รีวิว Hasmukh (ฮัสมุข) ฆ่าให้ขำ ฆาตกรเดี่ยวไมโครโฟนต่อเนื่องแหวกแนวเสียดสีสังคมอินเดีย
Hasmukh (ฮัสมุข)
สรุป
ซีรีส์ตลกดาร์คคอมเมดี้เสียดสีสังคมด้วยพล็อตฉีกแหวกแนว ตัวละครพระเอกแนวแอนตี้ฮีโร่เหมือน You กับ Dexter เรื่องราวมีหลากหลายอารมณ์ลงตัวบ้างไม่ลงตัวบ้าง อาจจะไม่ถึงขนาดพูดได้เต็มปากว่าดีมาก แต่ก็มีดีพอให้เชื้อชวนลองรับชมดูครับ อย่างน้อยถ้าใครสงสัยว่าเรื่องมันผสมกันได้ยังไงระหว่างตลกกับฆาตกรต่อเนื่องก็ลองทดสอบดูช่วง 15 นาทีแรกของเรื่องดูก็ได้ เพราะจะเข้าใจได้ทันทีครับ
Overall
7/10User Review
( vote)Pros
- พล็อตแหวกแนวจนออกแนวหนังคัลท์ก็ว่าได้
- พระเอกแนวแอนตี้ฮีโร่มีมุมดีๆ อยู่ในตัว
- ฉากฆ่าเลือดสาดและมีความโหดอยู่พอตัว
- เรื่องราวมิตรภาพการเดินทางคว้าความฝันของคนชนบทในเมืองหลวงมุมไบ
- ปมดราม่าที่แอบซึ้งทำได้ดีเกินหน้าแนวตลกหรือฆาตกรรมซะอีก
- มุกตลกเสียดวิถีชีวิตสังคมที่แม้จะไม่ตลกมาก แต่แอบเห็นด้วยและเข้าใจถ้าคนตามทัน
- นางเอกเป็นฝรั่งจ๋าและพูดอินเดียไม่ได้เลย แต่มีเหตุผลรองรับว่าทำไม
Cons
- บทวางให้พระเอกฆ่าถี่มากเกินไปจนทำให้บทหาเหตุผลมารองรับได้ไม่หนักแน่นพอจนถึงขั้นบทหละหลวม
- เรื่องราวจงใจให้ฝั่งตำรวจหละหลวมไม่กดดันติดตามดคีจนเกินไป
- มุกตลกทำได้แค่หัวเราะเบาๆ และอิงกับสังคมอินเดียเยอะจนคนนอกอาจจะไม่เข้าใจในทันที
- ตัวเรื่องไม่เคลียร์ให้จบหมด แต่ไปต่อซีซั่น 2
Hasmukh (ฮัสมุข) ฆ่าให้ขำ ซีรีส์อินเดียพล็อตแหวกแนวแบบไม่เคยมีมาก่อนในโลกแน่นอน ด้วยการจับเรื่องตลกเดี่ยวไมค์โครโฟนเข้ากับฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killer) ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทายของคนเขียนบทมากกับการยำ 2 เรื่องนี้มาไว้ด้วยให้ดีได้ยังไง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาเห็นถึงความพยายามที่แปลก แหวกแนว มีอะไรที่คาดไม่ถึงมากมายในซีรีส์หนังอินเดียของ Netflix เรื่องนี้ แม้จะไม่ถึงขนาดดีลงตัว แต่ก็มีดีพอให้เชื้อชวนลองรับชมดูครับ
ตัวอย่าง Hasmukh (ฮัสมุข) ฆ่าให้ขำ
