playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Black Mirror ซีซั่น 5 อินเรียล อินเกม แต่นี่มันไม่ใช่แค่เกม!

  • Striking Vipers - 7/10
    7/10
  • Smithereens - 8/10
    8/10
  • Rachel, Jack and Ashley - 5/10
    5/10

สรุป

หนังดีบางตอน คุณภาพเริ่มแกว่ง แต่รวมๆ แล้วก็ยังถือว่าน่าสนใจเปิดดูได้ไม่เสียดายเวลา

Overall
6.7/10
6.7/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • ยังมีปมให้น่าสนใจติดตาม
  • ลงทุนเอาดาราดังหนังใหญ่มาเล่น

Cons

  • ประเด็นเริ่มไม่สดใหม่เหมือนซีซั่นแรกๆ
  • ใช้รูปแบบจำลองเทคโนโลยีเดิมๆ ซ้ำๆ จากซีซั่นก่อนๆ
  • หนังติดเรตไม่เหมาะกับให้เด็กดู

Black Mirror ซีซั่น 5 รีวิว การกลับมาของซีรีส์ชื่อดังของ Netflix (กดรับชมได้ที่นี่) แบล็คมิเรอร์ซีรีส์ที่ทำให้ให้เห็นแง่ลบภัยร้ายของเทคโนโลยี (แง่ดีก็มีในบางครั้ง) หลังจากมีภาคพิเศษคั่นเวลาที่เป็นหนังแบบอินเตอร์แอคทีฟเลือกได้อย่าง Black Mirror: Bandersnatch ซึ่งไม่ถูกนับรวมในซีซั่น คราวนี้มีมาให้รับชมน้อยกว่าซีซั่นอื่นๆ โดยมีเพียงแค่ 3 ตอนเท่านั้น ซึ่งยังแยกขาดจากกันไม่มีความเกี่ยวข้องกันเหมือนเดิม เลือกรับชมตอนไหนก่อนก็ได้ทั้งนั้นครับ

เทรลเลอร์ Black Mirror ซีซั่น 5 

*ในรีวิวนี้จะมีสปอยล์ส่วนทั่วไป แต่ไม่ได้สปอยล์จุดหักมุมของเรื่องแต่อย่างใด

Black Mirror ซีซั่น 5 ตอน Striking Vipers

Striking Vipers
ฉากในเกม Striking Vipers

ตอนแรกของซีซั่นนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนเล่นเกมโดยตรง เรื่องเริ่มจากในอดีต เพื่อนซี้ผิวสี 2 คนเล่นเกมต่อสู้ชื่อ Striking Vipers มากันตั้งแต่วัยรุ่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน โดยแดนนี่ (Danny ดาราที่เล่นบทฟาลคอนจาก Avengers) จะชอบเล่นตัวละครชายที่ชื่อไอ้หนุ่มกังฟู แลนซ์ ส่วนคาร์ล (Karl ล่าสุดรับบท Black Manta จากหนัง Aquaman) ชอบเล่นตัวละครสาวเซ็กซี่ ร็อกเซตต์ (Roxette) เวลาผ่านไปจนถึงวัยกลางคนแดนนี่มีครอบครัวเป็นฝั่งฝา ในงานวันเกิดอายุ 38 ปี คาร์ลเพื่อนซี้ที่หายหน้าหายตาไปก็เอาภาคใหม่ Striking Vipers X มาให้เล่น ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่แค่ภาพในจอทีวีธรรมดา แต่เป็นเกมแบบเชื่อมต่อสมองเข้าไปในโลกของเกมโดยตรง ตัวผู้เล่นกลายเป็นตัวละครนั้นจริงๆ บังคับเคลื่อนไหวได้อิสระทุกอย่าง แถมมีความรู้สึกทุกอย่างได้เหมือนคนจริงๆ ทำให้ทุกคำ่คืนการเล่นเกมออนไลน์ของทั้งคู่ ไปไกลกว่าแค่เพื่อนเล่นเกมอีกต่อไป….

