Google เปิดโปรเจค Stadia บริการคลาวด์เกมมิ่งที่อาจจะมาเขย่าวงการเกมในรอบหลายปี มาดูกันว่าอากู๋จะผ่านอุปสรรค์ที่เหล่าผู้กล้าก่อนหน้านี้ได้เพลี่ยงพล้ำกันมาแล้วได้หรือไม่และจะเข้ามา ไทย หรือเปล่า
E3 2011 ผมเดินผ่านประตู LA Convention เข้าไปด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ไปงานเกมที่ผมชอบตั้งแต่วัยละอ่อนเป็นครั้งแรก ทุกอย่างดูอลังการไปซะหมด และในปีนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัส OnLive บริการสตรีมเกมที่คาดว่าจะขึ้นแท่นเป็น Netflix แห่งวงการเกม
หลังจากได้ลอง OnLive ผมกลับบ้านไปพร้อมความประทับใจในคอนเซ็ปต์ของมันมาก ยังไม่ทันจะได้ใช้บริการ OnLive ประกาศขายทรัพย์สินและสิทธิบัตรให้กับ Sony และยุติบริการไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น ด้วยยอดขายและตัวเกมที่เล่นแล้วไม่ได้ลืนไหลอย่างที่คิด
ถ้ามองในอีกแง่นึง OnLive อาจจะมาไวไป ด้วยอะไรหลายๆอย่างยังไม่รองรับ ทั้งระบบ 4G ที่ยังไม่เกิดดีในยุคนั้นและอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ยังเข้าไม่ถึงประชากรอีกเยอะของอเมริกา เลยทำให้การเล่นเกมไม่ลื่นไหลแถมราคาที่ไม่ถูก สุดท้าย OnLive ก็ต้องอำลาวงกรไป

ปี 2015 เป็นปีที่เราเริ่มเห็นการขยับของวงการคลาวด์เกมมิ่งกันอีกครั้ง ด้วยการมาของ PlayStation Now และ 2017 กับการมาของ GeForce NOW โดยทั้งสองแพลตฟอร์มนั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างนึงคือรองรับการเล่นบน PC ทั้งคู่
ADBRO
แต่คอนเทนต์ที่บริการแตกต่างกัน ในขณะที่ Nvidia GeForce NOW ให้บริการเกม PC เป็นหลักซึ่งเราจะต้องใช้เกมที่เรามีอยู่แล้วด้วยการล็อคอินบัญชี Steam, Uplay และ Blizzard Battle.net ณ ตอนนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงทดสอบกันอยู่ครับและใช้บริการได้เฉพาะในอเมริกา แคนาดา และยุโรป
ส่วน PlayStation Now ให้บริการเกมจากเครื่อง PlayStation ตั้งแต่ PS2, PS3 และ PS4 โดยเราสามารถเล่นเกมผ่านแอพ PlayStation Now บน PlayStation 4 และก็บน PC สำหรับบน PC เราแค่ทำการต่อจอย PS4 เข้าไปก็เป็นอันเรียบร้อย โดยปัจจุบัน PlayStation Now เปิดให้บริการแล้วในอเมริกาและยุโรป ส่วนในเอเชียมีแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น โดยราคาต่อเดือนจะอยู่ที่ราวๆเกือบ 700 บาท
ทั้งสองเจ้านี้ฟังจากความเห็นของคนที่เคยใช้งานมา โดยรวมถือว่าดีแต่ยังมีหน่วงบ้างตามอินเตอร์เน็ตและความใกล้ไกลของเซิร์ฟเวอร์ จึงยังไม่เหมาะกับการเล่นเกมที่ต้องใช้ความเร็วอย่างเกมที่ต้องออนไลน์แข่งกับผู้เล่นอื่น ปัจจุบัน Nvidia ให้บริการเกมที่รองรับการเล่นออนไลน์อย่าง Fortnite, PUBG และ Rainbow Six Siege ที่ผลออกมายังมีหน่วงให้ได้เห็น
ซึ่งยังพอเล่นได้อยู่ แต่เนื่องจากที่ยังอยู่ในช่วงทดสอบที่ให้ทดลองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากเปิดให้บริการจริง ด้วยจำนวนคนที่เข้าใช้พร้อมกันที่เยอะขึ้น คงต้องดูว่า Nvidia จะรองรับไหวหรือไม่
แล้วนอกจากสองเจ้านี้ล่ะ ยังมีเจ้าอื่นอีกไหม? มีครับ เอาเจ้าที่ผมเคยใช้บริการก่อน เจ้าแรกที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมทดสอบก็คือ LiquidSky ที่เปิดให้ใช้งานได้แบบเต็มที่ โดยช่วงที่ผมทดสอบจะมีบริการสองแบบ นั่นคือแบบเหมาจ่ายรายเดือน กับเติมเป็นชั่วโมงเอาครับ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีแยกย่อยตามสเปคของเครื่องที่เราจะเช่า ว่าแรงแค่ไหน

