playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Fast & Furious: Spy Racers SS1-2 แอนิเมชั่นมันส์โม้โอเวอร์กว่าภาพยนตร์ที่ว่าโม้มากแล้วซะอีก!

  • คะแนนรีวิว SS1 - 7.5/10
    7.5/10
  • คะแนนรีวิว SS2 - 8/10
    8/10

สรุป

สรุปรีวิว SS1 เรื่องนี้มี 8 ตอนจบ ตอนละ 20 นาทีนิดๆ ดูแปบๆ จบแล้ว แต่เริ่มเรื่องอาจจะต้องพยายามทำใจลบล้างความเป็นการ์ตูนๆ เว่อร์ๆ ที่ดูแปลกจากเวอร์ชั่นคนแสดงสักหน่อย แต่พอเริ่มตอน 3 ไปแล้วเรื่องราวเริ่มจริงจังมากๆ รู้สึกว่าโอเคเลยล่ะกับการที่ Fast And Furious มีฉบับแอนิเมชั่นแบบนี้ แต่ก็ยังมีมุกเว่อร์ๆ หลุดโลกแบบการ์ตูนแก๊กอยู่ตลอดเรื่อง อันนี้คงแล้วแต่ว่าผู้ใหญ่ดูแล้วรับได้ไหม แต่เด็กๆ น่าจะชอบแน่ครับ

สรุปรีวิว SS2 สนุกเพลินมากๆ ไม่แพ้ภาคแรก อาจจะดีกว่าตรงไม่ต้องมาเสียเวลาปูเรื่องทีมกับครอบครัวอะไรอีกแล้วด้วย และจบแบบพร้อมไปต่ออีก ซึ่งก็คงมาทุกปีแน่นอน

Overall
7.8/10
7.8/10
Sending
User Review
4 (2 votes)

Pros

  • ยังคงหัวใจ Fast And Furious ไว้ทุกอย่าง
  • มีความมันส์เว่อร์ไม่แพ้แบบคนแสดง
  • แอนิเมชั่นภาพลื่นไหลดีไม่มีให้ติ
  • ฉากแข่งรถโม้โอเว่อร์ได้หลุดโลกกว่าภาพยนตร์
  • เสียงพากษ์ไทยเข้ากันได้ดีกับตัวละครฟังแทนการอ่านซับไเติลได้เลย

 

Cons

  • มุกตลกบางอย่างที่ยัดเยียดมาตลอดเรื่องจนน่ารำคาญ
  • กระสุนสีใช้ในเรื่องบ่อยจนดูเด็กๆ ไป ทั้งๆ ที่อย่างอื่นดูรุนแรงกว่า
  • ดอมมีบทในเรื่องน้อย
  • คาแรกเตอร์ทีมพระเอกบางคนดูเป็นเด็กแบบน่ารำคาญเกินไป
  • SS2 คาแรกเตอร์ตัวร้ายดูเป็นการ์ตูนเด็กมากไปหน่อย

ADBRO

Fast & Furious Spy Racers เร็วแรงทะลุนรก ซิ่งสยบโลก แอนิเมชั่น Netflix ที่ต่อยอดจาก Fast & Furious ฉบับโรง โดยได้ “วิน ดีเซล” มาอำนวยการสร้าง แล้วก็ร่วมพากษ์เสียงมีบทของดอมอยู่ในเรื่องด้วยจริงๆ โดยพระเอกในเรื่องนี้เป็นญาติกับดอม ซึ่งเขาฝันอยากเข้าสู่วงการสายลับรัฐบาลเหมือนกัน

 Fast & Furious: Spy Racers (2019) on IMDb
คะแนนเว็บ IMDB

ตัวอย่าง Fast & Furious Spy Racers SS1 เร็วแรงทะลุนรก ซิ่งสยบโลก

โทนี่ ทอเร็ตโต นักแข่งรถบนถนนกับก๊วนเพื่อนแสบที่มีดีกันคนละอย่าง ได้ถูกชักชวนให้เข้ามาทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาล โดยมีบอสเป็นนายหญิงชื่อรหัส “โนแวร์” (No Where) ให้งานเขาตามสืบแก๊งแข่งรถชิฟเตอร์ ที่กำลังตามหากุญแจทั้ง 5 ที่เมื่อรวมกันแล้วอาจจะเป็นภัยร้ายแรงระดับโลก

