รีวิว Dealer แร็ปเถื่อน (Netflix) มินิซีรีส์ตามติดชีวิตแร็ปเปอร์หัวหน้าแก๊งยาเสพติดเสมือนจริง
Dealer แร็ปเถื่อน
สรุป
ซีรีส์ 10 ตอนที่สั้นกระชับมากตอนละไม่ถึง 10 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวแก๊งค้ายาเสพติดผ่านกล้องเสมือนจริงตามติดชีวิตตลอดเวลา สนุก ตื่นเต้น กระชับจบในซีซั่นเดียวเลยครับ
Overall
7.5/10User Review
( vote)Pros
- ภาพเสมือนจริงผ่านมุมกล้องหลากหลายแบบ
- ชีวิตหัวหน้าแก๊งยาเสพติดผิวดำในชุมชนเล็กๆ
- แต่ละตอนสั้น แต่เรื่องราวลงลึกมีมิติกับชีวิตตัวละคร
Cons
- ความพยายามนำเสนอภาพเหมือนจริงบางครั้งก็ดูขัดเหตุการณ์ในเรื่องจนดูหลอกๆ
- แต่ละตอนสั้นแล้วต่อกันหมดจนเหมือนหนังชั่วโมงกว่าที่ถูกหั่นมากกว่าเป็นซีรีส์
- ตัดจบห้วนๆ มากไปหน่อย
- มีภาพแบบแอ็กชั่นแคมสั่นไหวในหลายๆ ฉาก
Dealer แร็ปเถื่อน ซีรีส์ Netflix จากฝรั่งเศส แนวอาชญากรรม เรื่องราวของผู้กำกับมิวสิควิดีโอที่ได้งานไปถ่ายนักร้องแร็ปเปอร์หน้าใหม่ที่เป็นหัวหน้าแก๊งยาเสพติดที่ตั้งใจหันเหชีวิตมาเส้นทางนี้
ตัวอย่าง Dealer แร็ปเถื่อน
ซีรีส์จำลองเหตุการณ์แบบกึ่งเสมือนจริงแบบเดียว The Blair Witch Project ที่พยายามเล่าเรื่องราวให้สมจริงผ่านกล้องวิดีโอที่ถ่ายสด โดยเป็นเรื่องราวของ “แฟรงค์” ผู้กำกับมิวสิควิดีโอที่มารับงานถ่ายมิสิควิดีโอเปิดตัวให้ “โทนี่” นักร้องแร็ปเปอร์ผิวดำที่พึ่งเซ็นสัญญากับค่าย โดยมุ่งเน้นจับภาพชีวิตจริงของโทนี่ที่เป็นหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดในชุมชนเล็กๆ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งตัวเรื่องจะตามติดชีวิตของแร็ปเปอร์ผู้นี้ที่ลึกๆ แล้วกำลังตัดสินใจถอนตัวออกมาจากวงการค้ายา หันเหมาเป็นนักร้องแร็ปจริงๆ
ซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งหมด 10 ตอนก็จริง แต่ว่าแต่ละตอนสั้นมากความยาว 7-10 นาทีเท่านั้น และก็ไม่ได้มีเรื่องราวแยกเฉพาะในแต่ละตอนมากนัก ออกแนวจบแล้วก็ต่อกันไปเรื่อยๆ มากกว่า เรียกว่าจริงๆ แล้วน่าจะเป็นหนังปกติที่ถูกนำมาหั่นซอยให้เป็นซีรีส์สั้นๆ จะดีกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าด้วยความที่ตัวเรื่องสั้นมาก และน่าจะจบในตัวเลยด้วย (ไม่ได้ขึ้นว่าลิมิเต็ดซีรีส์ แต่เรื่องราวจบลงเรียบร้อยในตอนท้าย) จึงทำให้การดำเนินเรื่องรวดเร็วทันใจสุดๆ รับรองว่าสั้นแต่สนุก และก็ถ่ายทำออกมาดีใผ่านการเขียนบทให้แต่ละฉากต้องใช้กล้องถ่ายจริงในแบบต่างๆ ให้สมจริงสอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นจุดสำคัญ โดยมีทั้งภาพจากกล้องใหญ่ของตากล้องที่ไปกับแฟรงค์ แอ็กชั่นแคมโกโปรที่ติดตัวโทนี่และแก๊งค์ของเขา รวมถึงการตัดภาพไปเล่าเรื่องผ่านกล้องตัวอื่นที่แฟรงค์ให้ชาวแก๊งในเรื่องไป และก็พยายามให้คนดูเข้าใจว่ากล้องในสมัยนี้สามารถเชื่อมต่อดูผ่านอินเตอร์เน็ตได้เลย ทำให้สามารถนำเสนอภาพจากกล้องอื่นนอกเหนือจากที่ติดตัวแฟรงค์กับโทนี่ได้ด้วย เรียกว่าบทในเรื่องนี้พยายามทำให้คนดูเชื่อได้ว่าภาพท่ีเห็นสดๆ เรียลไทม์นั้นมาจากไหนได้บ้าง แม้คนดูจะรู้อยู่แล้วว่านี่ไม่ใช่เรื่องจริงและตัดต่อเอา แต่มันก็ช่วยส่งเสริมอารมณ์ของเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดีเลย แต่คนดูที่ไม่ชอบภาพสั่นไหวแบบนี้ก็อาจจะมึนๆ กับการรับชมเรื่องนี้อยู่บ้าง เพราะแทบทั้งเรื่องเลยกล้องจะเคลื่อนที่สั่นไหวอยู่ตลอดเวลา อันเป็นเอกลักษณ์ของแนวนี้ที่ต้องเข้าใจก่อนรับชม
