รีวิวหนังสารคดีออสการ์ 2020 American Factory เมื่อโรงงานจีนเพ้อฝัน ‘อเมริกันดรีม’
American Factory
สรุป
หนังเลือกแนวทางสมจริงจากฟุตเทจดิบล้วนๆ จึงไม่มีส่วนบิ้วอารมณ์ให้กับคนดูเลย การรับชมหนังสารคดีเรื่องนี้จะไม่ได้มีอารมณ์ร่วมอะไรนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นสารคดีที่น่าเบื่อ ถ้าเป็นคนสองชาติในเรื่องจะเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมมากกว่า (แบบเข้าข้างฝั่งตัวเอง) ข้อดีคือได้ข้อเท็จจริงแบบไม่ปรุงแต่งหรือชี้นำไปในทางฝั่งไหน ผู้ชมอย่างเราจึงเป็นคนนอกผู้ดูเหตุการณ์ความเป็นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบความฝันลง
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- ปัญหาวัฒนธรรมสองชาติที่ยากจะจูนเข้ากันได้
- ฟุตเทจดิบตั้งแต่แรกเริ่มละเอียดจนจบ
- ถ่ายทำถึงจีนด้วยไม่ใช่แค่อเมริกา
- ความจริงตรงไปตรงมาจากคนในเหตุการณ์สดๆ
- CEO ฝูเหยาก็ร่วมให้เก็บชีวิตและคำพูดตรงไปตรงมาด้วย
Cons
- เรื่องราวไปเรื่อยๆ เนิบๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
American Factory (Netflix) เจ้าของรางวัลออสการ์ 2020 ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวยอดเยี่ยม เรื่องราวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน หันมาลงทุนเปิดโรงงานในสหรัฐอเมริกา โดยการรื้อฟื้นโรงงานประกอบรถของ GM ที่ปิดตัวลงไปให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง
ตัวอย่าง American Factory (Netflix)
หนังสารคดีที่ได้รางวัลออสการ์ 2020 มาสดๆ ร้อนๆ โดยก่อนหน้านี้ Netflix ก็ได้รางวัลเดียวกันนี้ในปี 2018 จากหนังสารคดี Icarus ที่ว่าด้วยเรื่องราวการโด๊ปยาในการแข่งระดับโลกอย่างโอลิมปิค (อ่านรีวิวได้ที่นี่) ซึ่งมาเรื่องนี้ก็เป็นสารคดีที่มีเรื่องราวเกี่ยวพันกันอยู่ของ 2 ชาติมหาอำนาจในโลกตอนนี้ จีนกับอเมริกาที่แม้ว่าจะเป็นคู่แข่งกันในแทบทุกเรื่อง แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่อเมริกาต้องยอมแพ้จริงจังคือเรื่อง การเปิดโรงงานผลิตในบ้านตัวเองที่สู้จีนไม่ได้จริงๆ ทั้งต้นทุนและอัตราการผลิต แต่ว่ามาในเรื่องนี้ทุนจีนขนาดใหญ่เองกลับหันมาทดลองเปิดโรงงานในอเมริกาเอง ด้วยความหวังสร้างฝันให้เป็นโรงงานต้นแบบขนาดใหญ่ที่คนทั้งสองชาติทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง
เรื่องราวในสารคดีเริ่มจากกรณีการปิดโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ของ GM ในรัฐโอไฮโอ เมื่อปี 2008 ซึ่งมาจาก วิกฤติ GM ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2005 และก็ค่อยๆ ทะยอยปิดโรงงานทั่วอเมริกา เลย์ออฟคนหลายหมื่นทิ้งทันที (ซึ่งจนถึงปัจจุบัน GM ก็ยังมีสภาวะการณ์เช่นนี้อยู่)
หนังสารคดีเล่าเรื่องราวการปิดโรงงานของ GM สั้นๆ ก่อนที่จะเข้าเรื่องการมาของทุนจีนใหญ่ข้ามชาติในปี 2010 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฝูเหยา (Fuyao) เจ้าของโรงงานผลิตกระจกรถยนต์ให้หลายแบรนด์ทั่วโลก ฝูเหยาทำข้อตกลงกับรัฐโอไฮโอให้ได้สิทธิพิเศษกับการเข้ามาเปิดโรงงานที่นี่ โดยเลือกโรงงานเก่าของ GM ที่ปิดตัวร้างไปแล้วมารีโนเวทใหม่เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง และต้องการเริ่มงานผลิตให้ได้ไวที่สุด
ตัวเนื้อเรื่องจะเป็นฟุตเตจจริงเกาะติดบุคคลสำคัญในโรงงาน และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในช่วงระยะเวลาหลายปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามร่วมมือกันของคนสองชาติในระดับอุตสาหกรรม ที่เริ่มแรกจากความตั้งใจดีของจีนที่เข้ามาช่วยคนอเมริกันที่ตกงานให้กลับมามีงานในท้องถิ่นอีกครั้ง แต่กลายเป็นความยากลำบากอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้คนอเมริกันทำงานในระบบวัฒนธรรมจีนกับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าที่เคยได้มาก จนทำให้คนงานต้องรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิที่พึ่งได้ สุดท้ายฝูเหยาอเมริกาเจอวิกฤติเแรงงาน จนต้องหาทางจัดการปัญหานี้ในกรอบกฏหมายอเมริกาให้ได้
