเจอปมทุจริตในบ้านพัก รวมถึงปัญหาครอบครัวทอดทิ้งเด็ก การหลงทางของเด็กสาวที่สุดท้ายนำไปสู่การขายตัว เนื้อเรื่องในเคสต่อมาลดโทนความรุนแรงลงแบบฮวบฮาบทันที ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าต้องการเปลี่ยนอารมณ์ให้หลากหลาย เพราะคดีของเด็กไม่ใช่มีแต่โหดๆ แบบตอนแรก และการนำเสนอปัญหาสังคมรอบด้านก็ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูจริงจังกับประเด็นการแก้ไขปัญหา มากกว่าเป็นเรื่องแต่งเอาโหดดิบคดีแรงขึ้นๆ อย่างที่ก่อนมาดูเข้าใจว่าแบบนั้น ซึ่งก็อาจจะดูไม่ยุติธรรมต่อเยาวชนได้เหมือนกันถ้านำเสนอไปในทิศทางเดียวแบบนั้น
แต่ความเบาของเรื่องก็เรียกว่าลดลงตามลำดับคดีเลย เคสต่อจากนี้เป็นเรื่องการทุจริตโกงข้อสอบที่มีลูกหลานคนใหญ่โตมาเกี่ยวข้อง ซึ่งพล็อตแบบนี้ถือว่าเกร่อมาก แต่เรื่องนี้ก็ลากเอาปมเรื่องนี้มาเกี่ยวพันกับหัวหน้าของเธอ ซึ่งกำลังจะลงสมัครเป็น สส. ตัวเคสนี้แม้จะมีความกดดันขัดแย้งกับหัวหน้าของนางเอกที่ทำให้เรื่องดูเครียดกดดันกับการทำงาน แต่ในแนวทางของเรื่องที่พุ่งเป้าไปที่ความรุนแรงของอาชญากรเด็กดูเหมือนจะหลุดไปเลย ไปเน้นที่ปัญหาของผู้ใหญ่ที่ทำให้เด็กต้องมาทุจริตในการเรียนแทน แม้ประเด็นกับเจตนาของเรื่องจะดี แต่พล็อตมันเกร่อมาก แล้วก็ไม่มีอะไรพลิกด้วย บทเป็นไปตามสูตรทั่วไปที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ทำให้กลายเป็นตอนที่เหมือนช่วงขาลงของซีรีส์ และตอนต่อจากนี้ก็ยิ่งตอกย้ำตรงนี้เข้าไปอีก เมื่อเปิดมาด้วยคดีกลุ่มเด็กไม่มีใบขับขี่ขับรถชนคนตาย ดูเหมือนจะเป็นคดีทีมีอะไรแรงๆ ให้ได้เล่น แต่เรื่องกลับหันไปโฟกัสที่ความบาดหมางกับตัวหัวหน้าคนใหม่ของนางเอกแทน ก่อนที่จะจบลงแบบง่ายๆ ไม่มีอะไรเลย ซึ่งในตอนที่ผ่านๆ มาเรื่องก็มักจะเคลียร์ปมแบบจู่ๆ ก็มีหลักฐานใหม่เข้ามาทำให้ปิดคดีได้ทันที แต่อย่างตอนนี้เป็นอะไรที่ง่ายกว่านั้นอีก กลายเป็นตอนที่จบแบบทิ้งๆ ขว้างๆ เพียงแค่ต้องการจุดปมในอดีตของนางเอกกับหัวหน้าคนใหม่เท่านั้น
