รีวิว Bullet Train Explosion (Netflix) สปีดเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่ไม่แพ้ฮอลลีวู๊ด
Bullet Train Explosion
Summary
นี่คือหนังที่เล่นกับไอเดียความเร็วแบบหนัง “Speed” ได้อย่างสมบูรณ์แบบเหมือนกัน และเป็นต้นแบบมาตั้งแต่ภาคแรกในปี 1975 ก่อนที่ภาคนี้จะสานต่อได้อย่างลงตัวโดยที่ผู้ชมไม่จำเป็นต้องดูภาคก่อน ภาพยนตร์ถ่ายทอดความระทึกจากพล็อตห้ามวิ่งต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่มีการใส่ปัญหาดราม่าที่ไร้สาระมาขัดขวาง ตัวละครทุกคนร่วมใจช่วยกันผ่านวิกฤตได้สมกับเป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ อีกทั้งในชั่วโมงหลังยังเปิดเผยตัวตนของผู้ร้ายได้อย่างสะเทือนขวัญ โดยมีปมทางจิตใจเป็นแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับภาคแรกได้อย่างแนบเนียน นี่คือภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาดชมเช่นเดียวกับ “Speed” ที่ทุกคนชื่นชอบครับ
Overall
9/10User Review
( votes)Pros
- ฉากระทึกขวัญต่อเนื่อง
- บทภาพยนตร์เข้มข้น
- การเปิดเผยตัวตนคนร้ายชวนช็อค
- การถ่ายทำใช้สถานที่รถไฟจริง
- ทุกตัวละครร่วมมือกันไม่มีดราม่างี่เง่า
- มีพากย์ไทย
Cons
- ปมคนร้ายอาจดูเกินจริงบ้าง
ADBRO
Bullet Train Explosion ระเบิดรถด่วนขบวนระห่ำ ภาพยนตร์ญี่ปุ่น Original Netflix แนวดราม่าทริลเลอร์ เรื่องราวของการวางระเบิดบนรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมุ่งหน้าสู่โตเกียว โดยระเบิดจะทำงานทันทีหากรถไฟวิ่งช้ากว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมเงื่อนไขค่าไถ่ปลดชนวนระเบิดมูลค่ามหาศาลถึง 1 แสนล้านเยน!
รีวิว Bullet Train Explosion (ไม่มีสปอยล์)
ภาพยนตร์เรื่องนี้สานต่อจากภาพยนตร์ต้นฉบับ “The Bullet Train” ที่ฉายในปี 1975 ซึ่งว่ากันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง “Speed” ในปี 1994 ภาคต่อนี้กำกับโดยชินจิ ฮิกุจิ ผู้มีชื่อเสียงจาก “Shin Godzilla” และเป็นแฟนตัวยงของเรื่องดั้งเดิม ทำให้ภาคนี้มีความสดใหม่ด้วยบริบทยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงเรื่องราวจากภาคเดิมได้อย่างกลมกลืน แม้ผู้ชมที่ไม่เคยดูภาคแรกก็สามารถเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองภาคได้โดยง่าย
แก่นหลักของเรื่องยังคงใช้แนวคิดห้ามลดความเร็วต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มิเช่นนั้นระเบิดจะทำงานทันที ซึ่งโจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายตั้งแต่การเขียนบท เพราะการแก้ปัญหาทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของความเร็วและความสมจริง เพื่อให้ผู้ชมเชื่อในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บทภาพยนตร์จึงถูกเขียนมาอย่างดี โดยเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดเป็นการวางแผนแก้ไขวิกฤตจากทีมศูนย์บัญชาการให้คนบนรถไฟปฏิบัติตาม ภาพยนตร์นำเสนอแนวทางการกู้วิกฤต 3-4 สถานการณ์ พร้อมทั้งอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการทำงานของการขับและควบคุมรถไฟ ศัพท์เฉพาะทางการรถไฟ ไปจนถึงการจำลองโมเดลรถไฟเพื่อแก้ปัญหาแต่ละจุด
เรื่องราวครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในศูนย์บัญชาการที่รวมบุคลากรจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล ตำรวจ และทีมงานรถไฟ ที่ร่วมกันประชุมแก้ปัญหาและจำลองสถานการณ์ ก่อนจะตัดไปยังเหตุการณ์จริง ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอในแนวดราม่าที่ทำให้ทีมมีความขัดแย้งรุนแรง แต่มุ่งเน้นการร่วมใจกันฝ่าวิกฤต แม้แต่ตัวละครนักการเมืองที่มักถูกใส่มาเพื่อสร้างปัญหา กลับกลายเป็นผู้ช่วยผลักดันให้การประสานงานราบรื่น ทำให้ภาพยนตร์มีพลังบวกสมกับเป็นผลงานจากญี่ปุ่นที่ผ่านวิกฤตมาอย่างมากมาย นี่คือจุดเด่นที่ทำให้เรื่องนี้แตกต่างจากหนังแนวเดียวกันที่มักใส่ความขัดแย้งระหว่างตัวละครเข้ามาทำให้ผู้ชมหงุดหงิด