สารคดีทั้งเรื่องเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวดิบๆ ไม่มีปรุงแต่งด้วยการจับมานั่งสัมภาษณ์จัดแสงจัดท่านั่งอะไรทั้งสิ้น ทุกฉากจะเป็นการสัมภาษณ์ในช่วงจังหวะเหตุการณ์กับในระหว่างทำงานแทบทั้งหมด ซึ่งทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาครบถ้วนสองด้าน หนังทำให้เราเห็นความทุ่มเททำงานของจีนจริงๆ หลายอย่างที่พยายามนำมาใช้ในอเมริกา ซึ่งคนบ้านเราเองก็คงทำแนวๆ นี้เป็นปกติอยู่แล้ว อย่างการทำงาน 6 วันหยุด 1 วัน แต่ในอเมริกาทำงาน 5 วันหยุด 2 วัน เอาแค่ข้อนี้ก็ทำให้แรงงานอเมริกาทนทำงานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ไหว เพราะคิดว่าตัวเองกลายเป็นเครื่องจักรโรงงาน มากกว่าการทำงานเพื่อให้มีเวลามาใช้ชีวิตมีความสุขกับครอบครัว
หนังยังข้ามไปถ่ายทำถึงที่จีน ให้เห็นความพยายามของฝูเหยาที่พาคนงานอเมริกันส่วนหนึ่งไปดูงานผลิตที่โรงานต้นแบบ เพื่อหวังว่าจะนำทักษะและวัฒนธรรมหลายอย่างที่จีนทำสำเร็จกลับมาใช้ที่อเมริกา ซึ่งคนงานที่กลับมาก็พยายามนำมาปรับใช้กับที่นี่ แต่การผสานหลอมรวมการทำงานที่ต่างขั้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด จนกลายเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้สุดท้ายก็ทลายความฝันอเมริกันดรีมของชาวจีนที่มาลงทุนไปซะเอง
เนื่องจากหนังมีสองฝั่งเราก็จะได้เห็นปัญหาที่จีนบกพร่องและละเลยเช่นกัน ซึ่งเราคนไทยเองไม่ได้ติดอยู่ฝั่งไหนเป็นหลักอยู่แล้ว ทำให้เราก็เข้าใจว่าสื่งที่อเมริกาเรียกร้องขอเพิ่มเป็นอะไรที่วัฒนธรรมทางเอเชียโดยเฉพาะจีนทำไม่ได้ และมีส่วนบกพร่องไปจริงๆ อย่างพวกระเบียบกฏเกณฑ์ความปลอดภัยในโรงงาน เนื่องจากอเมริกามีกฏหมายปกป้องหยุมหยิมเยอะแยะไปทุกเรื่อง ทำให้คนอเมริกันติดการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ผิดกับฝั่งจีน (หรือบ้านเราด้วย) ที่มักหยวนๆ มองข้ามเรื่องเหล่านี้ไป ขนาดที่ว่าบางทีเราเสียผลประโยชน์ แต่ก็ยอมมองข้ามไปเพื่อแลกกับการได้งานทำประจำที่แน่นอน ดีกว่าไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนแบบที่อเมริกันชนทำกัน
แต่ถึงเรื่องราวจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่ตัวสารคดีเองก็ถ่ายทอดความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายอย่างจริงจังอย่างมากถึงมากที่สุด และก็ทำให้เกิดมิตรภาพสองชาติตามมากับคนงานหลายคนในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งแม้จะออกจากงานไปแล้ว พวกเขาก็ยังเป็นเพื่อนกันได้อยู่ ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้จุดร่วมกับจุดต่างของสองชาติ ซึ่งมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ครับ
ด้วยความที่ American Factory เลือกแนวทางสมจริงล้วนๆ จึงแทบจะไม่มีดนตรีประกอบบิ้วอารมณ์เรื่องราวเลย การรับชมหนังสารคดีเรื่องนี้จะไม่ได้มีอารมณ์ร่วมอะไรนัก (แต่ถ้าคนอเมริกากับจีนดูจะมีอารมณ์ร่วมกับฝั่งตนเองสูง ดูจากที่ยูสเซอร์รีวิวไว้ในเว็บต่างประเทศครับ) แต่ก็ไม่ได้เป็นสารคดีที่น่าเบื่อ เพียงแต่ว่าเหมือนเราเป็นคนนอกผู้ชมเหตุการณ์ความเป็นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ความฝันเริ่มต้นจนจบลงตามระบบทุนนิยม ซึ่งถือว่าเป็นการตื่นรู้เข้าใจปมปัญหาที่แก้ไม่ได้ของทั้งแรงงานอเมริกันและทางฝ่ายจีนเช่นกัน จนผู้ก่อตั้งฝูเหยาเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ‘ผู้ให้หรืออาชญากร’ ผู้ทำลายชีวิตคนงานในตอนหลังกันแน่ครับ
รวมหนังที่ได้รางวัลออสการ์ของ Netflix คลิกที่นี่