รีวิว 3 Body Problem ดาวซานถี่ (Netflix) ดัดแปลงนิยายจีนขึ้นหิ้งไปเป็นสไตล์ซีรีส์ฝรั่งแบบดาดๆ
3 Body Problem
Summary
ซีรีส์ไซไฟจากผู้สร้าง Game of Thrones ที่ดัดแปลงนิยายรางวัลฮิวโกของจีนแท้ๆ ไปเป็นตัวละครตะวันตกแทบทั้งหมด โดยคงไว้แค่โครงเรื่องเหตุการณ์สำคัญกับตัวละครสาวจีนต้นเรื่องไว้บางส่วน ซึ่งจุดนี้ทำได้ดี แต่ก็สูญเสียเนื้อหาวิทยาศาสตร์การเมืองของจีนลึกๆ ไปทั้งหมด และผู้ชมซีรีส์ก็ไม่สามารถไปอ่านนิยายต่อได้เลย นอกจากนี้ตัวละครที่สร้างมาใหม่ก็กลายเป็นกลุ่มนักวิทย์ขี้เมาที่เต็มไปด้วยปัญหาชีวิตกับความรักแบบฝรั่ง ซึ่งเป็นส่วนเกินจำเป็นที่เรื่องพยายามบิ้วเล่าไว้ตลอดเรื่อง ทำให้คุณค่าต้นฉบับถูกลดระดับลงอย่างมากครับ (เวอร์ชั่นซีรีส์ของจีนใน WeTV ปีก่อน ตรงกับต้นฉบับมากกว่า)
Overall
6.5/10User Review
( votes)Pros
- จากผู้สร้าง Game of Thrones โดยดัดแปลงจากนิยายรางวัลฮิวโกของจีน
- สืบสวนแบบไซไฟในวงการวิทยาศาสตร์
- ฉากใช้ CG สวย
- มีพากย์ไทย
Cons
- เปลี่ยนตัวละครจีนในเรื่องแทบทั้งหมดไปเป็นฝรั่งแล้วแย่ลง
- ขาดการลงรายละเอียดแบบนิยายจนกลายเป็นจุดไม่สมเหตุผลเยอะ
- ยุบเนื้อหานิยายลงมาจนสั้นมาก (เล่มแรกจบใน 5 ตอน)
- ใส่ดราม่าชีวิตรักมามากเกิน
3 Body Problem ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลก ซีรีส์แนวไซไฟ 8 ตอนจากนิยายดังของประเทศจีน สร้างโดย David Benioff ผู้สร้าง Game of Thrones เรื่องราวของการตัดสินใจครั้งสำคัญของหญิงสาวคนหนึ่งในประเทศจีนช่วงยุค 1960 ส่งผลมาถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 5 คน ที่ต้องกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ประวัติผู้เขียนนิยายจากสำนักพิมพ์ไทย
หลิวฉือซิน เกิดที่เป่ยจิงในปี ค.ศ. 1963 จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาไฟฟ้าพลังน้ำ ปี ค.ศ. 1985 เป็นวิศวกรประจำโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่มณฑลซานซี เริ่มเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในปี ค.ศ. 1989 มีผลงานเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ขนาดยาว 9 เล่ม ขนาดกลาง 16 เล่ม และ เรื่องสั้น 18 เรื่อง ปี ค.ศ.2015 ได้รับรางวัลฮูโก ครั้งที่ 73 จากเรื่อง The Three-body Problem ถือเป็นนักเขียนชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และยังได้รางวัลทางวรรณกรรมมากมายจากในประเทศ ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มือหนึ่งของจีน
รีวิวซีรีส์ 3 Body Problem ดาวซานถี่ Netflix (ไม่สปอยล์ส่วนสำคัญ)
ซีรีส์เรื่องนี้เคยสร้างมาก่อนแล้วจากจีน โดยเป็นทั้งหนังเมื่อปี 2016 และซีรีส์ลงใน WeTV 30 ตอนเมื่อปี 2023 จากนิยายดังระดับโลกของจีนที่ได้รางวัลฮิวโก รางวัลเกียรติยศสูงสุดในวงการวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ (คู่กับเนบิวล่าอวอร์ดที่จัดโดยอีกสมาคม) ซึ่งคณะกรรมการก็คือคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน นิยายที่ได้รางวัลก็จะต้องมีลักษณะกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ให้ยึดถือได้ ไม่ใช่แนวแฟนตาซีล้วนๆ ซึ่งหลายอย่างก็กลายมาเป็นการแก้ปัญหาสังคมหรือแนวคิดปฏิบัติในโลกจริง บางอย่างก็ถูกยึดถือต่อไปในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องอื่นอย่าง กฏ 3 ข้อของหุ่นยนต์ของไอแซค อาซิมอฟ ซึ่งเรื่องนี้เองต้นฉบับก็เต็มไปด้วยคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหามีความลึกซึ้งถึงการเมืองจีนโดยจุดเริ่มคือช่วงที่มียุวชนแดง (เรดการ์ด) ของ เหมา เจ๋อตุง ไล่มาจนถึงปัจจุบัน แม้เนื้อหาจะเกี่ยวข้องถึงระดับโลก แต่เรื่องราวตัวละครก็อยู่ในจีนแทบทั้งหมด แต่ความโดดเด่นของมันก็สามารถเจาะเข้าไปยังตลาดตะวันตกได้ จนแม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กับ บารัก โอบาม่า ก็ยังแนะนำให้อ่าน ซึ่งในไทยเองก็มีแปลครบ 3 เล่ม เล่ม 2-3 ยังสามารถหาซื้อทางออนไลน์ได้ แม้สำนักพิมพ์โพสต์พับลิชชิงปิดตัวไปแล้ว ซึ่งผู้เขียนอ่านเล่ม 1 ก่อนดูซีรีส์ และเขียนรีวิวนี้โดยอ้างอิงถึงสิ่งที่ซีรีส์นี้ดัดแปลงไปเกือบหมด โดยจะไม่สปอยล์เนื้อหาหลักสำคัญของเรื่องครับ
ซีรีส์เล่าเรื่องของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 5 คนที่ต้องเผชิญกับปริศนาลึกลับ เมื่อเครื่องมือกับคอมพิวเตอร์ทางวิทยาศาสตร์เกิดผิดเพี้ยนกันไปทั่วโลก จนคำตอบนั้นยึดถือไม่ได้ กลายเป็นความสิ้นหวังในวงการวิทยาศาสตร์ นักวิทย์ทั่วโลกก็ฆ่าตัวตายปริศนาอย่างต่อเนื่อง และมีตัวเลขนับถอยหลังปรากฏในบ้านของผู้ตาย ซึ่งปริศนานี้ก็เกิดกับตัวเอกอ็อกกี้ (Eiza González) สาวผู้กำลังสร้างธุรกิจเส้นใยนาโนกับมหาเศรษฐีใหญ่ของโลก โดยเป็นตัวเลขนับถอยหลังปรากฏขึ้นมาในตาและรบกวนชีวิตจิตใจเป็นอย่างมาก จนเธอต้องหาทางหยุดมันแม้จะต้องแลกกับชีวิตการทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เพื่อนที่เหลือก็พยายามสืบค้นการตายปริศนาของอาจารย์ที่ฆ่าตัวตายแล้วเชื่อมโยงกับเกมประหลาดที่พาผู้เล่นเข้าไปสู่โลกจำลองการแก้ปัญหาโลกในเกมที่มีดวงอาทิตย์ 3 ดวงคอยทำลายล้างอารยธรมอยู่ตลอดเวลา
ซีรีส์หยิบเอาแค่โครงเรื่องมาโดยปริศนาต่างๆ ในเรื่องคือส่วนไฮไลท์หลักที่นิยายเล่ม 1 จะค่อยๆ เฉลยไปจนจบ แต่ซีรีส์จะเฉลยทั้งหมดเลยใน 5 ตอน จากนั้นดึงบางส่วนของนิยายเล่มต่อไปมาใช้ โดยส่วนที่ดัดแปลงแตกต่างไปเลยอย่างสิ้นเชิงคือตัวละครแทบทั้งหมดในเรื่องเป็นคนตะวันตก มีคนจีนก็ยังเป็นจีนที่อาศัยเกิดในอังกฤษ ซึ่งนี่คือจุดที่ผู้ที่รับชมซีรีส์จบแล้วไม่สามารถไปอ่านนิยายต่อได้เลย