ในส่วนของเหตุการณ์บนรถไฟ ภาพยนตร์นำเสนอความขัดแย้งจากวิกฤตเพียงเล็กน้อยในช่วงแรก ก่อนจะเจาะลึกลงไปในแต่ละตัวละคร เช่น อินฟลูเอนเซอร์ที่พยายามหาแสงจากเหตุการณ์ นักการเมืองหญิงที่มีปมส่วนตัว และนักธุรกิจที่เคยสร้างปัญหาให้สังคมและพยายามฆ่าตัวตาย เหล่านี้เป็นเพียงความขัดแย้งชั่วคราวที่ถูกคลี่คลายด้วยการสื่อสารและการขอโทษตามวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งสมเหตุสมผล เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีวินัยและเคารพกฎกติกาเป็นพื้นฐาน (ซึ่งหากเป็นในบริบทไทย การสร้างบรรยากาศแบบนี้คงเป็นไปได้ยาก)
การที่ภาพยนตร์ไม่เน้นดราม่าระหว่างตัวละครกลับกลายเป็นจุดแข็ง เพราะแก่นหลักของเรื่องคือการแก้ไขวิกฤต โดยภาพยนตร์สร้างฉากระทึกขวัญเรียงร้อยตลอดทั้งเรื่อง เริ่มจากการควบคุมความเร็วโดยคนขับสาวที่นักแสดงน่ารักมากๆ และโดดเด่นทุกครั้งที่กล้องจับภาพเธอ ตามด้วยแผนช่วยเหลือต่างๆ โดยทีมงานบนรถไฟต้องปฏิบัติตามแผนจากศูนย์บัญชาการ ร่วมกับอาสาสมัครบนรถที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ช่างไฟฟ้าที่ช่วยตัดระบบเบรกอัตโนมัติทุกฉากไม่ได้มีตัวเอกเพียงคนเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกัน โดยภาพยนตร์สร้างความระทึกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเหนือกว่าหนังแอ็คชั่นดังๆ หลายเรื่อง มีการระเบิดของตู้รถไฟหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ลูกเดียว ทำให้ฉากเหล่านี้เต็มไปด้วยความระทึกทั้งจากข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ต้องลงมือในเสี้ยววินาทีทุกครั้ง และต้องป้องกันความผิดพลาดที่อาจทำให้รถไฟชะลอจนระเบิดทำงาน เพียงฉากเหล่านี้ก็สมควรได้คะแนนเกือบเต็มแล้ว
ภาพยนตร์ยังได้รับความร่วมมือพิเศษจาก East Japan Railway Company ให้ใช้รถไฟชินคันเซ็นและสถานที่จริงในการถ่ายทำ ทำให้ภาพที่ออกมาสมจริงอย่างยิ่ง ไม่เหมือนการถ่ายด้วยฉากบลูสกรีน แม้แต่ฉากกู้วิกฤตก็ดูสมจริงร่วมกับเทคนิคพิเศษช่วยยกระดับได้อย่างดีเยี่ยม มีเพียงฉากระเบิดรถไฟตกรางเท่านั้นที่ใช้เทคนิคพิเศษล้วนๆ นอกนั้นคือการถ่ายทำจำลองฉากกับสถานที่จริงทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังคลี่คลายปมของผู้ร้ายได้อย่างน่าสนใจ ในชั่วโมงแรกผู้ร้ายปรากฏเพียงเสียงโทรศัพท์เรียกค่าไถ่ ไม่มีการแสดงตัวตน แต่ก็มาเฉลยหลังจบชั่วโมงแรกด้วยการเปิดตัวที่คาดไม่ถึงเอามากๆ และก็จัดหนักฉากเปิดตัวได้อย่างสะเทือนขวัญ ชนิดที่ว่าผู้ชมต้องตะลึงกับการกระทำของคนร้ายแน่นอน ก่อนจะเผยปริศนาของผู้ร้ายทีละน้อย ตั้งแต่ที่มาของระเบิดจนถึงการติดตั้งในรถไฟ แม้จะดูเกินจริงบ้าง แต่ผู้ชมก็พร้อมเชื่อเมื่อภาพยนตร์ใช้เวลาที่เหลือค่อยๆ เล่นกับอารมณ์ของตัวละครที่รู้ตัวตนของผู้ร้ายซึ่งมีปมมากมายในใจ ซึ่งนักแสดงในบทนี้ถ่ายทอดอารมณ์สิ้นหวังโกรธแค้นชิงชังที่แผ่ออกมาได้อย่างชัดเจนมาก และภาพยนตร์สามารถคลี่คลายปมในใจของผู้ร้ายได้อย่างน่าพอใจ แม้จะไม่ครบถ้วน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เป็นบทสรุปที่ลงตัว
โดยสรุป นี่คือหนังที่เล่นกับไอเดียความเร็วแบบหนัง “Speed” ได้อย่างสมบูรณ์แบบเหมือนกัน และเป็นต้นแบบมาตั้งแต่ภาคแรกในปี 1975 ก่อนที่ภาคนี้จะสานต่อได้อย่างลงตัวโดยที่ผู้ชมไม่จำเป็นต้องดูภาคก่อน ภาพยนตร์ถ่ายทอดความระทึกจากพล็อตห้ามวิ่งต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่มีการใส่ปัญหาดราม่าที่ไร้สาระมาขัดขวาง ตัวละครทุกคนร่วมใจช่วยกันผ่านวิกฤตได้สมกับเป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ อีกทั้งในชั่วโมงหลังยังเปิดเผยตัวตนของผู้ร้ายได้อย่างสะเทือนขวัญ โดยมีปมทางจิตใจเป็นแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับภาคแรกได้อย่างแนบเนียน นี่คือภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาดชมเช่นเดียวกับ “Speed” ที่ทุกคนชื่นชอบครับ