ด้วยความที่หนังต้นเรื่อง Fast And Furious ดังจนทำต่อมาเรื่อยๆ แล้วก็แตกเป็นภาค Hobbs And Shaw ที่พึ่งฉายโรงไปไม่นานนี้ นี่ก็เลยเป็นอีกหนึ่งในการแตกแฟรนไชนส์หลักออกมาเป็นซีรีส์แอนิเมชั่นลง Netflix ที่มีความตั้งใจเหมือนทำให้เด็กๆ ได้ดูหนังตระกูลนี้บ้าง 

แน่นอนว่าซีรีส์นี้ตั้งใจเซ็ตตัวละครลดอายุนักแข่งลงมาให้เด็กดูโดยเฉพาะ โดยการให้ “โทนี่ ทอเร็ตโต” ได้วาดลวดลายเป็นสายลับนักซิ่งรุ่นเยาว์กับกลุ่มเพื่อนที่มีสกิลแบบเดียวกับทีมดอมผู้ใหญ่ โดยมี “มากาเร็ต” เพื่อนสาวนักแต่งจูนรถซิ่งตัวฉกาจ “ซิสโก้” ช่างเครื่องยนต์ “ฟรอสตี้” แฮ็กเกอร์และนักประดิษฐ์ที่เด็กสุดในเรื่อง (13 ขวบ)

แต่ถึงแม้ตัวละครจะเด็กๆ หน้าหนังก็ดูเด็กๆ มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตัวเรื่องจะไม่มีความมันส์ในระดับจริงจังแบบภาคหนัง แอนิเมชั่น Fast & Furious เรื่องนี้ยังคงเรื่องราวแนวทางในแบบหนังโรงทุกประการ โดยเซ็ตเรื่องราวให้พระเอกต้องเจอกับลีกการแข่งรถสุดอันตราย ที่พอเป็นแอนิเมชั่นก็เลยโม้โอเวอร์ขึ้นไปอีกหลายเท่าด้วยการให้รถทั้งหลายในเรื่องมีอุปกรณ์สายลับกับอาวุธพิเศษไว้กำจัดคู่แข่งหลากหลายแบบ บางอย่างก็ดูธรรมดาอย่างลูกบอลสีทำให้เลอะกระจกมองไม่เห็น แต่ส่วนใหญ่คือแนวแบบหนังฆ่ากันตายได้เลยเหมือนหนัง Death Race อย่าง เลื่อยไฟฟ้า ล้อรถติดสว่านไฟฟ้า ฉมวกเจาะลากรถ แต่ว่าพอเป็นแอนิเมชั่นทางผู้สร้างก็เลยไม่ได้ต้องการฉายภาพความรุนแรงแบบเห็นใครตาย แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่หมวด KID เพราะเรต 13+ ขึ้นไป แต่ก็เป็นการแข่งที่วางเรื่องราวจริงจังถึงตายเหมือนภาคผู้ใหญ่ โดยตามเรื่องที่กำหนดไว้ว่าพระเอกต้องเจอกับแก๊งชิพเตอร์ที่มีผู้นำเป็นนักแข่งรถขั้นเทพชื่อ “ชาชิ” กับคู่หูโจรสาว “เลย์ล่า” ที่เจอหน้าโทนี่ครั้งแรกก็ไม่ถูกชะตา และตามบดขยี้เขาในการแข่งใต้ดินครั้งแรกของเรื่อง

ซึ่งความโม้ของ Fast And Furious ภาคหนังใหญ่เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่ามันโอเวอร์มากๆ ดังนั้นพอเป็นแอนิเมชั่นก็ต้องโม้ได้ไม่แพ้กัน หรือยิ่งกว่า ซึ่งในตอนช่วงแรกอาจจะยังดูแปลกๆ ขัดใจเพราะต้องมาเห็นเด็กวัยรุ่นตัวกระเปี๊ยกมาแข่งรถแบบผู้ใหญ่ แต่พอเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ สักตอน 3 ที่เป็นสนามแข่งในเหมืองนี่เริ่มรู้สึกว่า การที่เป็นแอนิเมชั่นก็ทำให้เรื่องราวเว่อร์ขึ้นไปได้อีกแบบไม่มีลิมิต ฉากแข่งรถมีทุกตอนและก็ยิ่งมันส์ขึ้นเรื่อยๆ กับเส้นทางการแข่งที่ทีมพระเอกต้องเจออุปสรรคยากขึ้นไปเรื่อยๆ แบบคาดเดาไม่ได้ และในหนังโรงก็ไม่มีทางทำได้ เพราะมันเว่อร์สุดๆ ขนาดที่คงไม่สามารถเซ็ตฉากแข่งรถจริงๆ พร้อมอุปกรณ์ไล่บี้กันนอกกฎได้แบบนั้น 

