playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Photographer of Mauthausen เชลย ชนชั้น การเปิดโปงค่ายในฝันกับภาพโฆษณาเกินจริง

The Photographer of Mauthausen

สรุป

ไม่ใช่หนังสงครามที่ระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริง มีมุมมองการเล่าเรื่องที่นำเสนอความเป็นไปภายในค่ายกักกัน ความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ การสร้างชนชั้นของเชลยภายในค่ายกักกัน ช่วงพีคจนถึงตอนจบไม่ได้รู้สึกว่าดีมาก แต่ก็เอาทำลุ้นอยู่เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นการนำเรื่องจริงมาใส่สีตีไข่ในได้น่าติดตามดี หากใครชอบกล้องฟิล์ม อยากให้ลองดูเพราะจะได้เห็นกล้องฟิล์มในหนังเรื่องนี้หลายตัวเลยทีเดียว

 

Overall
6.5/10
6.5/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • มุมมองการเล่าที่แตกต่างออกไปจากหนังสงครามทั่วไป
  • ตัวละครมักทำอะไรอะไรลับ ๆ ล่อ ๆ เลยทำให้รู้สึกลุ้นตามไปด้วยว่าจะถูกจับได้ไหม
  • ประเด็นเรื่องการสร้างชนชั้นภายในค่ายกักกันเห็นชัดเจนดี
  • ตอนจบมีภาพเหตุการณ์จริงให้ดู

Cons

  • มีบางช่วงของการดำเนินเรื่องที่ทำให้รู้สึกเนือยๆ
  • หนังไม่ชัดเจนเรื่องความเป็นมาของค่ายกักกัน ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องราวมาก่อนจะงงๆ ได้
  • จุดพีคของเรื่องไม่ได้สร้างความตื่นเต้นเท่าไหร่

The Photographer of Mauthausen หนัง Netflix สร้างจากเรื่องจริง ของค่ายกักกันนักโทษทางการเมืองของนาซีเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่ายนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับเหมืองของเมือง Linz ประเทศออสเตรเลีย เป็นผลผลิตหวังผลประโยชน์ของฮิตเลอร์ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าค่าย Mauthausen หรือที่ทหารนาซีชอบเรียกกันว่า Knochenmuhle (แปลว่าเครื่องบดเนื้อ) โดยมีผู้บัญชาการสูงสุดเป็น “ฟรันซ์ ซีไรส์” (รับบทโดย Stefan Weinert)
 El fotógrafo de Mauthausen (2018) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง The Photographer of Mauthausen

พอเป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงเราจะรู้สึกว่าคงไม่พ้นการระเบิดภูเขา เผากระท่อม หรือการฆ่ากันอย่างเลือดเย็น ถูกถ่ายทอดโดยมุมมองบุคคลที่สามอะไรทำนองนั้น แต่เรื่องนี้ต่างออกไปตรงที่ในหนังใช้มุมมองการเล่าแบบเรียบง่ายผ่าน “ฟรานเชส โบส” (รับบทโดย Mario Casas) นักโทษเชลยศึกชาวสเปน ผู้มีความสามารถในการถ่ายภาพ แน่นอนว่าความสามารถนี้ทำให้เค้าได้รับหน้าที่ในการบันทึกภาพเชลยหน้าใหม่ที่เข้ามาในค่าย และที่สำคัญเค้าได้เป็นผู้ช่วยในหน่วยพิสูจน์รูปพรรณสันฐาน มีหน้าที่ช่วยถ่ายภาพ และล้างฟิล์ม ให้ “เพาล์ ริคเคน” (รับบทโดย Richard Van Weyden) ซึ่งการถ่ายภาพที่เกิดขึ้นเป็นประจำภายในค่ายมีจุดมุ่งหมายจะสร้างภาพพจน์ที่ดีเป็นค่ายที่ดีแสนดี แต่ทุกอย่างมันกลับตาลปัตร มีเพียงเชลยในค่ายเท่านั้นที่รู้ความจริงทั้งหมด แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรจะไปบอกใครได้ 

