playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Alice in Borderland ซีรีส์ญี่ปุ่นจากมังงะที่สลัดภาพแนว Live-Action ไปได้แค่ครึ่งเดียว… (ไม่มีสปอยล์)

สรุป

ซีรีส์ญี่ปุ่นที่สร้างจากมังงะที่พล็อตแนวห้องปิดตายเล่นเกมเดิมพันชีวิตอาจจะไม่ได้แปลกใหม่ แต่ก็มีความโดดเด่นในแบบของตัวเอง และสามารถสลัดภาพแนว Live-Action จ๋าที่เป็นแนวนิยมของญี่ปุ่นไปได้ในช่วงแรก (ตอน 1-4) ซึ่งก็ดูดีมาก ลุ้นระทึก กดดัน ใช้ไหวพริบแก้ปัญหา ตัวเอกก็ไม่ได้เป็นฮีโร่เก่งอะไรมาก พัฒนาการตัวละครก็ดูสมเหตุผลลงตัว มีความสมจริงผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงหลังตอนที่ 5 ไปตัวเรื่องกลับเปลี่ยนไปเป็นแนว Live-Action ที่เต็มไปด้วยตัวละครแปลกๆ เนื้อเรื่องที่พยายามยัดปมดราม่าเข้ามามากมายให้ซึ้ง หลายจุดขาดความสมเหตุผล เกมที่ลุ้นระทึกกลับกลายเป็นแนวสืบสวนขายดราม่าจนหมดลุ้นอะไรในช่วงนี้ไปเลย ซึ่งความน่าติดตามน้อยกว่าตอนแรกมาก ก่อนปิดท้ายเฉลยกันง่ายๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้นระดับหนึ่ง แล้วตัดจบไปต่อที่ซีซั่น 2 ครับ

Overall
7.5/10
7.5/10
Sending
User Review
3.4 (5 votes)

Pros

  • รูปแบบเกมลุ้นระทึกมาก (ในช่วงแรกตอน 1-4)
  • ตัวเอกที่ไม่ได้เก่งเว่อร์อะไรมากแบบการ์ตูนทำให้ดูมีลุ้นมีพลาดได้ทุกเกม
  • นางเอกแนวแอ็กชั่น แถมน่ารักด้วย
  • พล็อตเรื่องออกแนวแฟนตาซีไซไฟเว่อร์วังน่าติดตาม
  • มีความโหดรุนแรงสูง แต่ก็ไม่ได้มากแบบขายฉากแหวะ
  • )ตัวละครสาวนุ่งน้อยห่มน้อยเยอะขายผู้ชายโดยเฉพาะ
  • มีเสียงพากย์ไทย

 

Cons

  • พล็อตเรื่องไม่ได้แปลกใหม่
  • ความไม่สมเหตุผลในช่วงหลังหลายอย่างตั้งแต่ตอน 5 ไป
  • ช่วงหลังเน้นดราม่ามากเกินจนอารมณ์ต่างกับช่วงแรก
  • คาแรกเตอร์ตัวละครในช่วงหลังเป็น Live-Action มากเกินไป
  • เฉลยเรื่องตอนท้ายแบบง่ายๆ ดูเป็นการ์ตูนมากไป (ออกแนวตัวร้ายมาเล่าแผนที่ผ่านมาของตัวเองให้ฟัง)

ADBRO

Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ ซีรีส์ Netflix ญี่ปุ่นสร้างจากมังงะในชื่อเดียวกัน เรื่องราวกลุ่มคนที่หลงมาในโตเกียวร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ และที่แห่งนี้กลายมาเป็นกรงขังให้ทุกคนต้องร่วมเล่นเกมที่เดิมพันด้วยชีวิต

