playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Fly Me to the Moon (apple TV+) เล่นสนุกกับทฤษฎีสมคบคิดได้ดี แต่เคมีนักแสดงไม่ได้

Fly Me to the Moon

Summary

หนังที่หยิบเอาทฤษฎีสมคบคิดอพอลโล 11 ไม่ได้ไปดวงจันทร์จริงมาเล่นสนุก โดยเอา สการ์เลตต์ โจแฮนส์สันมาเล่นเป็นนักการตลาดสร้างภาพให้นาซ่า โดยมีแชนนิง เททัม เป็น ผอ.ที่คอยขัดแย้งกับเธอ หนังดูสนุกกับมุกล้อเลียนเสียดประวัติศาสตร์นาซ่าในช่วงเวลานั้น แต่สอบตกฉากในฉากโรแมนติกที่ดูฝืนๆ เคมีของทั้งคู่ก็ไม่ได้เข้ากันได้ดีพอ แต่ถ้าเป็นแฟนติดตามผลงานทั้งคู่ก็น่าจะไม่ได้มีปัญหาอะไรนักครับ

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • ล้อเลียนทฤษฎีสมคบคิดอพอลโล 11 ไม่ได้ไปดวงจันทร์จริง
  • สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน กับ แชนนิง เททัม
  • มุกตลกเสียดสีประวัติศาสตร์นาซ่า

Cons

  • ฉากโรแมนติคทำได้ไม่ถึง
  • เคมีตัวละครไม่เข้ากันดีพอ
  • ตัวร้ายมีบทน้อย

ADBRO

 Fly Me to the Moon ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ ของ apple TV+ เมื่อนาซ่าต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่หลังตกต่ำไปจนแพ้โซเวียตในยุคบุกเบิกอวกาศ ทำเนียบขาวจึงจ้างนักการตลาดสาวสุดเก่งมาช่วยด้วยไอเดียบรรเจิดจนถึงขั้นวางแผนถ่ายทอดสดการลงจอดอพอลโล 11 ในสตูดิโอ ที่เป็นทฤษฎีสมคบคิดมาจนถึงปัจจุบัน  
Fly Me to the Moon (2024) on IMDb

 

รีวิว Fly Me to the Moon

ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ที่มาจากทฤษฎีสมคบคิดเรื่องข้อกล่าวหาว่าอเมริกากำลังหลอกชาวโลกว่าไปดวงจันทร์เพื่อชนะในการแข่งขันด้านอวกาศในยุคนั้นกับโซเวียต ซึ่งเอาแค่ที่มาของข้อกล่าวหานี้ก็มีความผิดเพี้ยนไปมากมายว่ามาจากโซเวียต ทั้งๆ ที่มาจากคนอเมริกาเองที่ไม่ไว้รัฐบาลคิดจับผิดกันเองจนมาถึงปัจจุบันก็ยังมีคนเชื่อเรื่องนี้ไม่น้อย แต่นั่นก็คือที่มาของเรื่องราวในภาพยนตร์นี้ที่ได้นักแสดงดังอย่าง สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน กับ แชนนิง เททัม มาคู่กัน แต่สิ่งที่ได้กลับมามันก็ไม่ค่อยแมตซ์กันสักเท่าไหร่นัก  

เคลลี่ โจนส์ นักการตลาดสาวสุดเก่งถูกจ้างมาเพื่อทำการตลาดสร้างภาพให้นาซ่า โดยมีโคล เดวิส ผู้อำนวยการนาซ่าสุดหล่อไม่เห็นด้วยกับการที่นาซ่าต้องมีโฆษณาหลอกๆ มาแทนที่วิทยาศาสตร์ของจริง หนังดึงเอาปัญหาในยุคสมัยการแข่งขันด้านอวกาศอเมริกากับโซเวียตกลับมาให้เห็นว่า ตอนนั้นมีสงครามเวียดนามอยู่ และยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับอพอลโล 1 แถมโซเวียตยังส่งมนุษย์ขึ้นอวกาศและกลับลงมาได้สำเร็จก่อนอเมริกาอีก นั่นคือความพ่ายแพ้ที่รัฐบาลนิกสันยอมรับไม่ได้ จึงเป็นที่มาของนักการตลาดต้องทำยังไงก็ได้ให้นาซ่ากลับมาเป็นกระแสในใจผู้คน ซึ่งหมายถึงงบประมาณที่ต้องผ่านนักการเมืองในสภาโหวตให้ด้วย หนังจึงเล่นสนุกกับไอเดียนี้โดยเชื่อมประวัติศาสตร์จริงยุคนั้นเข้ากับการตลาดสร้างภาพหลายอย่างตั้งแต่หัวจรดเท้าของนักบินอวกาศ อย่างที่ทุกคนน่าจะจำกันได้มากสุดคือ นาฬิกาโอเมก้าที่ใส่ไปอวกาศได้ ซึ่งในเรื่องเปิดเผยเบื้องหลังไอเดียการตลาดเหล่านี้ออกมาแบบเป็นมุกฮาๆ ว่านาซ่าแค่ต้องการหางบสร้างกระแสเผยแพร่ให้แมสไปยังผู้คนเท่านั้น

ในชั่วโมงแรกคือการเล่นสนุกกับไอเดียการตลาดพวกนี้ก่อนที่ครึ่งหลังจะเป็นโครงการถ่ายทอดสดอพอลโล 11 หลอกผู้คน โดยที่ทำเนียบขาวก็ไม่เปิดเผยให้ทางนาซ่าเองได้รู้เพราะเป็นเวอร์ชั่น 2 เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นหากกล้องที่เอาไปทำงานไม่ได้ ซึ่งหนังก็สร้างปมปัญหาตรงนี้ให้เกิดขึ้นกับตัว เคลลี่ โจนส์ เอง เมื่อเธอไม่ได้อยากหลอกลวงผู้คนด้วยเหตุผลเบื้องลึกถึงปมชีวิตเธอที่ซ่อนอยู่ ซึ่งมันขัดแย้งกับโคลตลอดเพราะเขาเป็นผู้อำนวยโครงการที่จริงจังมุ่งมั่นจะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้จริงๆ ซึ่งมันค้านกับงานที่เคลลี่ทำอยู่ทุกอย่าง แต่ที่ผ่านมาคือการยอมทนเพื่อให้ได้งบมาเท่านั้น ซึ่งนี่คือปมขัดแย้งที่เรื่องราวก็หยิบมาเล่นเป็นสีสันจนหาทางให้ทั้งคู่คลิ๊กลงตัวกันได้ในที่สุด โดยมีปมสุดท้ายเฉลยว่าการถ่ายทอดสดไปดวงจันทร์นี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ด้วย

 

หนังดำเนินเรื่องราวของทั้งคู่ด้วยมุกตลกมากกว่าจะเป็นแนวโรแมนติก ซึ่งมุกต่างๆ ที่หนังนำมาใช้ก็พอขำเพลินๆ ได้ อย่างแมวดำที่คอยป่วนในนาซ่า แล้วก็กลายมาเป็นอุปสรรคใหญ่ในตอนท้ายเรื่อง การหาทางอวยนักการเมืองแต่ละคนโดยหาความชอบส่วนตัวที่เคลลี่ไปเสาะแสวงหามาได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่โคลทำไม่ได้เลยเพราะเขาไม่ถนัดกับการสร้างภาพ อีกทั้งยังต้องแบกรับความผิดพลาดจากอพอลโล 1 ที่ทำนักบินตายไป 3 คน ซึ่งหนังก็เอาปมพวกนี้มาผูกกันให้เป็นบุคลิกที่ขัดแย้งของทั้งคู่ คนนึงสร้างภาพอีกคนจริงจัง ซึ่งมันก็ดูสนุกเพลินๆ โดยเฉพาะแฟนๆ ของนักแสดงทั้งคู่ด้วย ยิ่งเป็นแฟนติดตามนาซ่ามาก่อนก็น่าจะสนุกกับมุกต่างๆ ที่หนังหยิบเอามาล้อลียนเสียดสีกันไม่น้อย แต่ถ้าในส่วนโรแมนติกหนังแทบสอบตกเพราะเบาบางมาก ไม่ได้มีฉากสวีทหวานกันมาก แม้แต่ฉากขับเครื่องบินเหมือนไปเดทด้วยกันก็เฉยๆ แม้แต่ตอนท้ายที่เริ่มคลิ๊กกันก็ยังดูเร่งรีบฝืนๆ ไปตามบทเท่านั้น อีกทั้งเคมีของทั้งคู่ก็ไม่เข้ากันดีเท่าไหร่ด้วยครับ (ส่วนตัวคือชอบสการ์เลตต์ โจแฮนส์สันมากกว่า แชนนิง เททัม เยอะ) 

หนังยังพยายามใส่ตัวร้ายเข้าไปก็คือ โม ลูกน้องสายตรงของประธานาดีนิกสัน ที่ได้วู๊ดดี้ ฮาเรลสันมาเล่น โดยเป็นบทที่สะท้อนให้เห็นภาพของนักการเมืองที่ต้องการแค่ภาพดีๆ ไปขายหลอกประชาชน แล้วก็ใช้อำนาจที่มีมากกว่าบีบคนทำงานด้านล่างให้ได้มา แม้จะบิดเบือนยังไงก็ไม่สน ซึ่งเขาคือคนที่คอยบงการให้เคลลี่ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่สนใจโคลเลยแม้แต่น้อย แต่หนังก็ใส่บทของเขาเพื่อให้ดูเป็นตัวร้ายติดปลายนวมเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทจนถึงขั้นแตกหักกับตัวเอกได้จริง 

 

สรุป หนังที่หยิบเอาทฤษฎีสมคบคิดอพอลโล 11 ไม่ได้ไปดวงจันทร์จริงมาเล่นสนุก โดยเอา สการ์เลตต์ โจแฮนส์สันมาเล่นเป็นนักการตลาดสร้างภาพให้นาซ่า โดยมีแชนนิง เททัม เป็น ผอ.ที่คอยขัดแย้งกับเธอ หนังดูสนุกกับมุกล้อเลียนเสียดประวัติศาสตร์นาซ่าในช่วงเวลานั้น แต่สอบตกฉากในฉากโรแมนติกที่ดูฝืนๆ เคมีของทั้งคู่ก็ไม่ได้เข้ากันได้ดีพอ แต่ถ้าเป็นแฟนติดตามผลงานทั้งคู่ก็น่าจะไม่ได้มีปัญหาอะไรนักครับ

 


รวมรีวิว apple TV+ คลิกที่นี่

รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