รีวิว Enola Holmes (Netflix) เอโนลา โฮมส์ นักสืบวัยรุ่นหญิงหัวขบรุ่นใหม่ในสังคมยุคเก่า (ไม่มีสปอยล์)
Enola Holmes
สรุป
ตัวหนังดูสนุกด้วยการเล่าเรื่องเก๋ไก๋ทันสมัยสไตล์วัยรุ่นของตัวเอกเอโนลาที่หันมาพูดคุยกับผู้ชมไปพร้อมกันตลอดเรื่อง มีแทรกโมเมนต์ความรักเบาๆ ชวนจิ้นกำลังดี แต่ตัวคดีหลักทั้งสองไม่ได้ลึกล้ำอะไรนัก อิงเข้ากับเรื่องการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติโครงสร้างทางสังคมของอังกฤษ ไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่ในยุคอดีต ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากกระแสในปัจจุบันตอนนี้เลย แต่ถ้าใครหวังมาดูการเชือดเฉือนระหว่างพี่ชายเชอร์ล็อกกับน้องสาวเอโนลา ก็คงผิดหวังพอสมควรที่แทบไม่มีให้เห็น รวมถึงการออกมาน้อยฉากของ เฮนรี คาวิลล์ ก็คงไม่จุใจคนที่ต้องการดู เชอร์ล็อก โฮมส์ เวอร์ชั่นนี้สักเท่าไหร่ครับ
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- ตัวเอโนลาโดดเด่นทั้งบทและการแสดงที่เข้ากันสุดๆ กับตัวตนของ มิลลี่ บ็อบบี บราวน์
- เฮนรี คาวิลล์ หล่อเท่นุ่มๆ ในมุมเวอร์ชั่น เชอร์ล็อก โฮมส์
- พระเอกวัยรุ่นหล่อใสสุดๆ
- ฉากโรแมนติกชวนจิ้นกำลังดีไม่เกินเลยไป
- คดีที่โยงคนรุ่นใหม่เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอดีต
- มีเสียงพากย์ไทย
Cons
- การสืบสวนดูง่ายๆ ไม่เข้มข้นสักเท่าไหร่
- คดีของแม่นางเอกที่หายไปกลับมาเฉลยตอนจบแบบง่ายๆ
- ตัวละครเสริมดูไม่ค่อยมีน้ำหนักกับเมนเรื่องสักเท่าไหร่
เอโนลา โฮมส์ (Enola Holmes)หนัง Netflix ที่สร้างจากนิยายดัดแปลงต่อยอด เชอร์ล็อก โฮมส์ ของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ โดยเป็นเรื่องราวของน้องสาว เอโนลา โฮมส์ ที่ออกเดินทางตามหาแม่ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย ในขณะที่พี่ชายของเธอก็ตามหาอยู่ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง เอโนลา โฮมส์ (Enola Holmes)
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนิยายชุด The Enola Holmes Mysteries ของผู้แต่ง Nancy Springer โดยเป็นเล่มแรกที่ชื่อว่า The Case of the Missing Marquess ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคดีความฟ้องร้องจากบริษัทดูแลผลประโยชน์ของโคนันดอยล์อยู่ ในข้อหาใช้ตัวละครเชอร์ล็อกโฮมส์ในช่วงหลังที่ยังไม่หมดลิขสิทธิ์เป็น Public Domain (สาธารณสมบัติใครนำไปใช้ก็ได้ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีอายุจำกัด 50 ปีหลังเจ้าของผลงานเสียชีวิตไปแล้ว) ซึ่งฝ่ายฟ้องร้องอ้างว่าเชอร์ล็อกโฮมส์ช่วงแรกมีลักษณะเย็นชา ไม่ได้ดูอ่อนโยนอบอุ่นกับผู้หญิงแบบที่นิยายกับภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างไว้ เท่ากับไปดึง เชอร์ล็อกโฮมส์ ช่วงหลังที่ยังไม่เป็นสาธารณสมบัติมาใช้ ซึ่งตัวคดีความก็ยังไม่ได้จบ แต่คงเคลียร์กันได้ Netflix ถึงนำเรื่องนี้มาฉายได้ในที่สุด