ตัวบทต่อจากนี้พยายามจะเล่นปมอดีตความลับของนางเอกที่ทำไมเธอถึงโกรธแค้นอาชญากรเด็กขนาดนี้ แต่พอเรื่องเฉลยออกมาว่าเกี่ยวข้องยังไงกับหัวหน้าคนใหม่ กลายเป็นอะไรที่ค่อนข้างอ่อนมาก คือเจตนาของการเล่นปมความผิดพลาดของผู้พิพากษารุ่นเก่าน่ะดีอยู่ แต่มันกลับดูเป็นอะไรที่เฟคมักง่ายแบบชุ่ยๆ เลยก็ว่าได้ว่าผู้พิพากษาระดับนี้เป็นแบบนี้ กลับต้องให้นางเอกมาสอนการทำงาน สอนทัศนคติที่ดูแล้วย้อนแย้งในตัวเอง ย้อนแย้งกับความจริงของการทำงานผู้พิพากษาด้วย ซึ่งตัวเรื่องพยายามกลับมาบิ้วให้คดีสุดท้ายมีความแรงขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับคดีแรก แล้วให้คดีนี้ดูมีแอ็กชั่นการสืบสวนที่เข้มๆ ขึ้นมาจากช่วงก่อน แต่กลับเหมือนซีรีส์ยิ่งทำยิ่งเลอะ อะไรหลายๆ อย่างไม่สมเหตุผลเอามากๆ เพียงแค่ต้องการสร้างฉากดราม่าตามสไตล์เกาหลีเท่านั้น แต่มันเฟคสุดๆ จนกระทั่งฉากว่าความสุดท้ายของเรื่องเลย
สปอยล์ความไม่สมเหตุผลในเรื่องช่วงหลัง
หัวหน้านางเอกเป็นพวกชอบตัดสินคดีแบบไวๆ รีบจบให้พ้นๆ มีอดีตเคยตัดสินคดีลูกของนางเอกแบบนั้นจนทำอาชญากรเด็กรอดมาก่อคดีอื่น จู่ๆ โดนนางเอกว่าตัดสินแบบมักง่ายใช้เวลาไวแค่ 3 นาทีในการพิจารณาคดี คนที่แข็งกร้าวแบบนั้นกลับคิดได้ เปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาสืบหาหลักฐานแบบนางเอก แถมยังมาแถลงตอนจบว่าตัวเองเคยคิดว่าการเป็นผู้พิพากษาต้องตัดอารมณ์ส่วนตัวออกไปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับคดี แต่พอเข้าใจนางเอกเลยรู้ว่าตัวเองคิดผิด จะเปลี่ยนแปลงการทำงานใหม่ให้มีอารมณ์มาเกี้ยวข้องได้ซะงั้น ซึ่งตรกะแบบนี้ถือว่าเพี้ยนมากในแง่ของคนทำงานในกระบวนการยุติธรรม บทในเรื่องนี้เหมือนแค่จะเอาดราม่า แต่ไม่ได้อิงถึงหลักการจริงสักเท่าไหร่
ส่วนคดีสุดท้ายเป็นแก๊งข่มขืนรุมโทรมผู้หญิง นางเอกตามไปสืบคดีถึงรังหัวโจก ก่อนที่จะถูกมีดแทงคว้านแผลที่หัวไหล่ แต่นางเลือกไปที่ศาลให้หัวหน้าเห็น แล้วก็มีฉากเดินโซเซต่อไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่พอโผล่มาตอนเช้ากลับเป็นปกติเหมือนไม่ได้มีแผลเจ็บเจียนตายอะไรขนาดนั้น
นอกจากการลดระดับความแรงของคดีในเรื่อง อีกสิ่งที่เรื่องนี้มีปัญหาคือการวางคาแรกเตอร์ที่ไม่ค่อยสมเหตุผล อย่างแทจูเป็นถึงผู้พิพากษาสมทบตำแหน่งเดียวกับนางเอก แถมอายุงานด้านนี้ก็มากกว่า แต่บทกลับทำให้ดูเหมือนเป็นลูกน้องหรือผู้ช่วยใช้งานทั่วไป บทดูเป็นแบบนี้จนรัศมีความเป็นผู้พิพากษาไม่มีเลย แม้บทจะพยายามปูให้เขามีอดีตอันขมขื่นเลยกลายมาเป็นคนเห็นใจอาชญากรเด็ก แต่ภาพที่ออกมาเวลาอยู่กับนางเอกแทบจะกลายเป็นลูกน้องมากกว่า