 Alice in Borderland (2020) on IMDb

ตัวอย่าง Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ Netflix

โดยปกติแล้วหนังหรือซีรีส์ที่สร้างจากมังงะของญี่ปุ่นจะติดภาพ Live-Action ที่พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนต้นฉบับในรูปแบบเหมือนจริง ไม่พยายามดัดแปลงให้มีความแตกต่างเหมาะสมกับการทำเป็นหนัง ยกตัวอย่างชุด ทรงผม ในการ์ตูนก็ยกมาทั้งหมดแต่งแบบคอสเพลย์แสดงกันเลย ซึ่งถ้าผู้ชมเฉพาะกลุ่มแฟนๆ คงรับได้และพอใจที่ตัวหนังมีการดัดแปลงน้อย แต่สำหรับผู้ชมทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนการ์ตูน หรือผู้ชมวงกว้างอายุมากหน่อย จุดนี้จะกลายเป็นสิ่งขัดตาขัดใจไปแทน ด้วยความรู้สึกแปลกๆ ไม่สมจริงที่หนังไม่พยายามดัดแปลงให้สมเหตุผลมากขึ้น (แม้เรื่องจะโม้โอเวอร์แบบการ์ตูนก็ตามก็ต้องมีเหตุผลรองรับให้เชื่อตามได้)

แต่กับเรื่องนี้เรียกว่าการมาเจอกัน “คนละครึ่ง” ของสองแนวทางข้างต้น ซึ่งในช่วงแรก “อะริสุ” (ชื่อญี่ปุ่นที่ตั้งให้คล้องกับ Alice เลียนแบบ Alice in Wonderland อีกที แสดงโดย Kento Yamazaki) ตัวเอกของเรื่องที่เป็นเกมเมอร์ไม่ทำงานทำการกับเพื่อนอีกสองคนต้องมาติดอยู่ในกรุงโตเกียวที่กลายเป็นเมืองร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมกับสาวออฟฟิสอีกคนที่รู้จักกันครั้งแรกจากเกมที่บังคับให้พวกเขาเล่นในที่แห่งนี้ และเดิมพันด้วยชีวิต ถ้าไม่เล่นก็ต้องตายจากเลเซอร์ที่ยิงมาจากฟ้าเจาะทะลุร่างกาย โดยมีรางวัลตอบแทนคือ วีซ่าต่ออายุการอยู่ในที่แห่งนี้ไปเรื่อยๆ (แต่แค่ไม่กี่วัน) เท่ากับต้องบังคับให้คนเล่นไปเรื่อยๆ

ซึ่งในช่วงครี่งแรกของทีมอะริสุนี้คือช่วงที่เรียกได้ว่าลบภาพ Live-Action ออกไปได้เกือบหมด ตั้งแต่ความเรียลสมจริงของจังหวะการเล่าเรื่อง การเล่นเกมที่ออกแบบมาดี แม้พล็อตแบบนี้จะมีบ่อยแล้วไม่ใช่แค่ของญี่ปุ่น ฝรั่งก็ทำออกมานานแล้วตั้งแต่ CUBE ในอดีต ไม่นานมานี้ก็มี Escape Room ของโซนี่อีกเรื่อง ซึ่งรูปแบบก็คือมีเกมมาสเตอร์จัดเกมขึ้นมาทดสอบคน แก้ไม่ได้คือตายสถานเดียว ซึ่งเกมในเรื่องนี้ถูกแบ่งออกเป็นแนวซับซ้อนใช้ไหวพริบแก้ปัญหา กับแนวใช้กำลังกายเข้าต่อสู้เพื่อเอาชนะ และเกมที่เล่นกับจิตใจมนุษย์โดยเฉพาะ รูปแบบของเกมจะขึ้นอยู่กับหน้าไพ่ที่ปรากฎในเกมผ่านมือถือ แต้มบนไพ่เป็นตัวบอกแนวทางกับระดับความยากให้ผู้เล่นในตอนแรกเตรียมใจไว้ว่าจะต้องเจอกับความโหดระดับไหน ซึ่งช่วงนี้เองที่เกมถือว่าคิดมาดี มีความแปลกใหม่ น่าติดตามลุ้นระทึกกันแบบเสี้ยววินาทีตลอด ในระหว่างพักเกมก็ค่อยๆ เล่าย้อนถึงที่มาของตัวละครแต่ละคนให้ชัดเจนขึ้นจากตอนแรก ทีมตัวเอกก็ดูมีความผูกพันน่าเอาใจช่วย และก็เปิดตัวละครหลักนอกทีมที่ต้องมาเจอภายหลังอีกครั้งไว้ในช่วงนี้ เพื่อทิ้งหยอดให้เป็นปริศนาหาที่มาที่ไปในช่วงหลังว่าเกมนี้คืออะไร ซึ่งจังหวะการเล่าเรื่อง และคาแรกเตอร์และการพัฒนาตัวละครในช่วงนี้ถือว่า ลืมไปเลยว่านี่เป็นซีรีส์ญี่ปุ่นจากมังงะแบบ Live-Action แบบเดิมๆ ไปได้เกือบหมด มีแค่กลิ่นอายเล็กๆ หลงเหลืออยู่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวเหมาะสำหรับงานขายคนดูทั่วโลกผ่าน Netflix แบบนี้

