รีวิว ดอยบอย (DOI BOY) Netflix หนังตัวละครเกย์ที่กล้าเล่าเรื่องปัญหาดำมืดของไทยตรงๆ
ดอยบอย
Summary
สรุปเป็นหนังที่ใช้ตัวละครเกย์มาเป็นพื้นฐานการเล่าเรื่องไปสู่ปัญหาดำมืดของไทยในหลายด้านได้ดี หนังดูไม่ยากและเข้าใจง่าย แต่นี่ไม่ใช่หนังเกย์ที่มีฉากเรื่องทางเพศแต่อย่างใด แม้หนังอาจจะเล่าได้ไม่สมบูรณ์นักด้วยการจับประเด็นปัญหาในไทยสั้นๆ มาต่อเติมผูกเป็นเรื่องราวที่ดูเกินจริงไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คนไทยเองก็รู้ว่านี่คือเรื่องจริงที่มีมาช้านานและจะยังมีต่อไปเรื่อยๆ อีกเช่นกันครับ
Overall
7/10User Review
( vote)Pros
- หนังสะท้อนปมปัญหาดำมืดของไทยในหลายด้าน
- ตัวละครเกย์เป็นหลัก
- นักแสดง อวัช รัตนปิณฑะ
Cons
- การตัดสลับเล่าเรื่องย้อนอดีตทำได้ไม่ดีมาก
- บางปัญหาถูกนำมาจับโยงกับการประท้วงที่ไม่ตรงความจริง
DOI BOY ดอยบอย หนังไทย Original Netflix เรื่องราวการดิ้นรนของผู้ลี้ภัยที่หวังอยากมีชีวิตดีขึ้นในประเทศไทย เขาต้องกลายเป็นชายผู้ขายบริการทางเพศ และเข้าไปพัวพันกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนนำพาไปเจอกับเรื่องราวที่ไม่คาดคิด
รีวิว DOI BOY ดอยบอย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการเปิดตัวผลงานของผู้กำกับชื่อดัง ‘นนทวัฒน์ นำเบญจพล’ ที่มาลิ้มลองกำกับและเขียนบทภาพยนตร์เองเป็นครั้งแรก และมีชื่อเสียงจาก ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ และนักแสดง ‘อัด-อวัช รัตนปิณฑะ’ คว้ารางวัล Rising Star Award ในงานประกาศรางวัล Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 มาครอง ซึ่ง Netflix ก็ซื้อมาไว้ในสตรีมมิ่งของตัวเองไม่ได้ลงโรงฉายในไทยมาก่อน
หนังเล่าเรื่องราวของ ‘ศร’ (รับบทโดย อัด-อวัช รัตนปิณฑะ) เด็กหนุ่มที่ลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และทำงานค้าประเวณีในบาร์เกย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเจอการระบาดใหญ่ทำให้บาร์ที่เขาทำงานต้องปิดตัวลง ศรต้องดิ้นรนหารายได้ประทังชีวิต จนต้องรับข้อเสนองานจาก ‘จิ’ (รับบทโดย เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) ตำรวจหนุ่มลูกค้าประจำของศร โดยเป็นงานที่พาให้เขากลับไปยังที่มาบ้านเกิด ซึ่งเขาไม่อยากกลับไปอีกเลย
ชื่อหนัง หน้าหนังและนักแสดง อาจจะทำให้ผู้ชมคิดว่านี่เป็นหนังเกย์ แต่ความจริงนี่ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องเกย์โดยตรง ประเด็นของเกย์เป็นแค่งานบาร์เกย์ในช่วงต้นเรื่องที่พาตัวเอกทั้งคู่ให้มาเจอกัน แล้วก็ไม่ได้มีฉากทางด้านนี้เลยนอกจากการนวดน้ำมันธรรมดากับฉากโชว์ก้นด้านหลังในบางครั้งเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแบบนั้นเลย
แต่ประเด็นเกย์ในเรื่องก็มีน้ำหนักทำให้ตัวละครทั้ง 2 คนมีความผูกพันกันในแบบคนที่ถูกกดขี่จากตำแหน่งหน้าที่ชนชั้นที่เหนือกว่า ศรไม่ได้เป็นเกย์ แต่ต้องมาทำอาชีพนี้เพื่อหาเงินและก็ผูกพันกับจิ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าจิเป็นตำรวจที่ศรทั้งเกลียดกลัวมาตลอดจากการถูกรีดไถของแรงงานเถื่อน และตัวละครจิเองก็มีปัญหาชีวิตที่มีเมียกำลังท้อง แต่ตัวเขาเองเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยที่ติดหล่มอยู่ในขบวนการดำมืดของตำรวจรุ่นพี่ ทั้งเรื่องค้ามนุษย์และอุ้มฆ่า ซึ่งเขาอยากออกจากจุดนี้ทำให้เขาต้องยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเหยื่อที่เป็นเกย์อีกคนออกนอกประเทศ ซึ่งก็เป็นตัวละครนักกิจกรรมที่มีปัญหาในรูปแบบต่อต้านรัฐจากการชุมนุมประท้วงในช่วงโควิด 19 ของไทย