รถบิน
รถภาคนี้บินได้เป็นว่าเล่น ซึ่งจะว่าแอนิเมชั่นโม้ก็ไม่ได้เพราะฉบับโรงก็บินบ่อยเหมือนกัน

และไม่ใช่แค่การแข่งรถที่ดุเดือด แต่ในทุกการแข่งจะมีการจารกรรมครั้งใหญ่ของแก๊งชิฟเตอร์ซ้อนทับลงไปในตอนนั้นด้วย (ชิฟเตอร์ใช้การแข่งรถบังหน้าในการจารกรรมทุกครั้ง) ซึ่งก็โอเวอร์สุดๆ ไม่แพ้กัน อย่างการปล้นรถไฟความเร็วสูง โดยการตัดขบวนรถแล้วให้ฮอยกหนีไปทั้งขบวนอะไรแบบนี้ รวมถึงการต่อสู้ตัวๆ มีของเล่นสายลับช่วยเหลือเด็กพวกนี้เพิ่มด้วย

ในตัวเรื่องราวหลักยังคงแบบหนังฟาสภาคแรกๆ โดยให้ทีมพระเอกต้องแฝงเข้าไปเป็นผู้ช่วยของชิฟเตอร์ที่นำโดย ชาชิ และก็มีการทดสอบวัดใจหาความซื่อสัตย์ที่ทีมพระเอกต้องผ่านไปให้ได้เพื่อแฝงตัวสืบหาว่า ชาชิ กำลังขโมยอะไรกันแน่ ซึ่งบอกเลยว่าโม้ได้เท่าเทียมหนังโรงและก็เข้าท่ามากๆ กับสิ่งที่ยึดโลกได้ชั่วพริบตา! 

ซีรีส์เรื่องนี้ยังคงถอดแบบธีม “ครอบครัวต้องมาก่อน” จากต้นฉบับเป๊ะๆ ซึ่งทำให้โทนี่ต้องเป็นคนที่ยึดถือตรงนี้เหมือนดอม และก็ทำทุกอย่างแม้จะแหกกฎเพื่อรักษาครอบครัวไว้ รวมถึงการที่ได้ร่วมผจญภัยกับคู่แข่งฝีมือฉกาจ เสี่ยงตายด้วยกันจนสุดท้ายกลายเป็นมิตรภาพ และร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน

แม้ว่าเรื่องราวจะคงธีมต้นตำหรับไว้ได้หมด และก็ทำได้ดีมากเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ต้องบอกว่าแย่และไม่เข้าท่าในเรื่องคือพวกมุกตลกเด็กๆ ซ้ำซาก อย่างให้ตัวละครติดเครื่องดื่มน้ำหวาน ไอติม มุกตด มุกร้องเพลงทำตัวน่ารำคาญ ที่พยายามยัดเยียดเข้ามาซ้ำๆ ตลอดเวลาแบบแป๊กแล้วก็ยังไม่เลิก คือไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ดูแล้วไม่เข้าใจ แต่ในเรื่องเป็นการยัดเข้ามาแบบไม่เข้าท่ามากกว่า ทำให้ตัวละครในทีมพระเอกที่เอาแต่เล่นมุกพวกนี้ดูงี่เง่าและไม่เข้ากับเรื่องที่กำลังคอขาดบาดตาย โดยที่ตัวละครอย่างโทนี่ก็ไม่ได้มีเล่นมุกแบบนี้เลย แต่มุกตลกอื่นๆ นอกนั้นในเรื่องก็สนุกและขำได้แบบแนวหนังเด็กอย่าง Spy Kid โอเคเลยล่ะครับ

Fast & Furious Spy Racers
นักพากษ์ของ Fast & Furious Spy Racers

งานในส่วนแอนิเมชั่นของเรื่องนี้ดูลื่นไหลดีมาก ดีกว่าที่เห็นในเทรลเลอร์ตัวอย่าง และก็ไม่มีดรอปลงเลยตลอดเรื่อง ฉากแข่งรถไวๆ ก็ยังเห็นรายละเอียดชัดเจน ไม่มีภาพแอนิเมชั่นเฟรมเรตต่ำให้เห็นเลยแม้แต่น้อย รวมถึงงานพากษ์เสียงไทยที่ไม่ขัดหูเลย แนะนำว่าดูพากษ์ไทยเพลินกว่าจริงๆ ครับ และวิน ดีเซลก็มาให้เสียงกับบทดอมจริงๆ ในตอนแรกกับตอนจบของเรื่อง ที่มาน้อยแต่ยังมา และก็ทำให้นับเรื่องนี้เข้าไปในจักรวาล Fast And Furious ได้เช่นกันครับ