แม้ว่าเรื่องจะสั้นมากรวมๆ แล้วแค่ชั่วโมงนิดๆ แต่เนื้อเรื่องก็พยายามเจาะลึกถ่ายทอดเรื่องราวที่มีมิติของแก๊งยาเสพติดในชุมชนเล็กๆ ได้ดี ด้วยแนวการเสนอภาพแบบสารคดีตามติดชีวิตโทนี่ในทุกด้าน ทั้งการช่วยเหลือคนในชุมชนจนเป็นที่รักใคร่ ความพยายามดูแลปกป้องหลานวัยรุ่นไม่ให้มาเดินในเส้นทางแบบเดียวกับเขา แม้หลานจะเห็นเขาเป็นฮีโร่แบบอย่างที่อยากเดินตามรอยก็ตาม รวมถึงด้านของการเป็นแร็ปเปอร์ในแก๊งที่ลูกน้องและเพื่อนสนิทไม่เคยคิดอยากจะไปทำอย่างอื่น ทำให้การถ่ายทำมิวสิควิดีโอนี้เหมือนเป็นตัวเร่งความขัดแย้งแตกหักให้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องราวชีวิตการบริหารงานแก๊งของโทนี่ที่ฝันอยากออกมาจากจุดที่เป็นอยู่มาเป็นนักร้องเต็มตัว แต่กลับถอนตัวออกมาไม่ได้ก็ทำออกมาได้น่าเห็นใจ สามารถถ่ายทอดปัญหาของชุมชนคนผิวดำที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดผ่านเรื่องราวสั้นๆ ได้ดีทีเดียว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในเรื่องสั้นมาก แต่ก็เล่าได้กระชับลงตัวเพียงพอที่จะให้เราแอบเห็นใจชีวิตของตัวละครอย่างโทนี่ได้เลยเหมือนกัน
แต่ในส่วนของแฟรงค์ที่เป็นผู้กำกับถ่ายทำในเรื่องกลับไม่ค่อยมีเรื่องราวอะไรให้เห็นมาก มีเพียงแค่ว่าชีวิตของเขาค่อนข้างตกต่ำ และก็ฝันอยากทำภาพยนตร์ยาวๆ มากกว่ามิวสิควิดีโอ ซึ่งการที่ได้มาถ่ายทำโทนี่ก็ทำให้เขาที่ตื่นกลัวในตอนแรก ค่อยๆ มองเห็นอีกด้านของชีวิตแบบโทนี่ที่มีมุมอบอุ่นและมีพวกพ้องมิตรสหาย จนทำให้เขาค่อยๆ ปรับตัวเข้ากันได้ในที่สุด
จุดด้อยของเรื่องก็คงเป็นความพยายามทำให้เรื่องราวดูสมจริง ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่านี่เรื่องหลอก บางครั้งเหตุการณ์ในเรื่องก็เลยออกแนวพยายามยัดให้มีการถ่ายโดยใช้กล้องมากไป และเรื่องก็ตัดต่อแบบข้ามๆ ฉากไม่ถึงขนาดต่อเนื่องดูเรียลมาก ซึ่งถ้าคนไม่ได้รู้สึกอินกับการนำเสนอแบบนี้ก็จะรู้สึกขัดๆ ตลอดเรื่อง บางครั้งเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะมีกล้องก็ยังมี หรือบางทีก็ตัดฉากสลับเหตุการณ์คนละที่ไปมาเหมือนหนังจริงๆ แทนที่ควรจะเล่าฉากนั้นด้วยกล้องเดียวไปจนจบ ซึ่งความพยายามนำเสนอให้เสมือนจริงนี้ก็ทำให้เรื่องราวต้องจบลงแบบห้วนๆ ด้วย และก็ไม่ได้แปลกใหม่เพราะหนังแนวนี้มักชอบจบในรูปแบบเดียวกันทั้งนั้น (อ่านสปอยล์ได้ด้านล่าง)
เรื่องจบด้วยฉากแบตหมดจอดับไปดื้อๆ
แต่รวมๆ แล้วก็ถือว่าเป็นงานมินิซีรีส์ที่มีความแปลกใหม่ ดูสนุก มีความตื่นเต้นน่าติดตามตั้งแต่แรกไปจนจบ เหมือนกับเป็นงานทดลองหนังรูปแบบใหม่ของ Netflix ดีๆ นี่เองครับ