รีวิว Cobalt Blue (Netflix) รักต้องห้ามของเกย์อินเดีย ในยุคที่เกย์คือความผิดทางอาญา
Cobalt Blue
สรุป
หนังเกย์จากอินเดียที่แตกต่างจากทั่วไปด้วยสภาพสังคมเคร่งจารีตประเพณีมาก รวมถึงการมีกฎหมายอาญาเอาผิดกับการเป็นเกย์ในยุคก่อนของอินเดีย ตัวหนังจึงเหมือนการเล่าเรื่องชีวิตการเป็นเกย์ในอินเดียที่แตกต่างออกไปพอสมควร แต่ฉากร่วมรักของเรื่องนี้จะไม่มีเปลือยกายอะไรมาก แต่เน้นไปทางศิลปะสื่อความหมายกับอารมณ์ขณะร่วมรักมากกว่า อาจจะไม่ตอบโจทย์สายเกย์ที่มาดูอะไรแบบนี้โดยตรงนัก แต่ก็เป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเกย์ในอินเดียได้ค่อนข้างลึกซึ้งมาให้ชม
Overall
6.5/10User Review
( votes)Pros
- ถ่ายทอดชีวิตเกย์ในยุคที่อินเดียยังมีกฎหมายอาญาจำคุก
- ภาพในเรื่องสวยแบบงานศิลป์หลายฉาก
- ลูกสาวที่ถูกครอบครัวชายเป็นใหญ่ขีดเส้นกำกับชีวิตไว้
- นักแสดงเล่นเป็นเกย์ได้สมจริง
- บทพูดแฝงความหมายไว้เยอะ
Cons
- เนื้อเรื่องไม่ได้มีจุดพีคแรงๆ จนดูเบาไปมากเมื่อเทียบกับหนังเกย์ตามปกติ
- ปมความรักของน้องสาวมีให้เห็นน้อยจนเหมือนแค่ส่วนประกอบเรื่อง
Cobalt Blue ปราถนาสีน้ำเงิน หนังเกย์อินเดีย Netflix เรื่องราวของ หนุ่มนักฝันอยากเป็นนักเขียนกับน้องสาวที่ฝันอยากเป็นนักกีฬาคริกเก็ต ทั้งคู่เกิดตกหลุมรักหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่มาเช่าบ้านพวกเขาอยู่ แต่อุปสรรคคือทั้งคู่เกิดและเติบโตมาครอบครัวที่เคร่งครีดจารีตประเพณีที่ไม่มีวันยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ อีกทั้งในอินเดียยุคนั้นการเป็นเกย์มีโทษทางกฎหมายเอาผิดทางอาญาติดคุกอยู่อีกด้วย
ตัวอย่าง Cobalt Blue ปราถนาสีน้ำเงิน
หนังเกย์ของอินเดียเรื่องนี้เป็นหนังบอลลีวู๊ดที่ลงโรงฉายในอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ก่อนจะมาลงใน Netflix สร้างจากนิยายของ ซาชิน คุนดัลการ์ ที่เป็นผู้กำกับเรื่องนี้เองด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับกับนักเขียนบทหนังอยู่แล้ว ไม่ใช่มือใหม่มาทำแต่อย่างใด ตัวหนังเมื่อว่าด้วยเรื่องเกย์โดยปกติในโลกทั่วไปตอนนี้โดยเฉพาะไทยน่าจะเป็นอะไรที่คุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่สำหรับหนังเกย์ในอินเดียยังถือว่าแทบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก เอาแค่ตัวละครที่เป็น LGBTQ หลักๆ ก็ยังหายาก เนื่องจากอินเดียเองเป็นประเทศที่ยังเคร่งเรื่องจารีตประเพณีดั้งเดิมอยู่ และก่อนหน้านี้ก็มีกฎหมาย Section 377 ซึ่งว่าด้วยการเป็นคนรักเพศเดียวกันผิดกฎหมาย อยู่ในข้อห้ามเดียวกับการร่วมเพศกับสัตว์ว่ามีความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ซึ่งกฎหมายนี้พึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2018 แต่ความที่เป็นประเทศเคร่งมาก่อนการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามโลกด้านนี้ของคนในสังคมก็ไม่ใช่ว่าจะยังยอมรับกันได้ง่ายๆ แบบบ้านเรา กฎหมายทหารในอินเดียก็ยังคงมีโทษจำคุกอยู่ด้วย แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นอะไรที่ยากจะยอมรับได้ในอินเดียจริงๆ
ตัวหนังเรื่องนี้จึงสร้างย้อนยุคกลับไปยังปี 1996 ยุคที่การเป็นเกย์ยังมีความผิดทางอาญาอยู่ ซึ่งช่วยบีบให้เรื่องราวน่าอึดอัดกว่าหนังเกย์โดยทั่วไป ที่ยุคนี้อาจจะแค่แอบๆ แล้วก็รักกันได้เลยมีปัญหาแค่พ่อแม่ไม่ยอมรับ แต่ในเรื่องนี้คือตัวเอกต้องซ่อนความเป็นเกย์ไว้ตลอดไปเพราะบทลงโทษทางกฎหมายมากกว่าเรื่องอื่น การเป็นเกย์ในอินเดียคืออาชญากรประเภทหนึ่ง นี่คือสิ่งหนังเรื่องนี้พยายามถ่ายทอดบอกเล่าความแตกต่างจากหนังเกย์เรื่องอื่นๆ
แต่ถึงกระนั้นในเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีเนื้อหาเข้าไปเกี่ยวข้องกับบทลงโทษทางกฎหมาย มีแค่ความกลัวของตัวละครในเรื่องที่สื่อออกมาเท่านั้น อาจจะเพราะเนื้อหาหลักจริงๆ ไม่ได้ต้องการไปเน้นให้เกิดความกลัวในจุดนั้น แต่เป็นเรื่องราวของตัวละครเกย์ที่พยายามโหยหาความรักภายใต้กฎหมายที่บีบให้พวกเขาต้องปกปิดตัวเองมากกว่า ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่คู่เกย์ของ “ฐานัย” ตัวเอกเกย์กับหนุ่มที่มาเช่าบ้านเท่านั้น แต่ยังมีอาจารย์ของเขาที่เฝ้าแอบรักฐานัยอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องราวจะถ่ายทอดอารมร์ความรักความผิดหวังของตัวละครเกย์ในเรื่อง ซึ่งทั้งฐานัยกับอาจารย์ต่างโหยหาความรักที่แท้จริง ต่างกับตัวหนุ่มผู้เช่าบ้านที่เป็นไบเซ็กชวล ที่สามารถมีอะไรกับผู้หญิงได้ ตรงจุดนี้เองคือส่วนสำคัญที่เรื่องขมวดปมไว้ว่าฐานัยเองมีรักครั้งแรกแบบเกย์ แต่ก็ไม่อาจจะเข้าใจความเป็นไบเซ็กชวลของคนที่เขารักได้ จนกลายเป็นความบอบช้ำทางจิตใจที่กลายมาเป็นบทเรียนให้เขาเติบโตขึ้นแบบ Coming of Age ผ่านความรักแบบเกย์ครั้งแรกในชีวิต
ตัวผู้หญิงที่มาเป็นมือที่สามในความรักนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น “อนุชา” น้องสาวของฐานัยเอง ซึ่งตัวเรื่องพยายามสอดแทรกปัญหาการตีกรอบลูกสาวในยุคนั้นของคนอินเดียด้วย โดยเธอเองนั้นทำตัวเหมือนทอมบอย ตัดผมสั้นไม่ยอมไว้ผมยาว เล่นกีฬาคริกเกต มีความฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ ไม่ได้อยากโตมาแบบโดนจับแต่งงานเหมือนลูกสาวอินเดียทั่วไป