นี่เป็นตอนที่เปิดมาเกี่ยวข้องกับเกมตรงๆ เรื่องราวเนื้อหาน่าสนใจ หมิ่นเหม่กับศีลธรรมตามสูตรของซีรีส์นี้ และน่าจะเป็นตอนที่ติดเรตสูงสุดของซีซั่นนี้แล้ว หนังไม่ได้โฟกัสไปที่เทคโนโลยีความสมจริงของเกม แถมดูไม่ลงทุนด้วยการใช้กระดุมแปะหัวแบบตอนก่อนๆ ที่เกี่ยวกับสมอง เพื่อเข้าไปในโลกเกม (ใครเคยดูมาก่อนคงเห็นบ่อย) แต่ในเกมก็ทำออกมาได้ดี ดูสนุกกับการที่เห็นจินตนาการเกมสุดล้ำ ตัวละครแบบสมจริงต่อสู้กันจริงๆ แต่หนังเดินเรื่องเกมเพลย์ของ Striking Vipers X ได้นิดเดียว ก็หันมาโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ในเกมของทั้งคู่แทน หนังฉายให้เห็นความสัมพันธ์เร่าร้อนอย่างโจ่งแจ้งไม่มีเซ็นเซอร์ ทั้งคู่อัดกระแทกกันในเกมแต่ละฉาก หลากหลายโลเกชั่น (ที่คุ้นตาคอเกมไฟต์ติ้งเหมือนเป็นการล้อเลียนไปในตัว) กันอย่างเด็ดสะเด่าทุกคืนๆ จนแทบทำให้ตอนนี้กลายเป็นหนัง X เลยก็ว่าได้ หรือว่านี่คือความหมายแฝงของ Striking Vipers X ที่ไม่ได้หมายถึงภาค 10 ด้วยล่ะมั้ง? ซึ่งตัวเอกทั้งคู่เสพติดการมี SEX ออนไลน์ในเกมที่สมจริงยิ่งกว่าของจริง แม้ทั้งคู่จะเป็นผู้ชาย? นี่เป็นการนอกใจแต่ไม่นอกกายอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นทำให้เกิดการตั้งคำถามหลายอย่างตามมาว่า การกระทำของทั้งคู่ผิดกับโลกจริงหรอไม่อย่างไร ในแง่มุมไหนบ้าง?

ในหนังเล่นประเด็นชายรักชาย แถมนอกใจภรรยาในเกมว่าผิดไหม ในทางศีลธรรมการประพฤติตัวเป็นพ่อบ้านที่ดี มีภรรยาเป็นผู้หญิงจริงๆ ก็อาจจะดูผิด แต่นี่เป็นแค่ในเกม ไม่ใช่ของจริง และที่ทั้งคู่มี SEX กันก็ไม่ใช่ตัวตนร่างกายจริงๆ (ดาราที่มาเล่นทั้งคู่ก็เหมาะเจาะสมบทบาทสุดๆ มาก) แต่นี่ก็เป็นแค่ตัวละครในเกมที่สวยหล่อในจินตนาการเท่านั้น แล้วความผิดคืออะไร? หนังตั้งคำถามขึ้นมาแล้วทำให้เห็นว่าตัวละครแดนนี่มีความรู้สึกผิดต่อภรรยา เพราะติดใจ SEX ในเกมมากกว่าของจริง แต่ไม่สามารถบอกเรื่องนี้ออกไปให้ใครรับรู้ได้ จึงทำได้แค่พยายามหักห้ามใจไม่ให้มาเล่นเกมนี้ต่อ ส่วนคาร์ลติดใจในรสชาติ SEX ในเกมจากเพื่อนสนิทของเขา แม้รู้สึกผิดอยู่บ้าง แต่ความต้องการก็มากล้นเกินห้ามใจไหว ทำให้เขากลายเป็นฝ่ายรุกไล่เพื่อนซี้อย่างหนักเพื่อสนองความต้องการที่เขาเชื่อว่าเพื่อนรักก็สุขสมมากที่สุดในชีวิตเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายหนังมีบทสรุปของเรื่องนี้ที่ถือว่าแหวกแนวนิดๆ แต่ก็ไม่เกินคาด

สำหรับตอนนี้ถ้าคิดว่าจะดูเพื่อมองเทคโนโลยีในแง่ลบหรือใหม่ล้ำยุคมากคงไม่ใช่ และออกจะน่าเบื่อเพราะหนังเน้นเรื่อง SEX เต็มๆ จนดูเหมือนจะมากเกินไป มากเกินกว่าประเด็นทางเทคโนโลยีในเรื่องอีกด้วย แต่ถ้าดูเพื่อขบคิดถึงปัญหาเชิงศีลธรรมในจิตใจ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของตอนนี้ก็จะเป็นอะไรที่สนุกพอตัว ซึ่งสิ่งที่หนังจำลองไว้ ก็มีเป็นเรื่องราวขึ้นมาบ้างแล้วกับการเล่นเกมออนไลน์ แล้วพบรักกัน หลงไหลตัวละครในเกม แม้ว่าอีกฝ่ายอาจจะเป็นเพศเดียวกัน แต่ในเกมก็เป็นจินตนาการที่ใครจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศสภาพที่แท้จริง แน่นอนว่าเรายังไม่ถึงยุคที่มีเกมเสมือนจริงแบบในหนัง แต่สักวันถ้าเกมใกล้ไปถึงจุดนั้น เรื่องอย่างในหนังตอนนี้คงไม่ใช่อะไรที่เป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ และน่าจะเป็นปัญหาลึกซึ้งแบบที่หนังนำเสนอมาให้ดูด้วยเช่นกัน