หนังสะท้อนปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยที่เกิดในช่วงนั้นจากโควิดเป็นตัวเร่งสู่การประท้วงรัฐอย่างรุนแรง โดยตัวละครผู้ลี้ภัยนอกระบบที่โดนจำกัดชีวิตให้เลือกทางเดินแบบอื่นไม่ได้มาก และในเรื่องนี้ก็คือต้องดำเนินไปตามที่จิต้องการ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจิเองก็ไม่ได้ต้องการชีวิตแบบนี้เช่นกัน ทั้งหมดคือตัวละครที่ติดอยู่ในระบบวังวนดำมืดของรัฐไทยที่มีเรื่องดำมืดซุกซ่อนไว้มากมาย แม้ผู้คนจะรู้และเชื่อว่ามีก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งหนังกล้าตีแผ่ในส่วนนี้ออกมาตรงๆ ได้ดี โดยเฉพาะฉากจบของจิที่ภาพดูสวยงามแต่เป็นจุดจบที่เจ็บปวดแบบเงียบๆ หรือตัวละครอย่างศรที่สุดท้ายก็ยังไม่พ้นต้องแสวงหาทางกลับมาสู่จุดเดิม โดยมีเอกสารเถื่อนเป็นตัวช่วยเบิกทางให้ชีวิตของเขาดีขึ้น
แต่ถึงแม้หนังจะมีปมตีแผ่เรื่องดำมืดของไทยได้ดี แต่หนังก็ยังเล่าเรื่องพวกนี้ได้แบบตื้นเขินไปหน่อย โดยเฉพาะประเด็นผู้ชุมนุมประท้วงที่อยู่ๆ ก็ได้เอกสารว่าข้าราชการตำรวจทหารในไทยค้ามนุษย์กันหมด เป็นการเล่าแบบสั้นๆ ไม่มีที่มาที่ไป เหมือนโทษระบบว่านี่ทำให้พวกเขาโกรธแค้นรัฐ และรัฐก็พยายามอุ้มฆ่าพวกเขาโดยใช้ข้ออ้างว่าจับมาจากเรื่องการชุมนุมประท้วง ซึ่งดูไม่ค่อยเมคเซนส์ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะหนังอิงกับช่วงเวลาจิงของเหตุการณ์ประกอบด้วยไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นมาเอง
นอกจากนี้การเล่าเรื่องแบบตัดสลับเล่าอดีตสั้นๆ ทันทีโดยไม่ได้ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่านี่เป็นอดีต ทำให้ต้องดูไปสักพักถึงเข้าใจ ซึ่งหนังใช้วิธีเล่าแบบนี้หลายครั้งเพื่อย้อนอดีตของทั้ง 3 คนจนดูไม่ลื่นไหลหรือมีทริกการแฟลชแบ็คที่ดีพอ
ส่วนตัวนักแสดงเองเป้ทำได้ดีในบทของตำรวจเกย์ที่มีชีวิตหลายด้าน และก็พยายามกลับตัวกลับใจ ซึ่งบทของเป้เองก็พูดน้อยและก็ไม่ใช่ตัวละครหลักอย่างศร ที่เล่นโดย อัด-อวัช รัตนปิณฑะ และก็ได้รางวัลนักแสดงหน้าใหม่มา ซึ่งก็สมควรเพราะเขาเล่นเป็นผู้ลี้ภัยทำงานบาร์เกย์ได้สมจริงและมีเสน่ห์ นอกเวลาทำงานเขาก็เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่มีแฟนสาวนักศึกษาทำงานบาร์เช่นกัน ซึ่งเขาก็ฝันอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้แต่ติดข้อจำกัดจากสงครามบ้านเกิดที่บีบให้เขาต้องมาใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ในบาร์เกย์ที่เชียงใหม่แทน
สรุปเป็นหนังที่ใช้ตัวละครเกย์มาเป็นพื้นฐานการเล่าเรื่องไปสู่ปัญหาดำมืดของไทยในหลายด้านได้ดี หนังดูไม่ยากและเข้าใจง่าย แต่นี่ไม่ใช่หนังเกย์ที่มีฉากเรื่องทางเพศแต่อย่างใด แม้หนังอาจจะเล่าได้ไม่สมบูรณ์นักด้วยการจับประเด็นปัญหาในไทยสั้นๆ มาต่อเติมผูกเป็นเรื่องราวที่ดูเกินจริงไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คนไทยเองก็รู้ว่านี่คือเรื่องจริงที่มีมาช้านานและจะยังมีต่อไปเรื่อยๆ อีกเช่นกันครับ