แต่ในช่วงครึ่งหลังของเรื่องนี้เองที่ภาพของ Live-Action กลับมาแบบเต็มๆ เมื่อนื้อเรื่องปูไปถึงขีดสุดของทีมตัวเอกในช่วงแรกจบที่ตอน 4 พอขึ้นตอน 5 เข้าสู่ช่วงของนางเอก “อุซางิ” (ชื่อแปลว่ากระต่าย ถูกตั้งให้พ้องกับในเรื่องอลิซต้นฉบับ แสดงโดย Tao Tsuchiya) เรื่องราวที่ดูน่าจะเข้มข้นจริงจังเรียลๆ กว่าเดิม กลับกลายเป็นแนว Live-Action ดูเป็นการ์ตูนมากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวละครในช่วงหลังที่ทั้งฝ่ายดีและไม่ดีต่างแต่งตัวจัดทรงผมหน้าตาประหลาดๆ คาแรกเตอร์ บทพูดต่างๆ ชุดเหมือนถอดคอสเพลย์การ์ตูนมาเล่นหนังแทน แม้จะเข้าใจได้ว่าพยายามทำให้เรื่องดูเป็นแฟนตาซีมากขึ้น เมื่อรู้ว่ามีคนมากมายติดอยู่ในที่แห่งนี้เช่นกัน และก็มีการรวมตัวกันเป็นทีมเป็นระบบมากกว่าในช่วงแรก ซึ่งก็ต้องมีหัวหน้าที่ปกครองและออกกฎให้ทุกคนทำตาม ป้องกันการแหกกรอบเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และก็ตามสูตรพอเป็นอย่างนี้ก็ต้องเกิดความวุ่นวายจากชนชั้นปกครองขึ้นอยู่ดี ซึ่งจุดนี้เองที่เรื่องพยายามนำเสนอกึ่งโลกดิสโทเปียว่าทุกคนจะใช้ชีวิตในดินแดนแห่งนี้อย่างไร และเกมที่ถูกจัดขึ้นโดยเกมมาสเตอร์ก็ถูกพักหายไปช่วงใหญ่เลย เพื่อโอนตัวร้ายกลับมาให้เป็นฝ่ายมนุษย์ชนชั้นปกครองที่ติดอยู่ในดินแดนแห่งนี้แทน

เนื้อเรื่องช่วงนี้เองที่เริ่มเห็นเลยว่าเป็นปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มในตอน 5 เมื่อเรื่องกลับลำมาเล่นกับความป่าเถื่อนของมนุษย์กันเองตามสูตรหนังแนวดิสโทเปีย (แม้เรื่องนี้จะแค่จำลองโลกแบบนั้นขึ้นมา) เนื้อเรื่องเริ่มมีความไม่สมเหตุผลขัดกับช่วงแรกแบบจงใจหักลำเปลี่ยนแนว กลายเป็นคนโหดกับคนเองมากกว่าในเกมที่เล่นผ่านมา และก็ใส่เหตุผลที่ดูแล้วเป็นการ์ตูนจ๋า คือมันออกแนวไม่สมเหตุผลกับความเป็นไปของเรื่องที่ต้องเอาตัวรอดกันสุดชีวิต แต่กลับทำตัวใช้ชีวิตดี มีชนชั้นปกครองกันอย่างหรูหรา ตัวเกมโหดๆ ก็เหมือนเป็นแค่น้ำจิ้มแล้ว ในเมื่อเรารู้ว่ามีกลุ่มคนที่ตั้งทีมเล่นเกมผ่านได้ไม่ยาก และก็ชนะมาตลอดจนเหมือนเกมเป็นแค่ของว่างฆ่าเวลา ตัวร้ายก็ฝ่ายมนุษย์ด้วยกันเองก็สร้างให้ดูจิตๆ ตามสไตล์ญี่ปุ่น แล้วก็มีช่วงแฟลชแบ็คเล่าย้อนไปถึงที่มาเพื่อสร้างปมของการเปลี่ยนแปลงตัวตน แต่กลายเป็นดูแล้วแอบตลก (แม้เรื่องจะไม่ได้พยายามให้ตลกเลย) อาจจะเพราะความพยายามเล่าปมให้ซีเรียส แต่ตัดมาปัจจุบันตัวละครนั้นกลับทำตัวเหมือนหลุดโลกเหมือนการ์ตูนมากเกินไป (อย่างท่าเดิน สีหน้าท่าทาง) ซึ่งเรื่องพยายามอย่างหนักที่จะทำให้คนเชื่อว่าช่วงนี้ซีเรียสกว่า แต่กลับดูแล้วกลายเป็นแนว Live-Action เต็มๆ ไปแทน