ส่วนของการจ่ายเงิน ระบบรองรับการจ่ายเงินหลากหลายแบบ รวมถึง True Money ด้วย ซึ่งอันนี้ผมแปลกใจมาก เพราะเป็นเจ้าเดียวที่รองรับผู้เล่นจากไทยโดยแท้จริงเจ้าแรกๆ หลังจากเข้าร่วมทดสอบ ปัญหาหลายๆอย่างที่ผมเจอก็คือความไม่เสถียรของการเชื่อมต่อ LiquidSky สามารถเล่นได้ทั้งบน PC และโทรศัพท์มือถือครับ โดยบนแอนดรอยด์เราสามารถต่อจอยเกมที่รองรับและเล่นได้เลย
เช่นเดียวกับ GeForce Now บริการจาก LiquidSky นั้นเป็นการเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่แรงพอจะเล่นเกมปรับสุดได้และ LiquidSky ดีกว่าเจ้าอื่นๆตรงที่เราสามารถเข้าถึงหน้าเดสก์ท็อปของเราได้ด้วย จึงทำให้สามารถลงโปรแกรมอะไรที่เราต้องการได้หมดทุกอย่างครับ อันนี้ถือเป็นข้อดีมากๆ แต่ข้อเสียก็คืออย่างที่ผมบอก ความไม่เสถียรของระบบโดยรวม สำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่ผมทดสอบคือฮ่องกง
ปัจจุบัน LiquidSky ส่วนของเกมยังคงทำการทดสอบเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากทดสอบแบบเปิดเป็นแบบปิดเหมือน GeForce NOW ไปเรียบร้อยครับ เนื่องจากเจอปัญหาเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้ที่มากเกินกว่าระบบจะรองรับไหว ถือว่าเป็นอีกค่ายที่น่าจับตาในแง่คอนเซ็ปต์และแพลนที่ลูกค้าสามารถเลือกจ่ายได้ แต่สุดท้ายจะสำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดู
มาดูอีกเจ้าที่เห็นการพัฒนามาพักใหญ่ๆนั่นก็คือ Vortex เจ้านี้ผมชอบตรงที่แอพสำหรับมือถือนั้นทำออกมาได้สวยงามและดูรู้เลยว่าตั้งใจทำมาแล้วอย่างดี Vortex เริ่มต้นด้วยคลาวด์เกมมิ่งแบบจ่ายรายเดือนและมีเกมให้เล่นอยู่จำนวนหนึ่ง เกือบทั้งหมดเป็นเกมอินดี้ เวลาผ่านมาปีกว่าๆ ระบบมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ปัจจุบันมีเกมเข้ามาในระบบมากขึ้นและได้ผันตัวเองไปเป็น BYOG (Bring Your Own Game) ซึ่งก็คือให้เช่าเซิร์ฟเวอร์และเกมเป็นเกมที่คุณมีอยู่แล้ว
ผมคิดว่าแนวทางของคลาวด์เกมมิ่งหลังจากนี้จะเป็นแบบนี้กันหมด โดย Vortex ปัจจุบันที่ผมเขียนบทความ มีค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 325 บาท และมีเกมให้เล่นได้ค่อนข้างเยอะใช้ได้ครับ แถมมีเกมใหม่ๆอย่าง RE2 Remake ให้เล่นด้วยนะจะบอกให้ ข้อเสียของ Vortex เลยก็คือแม้ว่าจะใช้เกมที่เรามีแต่เกมนั้นต้องถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อเกมที่เล่นได้ก่อน ต่อให้เรามีหลายเกมในบัญชี Steam

ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเล่นได้หมดนะครับ ตัว Vortex จะต้องอนุญาตให้เกมนั้นเล่นได้ก่อนด้วย แต่ผมถือว่าเป็นคลาวด์เกมมิ่งเจ้าแรกที่พร้อมให้บริการเต็มที่แล้วโดยเฉพาะในบ้านเราครับ
อุปสรรคมากมายที่จะต้องฝ่าฟัน
จากหลายๆบริษัทที่กล่าวมาจะพบปัญหาหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่เสถียร ความเร็วอินเตอร์เน็ตของลูกค้าไม่ดีทำให้ประสบการณ์ในการเล่นไม่เป็นดั่งหวัง มีข้อจำกัดกับเกมที่มีการเล่นที่รวดเร็ว โดยเฉพาะเกมแนว fps ทั้งหลายแหล่ รวมถึงปัญหาการรองรับคอนโทรลเลอร์อีก ที่สำคัญเลยคือราคาที่ผู้ใช้ต้องจ่ายต่อเดือน จะคุ้มค่ากว่าการกำเงินไปซื้อเครื่องเกมหรือว่าประกอบคอมสักเครื่อง ยิ่งสมัยนี้โน๊ตบุ๊คสำหรับเล่นเกมก็ราคาถูกลงมามาก