เรื่องราวเริ่มต้นที่ “ฮัสมุข” ตัวเอกของเรื่องที่เป็นนักเรียนฝึกหัดของ “คุลาตี” นักเล่าเรื่องตลกที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง โดยมี “จิมมี่” นักปั้นดาว เป็นผู้จัดการส่วนตัว วันหนึ่งด้วยความแค้นที่ถูกกดขี่ดูถูกจากอาจารย์มานาน เขาจึงพลั้งมือฆ่าคุลาตีไป แล้วก็ได้ขึ้นแสดงสดแทนด้วยอารมณ์ที่ต่างออกไปจากตัวตนปกติของเขา แต่ก็กลายเรื่องขำขันโดนใจของผู้ชมอย่างไม่น่าเชื่อ จิมมี่รู้เรื่องนี้แล้วเห็นพรสวรรค์ของเขา จึงร่วมมือกับฮัสมุขวางแผนฆ่าคนก่อนการแสดง เพื่อเป้าหมายไปสู่ฝันของการเป็นนักเล่าเรื่องตลกชื่อดังแห่งยุค ผ่านรายการ “ราชาเรื่องตลก” ที่เป็นเกมโชว์เล่าเรื่องตลกเรตติ้งสูงสุดของอินเดีย ที่ซึ่งมี “KK” เจ้าของตำแหน่งแชมป์หลายสมัยยึดครองอยู่ และไม่ยอมให้ใครมาแย่งชิงไปแน่นอน
นี่เป็นหนังที่เปิดเรื่องราวมาอย่างไวไม่ต้องรีรอปูเรื่องราวอะไรทั้งสิ้น เพราะแค่ 7 นาทีแรกตัวเอกฮัสมุขก็เข้าสู่ด้านมืดไปเรียบร้อยแล้วด้วยการเชือดอาจารย์ของเขา และเริ่มเข้าสู่ช่วงของการเล่าเรื่องตลกดาร์คๆ ทันที สำหรับคนที่สงสัยว่าเรื่องนี้มันผสม 2 แนวได้ยังไงให้ลองดูแค่ช่วงแรกจะเข้าใจได้ในทันที ซึ่งในแนวทางของหนังสยองขวัญก็ทำได้ดีพอตัว ฉากฆ่าเปิดเรื่องที่ให้เห็นปาดคอเลือดกระฉูดกันจะๆ ส่วนแนวตลกก็เป็นแบบดาร์คคอเมดี้ โดยฮัสมุขตัวเอกจะเล่าสิ่งที่ตัวเองเจ็บแค้นจากคนที่พึ่งฆ่าไปแปลงมาเป็นมุกตลกดราม่าเสียดสีสังคม ซึ่งกลายเป็นว่าผู้ฟังรู้สึกทัชโดนใจกับสิ่งที่เขาเล่า เพราะฮัสมุขเองก็เป็นคนธรรมดาชนชั้นล่างของอินเดียที่ถูกดขี่จากความอยุติธรรมหลายรูปแบบในสังคม ที่คนอื่นเองก็คงพบเจอได้เช่นเดียวกัน และก็กลายมาเป็นมุกตลกเสียดสีสังคมประจำตัวฮัซมุขในเรื่องนี้
แต่ไม่ใช่ว่าฮัสมุขจะสนุกไปสิ่งที่ทำ หนังไม่ได้วางให้ฮัสมุขเป็นคนโหดร้ายโดยสันดาน แถมเนื้อแท้ยังเป็นคนจิตใจดี ตัวเรื่องพยายามปูให้เห็นความสมเหตุผลของการฆ่าแต่ละครั้งในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญบ้าง เรื่องจังหวะเหมาะเจาะบ้าง โดยมีจิมมี่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งฮัสมุขเองแม้จะเห็นภาพหลอนของคนที่ฆ่าตายไปตลอดเวลา แต่ได้จิมมี่มาเป็นคนช่วยผลักดันให้มองข้ามเรื่องกวนใจต่างๆ ไป เพื่อไปสู่ฝันการเป็นนักเล่าเรื่องตลกชื่อดังของอินเดีย ที่เป็นความฝันของจิมมี่เช่นเดียวกันในการปั้นดาวให้สำเร็จ หนังวางบทเด่นให้จิมมี่ส่งเสริมฮัสมุขในแบบทั้งเพื่อนรักเพื่อนร่วมเส้นทางด้านมืด ที่แม้ฮัสมุขหมดหวังก็มีจิมมี่มาช่วยปลุกไฟ และจิมมี่เองก็ได้น้ำใจไมตรีจากฮัสมุขมาช่วยเขาเช่นกัน ซึ่งก็เป็นเนื้อแท้ตัวตนของกันและกัน ทั้งจิมมี่กับฮัสมุขต่างก็เป็นคนชั้นล่างของสังคมชนบทที่ต้องตะกายหาความฝันเพื่อชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในเมืองเล็กๆ ด้วยการก้าวไปสู่ “มุมไบ” อันเป็นฉากใหญ่ในเรื่องนี้ และก็มีตัวละครใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเรื่องราวให้ลึกยิ่งขึ้นไปกว่าช่วงแรกอีกชั้น
หนังหยิบโลกของการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อเอาตัวรอดในมุมไบมาไว้ในเรื่องได้อย่างแยบยล ผ่านการเดินทางของฮัสมุขกับจิมมี่เป็นคนบ้านนอกของอินเดีย ที่แรกเริ่มดูตื่นตาตื่นใจกับสิ่งใหม่ๆ แต่พอเวลาผ่านไปทั้งคู่ก็ได้เห็นธาตุแท้ของคนในสังคมเมืองหลวงที่พร้อมจะฉกฉวยตักตวงความสำเร็จจากเขาทั้งคู่อย่างไม่ปราณี ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นเหยื่อให้ฮัสมุขใช้ฆ่าเพื่อสร้างอารมณ์ให้ขำ ผ่านเกมโชว์ “ราชาเรื่องตลก” ที่เชิญฮัสมุขเข้ามาดันเรตติ้งให้พุ่งขึ้นเป็นผู้แข่งขันพิเศษ นั่นทำให้ฮัสมุขต้องเริ่มฆ่าถี่ขึ้นจนกลายเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในชื่อ “นักฆ่าสายเข็มขัด” ซึ่งเป็นอาวุธที่เขาใช้ต่อเนื่องมาตลอด
เรื่องราวช่วงมุมไบนี้จะมีตัวละครฝั่งตำรวจเข้ามาสืบสวนจริงจังและพุ่งเป้าไปที่ฮัสมุขกับจิมมี่ แต่ก็ต้องเจอกับการปัดคดีตกแบบลวกๆ ของหัวหน้าที่กำลังใกล้เกษียนอายุราชการอยู่รอมร่อ และก็ไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นคดีใหญ่โตจนปิดไม่ลงทำให้กระทบกับเงินบำนาญที่หวังไว้ ซึ่งเป็นมุกที่แอบเสียดสีวงการตำรวจอินเดียที่ถูกขึ้นชื่อว่าไม่ทำงาน จนทำให้เกิดคดีอาชญากรรมสูงมากมายติดอันดับต้นๆ ของโลก (โดยเฉพาะคดีข่มขืน)
แม้หนังจะนำเสนอเรื่องราวที่ตัวเอกทั้งคู่ถูกกระทำจนต้องปลดปล่อยด้านมืดออกมา แต่ว่าตัวเรื่องก็ไม่ได้นำเสนอไปในทางเครียดอะไรเลย แต่เป็นในทำนองดราม่าเสียดสีแอบมีขำๆ ซะมากกว่า แล้วก็ยังมีส่วนเสริมที่เป็นมุมแอบซึ้งแนวดราม่ากับความรัก การทำงาน ที่ฮัสมุขกับจิมมี่ต้องพบเจอ รวมถึงตัวละครอื่นที่เพิ่มเข้ามาอย่าง สาวฝรั่งที่มาหลงชอบฮัสมุขเป็นเหมือนนางเอกของเรื่องในซีซั่นนี้ ซึ่งตอนเปิดตัวครั้งแรกก็อาจจะงงๆ ดูขัดตาว่าทำไมหนังอินเดียมีสาวฝรั่งที่ในบทพูดอินเดียไม่ได้ด้วยมาเล่นในเรื่องนี้ แต่พอดูไปจะเริ่มเข้าใจว่าหนังใส่ตัวละครคนต่างชาติที่หลงเข้ามาหาความฝันในอินเดียเช่นเดียวกันกับพระเอก และด้วยความที่ภาษาอังกฤษในอินเดียถูกใช้เป็นภาษาราชการ (รัฐธรรมนูญอินเดียได้กำหนดให้ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ เป็นสองภาษาที่ใช้ในการติดต่อกับรัฐบาลกลาง) ก็เป็นเหมือนตัววัดว่าใครมีความรู้การศึกษาที่ดีกว่ากัน ซึ่งฮัซมุกเป็นคนบ้านนอกเรียนน้อยก็เป็นปมกำแพงภาษาทำให้เธอกลายเป็นเหมือนที่พักใจให้ฮัสมุขได้ระบายบาปในใจของตัวเองออกมาหมดเปลือกต่อหน้าผู้หญิงที่รัก โดยที่เธอเองก็ไม่เข้าใจเลยสักนิดว่าฮัสมุขพูดอะไรอยู่ กลายเป็นซีนที่ทำออกมาได้ซึ้งๆ ลงตัวดีพอสมควร และก็ทำให้คนดูได้เข้าใจการใส่ตัวละครนางเอกฝรั่งจ๋าแบบนี้ลงมาในเรื่องได้สมเหตุผลมีความหมายกับเรื่องราวต่อไป
ในส่วนของการเล่าเรื่องตลกก็เป็นส่วนสำคัญของเรื่องเช่นกัน เพราะทุกตอนจะต้องมีช่วงเวลาเล่ามุกใหม่ๆ ทั้งของฮัสมุขกับคู่แข่งในรายการได้มาประชันกัน หนังให้ฮัสมุขมีคู่แข่งแชมป์ของรายการอย่าง KK กับทีมงานเป็นตัวร้ายของเรื่องที่พยายามสกัดทุกทางไม่ให้ฮัสมุขขึ้นมาท้าชิงกับเขาได้ ซึ่งจะว่าไปมุกตลกของ KK ฟังแล้วมีความขำกว่าของฮัสมุกเสียด้วยซ้ำ แต่ก็อาจจะเพราะมุกของ KK จะเป็นแนวสากลกว่า อย่างมุกถุงยางเป็นอุปกรณ์ฆ่าเด็ก อันนี้คนดูคงเคยได้ยินกันมาบ้างทำให้ฟังแล้วเข้าใจเก็ทมากกว่า ส่วนของฮัสมุขจะเป็นแนวเสียดสีสังคม ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว รวมไปถึงการเล่นมุกแอบด่านักการเมืองของประเทศอยู่บ่อยๆ ซึ่งเราไม่ใช่คนอินเดียอาจจะเก็ทบ้างไม่เก็ทบ้าง แต่เชื่อว่าคนอินเดียเองฟังแล้วน่าจะขำและสะท้อนใจกับมุกเสียดสีจากเรื่องจริงของประเทศเขา ซึ่งหนังวางไว้ให้ฮัสมุขเป็นคนที่มีพื้นฐานนิสัยดี แต่ชีวิตถูกดขี่มาตลอด ทำให้เขาเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างและนำมาเป็นสคิปต์มุกตลกของตัวเอง ต่างกับ KK ที่ต้องพึ่งทีมงานคิดมุกตลกให้ แต่ก็ไม่ใช่ว่า KK จะเป็นตัวละครที่ร้ายเพียงด้านเดียว หนังก็มีเรื่องราวปมปัญหาที่ KK ไม่สามารถคิดมุกตลกออกมาได้อีกแล้วเข้ามาด้วย ซึ่งก็เกี่ยวกับการเข้ามาเส้นทางฝันที่ KK ก็เคยเป็นเหมือนฮัสมุขมาก่อนจะกลายเป็นคนทำงานดิ้นรนเพื่อเงิน จนไม่เหลือความคิดสร้างสรรใดๆ อีกแล้วในชีวิต