ซีรีส์เรื่องนี้มี 8 ตอนจบ ตอนละ 20 นาทีนิดๆ ดูแปบๆ จบแล้ว แต่เริ่มเรื่องอาจจะต้องพยายามทำใจลบล้างความเป็นการ์ตูนๆ เว่อร์ๆ ที่ดูแปลกจากเวอร์ชั่นคนแสดงสักหน่อย แต่พอเริ่มตอน 3 ไปแล้วเรื่องราวเริ่มจริงจังมากๆ ก็รู้สึกว่าโอเคเลยล่ะกับการที่ Fast And Furious มีฉบับแอนิเมชั่นแบบนี้ แต่ก็ยังมีมุกเว่อร์ๆ หลุดโลกแบบการ์ตูนแก๊กอยู่ตลอดเรื่อง อันนี้คงแล้วแต่ว่าผู้ใหญ่ดูแล้วรับได้ไหม แต่เด็กๆ น่าจะชอบแน่ครับ

ตัวซีรีส์นี้ถูกวางไว้ให้มีต่อไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับภาคโรงเช่นกันครับ ถ้าสนใจก็กดดูผ่าน Netflix ได้ที่นี่เลยครับ 

รีวิว Fast & Furious Spy Racers SS2 Rio

ตัวอย่าง Fast & Furious Spy Racers SS2 Rio

ผ่านไปไม่ถึงปีแอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็กลับมาอีกแล้ว แสดงว่าตัวงานสร้างน่าจะได้งบทำต่อเนื่องยาวๆ มาก่อนแน่นอน เพราะภาคนี้พอจบปุ๊บก็วางเรื่องไว้ต่อภาคต่อไปเลย เรียกว่ากลายเป็นแฟรนไชนส์ฮิตต่อเนื่องได้เหมือนเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ซึ่งแอนิเมชั่นนี้ก็ได้วินดีเซลมาเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย และเขาก็มาให้เสียงในตอน SS1 ด้วยนิดหน่อย ก็เรียกว่าเคลมได้เลยนี่เป็นงานสร้างแอนิเมชั่นที่ไม่ได้เผา ไม่ได้มั่วแบบเอาชื่อ Fast & Furious มาหากินแน่นอน และการันตีว่าความมันส์โม้โอเว่อร์ก็ยังอยู่ครบถ้วน แถมซีซั่น 2 มีตัวช่วยโม้โอเว่อร์มากขึ้นไปอีกหลายเท่า เมื่อทีมพระเอกได้เป็นสายลับเต็มตัว มีภารกิจไปนอกประเทศครั้งแรกที่ริโอ ของประเทศบราซิล เพื่อสืบหาความลับของยาปริศนาที่อาจจะใช้ครองโลกได้ โดยที่สายลับของโนวแวร์ที่ส่งไปก่อนหน้านี้หายตัวไป และอาจจะกลายเป็นผู้ทรยศก็เป็นได้