Black Mirror ซีซั่น 5 ตอน Smithereens

สมิเธอรีน (Smithereens) คือชื่อของโซเชียลเน็ตเวิร์คสมมุติในตอนนี้ ว่าง่ายๆ ก็คือเฟซบุ๊คเลยนี่แหละครับ หนังจำลองให้เห็นเหตุการณ์ปัญหาสังคมที่เป็นไปได้จริงแน่นอน จากการที่โซเชียลเริ่มทำร้ายผู้คนในแบบต่างๆ อย่างไม่คาดคิด ทั้งการหึงหวง นอกใจ เสพติด ละเลยความสัมพันธ์จริง กลายเป็นสังคมก้มหน้ามองจออย่างเดียวแบบที่เราพบเห็นกันในทุกวันนี้

ในตอนนี้เริ่มด้วยการที่ตัวเอก “คริส” เป็นคนขับแท็กซี่ที่มาจอดรอหน้าตึกสำนักงาน “สมิเธอรีน” วันแล้ววันเล่า โดยเขามีจุดประสงค์ที่ต้องการลักพาตัวพนักงานของสมิเธอรีน เพื่อเรียกร้องบางสิ่งแก่เจ้าของสมิเธอรีน ที่ชื่อ “บิลลี่ บาวเออร์” ซึ่งการจับตัวประกันในครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่โต และมีเบื้องหลังแสนรันทดที่กระทบกระเทือนใจแก่ทุกคนบนโลกมาก (Smithereens แปลว่า เศษเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นการเล่นคำถึงสิ่งที่ตัวเอกคริสประสบพบเจอมาด้วย)

Smithereens
สมิเธอรีน (Smithereens)

นี่เป็นตอนที่น่าจะตรงแก่นแท้ของแบล็คมิเรอร์และน่าสนใจที่สุดของซีซั่นนี้แล้ว เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าทุกวันนี้โซเชียลได้สร้างปัญหาให้กับสังคมมากมาย หนังเผยให้เห็นความน่ากลัวของโซเชียลที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวได้ยิ่งกว่าตาเห็น หนังทำให้เห็นว่าถ้านายทุนผู้สร้างใช้ข้อมูลเบื้องหลังไปในทางที่ผิด โซเชียลนี่คือระบบสอดแนมชั้นเลิศที่ออกแบบมาให้ทุกคนติดตั้งใช้กับตัวเอง แม้รู้ทั้งรู้ว่าถูกสอดแนม แต่เราก็ไม่ยอมเลิกใช้ แถมยังเสพติดอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งคริสก็คือคนที่รู้ซึ้งถึงภัยร้ายอันนี้ด้วยตัวเอง และพยายามส่งสารนี้ไปยังผู้สร้าง (บิลลี่)

แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้เห็นว่าผู้สร้างเป็นปีศาจร้ายซะทีเดียว บิลลี่กลับเป็นคนเดียวในบริษัทที่เข้าใจคริส และตัวเขาเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่เขาสร้างมาไกลกว่าจุดประสงค์ต้องการตอนแรกที่หวังเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน ซึ่งประเด็นในตอนนี้อ้างอิงกับสิ่งที่มาร์คซัคเกอเบิร์กเคยพูดให้สาธาณะชนฟังทั้งสิ้น หนังใช้เฟซบุ๊คเป็นแกนสมมุติเรื่องราวๆ ต่างๆ แต่สร้างภาพให้บิลลี่ตรงข้ามมาร์คอย่างสิ้นเชิง เหมือนเป็นการตบหน้ามาร์คที่มักพูดกับทำตรงข้ามกันเสมอ หนังตั้งใจจิกกัดเฟซบุ๊คหลายๆ อย่างได้อย่างเจ็บแสบ แถมมันเป็นเรื่องจริงทั้งนั้นด้วยนี่สิ