แม้หนังจะเต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์ที่สอดแทรกเข้ามา และก็ทำส่วนของดราม่าได้ดีไม่ใช่น้อย อาจจะเรียกว่าไปๆ มาๆ ดีกว่าส่วนอื่นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเลยคือเส้นเรื่องการที่ให้ฮัสมุขต้องฆ่าบ่อยมากไปกับการเข้าแข่งเกมโชว์ทุกครั้ง ทำให้เรื่องราวเหมือนถูกบีบให้ไปด้านอื่นได้แปบเดียวก็ต้องวกกลับมาหาทางให้พระเอกฆ่าคนต่อเนื่องมากจนเกินไปหน่อย ซึ่งพอบทบีบคั้นให้มาทางนี้ อะไรหลายๆ อย่างในช่วงหลัง การฆ่าต่อเนื่องก็เริ่มดูไม่ค่อยเข้าท่าสักเท่าไหร่ แม้จะพยายามวางให้มีเหตุผลทุกครั้ง แต่ก็ไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่เลย รวมถึงตอนทิ้งศพที่เป็นหลักฐานให้ตำรวจสาวกลับมาได้ง่าย หนังไม่ได้ทำให้คดีฆาตกรรมของฮัสมุขดูเนี๊ยบอะไรเลย แต่กลับเป็นแนวชุ่ยๆ สะเพร่าซะมากกว่า ซึ่งอาจจะพอถูไถไปว่าจิมมี่ที่รับหน้าที่จัดการศพเป็นคนไม่ละเอียดรอบคอบอยู่แล้วเลยเป็นแบบนี้ แต่นั่นก็ทำให้เรื่องดูไม่สมเหตุผลมากเมื่อฮัสมุขรอดง่ายเกินไปติดๆ กัน แม้จะวางบทให้สารวัตรหนุ่มไฟแรงเฝ้าสงสัย แต่ก็ทำได้แค่นั้น ซึ่งมันผิดวิสัยตำรวจจนเกินไปกับคดีฆาตกรรมที่หละหลวมขนาดนี้ ซึ่งเทียบกันแล้ว ฮัซมุขเองก็เหมือนตัวละครแอนตี้ฮีโร่อย่าง โจในเรื่อง You หรือ Dexter ที่เป็นต้นแบบแนวฆาตกรต่อเนื่องที่มีบุคลิกเป็นคนดีอยู่ลึกๆ เช่นกัน แต่สองเรื่องนั้นวางบทได้สมเหตุผลกับเรื่องราวมากกว่า แม้จะมีแถๆ บ้างก็ยังไม่ตื้นขนาดที่ฮัซมุกทำออกมา
ตัวเรื่องวางบทสรุปไว้ที่การแข่งรอบไฟนอลชิงแชมป์ราชาแห่งเรื่องตลกในตอน 10 ซึ่งก็จบปมของเรื่องราวที่วางไว้ในการแข่งได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ทิ้งปมอื่นที่ค้างไว้อีกหลายอย่างไว้ไปต่อซีซั่น 2 ซึ่งถ้ามีโอกาสทำต่อก็น่าจะติดตามดูอยู่ครับ เพราะตัวซีรีส์แม้จะไม่ถึงขั้นว่าดีมาก แต่ก็มีส่วนดีหลายอย่างในเรื่องที่แปลกใหม่ และผู้สร้างทำงานออกมาอย่างตั้งใจ เห็นในความพยายามฉีกแนวเรื่องออกมา แล้วไม่ใช่แค่แนวเรื่องจากหน้าหนัง แต่ยังมีส่วนของดราม่าเสียดสีสังคมที่สอดแทรกเข้ามาได้อย่างดี แม้จะไม่ใช่ส่วนหลักของเรื่อง แต่ก็แอบเด่นจนรู้สึกว่าตัวซีรีส์มีดีกว่าที่คาดคิดครับ