playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Class of ’83 นักฆ่านอกเครื่องแบบ อ้างอิงจากเรื่องจริงสุดสกปรกของวงการตำรวจอินเดียยุค 80

Class of '83

สรุป

หนังอินเดียที่หน้าตาภายนอกดูดุเดือด แต่ในเรื่องกลับหน่อมแหน้มติดตลกไปซะเยอะ แถมพอเข้าช่วงที่ควรจะดุเดือดก็กลับรวบรัดจบทำออกมาเบาๆ แล้วก็ไปโฟกัสที่ปัญหาของตำรวจที่ใช้อำนาจนอกระบบจนเคยชินจนกลายมาเป็นอาชญากรซะเอง ซึ่งมีการอิงจากเรื่องจริงในบทสรุปตอนท้าย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขาโดดเด่นอะไรนักครับ

Overall
5/10
5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • อ้างอิงว่าสร้างจากเรื่องจริงที่เป็นนิยายขายดีอันดับ 1 ของอินเดีย
  • เรื่องราวฉ้อฉลของวงการตำรวจอินเดียในมุมไบยุค 80

Cons

  • แนวหนังอาชญากรรมแต่เรื่องทำออกมาเบาไม่ดุเดือด แถมยังติดตลกจนผิดฟีลหน้าหนังที่คนคาดหวัง
  • แก๊งดารานักแสดงที่เล่นเป็นกลุ่มตำรวจนอกระบบขาดเสน่ห์ดึงดูด
  • บทที่ไม่รู้ว่าใครเป็นตัวเอกกันแน่ เพราะค่อนข้างกระจายเปะปะไปหมด
  • ทิศทางของเรื่องสะเปะสะปะเปลี่ยนเรื่องกันง่ายๆ

 

ADBRO

Class of ’83 นักฆ่านอกเครื่องแบบ หนังอินเดีย Netflix ที่สร้างจากนิยายอาชญากรรมอันดับ 1 ของอินเดีย อ้างอิงจากเรื่องจริงของกลุ่มตำรวจนอกระบบในปี 1983 ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อกวาดล้างแก๊งอาชญากรรมที่มีนักการเมืองหนุนหลังจนไม่มีใครจัดการได้
 Class of '83 (2020) on IMDb

ตัวอย่าง Class of ’83 นักฆ่านอกเครื่องแบบ

หนังอินเดียที่หยิบนิยายขายดีมาสร้างลง Netflix แต่ตัวเรื่องเกริ่นไว้แต่แรกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากนิยาย ไม่ใช่การหยิบมาทำตรงๆ ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใด แต่อาจจะเพราะเรื่องราวนี้ถูกอ้างอิงว่ามาจากเรื่องจริงในยุคมืดของกรมตำรวจอินเดียเมื่อปี 1983 ที่แก๊งอิทธิพลมากมายจ่ายเงินซื้อตำรวจได้ทั้งกรม อีกทั้งยังมีนักการเมืองใหญ่คอยเคลียร์ทางให้อีก จึงเป็นเหตุให้เรื่องราวนี้เกิดขึ้นมา แต่คงถูกปรับดัดแปลงให้มาเป็นนิยายมากกว่าจะเป็นชีวประวัติของบุคคลในเรื่องนี้ที่เป็นตำรวจนอกระบบ และก่ออาชญากรรมร้ายแรงมากมาย ด้วยข้ออ้างว่าการอยู่ในระบบไม่สามารถจัดการพวกนี้ได้

เรื่องราวเริ่มขึ้นตามชื่อเรื่องเลยคือ คลาสชั้นเรียนนักเรียนตำรวจรุ่นจบปี 83 ที่มีนายตำรวจชื่อดัง “วิชัย ซิงห์” ถูกย้ายมาเป็นอธิบดีคนใหม่ ด้วยข่าวลือว่าเขาถูกย้ายเพราะไปขัดขาแก๊งใหญ่เข้า ก่อนที่เขาจะไปเจอกับแก๊งนักเรียนท๊อป 5 บ๊วยสุดของคลาส ที่มีความตั้งใจแต่ไร้ฝีมือ ด้วยความแค้นที่มีต่อแก๊งค์ “คัลซีการ์” แก๊งใหญ่สุดในบอมเบย์ (มุมไบ) ที่เขาจัดการไม่สำเร็จ เขาจึงยืมมือนักเรียนทั้ง 5 ให้ไปจัดการฆ่านอกระบบตำรวจ ด้วยการสอนความรู้พลิกแพลงนอกหลักสูตรให้แก่พวกเขา จนกลายเป็นนักฆ่านอกเครื่องแบบที่จบไปทำงานไล่ล่าแก๊งอาชญากรรมในมุมไบอย่างบ้าระห่ำ

แม้ว่าเรื่องราวที่เกริ่นมาจะดูดุเดือดก็จริง แต่พอมาเป็นหนังกลับกลายเป็นออกติดตลกนิดๆ ไปแทน ซึ่งน่าจะเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการให้เรื่องดูบันเทิงมากกว่าจะเครียดตามแนวหนังอาชญากรรม ซึ่งส่วนที่ติดตลกก็มาจากช่วงครั้งแรกที่ วิชัย ซิงห์ สอนนักเรียนบ๊วยสุดของคลาสแบบนอกหลักสูตร เหมือนเรียนลัดกับของจริง พร้อมทั้งสอนแทคติกการโกงแบบตำรวจให้อีก ซึ่งกลายเป็นว่าหนังช่วงครึ่งแรกให้อารมณ์ติดตลกดูบันเทิงจนผิดจากหน้าหนังอยู่พอสมควร