 

สิ่งที่แบล็คมิเรอร์ตอนสมิเธอรีนนำเสนอนี้ เชื่อว่าไม่ได้ไกลเกินจริงเลย และเราทุกคนยังรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มาตลอดด้วยซ้ำ ซึ่งตอนจบของเรื่องยิ่งช่วยย้ำสิ่งนี้เข้าไปอีกว่า ผู้คนจำนวนมากเห็นข่าวต่างๆ ในโซเชียลเป็นแค่เรื่องราวที่ผ่านมา แล้วก็ปัดตกไปแบบนอติฟิเคชั่นเล็กๆ อันนึงเท่านั้น แม้ว่าข่าวนั้นจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ และทุกคนอาจจะกำลังประสบอยู่ แต่โซเชียลทำให้เราชินชากับข้อมูลมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามา และมองสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ 1 เรื่องราวในจอมือถือ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องสำนึกว่าสำคัญจริงๆ จนกว่าเราจะสูญเสียมันไปด้วยตนเอง…


Rachel, Jack and Ashley Too

Black Mirror 5: Rachel, Jack and Ashley Too
Black Mirror 5: Rachel, Jack and Ashley Too

Rachel, Jack และ Ashley Too คือชื่อของ 3 ตัวละครหลัก ที่ต้องมาเกี่ยวกันพันกันในเรื่องราวจำลองการเป็น “ติ่ง” นักร้องวัยรุ่นที่ดังๆ อย่างที่สมัยนี้เป็นกัน ซึ่งวัยรุ่นอย่าง Rachel นั้นหลงไหลคลั่งไคล้นักร้องวัยรุ่นที่ชื่อ Ashley ที่เติบโตมาจากการอัดคลิปลงโซเชียลจนดัง ซึ่งต้นสังกัดของเธอนอกจากขายเพลงขายท่าเต้นแล้ว ยังจับสมองของเธอมาใส่ในหุ่นยนต์ตัวเล็กนามว่า Ashley Too ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้แฟนๆ ได้ซื้อไปติดบ้าน โดยโฆษณาว่า Ashley Too คิดเหมือนและพูดเหมือนตัวจริงทุกประการด้วย AI. ที่ใส่มา ซึ่งนั่นก็ทำให้ Rachel เสพติดเข้าไปอีก จะทำอะไรก็ต้องให้ Ashley Too บอก ซึ่งนั่นทำให้ Jack พี่สาวของเธอทนไม่ไหวที่เห็นน้องกลายเป็นแบบนี้ไป

หนังมีประเด็นหลักที่ดี สะท้อนเรื่องของการหลงไหลไอดอลต่างๆ ที่เกิดขึ้นมามากมายในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาพร้อมกับคำพูดสวยหรู ปลุกใจเชิงบวก เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่างที่ดีกับเยาวชน แต่นั่นคือสิ่งที่เป็นตัวตนจริงๆ ของไอดอลเหล่านี้หรือเปล่า? หรือแค่ภาพมายาที่สร้างขึ้นมา โดยมีเบื้องหลังเป็นนายทุนชักใยให้ไอดอลเป็นสินค้าสูบเงินจากเหล่าแฟนที่มาติดตาม ซึ่ง Rachel จะได้พบความลับของตัวตนที่แท้จริงจากไอดอลที่เธอหลงไหลผ่าน Ashley Too นั่นเอง

ประเด็นหลักแม้จะดี แต่หนังนำเสนอในรูปแบบการผจญภัยเด็กๆ ซึ่งดูจะเบาไปหน่อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง ทำให้หนังดูไม่น่าเชื่อถือ หนังทำได้ไม่สมเหตุผล และยังดูล้นๆ ไปมากกับการเดินเรื่องแนวนี้ ทำให้การผจญภัยนี้ดูจืดชืด เหมือนหนังเด็กที่เดาเรื่องทั้งหมดได้ตั้งแต่เริ่มเข้าประเด็นการตามหา Ashley ตัวจริง

นี่เป็นตอนที่ออกมาเบาที่สุด ดูแล้วฉุกคิดน้อยสุด เพราะความล้นและไร้เหตุผลหลายอย่างในเรื่อง หนังสอบตกมาตรฐานแบล็คมิเรอร์อย่างจัง จนไม่ดูก็ไม่รู้สึกเสียหายอะไรกับตอนนี้ครับ..


อ่านรีวิวหนังเรื่องอื่นๆ ติดตามได้ที่นี่

 

Leave a comment
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