รีวิว "เคว้ง" ผลงานซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ Netflix ออกทุนสร้างให้
สรุป
หนังวัยรุ่นติดเกาะพร้อมปมลึกลับเหนือธรรมชาติที่ทำเนื้อเรื่องออกมาแบบกั๊กๆ แล้วก็ไม่ได้สดใหม่ในเนื้อหามากนัก ในฐานะซีรีส์ทุนสร้าง Netflix เรื่องแรกก็พอใช้ได้ แต่ก็แนะนำให้ลองดูกัน เพื่อเป็นยอดให้ผู้สร้างได้ผลักดันซีซั่น 2 ตามมาครับ
Overall
7/10User Review
( votes)Pros
- CG สึนามิถล่มทำออกมาได้ดี
- เน้นภาพมุมสูงกับทิวทัศน์ของเกาะได้สวยงาม
- พระเอกหน้าตาการแสดงเหมาะเจาะสมกับบทมาก
- อริสาตัวละครสมทบที่โดดเด่นมาก
- ปมลึกลับหลอนแบบไทยๆ
Cons
- ปมอดีตของตัวละครหลายตัวทำออกมากั๊กๆ มากไป
- เล่นประเด็นเดิมซ้ำซากแถมเบาหวิวกว่าเรื่องที่ควรจะจริงจัง
- มีความไม่เมคเซนส์ในเรื่องราวหลายอย่าง
- นักแสดงหลายคนยังเล่นได้ไม่ดีพอ จนกลายเป็นฉุดกันเอง
เคว้ง (The Stranderd) ซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่ Netflix ออกทุนสร้างให้ กำกับโดย โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้กำกับลัดดาแลนด์กับเขียนบทชัตเตอร์ ก็ถือว่าชั้นแนวหน้าของเมืองไทย เป็นเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนนักเรียน 36 คนที่่รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิในหมู่เกาะแห่งทะเลอันดามันเหตุการณ์ปริศนามากมายเกิดขึ้นบนเกาะและความช่วยเหลือยังคงมาไม่ถึง
ตัวอย่างซีรีส์ เคว้ง The Stranderd
เรื่องราวจุดศูนย์กลางของเรื่องนี้อยู่ที่ตัวละคร คราม (บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์) เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ชาวเลโดยกำเนิดเพียงคนเดียวที่เกาะปินตูในท้องเรื่องนี้ ซึ่งเขาก็ใช้ความสามารถในการหาอาหารและอื่นๆ เพื่อช่วยเพื่อนในโรงเรียนให้รอดชีวิต โดยมี “อนันต์” (จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล) ผู้นำของกลุ่มนักเรียนที่มักขัดแย้งกับครามในหลายเรื่อง โดยมี “เมย์” (ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) แฟนสาวของอนันต์ พยาบาลประจำกลุ่มที่ครามแอบหลงรักมาเกี่ยวข้องเป็นปมปัญหาด้วยกัน 3 คน
หนังมีตัวละครมากมาย แต่แกนหลักของเรื่องราวที่เดินหน้าไปในแต่ละตอนจะวนเวียนอยู่กับทั้ง 3 คนนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเคว้งเริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์สั้นๆ ก่อนจบการศึกษาของกลุ่มนักเรียนเอกชนไฮโซที่กำลังปาร์ตี้กันอยู่บนเกาะ แล้วก็มีฉากสึนามิถล่มเกาะตามมาทันที พร้อมกับตัดฉากข้ามเรื่องไป 25 วันต่อมาบนเกาะเลย ซึ่งในตอนแรกถือว่าเรื่องไปไวมาก ฉาก CG สึนามิแม้มีให้เห็นแค่สั้นๆ แต่ก็ทำได้ดีสมกับทุนสร้างจาก Netflix แต่หลังจากนั้นเรื่องราวกลับลดสปีดลงมาก รวมถึงเนื้อหาก็เน้นเปิดปมเล็กๆ น้อยๆ ทิ้งไว้ มากกว่าจะมีเรื่องราวหลักให้จับต้องได้ โดยรวมหนังมีแนวทางเหมือน Lost ซีรีส์เรื่องดังของผู้กำกับ เจ.เจ. แอบรัมส์ จนเป็นปรากฎการณ์ทั่วโลก “ต้องดู” ในอดีต เคว้งมีหลายๆ อย่างเหมือนกัน ทั้งการวางตัวเป็นเกาะที่มีสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติและจากประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ แต่ไม่ใช่หนังผี (ผู้สร้างยืนยัน) การที่ไม่มีทีมมาช่วยเหลือคนที่ติดเกาะแบบปริศนา ทำให้ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตกันอยู่ที่นี่ ซึ่งก็นำพาไปพบความลับของเกาะมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการแบ่งฝ่ายความเชื่อคนละแบบ รหัสตัวเลขปริศนา ตัวก็อปปี้ที่แฝงมาในกลุ่มแบบรู้ความลับของเกาะ รวมถึงความรักสามเส้าของ 3 ตัวเอกชาย 2 หญิง 1 หนังแทบจะเป็น Lost ในเวอร์ชั่นวัยรุ่นไทยเลยก็ว่าได้