ช่วงหลังตัวละครหลายตัวมีปัญหาความน่าเช่อถือ อย่างตัวละครในภาพจู่ๆ คนปกติเก็บตัวก็กลายมาเป็นนักดาบมีฝีมือในโลกนี้ แบบไม่มีเหตุผลอธิบายรองรับไว้เลย

เมื่อเรื่องหลุดธีมมากันขนาดนี้แล้วก็มีแต่ต้องไปต่อในแนวทางนี้ต่อไปเท่านั้น ตัวเรื่องวกกลับลากทุกคนมาเข้าเกมครั้งใหญ่เพื่อปิดเรื่องช่วงซีซั่น 1 ให้อลังการที่สุดด้วยการเล่นเกมกับคนที่รอดทั้งหมดพร้อมกัน แล้วก็เปิดฉากให้เกมเป็นแนวไล่ฆ่ากันเอง หวังฉากตายเป็นเบือมายกระดับเกมให้ดูยิ่งใหญ่มากที่สุด แต่บอกตรงๆ ว่าผู้เขียนเองดูช่วงนี้แล้วกลับรู้สึกเนือยๆ กว่าช่วงตอน 1-4 มาก เรียกว่าคนละอารมณ์กันเลย เพราะเรื่องช่วงนี้กลายเป็นการตายพร่ำเพรื่อมั่วไปหมด รูปแบบเกมจากลุ้นระทึกกดดันกลายมาเป็นงานขายดราม่าตัวละครกับแนวสืบสวนหาฆาตกรไป ซึ่งก็ไม่ได้ทำออกมาดีมากเท่าไหร่ ไม่ได้ว้าวอะไรมาก แม้คนดูจะเดาได้หรือไม่ได้ก็ตาม เรื่องยกระดับความรุนแรงไปก็จริง แต่กลับขาดความสนุกลุ้นระทึกไปหมด เหลือแต่การบิ้วพยายามให้เรื่องดูมีปมลึกซึ้งเพื่อแก้ปริศนาของเกมนี้แทน จนสุดท้ายก็จบแบบไปไม่ถึงอารมณ์ที่ว่าสักเรื่อง

ตัวเรื่องจบแบบปิดปมใหญ่เรื่องเกมมาสเตอร์ที่ทุกคนอยากรู้ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นการเคลียร์ปมแบบทื่อๆ ไปหน่อย คือใส่ยัดมาเพื่อเฉลยไปเลยว่าคือใครแบบง่ายๆ โดยยังไม่เปิดเผยว่าที่มาของเกม หรืออะไรที่เว่อร์ๆ เหล่านี้มาได้อย่างไร ก่อนจะทิ้งท้ายเพื่อไปขึ้นเกมที่ปูไว้ว่าใหญ่กว่าช่วงแรกขึ้นไปอีกในตอนจบ ซึ่งก็คงอีกเป็นปีกว่าจะเสร็จ ถ้าใครสนใจก็หาอ่านมังงะแปลไทยได้เลยครับ ลิขสิทธิ์ของวิบูลกิจ มี 18 เล่มจบ แต่อาจจะเก่าสักหน่อยเพราะวางขายมาหลายปีแล้วครับ

Alice in Borderland อลิสในแดนมรณะ

อ่านรีวิวซีรีส์ญี่ปุ่น Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