มาภาคนี้เรื่องไม่ได้รีรอที่จะมาปูอะไรอีกแล้ว เพราะทีมพระเอกได้เลื่อนขั้นมาเป็นสายลับแบบทางการเลย ไม่ต้องซ่อนตัวปิดบังความลับกับครอบครัวอีกแล้ว และก็เริ่มเข้าภารกิจกันตั้งแต่สตาร์ทเรื่อง ซึ่งในแต่ละตอนก็จะมีฉากแข่งรถไล้ขยี้กันโหดๆ แทบทุกตอน ซึ่งก็สนุกทุกครั้งที่ส่วนนี้เริ่มขึ้น และเรื่องก็เข้าใจหาทางให้มีฉากไล่ล่าด้วยรถแบบค่อนข้างสมเหตุผลเลยทีเดียว แม้อาจจะดูแปร่งๆ อยู่บ้าง คือแอบคิดเลยว่าบทสามารถพัฒนาไปเป็นเวอร์ชั่นหนังให้มีความสมจริงมากขึ้นก็ยังได้ แต่มาเป็นแอนิเมชั่นนี้ก็มีข้อดีกว่าในการคิดฉากแข่งที่โม้โอเว่อร์มากกว่าภาพยนตร์ได้หลายเท่า ซึ่งภาพยนตร์ก็โม้จนจะเป็นหนังแนว Super Hero ไปแล้วเหมือนกัน ดังนั้นไม่ผิดอะไรที่เรื่องนี้จะโม้เว่อร์กว่าได้อีก อย่างฉากซิ่งในตรอกซอกซอยของสลัมในริโอที่ซิ่งทะลุบ้านกำแพงต่างๆ เพื่อทำทางลัดเอาชนะคู่แข่งให้ได้ เป็นฉากที่ครีเอทได้มันส์มากจนแอบคิดว่าเวอร์ชั่นภาพยนตร์สักภาคต้องเอาไปใช้บ้างแน่นอน (แต่อาจจะต้องติดกันชนหนาๆ แบบพวกแนวเดดเรซซะก่อน) แต่น่าเสียดายที่ฉากจบไม่ได้เป็นฉากรถไล่ล่า แต่กลับเป็นเรือแทน ซึ่งก็สนุกอยู่ แต่มันไม่เหมือนฉากจบทุกภาคที่ต้องเป็นการเอารถไปชนะอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ซึ่งก็ถือว่าตอนจบแอบแผ่วลงผิดกับกลางๆ เรื่องที่บี้กันสุดๆ กว่า

ภาคนี้ส่วนที่เพิ่มมาจริงจังกว่าภาคก่อนคือพวกไอเทมสายลับที่ลูกทีมทุกคนได้มีโอกาสใช้มัน ซึ่งส่วนนี้แทบจะเป็นการ์ตูนเด็กๆ ไปเลยเพราะแต่ละอย่างดูบ๊องๆ เป็นของเล่นเด็กมาก อย่างหมากฝรั่งสายลับหลากรสทำหน้าที่ต่างกัน ผ้าคลุมล่องหน ซึ่งทำให้ช่วงใช้ไอเทมพวกนี้ดูเน้นเฮฮาเบาๆ มากกว่าส่วนของการแข่งรถของเรื่องที่ทำได้ดีกว่ามาก

ภาคนี้ได้เพิ่มบทบาทให้โนว์แวร์บอสของทีมพระเอกที่ภาคก่อนไม่ได้แสดงฝีมืออะไรให้เห็น มีฉากให้เธอได้โชว์สกิลเยอะ ซึ่งกลายเป็นว่าเธอเก่งโคตรๆ เก่งมาจากเหมือนเป็นอาจารย์ให้ทีมสายลับเด็กได้จริงๆ และเรื่องยังเปิดโอกาสให้มีฉากดวลกันจริงจังระหว่างเธอกับเอ็คโค่ลูกศิษย์สาวที่บทปูให้โชว์ว่าเก่งจนเกินหน้าตัวพระเอกซะอีก แต่ส่วนตัวละครอื่นๆ ยังคงสไตล์เดิม ใครเป็นอย่างไรก็เป็นแบบนั้นในภาคแรก ซึ่งบางคนก็ดูน่าคำราญอยู่เหมือนกัน อย่างฟรอสตี้ที่ชอบพูดถึงเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งบ่อย แถมยังเอามาเป็นไคลแม็กซ์ จนแอบสงสัยว่ามีสปอนเซอร์แฝงอะไรในเรื่องนี้หรือเปล่า

แต่ข้อด้อยที่เห็นคือตัวร้ายภาคนี้ดูการ์ตูนเด็กมากกว่าภาคแรกที่จริงจังกว่าเยอะ แม้จะพล็อตโหลออกแนวๆ ครองโลกอะไรคล้ายกันบ้าง แต่วิธีการกับตัวละครดูพยายามตลกอยู่ตลอดเวลาจนรู้สึกแปลกๆ แต่เอาว่าพอมันเป็นการ์ตูนแอนิชั่นอยู่แล้วก็ลืมๆ มองข้ามได้แหละครับ แค่เสียดายว่าน่าจะให้คาแรกเตอร์ดูจริงจังกว่านี้น่าจะดีกว่า

สรุปเลยว่าสนุกเพลินมากๆ ไม่แพ้ภาคแรก อาจจะดีกว่าตรงไม่ต้องมาเสียเวลาปูเรื่องทีมกับครอบครัวอะไรอีกแล้วด้วย และจบแบบพร้อมไปต่ออีก ซึ่งก็คงมาทุกปีแน่นอน

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!