แล้วตัวหัวหน้าคังวอนจุงเองก็เหมือนผีบ้า สติแตกอยู่ตลอด เขวี้ยงของทำลายของทั้งในที่ทำงานที่บ้าน แต่บทกลับให้ลูกน้องรัก คือมันเป็นอะไรที่ไม่เมคเซนส์เลยว่าตำแหน่งคนทำงานระดับนี้ด้านนี้จะเป็นแบบนี้แล้วไม่โดนร้องเรียนออกไป แถมยังทำให้ลูกน้องรักใคร่กลายเป็นเหมือนสนับสนุนความรุนแรงในที่ทำงานจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ซึ่งการกดขี่อะไรแบบนี้ไม่ควรจะถูกนำเสนอออกมาเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันแล้ว แถมนี่ยังในที่ทำงานศาลที่ควรจะต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดีเป็นตัวอย่าง ซีรีส์กลับทำออกมาเหมือนเรื่องปกติไปแทน (ถึงจะมีส่วนจริงบ้างจากระบบโซตัสในที่ทำงานก็ตาม ก็ยังรู้สึกแปลกๆ อยู่ดี)
อีกส่วนที่ค่อนข้างผิดหวังมากคือการไต่สวนในแต่ละคดีไม่ได้ดุเดือดอย่างที่ภาพตัวอย่างนำเสนอเลย ตัวเรื่องทำออกมาแบบทื่อๆ ไม่มีการโต้กลับชิงไหวพริบอะไรจากทนายฝั่งเด็กเลย ทุกคดีกลายเป็นนางเอกถามตอบเปิดหลักฐานที่ไปสืบมาแบบจู่ๆ ก็มี จู่ๆ ก็ได้มา แล้วฝ่ายทนายเด็กก็จนมุมเอาดื้อๆ คือถ้าจะหาฉากการชิงไหวพริบในเรื่องนี้แทบไม่มี ขนาดซีรีส์วินเชนโซ่ที่ว่ามาแนวตลกๆ ก็ยังมีอะไรมากกว่า หรือซีรีส์ไฮยีน่าที่นางเอกเล่นเป็นทนายมาก่อนก็ยังทำได้ดีกว่า ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นอะไรที่เฟลมากถ้าคนหวังจะดูแนวว่าความเจ๋งๆ จากซีรีส์เกาหลีในเรื่องนี้คงสู้เรื่องที่เคยมีผ่านๆ มาแทบไม่ได้เลย แต่คนดูที่ไม่ได้คิดถึงจุดนี้ก็อาจจะสนุกกับการที่นางเอกมีหลักฐานใหม่เปิดมาแค่นั้นก็ได้
นอกจากนี้การที่เรื่องพยายามเปิดประเด็นการแก้กฎหมายอาชญากรเด็กไว้ซะดิบดี แต่พอเอาจริงๆ เรื่องก็ไม่ได้ไปไกลกว่าตรงนั้นเลย เป็นการหยิบจับมาเปิดประเด็นเฉยๆ แล้วจบไปแบบเงียบๆ ไม่พูดถึงอีกเลย กลายเป็นซีรีส์ที่เหมือนจะเล่นเรื่องใหญ่ แต่พอเล่าไปๆ กลับมีแต่น้ำ ไม่มีความแหลมคมของประเด็นร้อนของเรื่องเหลืออยู่เลยในตอนจบครับ
สรุป Juvenile Justice สนุกและดีไหม
สนุกจริงแค่ 2 ตอนแรก หลังจากนั้นความสนุกลดระดับลงเรื่อยๆ เป็นซีรีส์ที่มีความตั้งใจเล่นประเด็นร้อนของสังคมได้ดี แต่กลับทำออกมาเสียของมากๆ ไม่สมกับงานออริจินอลเน็ตฟลิกซ์เท่าไหร่ ถ้าเป็นแบบซีรีส์ฉายละครทีวีเกาหลีทั่วไปก็คงรู้สึกเหมาะสมกว่านี้