แม้พลอตเรื่องจะบอกว่า ฟรานเชส เป็นผู้ช่วยในการถ่ายภาพ แล้วตัวละครจะพาเราเดินเตร็ดเตร่ถ่ายรูปชิล ๆ ทั้งค่ายก็ผิดถนัด เพราะความเป็นเชลยศึกเลยทำให้เราไม่ได้เห็นภาพนั้น แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนร่วมงานของ ฟรานเชส กับ เพาล์ ทำให้เรารู้สึกว่า เพาล์ เองก็เอ็นดู ฟรานเชส พอสมควรทำให้ ฟรานเชส ได้รับโอกาสพิเศษอยู่บ้าง (เรียกได้ว่าคุณภาพชีวิตดีกว่าเพื่อนนิดนึง) ในส่วนนี้ไม่ได้มีแค่ ฟรานเชส เท่านั้นที่ได้รับอภิสิทธิ์ แต่จะมีนักโทษคนอื่น ๆ ด้วยที่ได้ช่วยงานทหารแบบนี้ รวมไปถึงเชลยบางคนก็ได้รับการยกระดับให้กลายเป็นผู้คุมเชลยอีกที เป็นการถ่ายทอดวิธีการสร้างชนชั้นภายในค่ายกักกันให้น่าหมั่นไส้ได้ดีพอสมควร 

ฟรานเชส จึงเป็นตัวละครที่มีหน้าที่พาเราสำรวจความเป็นไปภายในค่ายกักกันด้วยการเดินส่งเอกสาร หรือช่วยงานทหารเป็นหลัก ตรงจุดนี้ทำให้เราเห็นค่ายกักกันในหลาย ๆ มุมมองผ่านตัวละครนี้ ทั้งการเป็นอยู่ของเชลย  อาหารที่ได้กิน เรือนนอน การถูกใช้แรงงานของเชลยผู้ชาย เด็กในค่าย ผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ใช้เป็นเครื่องบำเรอกามารมณ์ของทหารหรือเชลยผู้ชาย (ที่ได้รับรางวัลชมเชยพิเศษจากทหาร) ระบบการจัดการของทหารภายในค่าย ความโหดร้ายที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่ามีทุกองค์ประกอบทุกอย่างเท่าที่หนังสงครามเชลยศึกแบบนี้จะมี แต่จุดเด่นที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นของคนดูได้ดีพอสมควรคือการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเชลยศึก ที่ไม่ได้มีแค่จ้องจะหนีอย่างเดียว ซึ่งกว่าจะถึงจุดพีคได้ตัวละครก็เล่นทำอะไรลับ ๆ ล่อ ๆ อยู่เรื่อย และค่อนข้างหนักข้อในช่วงท้ายของเรื่อง ทำเอาลุ้นอยู่ว่าจะถูกจับได้ตอนไหน แถมมีสัญญะต่าง ๆ ที่เหล่าเชลยสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาหลอกด่าทหารด้วย 

ในช่วงท้ายของหนัง กลับสร้างความประหลาดใจ ด้วยการที่ ฟรานเชส ไปเจอกับภาพถ่ายลับที่ เพาล์ เป็นคนบันทึกเหตุการณ์อันโหดร้ายในค่ายไว้ ซึ่ง ฟรานเชส กับเพื่อน ๆ ก็เชื่อว่า หากภาพเหล่านี้ถูกเปิดเผย จะทำให้พวกเขาเป็นอิสระ โศกนาฏกรรมต่าง ๆ ที่เป็นความลับค่อยๆถูกเปิดเผยให้ ฟรานเชส และเพื่อน ๆ รู้ (ที่คนดูอย่างเราเห็นภาพนั้นมาก่อนแล้ว) เนื่องจากการโฆษณาว่าค่ายกักกันที่นี่นั้นดีแสนดี กลับย้อนแย้งกับฟิล์มถ่ายภาพที่พวกเค้าพบเจอ แม้ว่าการเจอฟิล์มจะดูเหมือนเป็นจุดพีค แต่จริง ๆ แล้วเป็นช่วงที่เชลยพยายามจะเอาฟิล์มออกไปให้คนภายนอกรับรู้ต่างหาก เพราะแต่ละวิธีนั้นค่อนข้างเสี่ยงจะจับได้ ตรงนี้ก็ทำให้เอาใจช่วยจนเหนื่อยเหมือนกัน