พอมาช่วงครึ่งหลังที่กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ออกไปปฏิบัติการ ตัวเรื่องถึงค่อยมีอารมณ์แบบหนังอาชญากรรมขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นในลักษณะกดดันเครียดอะไรมาก หนังเล่าช่วงนี้ออกมารวบรัดมาก เหมือนกับว่าที่จริงแล้วเรื่องย่อที่เกริ่นไว้ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่สาระสำคัญที่แท้จริงคือการที่กลุ่มตำรวจนอกระบบนี้กลับเติบใหญ่กลายเป็นตำรวจกังฉินนอกระบบที่รับเงินหลายทาง และก็กลายเป็นเหมือนมือปืนรับจ้างให้แก๊งในบอมเบย์ จนแม้แต่ในองค์กรตำรวจเองยังมีชื่อเสียงกระฉ่อน โดยที่กรมตำรวจเองก็เอาผิดพวกนี้ไม่ได้ เพราะ วิชัย ซิงห์ เองเป็นคนสอนพวกนี้ให้ซิกแซกหลบเลี่ยงความผิดตามกฎหมายได้ทุกอย่างไปแทน จนกลายมาเป็นความผิดบาปในชีวิตของ วิชัย ซิงห์ ที่สร้างพวกเขาเหล่านี้ขึ้นมา

แต่เรื่องก็ไม่ได้ใส่ตำรวจเลวไว้ทั้งหมด ยังมีคนดีในกลุ่มที่เปิดตัวมาตั้งแต่แรกเป็นคนเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเด่นอะไรนัก เพียงแค่เป็นคนที่ยังซื่อสัตย์ต่อระบบและกับ วิชัย ซิงห์ ซึ่งสุดท้ายเขาจะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราวทั้งหมดอีกที โดยตัวเรื่องจบลงที่การเล่าเรื่องจริงว่าใครเป็นยังไงหลังจากจบภารกิจสุดท้ายในเรื่อง ที่ก็ไม่ได้เดือดอะไรนัก แม้จะยิงกันสนั่นตายเป็นเบือ แต่ฉากแอ็กชั่นกลับดูธรรมดาจนเกินไป เหมือนหนังไทยยิงกันเลยก็ว่าได้

อาจจะด้วยงานสร้างต้องย้อนยุคด้วย จึงทำให้ทั้งเรื่องดูเก่าเหมือนหนังฟิล์มในสมัยนั้นไปด้วย แต่ก็ไม่ได้ขัดตาอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าในเรื่องไม่ค่อยได้ใช้อะไรที่พิเศษในยุคนั้นนัก มีเพียงแค่โทรศัพท์หมุนกับเครื่องบันทึกเทปที่สำคัญกับตอนจบนิดหน่อยเท่านั้น และก็มีการแทรกประวัติศาสตร์ชนชั้นแรงงานของมุมไบมานิดๆ แทบจะไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องโดยตรง เหมือนหนังเพียงแค่อยากเล่าอ้างอิงไว้ประกอบที่มาของแก๊งอิทธิพลที่เติบโตมาจากการถูกระบบกดขี่มาก่อนเท่านั้น

ดารานักแสดงแก๊งตำรวจในเรื่องไม่ได้รู้สึกว่ามีใครเด่นน่าจดจำอะไรนัก มีเพียงแค่ตัว “วิชัย ซิงห์” ที่เล่นโดย Bobby Deol ดารามีชื่อของอินเดียที่รู้สึกว่ามีอะไรน่าติดตามอยู่บ้าง แต่ด้วยบทที่เขาเป็นเพียงแค่คนสอนและกลับมาปิดท้ายเรื่อง ก็เลยกลายเป็นเขาหายไปจากเรื่องหลังจบการสอนช่วงแรกไปนาน จนแทบจะไม่มีบทบาทให้คนดูรู้สึกร่วมด้วยเลย (แค่สอนไม่ได้เป็นคนนำปฏิบัติการถล่มแก๊ง)

นี่เป็นหนังที่หน้าตาภายนอกดูดุเดือด แต่ในเรื่องกลับหน่อมแหน้มติดตลกไปซะเยอะ แถมพอเข้าช่วงที่ควรจะดุเดือดก็กลับรวบรัดจบทำออกมาเบาๆ แล้วก็ไปโฟกัสที่ปัญหาของตำรวจที่ใช้อำนาจนอกระบบจนเคยชินจนกลายมาเป็นอาชญากรซะเอง ซึ่งมีการอิงจากเรื่องจริงในบทสรุปตอนท้าย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องราวของพวกเขาโดดเด่นอะไรนักครับ

รีวิว กัณจัญ ศักเสนา ติดปีกสู่ฝัน เรื่องจริงของนักบินรบหญิงคนแรกของอินเดียในสงคราม!

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!