การที่ดำเนินเรื่องเหมือน Lost ก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะ Lost ทิ้งช่วงจบมานาน 15 ปีแล้ว ผู้ชมวัยรุ่นช่วงหลังคงไม่เคยได้ดูกันก็เลยเหมาะกับการหยิบมาเล่าใหม่ สำหรับคนที่ไม่เคยดู Lost มาก่อนก็อาจจะมีความรู้สึกแปลกใหม่กับพล็อตแนวทางการดำเนินเรื่องมากกว่าคนที่เคยดูมาแล้ว แต่เอาว่าถ้าละทิ้งการเปรียบเทียบนี้ไป หนังก็มีจุดแตกต่างอยู่พอสมควร อย่างการที่ตัวละครเป็นวัยรุ่นกลุ่มเดียวที่รอดมาทั้งหมด การที่เรื่องผูกพันกับความเชื่อไทยๆ หลอนๆ หน่อย (Lost จะออกแนวมอนสเตอร์ลึกลับ) การเน้นหนักไปที่ความรักวัยรุ่นสูงมาก ซึ่งเป็นแนวทางยอดนิยมของหนังของ Netflix ในปัจจุบันด้วย ก็คิดว่าน่าจะถูกใจผู้ชมวัยรุ่นอยู่ไม่ใช่น้อย
แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะวางตัวว่าทำมาฉายให้คนดูทั่วโลก เรื่องราวถึงมีความเป็นไทยแต่ทุกชาติต้องดูเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาได้ตามโจทย์พอดี รวมถึงมีความพยายามขายประเด็น LGTB ความหลากหลายทางเพศในเรื่องสูงตามแบบซีรีส์ Netflix ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นโจทย์ที่โดนกำกับมาว่าต้องมีให้ครบรึเปล่า เพราะหลังๆ หนัง Netflix จะมีคู่ ชายชาย หญิงหญิง หรือแม้แต่ไบเซ็กชวลจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเคว้งก็เปิดตัวมาตอนแรกพร้อมใส่ตรงนี้มาอย่างเปิดเผย หนังมีฉากกอดจูบของวัยรุ่นโจ่งแจ้งอยู่ในเรื่องมาก รวมถึงมีฉาก SEX พอประมาณ แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดซีรีส์วัยรุ่นฝรั่งหลายเรื่องใน Netflix ที่ลงทุนเปลือยแบบเห็นกันจะๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักปกติหรือแบบ LGTB ก็ตาม ถ้าเป็นต่างชาติที่ดูตรงนี้มาจนชิน ก็คงรู้สึกว่าของไทยเบาหวิวเกินไปหน่อย ทั้งๆ ที่จงใจใส่มาเป็นฉากเซอร์วิสตรงๆ
ในส่วนเรื่องราวลึกลับเหนือธรรมชาติหนังโฟกัสไปที่คราม ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความลับปมอดีตกับชาติกำเนิด ซึ่งก็ทำออกมาได้ลึกลับน่าสนใจดี นักแสดงก็เหมาะเจาะเข้ากับบท การแสดงดูนิ่งสุขุมมีเสน่ห์ในตัวเองสูงมาก ถือว่าสอบผ่านเลยกับการเป็นพระเอกนำในเรื่องนี้ แต่อนันต์บทคู่แข่งในเรื่องกับนักแสดงในบทเมย์ยังเล่นได้ไม่เป็นธรรมชาติเท่ากับครามนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้สะดุดอะไรมากนัก
หนังไม่ได้มีแค่ครามตัวละครเดียวที่มีเรื่องเหนือธรรมชาติมาเกี่ยวข้อง แต่วางตัวละครแนวนี้เสริมเพิ่มอีก 2 ตัวคือ “น้ำ” กับ “ครูหลิน” ซึ่งคนแรกมาในแนวสัมผัสพิเศษล่วงรู้บางอย่าง (เล่นโดย ชัญญา แม็คคลอรี่ย์) ส่วนครูหลินรับบทโดยนกสินจัย ดารายอดฝีมือที่เรารู้จักกันดีก็มาในบทครูสาวลึกลับที่เป็นผู้ใหญ่ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวในเกาะ
นอกจากตัวละครหลักที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกคนที่ต้องจับตามองมากเลยคือ ชาลีดา กิลเบิร์ต นักร้องสาววัยรุ่นที่มารับบท “อริสา” สาววัยรุ่นที่มีปมปัญหานิสัยส่วนตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ แต่มีความสามารถพิเศษเป็นนักประดิษฐ์กับซ่อมแซมสิ่งของได้ รวมถึงความกล้าสืบสวนตามรอยปริศนาบนเกาะโดยลำพัง หนังวางบทเด่นให้เธอจนแทบจะถูกมองว่าเป็นนางเอกคนหนึ่งเลยก็ได้ ซึ่งเธอเล่นได้กวนปากหมาสมกับบทดี แถมมีเสน่ห์จากคาแรกเตอร์แปลกแยกจากสังคมวัยรุ่นที่กลายเป็นโดดเด่นเตะตามาก รวมถึงยังเป็นตัวละครที่ถูกวางให้ดูเหมือนจะเป็น LGTB อีกคนในเรื่องด้วย
นี่เป็นซีรีส์ที่วางตัวเรื่องไว้ยาวไกลกว่าที่เห็นเป็นแค่เด็กติดเกาะ ในซีซั่น 1 พึ่งเป็นแค่จุดเริ่มเรื่องเล็กน้อย ก่อนจะขยายไปยังอะไรที่ใหญ่โตกว่านั้นในตอนจบซีซั่น ซึ่งก็ทำให้เป็นปัญหากับซีซั่น 1 ไปในตัว เพราะหนังแทบจะไม่ได้เฉลยอะไรจริงจังเลย แถมยังมีปมตัวละครแต่ละตัวมาแบบแวบๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรมาก ยกเว้นแค่ของครามที่อาจจะมากกว่าเขาหน่อยเพราะเป็นปมหลักในตอนปิดซีซั่น ทำให้ซีซั่น 1 หลังจากตอน 2 ไปหนังก็เริ่มไม่มีอะไรสดใหม่ให้รู้สึกแบบต้องติดตามดูต่อเนื่องรวดเดียวนัก หนังวางเรื่องราวตอนจบแต่ละตอนไม่ได้ดี ออกจะธรรมดามากไปด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับซีรีส์ฝรั่งหรือเกาหลีในแนวทริลเลอร์ซึ่งต้องพยายามให้มีเซอร์ไพรส์ตอนจบทุกตอนดึงคนไปสู่เรื่องราวใหม่ๆ แต่เรื่องนี้กลับวนเวียนอยู่กับเรื่องราวเดิมๆ ไม่กี่อย่าง ออกแนวยืดเรื่องมากไปด้วยซ้ำ แถมหนังยังวางบทให้สถาณการณ์ต่างๆ ในเรื่องดูเบาไม่จริงจังสักเท่าไหร่ ออกแนวเด็กทะเลาะกันง่ายๆ แล้วก็จบ อาจจะเพราะการแสดงของตัวละครหลายตัวที่เล่นไม่ได้ดีจนฉุดกันก็ด้วย ทำให้ไม่รู้สึกอินไปกับเรื่องราวสักเท่าไหร่ รวมถึงแคลงใจในหลายๆ อย่างที่หนังนำเสนอออกมาด้วย ยกตัวอย่างการเก็บมือถือมารวมกันหาสัญญาณนอกเกาะ มีแผงโซล่าเซลล์แต่ไม่เคยเอามาใช้ให้เห็น การปีนผาตัวเปล่า ทั้งๆ ที่ทำบันไดก็ได้ รวมถึงการเอาดิ้นรนชีวิตรอดจากปัจจัย 5 ในเรื่องแทบไม่มีให้เห็น หนังละทิ้งข้ามพวกนี้ไปหมด แทนที่จะนำมาผูกโยงกับเรื่องการแบ่งฝักฝ่ายในเรื่อง ซึ่งพอเข้าใจว่าคงไม่อยากให้ดูซ้ำๆ แต่ที่จริงควรจะมีผูกโยงไว้บ้าง ไม่งั้นเรื่องราวจะขาดความน่าเชื่อถือได้ง่ายๆ
ส่วนตัวถือว่า “เคว้ง” ทำออกมาน่าผิดหวังถ้าเทียบกับทุนสร้างระดับ Netflix ซึ่งไม่รู้ว่าเท่าไหร่ แต่ผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่าเอื้อให้มากที่สุดตั้งแต่ทำซีรีส์ไทยมา ซึ่งหนังก็ใช้ประโยชน์ตรงนี้ในตอนแรกได้ดี แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการโชว์อะไรเพิ่มอีก รวมๆ แล้วก็ไม่ได้ออกมาดูอินเตอร์มาก ถ้าไม่บอกว่าทุน Netflix ก็ยังคิดว่าระดับงานค่ายดังๆ ในไทยก็ทำแบบนี้ได้เช่นกัน (ซึ่งบางเรื่องงานสร้างดูแพงกว่าด้วยซ้ำ) แต่ในฐานะที่เป็นเรื่องแรกก็ถือว่าเสมอตัวให้ผ่านได้ แนะนำให้ลองดูกันอยู่ ซึ่งหนังวางตัวว่าต้องทำต่อซีซั่น 2 ด้วยแน่ๆ แต่ก็ต้องรอเน็ตฟลิกซ์ไฟเขียวกันอีกครั้งครับ
ตอนจบซีซั่น 1 หนังเผยให้เห็นว่าครามเปิดประตูมิติไปโผล่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งกลายเป็นน้ำท่วมถึงที่นี่ พร้อมกับพบเพื่อนบนเกาะในอีกรูปแบบหนึ่ง