สิ่งที่สร้างความน่าสนใจให้หนังอีกอย่างหนึ่งก็คือ กล้องถ่ายภาพ แน่นอนว่าในยุคนั้นเป็นกล้องฟิล์มล้วน ๆ แถมยังใช้ฟิล์มขาวดำถ่ายภาพเท่านั้น ในเรื่องเราจะเห็นกล้องหลาย ๆ แบบที่ฟรานเชสได้มีโอกาสใช้ในการถ่ายภาพ ทำให้เราได้เห็นกล้องเยอะมาก ๆ (หนึ่งในนั้นคือกล้อง Leica II คู่กับเลนส์ ELMAR 50 มม. F3.5 ของ เพาล์ ที่ได้เห็นบ่อยที่สุด)  ทีนี้เราลองมองในภาพรวมก็จะพบว่าการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้สอดแทรกต้นเหตุของความรุนแรงอยู่ด้วย

ฉากหนึ่งในเรื่อง ฟรานเชสได้รับโอกาสพิเศษให้ไปถ่ายรูปงานเลี้ยงวันเกิดลูกชายนายพลทรงอิทธิพลคนหนึ่งในค่าย ด้วยการผลักดันจาก เพาล์ ทันทีที่ฟรานเชสไปถึงบ้านนายพลกลับพบว่า เด็กชายที่ดูเป็นลูกคุณหนูทั่วๆไป กลับถูกปลูกฝังในเรื่องของการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา โดยการที่นายพลหัดให้ลูกชายใช้ปืนในงานวันเกิดเพื่อยิงเด็กเชลยศึกที่ตนเองไม่พอใจ จนเกิดเป็นเหตุชุลมุนวุ่นวายในวันเกิดซะอย่างงั้น

ทำให้เห็นรากฐานสังคมของการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการทารุณกรรมต่าง ๆ นานา แต่กลับไม่ค่อยมีความหดหู่มากเท่าไหร่ ส่วนตัวมีความแอบชอบในความดื้อเงียบของ ฟรานเชส ที่แม้ในสายตาของ เพาล์ เค้าจะเป็นผู้ช่วยที่เชื่อฟัง แต่ก็ยอมเจ็บตัวจนบางครั้งจนทำให้ลุ้นว่า ฟรานเชส จะตายก่อนหนังจะจบไหม 

สุดท้ายแล้วหนังไม่ได้มีความหวือหวาอะไร สไตล์การเล่าเรื่องที่ดูเป็นคนใจเย็นตลอดเวลาแต่ยังมีซีนที่ตื่นเต้นอยู่ที่ช่วงท้ายเรื่อง การนำเสนอรายละเอียดความเป็นมาของค่ายยังมีน้อยมาก ๆ แอบคิดว่าจริง ๆ แล้วอาจจะสามารถสอดแทรกเข้าไปในระหว่างเรื่องได้มากกว่านี้ เพราะถ้าใครไม่รู้จักค่ายกักกันนี้ หรือเหตุการณ์นี้ก็คงจะรู้สึกเบื่อไปเลย ถือว่าดูได้เรื่อย ๆ ถ้าใครอยากเห็นภาพจากเหตุการณ์จริง ตอนจบของหนังจะมีให้เราดูด้วย นับว่าเป็นวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวมุมหนึ่งของหนังสงครามที่จำเจให้มีความน่าสนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย 

The Photographer of Mauthausen ไม่ใช่หนังสงครามที่ระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริง มีมุมมองการเล่าเรื่องที่นำเสนอความเป็นไปภายในค่ายกักกันด้วย ฟรานเชส ที่เป็นตัวละครหลัก ทำให้เห็นหลากหลายมุมมองของค่ายกักกันในสมัยนั้นมากขึ้น ความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ทำออกมาได้ดี เห็นชัดเจนในเรื่องของการสร้างชนชั้นของเชลยภายในค่ายกักกัน ช่วงพีคจนถึงตอนจบไม่ได้รู้สึกว่าดีมาก แต่ก็เอาทำลุ้นอยู่เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นการนำเรื่องจริงมาใส่สีตีไข่ในได้น่าติดตามดี หากใครชอบกล้องฟิล์ม อยากให้ลองดูเพราะจะได้เห็นกล้องฟิล์มในหนังเรื่องนี้หลายตัวเลยทีเดียว

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!