เพราะตัวละครดำเนินเรื่องหลักจะไม่ตรงกันทั้งหมด ซึ่งนิยายจีนใช้การดำเนินเรื่องโดยตัวละครหลัก 2 คนคือ นักวิทย์สาวในยุคอดีตยุคเรดการ์ดสลับกับนักวิทย์หนุ่มในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับปริศนาตัวเลขในตาแบบเดียวกัน ซึ่งนิยายลงลึกถึงวงการวิทยาศาสตร์จีนโดยมีประเด็นการเมืองสังคมเข้ามาผลักดันเรื่องราวการสืบสวนนี้โดยตรง ส่วนซีรีส์นี้เป็นนำเรื่องราวมาแค่ตัวละครนักวิทย์สาวต้นเรื่องเท่านั้น แต่ก็ยังตัดบทออกไปเยอะเป็นเพียงแค่ตัวละครสมทบ ไม่ใช่ตัวหลักแบบในนิยายซึ่งมีความสำคัญมากกว่า
ในส่วนของการตัดตัวละครไปเป็นคนตะวันตกสามารถเข้าใจได้ แต่ว่าตัวละครทั้งหมดกลายเป็นกลุ่มนักวิทย์ชอบกินเหล้า ขี้เมา ดูดปุ๊นกัญชา มั่วหญิงวันไนท์สแตนด์ แม้เรื่องจะพยายามให้พวกเขาเก่งกาจเป็นกลุ่มนักวิทย์ระดับโลก แต่ว่ามันกลับดูตรงข้ามกับเนื้อหาหลักที่ต้องยึดถือไว้เรื่องปัญหาของวิทยาศาสตร์ล่มสลาย โดยเรื่องกลายเป็นส่วนผสมแบบดาษดื่นของซีรีส์ฝรั่งทั่วไป มีความรักแอบชอบเพื่อนในกลุ่มที่ใส่มาเป็นส่วนสำคัญอยู่ตลอดเรื่องเพียงเพื่อมาบิ้วดราม่าตอนท้าย ความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ ที่ทำงานกันละด้านและต้องมารวมตัวกันเมื่อเพื่อนคนหนึ่งป่วยหนักใกล้ตาย หรืออุดมการณ์ของตัวเอกที่ขัดแย้งทางธุรกิจกลายเป็นเรื่องการต่อสู้กับนายทุน บทบาทการต่อสู้กับเอเลี่ยนก็กลายเป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตชิลๆ ไม่ใช่กองทัพ มีองค์กรที่ตั้งมาเพื่อต่อสู้กับเอเลี่ยน แต่ก็ดูเหมือนหน่วยงานสายลับมากกว่าสงครามชี้เป็นชี้ตายมนุษย์ชาติแบบนี้
ด้วยความที่เรื่องข้ามประเด็นการเล่ารายละเอียดในต้นฉบับไปเกือบหมดเลย ทำให้บทมีช่องโหว่แปลกๆ อย่างเครื่องเกมที่กลุ่มตัวเอกเล่นก็ล้ำเกินการมีอยู่ในยุคปัจจุบันไปเป็นร้อยปีเลย (ในนิยายคือเครื่องเกมที่มีปกติ) แต่นักวิทย์พวกนี้กลับเอาแต่เล่นเกม ไม่ได้สนใจนำมาคิดวิเคราะห์เปิดเผยให้สังคมรู้ว่ามีของอย่างนี้อยู่ในโลก ซึ่งจะช่วยพิสูจน์เรื่องเอเลี่ยนได้ตั้งแต่แรก รัฐบาลอังกฤษก็จ้างนักสืบเก่งกาจเพียงคนเดียวมาทำคดี ซึ่งเล่นโดย Benedict Wong นักแสดงขาประจำชาวจีนที่เล่นติดๆ กันจนดูเหมือนผู้สร้างอยากขายแค่เอกลักษณ์เด๋อด๋าของนักแสดงจากบทบาทภาพลักษณ์ในมาร์เวลที่คนดูจดจำติดตามา ทำให้บทบาทของเขาดูโดดๆ ออกมาไม่ค่อยเหมือนนักสืบคดีสำคัญเข้ากับเรื่องเท่าไหร่ โดยมีบอสใหญ่ โทมัส เวด เป็นตัวละครที่มีนิสัยชอบใช้ความรุนแรงเด็ดขาดแก้ปัญหา ซึ่งเรื่องก็ผูกให้เป็นปมขัดแย้งกับตัวเอกนักวิทย์โลกสวย แต่ยอมทำงานเพราะมีเขาเพียงคนเดียวที่มีอำนาจกู้โลก ที่สำคัญคือตัวเรื่องแทบไม่มีเอ่ยถึงอเมริกาเลย มีแค่ฉากที่ประชุม UN ที่มาเกี่ยวข้องเป็นฉากสั้นๆ แล้วใช้สำนักงานกู้โลกอยู่ในปราสาทเก่าของอังกฤษ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้ไกลจากสังคมที่คนกำลังวุ่นวาย ประเด็นเรื่องธรรมชาติความคิดของเอเลี่ยนที่สูงส่งแบบพระเจ้าก็ขาดการอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจว่าทำไมกลัวความคิดมนุษย์มากขนาดนี้ (ดาวซานถี่มีแต่ความคิดสื่อสารกันโดยตรง ไม่มีคำพูด ทำให้เป็นสังคมที่โกหกไม่ได้) ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ชมที่ไม่คิดมากก็คงมองข้ามไปได้หมด แต่มันก็ทำให้ต้นฉบับรางวัลฮิวโกถูกลดระดับลงเป็นซีรีส์ฝรั่งดาดๆ ทั่วไปเลย
แต่ยังดีที่การเจาะลึกเนื้อหาตามนิยายก็ยังมีความเข้มข้นอยู่ใน 5 ตอนแรก ในจุดที่ทุกอย่างยังเต็มไปด้วยปริศนาความลับ เรื่องดำเนินไปในแนวสืบสวนหาคำอธิบายเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าหากัน โดยมีเรื่องของตัวเอกนักวิทย์หญิงชาวจีนต้นเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่คงอยู่เหมือนต้นฉบับราวๆ 70% ทำให้ประเด็นหลักของเรื่องยังเข้มข้นจนน่าพอใจ มีจุดพีคเป็นเหตุการณ์ขนาดใหญ่ติดๆ กันในตอน 5 แต่ว่าพอหลังจากนั้นเรื่องกลับลดระดับลงเป็นแนวทางใช้วิทยาศาสตร์ปัจจุบันวางแผนต่อสู้กับเอเลี่ยน เน้นดราม่าพูดคุยถกเถียงกัน โดยมีดราม่าความรักที่บิ้วรอมาตั้งแต่ต้นเรื่องเพื่อไว้ใช้ตอนท้าย (ในต้นฉบับนิยายไม่มีเรื่องนี้) แต่ก็ออกมาเฉยๆ ไม่น่าประทับใจ ค่อนข้างเฟลด้วยที่เรื่องนำมาใช้แล้วทิ้งแบบนี้ แล้วก็ยกระดับให้ตัวละครนักวิทย์กลายเป็นคนกุมความลับต่อต้านเอเลี่ยน โดยที่ทิ้งคำอธิบายต่างๆ ไว้ในซีซั่นต่อไป ในส่วนของงานโปรดักชั่นก็ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานปัจจุบัน แต่ฉากที่ต้องใช้ CG ก็ไม่ได้มีเยอะ ที่ใช้ CG ส่วนมากคือในโลกเกมที่เป็นยุคสมัยจักพรรดิกับราชาของโลกตามชื่อคนที่กรอกลงไป โดยมีการจำลองมนุษย์ไปอยู่ในดาวของเอเลี่ยนแล้วแสดงให้เห็นถึงชีวิตการเอาตัวรอดในดาวนั้น ซึ่งนี่คือส่วนที่น่าทึ่งจากต้นฉบับนิยาย ทั้งหมดทำออกมาได้ดี แม้ยังดูเป็น CG ค่อนข้างชัด แต่ว่าพออยู่ในโลกเกมก็เลยไม่ได้รู้สึกสะดุดอะไร นอกจากนั้นก็มีฉากใหญ่ที่ออกแนวสยองขวัญบนเรือกับฉากเปิดตัวเอเลี่ยนกับโลก ซึ่งทำได้อลังการดีตามเนื้อหานิยายครับ
สรุป ซีรีส์ไซไฟจากผู้สร้าง Game of Thrones ที่ดัดแปลงนิยายรางวัลฮิวโกของจีนแท้ๆ ไปเป็นตัวละครตะวันตกแทบทั้งหมด โดยคงไว้แค่โครงเรื่องเหตุการณ์สำคัญกับตัวละครสาวจีนต้นเรื่องไว้บางส่วน ซึ่งจุดนี้ทำได้ดี แต่ก็สูญเสียเนื้อหาวิทยาศาสตร์การเมืองของจีนลึกๆ ไปทั้งหมด และผู้ชมซีรีส์ก็ไม่สามารถไปอ่านนิยายต่อได้เลย นอกจากนี้ตัวละครที่สร้างมาใหม่ก็กลายเป็นกลุ่มนักวิทย์ขี้เมาที่เต็มไปด้วยปัญหาชีวิตกับความรักแบบฝรั่ง ซึ่งเป็นส่วนเกินจำเป็นที่เรื่องพยายามบิ้วเล่าไว้ตลอดเรื่อง ทำให้คุณค่าต้นฉบับถูกลดระดับลงอย่างมากครับ