รีวิว Bulbbul (Netflix) ตำนานเรื่องเล่าเจ้าสาววัยเด็กผ่านเทพนิยายเสมือนจริงสุดรันทด…
Bulbbul
สรุป
ตัวเรื่องถือว่าดูได้เรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามีข้อเสียอะไรนัก นอกจากแค่บทไม่ได้ลึกอะไรมาก พยายามแปลงเรื่องราวผู้หญิงที่ถูกกดขี่ข่มเหงให้กลายเป็นเทพนิยายแฟนตาซี แม้จะไม่ค่อยสมเหตุผล แต่ก็ถือว่าพอเข้าใจได้ CG ของเรื่องมีแค่นิดหน่อย ไม่ได้เน้นมาก แต่ไปเน้นที่แสงสีธีมของเรื่องให้ดูเป็นแฟนตาซีแทน
Overall
6.5/10User Review
( vote)Pros
- ผูกโยงปัญหาเจ้าสาววัยเด็กของอินเดียเข้าเป็นจุดกำเนิดเรื่องเล่าแบบแฟนตาซี
- นางเอกมีเสน่ห์เหมาะสมกับบท
- งานแสงสีของภาพที่ย้อมสดให้ดูลึกลับสยองขวัญแฟนตาซีตามธีมของเรื่อง
Cons
- ฉากเฉลยช่วงท้ายเรื่องไม่สมเหตุผลหลายจุด
- จุดเปลี่ยนของนางเอกไม่มีรายละเอียดอธิบายให้เข้าใจได้มากพอ
- การสืบสวนของตัวพระเอกไม่ค่อยมีความสำคัญกับเรื่อง
Bulbbul บูลบูล หนังอินเดียที่ถ่ายทอดเรื่องราวเทพนิยายเสมือนในโลกจริง เรื่องราวของตำนานแม่มดในป่าลึกที่เดินเหินล่องลอยบนกิ่งไม้ได้อย่างอิสระ และออกไล่ฆ่าผู้ชายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของอินเดีย แต่เบื้องหลังเรื่องราวนี้มีความลับสุดแสนรันทดซุกซ่อนอยู่
รวมรีวิวหนังอินเดีย Original Netflix คลิกที่นี่
ตัวอย่าง Bulbbul
บทความไม่มีสปอยล์เนื้อหาความลับสำคัญของเรื่อง
ภาพยนตร์อินเดียเรื่องนี้มาจากผู้กำกับหญิง Anvita Dutt และเขียนบทด้วยตนเอง เรื่องราวมีความเป็นเทพนิยายแบบอินเดียผสมตะวันตกหน่อยๆ ในยุคสมัยบริติชราชที่อังกฤษเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้ ตัวเรื่องย้อนยุคไปปี 1881 เด็กหญิงตัวน้อย “บูลบูล” ถูกจับแต่งงานกับชายสูงอายุตามประเพณีของอินเดีย แต่เธอกลับมีความรักผูกพันกับ “สัตยา” น้องเขยที่เป็นผู้แต่งนิทานเรื่องแม่มดสาวในป่าลึกที่เท้าของเธอบิดไปมาได้ และอาศัยอยู่บนต้นไม้ ซึ่งนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเทพนิยายเสมือนในโลกจริงของทั้งคู่ เมื่อบูลบูลแต่งนิทานเรื่องนี้ต่อจากเขาในแบบที่แตกต่างไป ภายหลังจากที่สัตยาไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ทิ้งให้เธออยู่กับสามีที่เธอไม่ได้รักในบ้านหลังใหญ่กลางป่าแห่งนี้
ตัวเรื่องแม้จะเป็นแนวสืบสวนฆาตกรรมของตัวพระเอกสัตยา แต่ก็ไม่ได้เดินเรื่องแบบจะปิดบังว่าใครเป็นฆาตกร ตัวเรื่องเลือกเฉลยเล่าเรื่องย้อนกลับเหตุการณ์ทีละช่วงด้วยตัวเอง โดยไม่เกี่ยวกับที่ตัวพระเอกตามสืบคดีนี้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งเราจะได้เห็นช่วงเวลาก่อนกับหลังสัตยาหายไปจากบ้านนี้ 5 ปีว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมบูลบูลที่เคยเป็นเด็กสาวแก่นแก้วน่ารัก กลับมีนิสัยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และยังดูปล่อยเนื้อตัวกับผู้ชายคนอื่นที่เข้ามาในบ้านหลังนี้
ซึ่งตัวนักแสดง Tripti Dimri ที่เล่นเป็นบูลบูลถือว่าเป็นจุดขายของเรื่องที่มีเสน่ห์ไม่น้อย และตามบทต้องเป็นได้ทั้งปีศาจและเทพธิดาไปพร้อมกัน ก็ถือว่าคัดมาดีมากทั้งรูปร่างหน้าตาที่ดูเป็นสาวน้อยบริสุทธิ์ แต่มีเสน่ห์เย้ายวนสูง และยังต้องมีท่าทางวางอำนาจเหนือผู้คน ในฐานะนายหญิงของบ้าน ตามบทที่เธอแต่งงานกับชายสูงวัยเชื้อสายราชวงศ์ (ในเรื่องไม่ได้ระบุว่าเป็นวรรณะกษัตริย์หรือไม่) ซึ่งตัวบูลบูลเองคือตัวที่ดึงดูดคนดูให้คนดูติดตามเรื่องนี้โดยตรงตั้งแต่ต้นจนจบ มากกว่าการสืบสวนของสัตยาที่ไม่เชื่อว่าคดีฆาตกรรมที่แปลกประหลาดในหมู่บ้านนี้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ ก็แทบไม่ได้มีเรื่องราวสืบสวนอะไรเลยด้วยซ้ำ แค่พระเอกตามสงสัยคนที่เกี่ยวข้องกับบูลบูลเท่านั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบเอาประเด็นการบังคับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมาแต่งงานในสังคมอินเดียมาเล่น (ที่ทั่วโลกก็ประณามเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน) และแปลงสภาพชีวิตที่ถูกสามีกระทำย่ำยี ให้กึ่งๆ เป็นแบบเทพนิยายที่เจ้าหญิงต้องตกตระกรำลำบากจากอสูรร้าย ก่อนจะพลิกเรื่องให้กลายเป็นแนวแฟนตาซีสยองขวัญไป แต่เรื่องราวไม่ได้มีการหักมุมอะไรมาก ไปเด่นที่งานภาพแสงสีที่ย้อมสีสดออกมาเหมือนแนวเทพนิยาย ถือว่าค่อนข้างสวยและให้อารมณ์สยองขวัญจากสีแดงสดที่หนังเลือกใช้อิงกับพระจันทร์เลือด
ตัวเรื่องถือว่าดูได้เรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามีข้อเสียอะไรนัก นอกจากแค่บทไม่ได้ลึกอะไรมาก ประเด็นการเปลี่ยนแปลงไปของบูลบูลก็ถือว่าโอเค แม้จะไม่ค่อยสมเหตุผล แต่เรื่องถูกวางให้เหมือนกึ่งเทพนิยายอยู่แล้วก็ถือว่าพอเข้าใจได้ แต่กลับมีข้อเสียใหญ่ของเรื่องเลยคือฉากช่วงท้ายก่อนจบ ตัวเรื่องมีฉากไฟไหม้ป่าที่ไม่ค่อยสมเหตุผลหลายอย่าง รวมถึงตัวบูลบูลเองในช่วงท้ายที่น่าจะโชว์อะไรมากกว่านี้ แต่กลับออกมานิดเดียวแค่พอให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่เท่านั้น