ซึ่งพ่อเองก็พยายามบีบคั้นเข้มงวดกับเธอ แม้กระทั่งขนจักแร้ก็ยังไม่ให้ไว้ (ต้องเนียนสวยแบบผู้หญิงอินเดียทั่วไป) ทำให้ตัวละครนี้ก็เหมือนติดคุกข้อจำกัดทางสังคมแบบเดียวกับการเป็นเกย์เช่นเดียวกัน แต่เรื่องราวของอนุชาจะเป็นพล็อตรองที่มาทำให้ตัวเนื้อเรื่องหลักความรักของพี่ชายเธอดูซับซ้อนมากขึ้น หนังจึงไม่ได้เน้นเล่าความรักของเธอกับหนุ่มที่มาเช่าบ้านมากนัก แล้วหันไปจับประเด็นเรื่องการท้าทายความฝันการเป็นนักกีฬาของเธอกับครอบครัวมากกว่า โดยมีประเด็นรักสามเส้าปนอยู่จางๆ เท่านั้น ซึ่งเอาจริงๆ อนุชาเองก็พอจะรู้อยู่แล้วว่าพี่ชายของเธอเป็นเกย์ แต่เพียงแค่พวกเขาทั้งคู่มีจุดร่วมเรื่องปัญหาการไม่ถูกยอมรับได้จึงทำให้อนุชาเลือกเก็บซ่อนเรื่องนี้ไว้มาตลอด แต่ครอบครัวพ่อแม่กลับไม่รู้ระแคะระคายเลยว่ามีลูกชายเป็นเกย์
สำหรับใครที่มาดูแค่ฉากร่วมรักในเรื่องนี้ก็อาจจะผิดหวังนิดๆ เพราะตัวหนังยังไม่ถึงขั้นเห็นอะไรมากมาย แค่ก้นเปลือยๆ ก็ยังไม่มีให้เห็น มีแค่ท่าทางร่วมรักกันเท่านั้น แต่หนังเน้นไปที่ฉากการร่วมรักแนวเชิงศิลป์สวยงามมากกว่า ซึ่งตัวผู้เช่าบ้านก้ทำอาชีพเป็นศิลปินวาดภาพด้วย ชื่อเรื่องนี้ก็คือสีแบบหนึ่งในงานด้านนี้ ทำให้ฉากร่วมรักบางครั้งจะแทนด้วยสิ่งของบางอย่างทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าถึงจุดสุดยอดได้โดยไม่ต้องมีฉากโฟกัสไปที่ใบหน้าตัวละครตามปกติ อย่างการบีบส้มด้วยกันจนแตกอะไรแบบนี้ ซึ่งถ้ามองในเชิงศิลป์ก็ถือว่าเรื่องนี้ทำฉากร่วมรักพวกนี้ออกมาสวย ไม่น่าเกลียด เป็นจุดขายด้านงานภาพมากกว่าตัวละครเปลือยกายเห็นก้นเอากันแบบเรื่องอื่นๆ
ตัวหนังอาจจะจบลงในแบบเจ็บปวดตามแนวหนังเกย์ แต่ก็ไม่ใช่การจบลงแบบเศร้าสะเทือนใจมาก เป็นการเรียนรู้เติบโตของตัวละครทุกคนมากกว่า ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ของฐานัยก็ด้วย ซึ่งมีบทพูดถึงความยากลำบากในการตามหาเกย์ด้วยกันให้เจอ แล้วยังต้องคาดหวังความรักที่เป็นไปได้ยากในสังคมยุคนั้น ซึ่งตัวละครในเรื่องก็เฝ้าหวังว่าจะมียุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเปิดเผยความเป็นเกย์ของพวกเขาให้ได้พบเจอกัน ในตอนนี้เราก็คงรู้แล้วว่ายุคนั้นมีจริงๆ ผ่านพวกแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เหมือนได้ถ่ายทอดความฝันของเกย์ยุคนั้นถึงอนาคตไปพร้อมกันด้วย
สรุป Cobalt Blue สนุกและดีไหม
ด้วยความเป็นหนังเกย์อยู่แล้วก็คือหนังเฉพาะกลุ่ม สำหรับคนดูทั่วไปก็คงยากที่จะอินหรือสนุก แต่ก็เป็นหนังที่สร้างมาดีในแนวทางหนังเกย์อีกแบบที่แตกต่างจากโดยทั่วไป ถ้าใครเป็นคนดูหนังเกย์อยู่แล้วก็แนะนำเลยครับ