ทำให้การวางแพลนราคาอาจจะเป็นอะไรที่ต้องกลับไปทำการบ้านกันพอสมควร อย่างไรก็ตามการที่ Google เปิดตัว Stadia ในงาน GDC 2019 รอบนี้ ผมเห็นได้ถึงความทะเยอทะยานของ Google ที่ต้องการกระโดดเข้ามาในตลาดเกมที่เม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลนี้
ในขณะที่มีผู้เล่นรายใหญ่ในวงการอย่าง Nintendo Microsoft และ Sony โดยเฉพาะ Microsoft ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Google สำหรับคลาวด์เกมมิ่งได้เริ่มสร้างพันธมิตรที่แข่งแกร่งกับคู่แข่งอย่าง Nintendo ไปเรียบร้อยแล้ว
และด้วยการมาของ xCloud ระบบสตรีมเกมพัฒนาโดย Microsoft อันนี้แหละจะเป็นคู่แข่งที่ Google จะต้องต่อกร แม้ว่า Google จะได้ตัวหัวกะทิจากวงการเกมอย่าง Jade Raymond มาพัฒนาเกมให้ แต่คู่แข่งนั้นแข็งแกร่งกว่าหลายขุม Microsoft เองมีความสัมพันธ์กับบริษัทพัฒนาเกมมาอย่างยาวนาน แถมสตูดิโอในบ้านก็ไม่ธรรมดา จุดนี้ Google ต้องทำการบ้านกันหนักหน่อยล่ะ

แถม Microsoft มีระบบคลาวด์ที่แข็งแกร่งมากอันดับต้นๆอย่าง Azure ที่จะสามารถรองรับ xCloud ได้แบบไม่ต้องสงสัย ถ้าใครอยู่ในแวดวงเกม PC และ Xbox จะทราบดีกว่าคอนโทรลเลอร์ของ Xbox ถือเป็นจอยที่เข้าง่ายกับทุกเกม เรียกได้ว่าจะต่อแบบมีสายหรือไร้สายใช้ได้ไม่มีปัญหา แถมยังต่อกับมือถืออย่าง Android ได้พริ้วอีกด้วย
ถึงยังไงก็ต้องยอมรับว่าไอเดียตัวจอยเกมของ Google ก็เป็นไอเดียที่ดีเลยทีเดียวครับ การที่นำจอยต่อกับ WiFi เพื่อลดปัญหาในการต้องคอยเปลี่ยนการเชื่อมต่อเมื่อเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นอะไรที่สุดยอด แต่ถ้าสัญญาณ WiFi โดนรบกวนหรือไม่นิ่ง เราอาจจะมีปัญหากับการบังคับเกมก็เป็นได้ ในขณะที่การต่อจอยกับอุปกรณ์โดยตรงจะช่วยลดเรื่องปัญหาดีเลย์ได้แน่ๆ ห่วงแค่การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้เล่นกับคลาวด์อย่างเดียวก็พอ ตรงนี้เราคงได้เห็นปัญหากันจริงๆเมื่อระบบเปิดให้ใช้งานเต็มรูปแบบ
Google Stadia ต้องสู้กับวิถีการเล่นเกมแบบเดิมๆ
เนื่องจากบริการเหล่านี้จะให้บริการที่จำกัดแค่บางส่วนของโลก ไม่เหมือนกับเครื่องเกมที่เราสามารถหาซื้อมาต่อเล่นได้เลยไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน บริการสตรีมเกมกลับมีเส้นแบ่งกั้นระหว่างผู้เล่นและระยะทางที่จะมีผลมากกับประสบการณ์ที่ผู้เล่นจะได้รับและผมเชื่อว่าแท้จริงแล้ว Google เองสามารถเปิดให้บริการได้ทั่วโลกในเวลาไม่นาน เนื่องจาก Google จะใช้ YouTube เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Stadia โดยผู้เล่นที่ดูคลิ๊ปเกมนั้นๆสามารถกดปุ่มเล่นเพื่อเล่นเกมที่กำลังดูบน Stadia ได้โดยตรงจาก YouTube และ Google เองมีดาต้าเซ็นเตอร์กระจายอยู่ทั่วโลก
ยิ่ง Stadia ขยายได้เร็วแค่ไหน โอกาศสำหรับ Google ก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก ถ้าหากทำได้แบบที่ Netflix ขยายตลาดไปทั่วโลกเพียงแค่ปีเดียวได้ สงครามครั้งนี้ Google อาจจะยึดหาดคลาวด์เกมมิ่งก่อนใครก็เป็นได้นะ เพราะผมเชื่อว่าเจ้าอื่นๆกว่าจะขยายตลาดออกมาจากประเทศใหญ่ๆได้ ใช้เวลากันนานมากจริงๆ
สุดท้าย ก็หวังว่าจะได้เห็น Google นำ Stadia เข้ามาให้บริการใน ไทย บ้าง เพราะประเทศเรามีประชากรที่เล่นเกมกันค่อนข้างเยอะ ถ้ามาแล้วเล่นลื่น ราคาไม่แพง น่าจะมีแฟนๆเข้าใช้บริการกันแน่นอน
อ่านบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่