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเอโนลา โฮมส์ น้องสาววัยรุ่นของเชอร์ล็อกรู้ว่าแม่หายตัวไป เธอก็ตั้งใจออกไปตามหาแม่ที่เลี้ยงดูเธอมาคนเดียวตลอด พร้อมทั้งฝึกทักษะความรู้การเอาตัวรอดต่างๆ ให้ตั้งแต่เด็ก ในขณะที่พี่ชายทั้งสองคน ไมครอฟต์ โฮมส์ กับ เชอร์ล็อกโฮมส์ ก็กลับเข้ามาในชีวิตของเธออีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบหรือใส่ใจเธอตั้งแต่เด็กๆ แต่พี่ชายคนโต ไมครอฟต์ กลับเข้ามาบังคับให้เธอเข้าโรงเรียนกุลสตรี เพื่อให้กลับมาอยู่ในกรอบของสังคมอังกฤษในยุคนั้น ส่วนเชอร์ล็อกก็ออกสืบหาแม่ที่หายไป ในเวลาเดียวกับที่เอโนลาหนีออกจากบ้านไปตามสืบหาแม่ที่ลอนดอนเช่นกัน
การดัดแปลงต่อยอดเชอร์ล็อกโฮมส์ในครั้งนี้ ยังคงอิงพื้นฐานเรื่องราวตัวละครเดิมอยู่อย่างตำแหน่งของ ไมครอฟต์ โฮมส์ ที่ปรึกษาของรัฐบาลและเป็นผู้ก่อตั้งสโมสรไดโอจินิส ส่วนตัวเชอร์ล็อกโฮมส์ สกิล บุคลิก ความสามารถต่างๆ ยังเหมือนเดิมเกือบหมด แต่จะไม่ได้มีคู่หูหมอวัตสันมาด้วย ในเรื่องนี้คดีจะเกี่ยวพันกับเรื่องทางการเมืองของอังกฤษในยุคนั้น ซึ่งตัวเชอร์ล็อกเองไม่ได้สนใจหรือรับคดีพวกนี้เลย เพราะเป็นคนไม่สนใจการเมืองตามคาแรกเตอร์ที่วางไว้ดั้งเดิม ตัวเรื่องจึงเหมือนเปิดโอกาสให้เอโนลาได้เข้ามามีบทบาทเต็มตัวในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
เนื้อเรื่องแม้จะปูว่าเชอร์ล็อกกับเอโนลาแข่งกันสืบคดีแม่ที่หายไป กับมีคดีที่เกิดกับเพื่อนชายของเอโนลาที่หนีมาจากตระกูลสูงศักดิ์ แล้วบังเอิญพบเจอเอโนลาบนรถไฟ แล้วถูกชายลึกลับไล่ตามฆ่าอย่างเป็นปริศนา แต่ตัวเรื่องก็ใส่บทของเชอร์ล็อกที่เล่นโดย เฮนรี คาวิลล์ ไว้เป็นแค่น้ำจิ้มเบาๆ ของเรื่องเท่านั้น โดยไม่ได้มีการแข่งกันจริงจังอะไรเลย เรียกว่าต่างคนต่างสืบไปคนละแบบ แต่ตัวเรื่องจะโฟกัสที่เอโนลาแทบทั้งหมด เชอร์ล็อกเองจะมาไขคดีด้วยการคิดวิเคราะห์ภายหลังจากจบเรื่องเท่านั้น
ตัวเรื่องเปิดโอกาสให้เอโนลาเป็นแนวบู๊ผจญภัยเต็มๆ ตัว เพราะแบ็คกราวด์ภูมิหลังของเธอคือสาวหัวขบถในสังคมยุคนั้น ซึ่งเกิดจากการที่แม่ของเธอสอนหนังสือและอะไรหลายอย่างแบบที่ผู้หญิงยุคนั้นไม่ทำกัน (สอนกระทั่งวิชาต่อสู้ยิวยิตสุ) และยังไม่ส่งเธอเรียนหนังสือในโรงเรียนด้วย ด้วยความที่เปิดเรื่องมาคือเธอโตแล้ว และแม่ก็หายไปตั้งแต่เปิดเรื่องตอนต้นเลย ตัวเรื่องจึงใช้การเล่าย้อนหลังถึงความสัมพันธ์กับแม่ของเธอทีละช่วงของการผจญภัย ที่ต้องขุดเอาสิ่งที่แม่สอนมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละครั้ง แต่การเล่าย้อนหรือแฟลชแบ็คของเรื่องนี้ไม่ธรรมดา เพราะเป็นการเล่าแบบให้ตัวเอโนลาเองหันมาพูดคุยกับผู้ชมประหนึ่งเหมือนเป็นคนรับฟังเธอเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งการหันหน้ามาคุยกับผู้ชมแบบนี้ก็เข้ากับความเก๋ไก๋ของตัวเอโนลาเอง รวมถึงยังไปกันได้ดีกับภาพบุคลิกของนักแสดง มิลลี่ บ็อบบี บราวน์ ที่คนดูเน็ตฟลิกซ์คงรู้จักเธอกันดีอยู่แล้วจากบท Eleven หรือ แอล ที่ดูก๋ากั่นเฟี้ยวฟ้าวเกินเด็กเช่นกัน
ในระหว่างสืบคดีที่แม่หายตัวไปสักพัก ตัวเรื่องก็ตัดมาที่คดีที่สองที่เธอเจอระหว่างทาง ซึ่งเป็นคดีเพื่อนชายที่เจอระหว่างทางถูกปองร้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ แถมยังหันมาทำร้ายเอโนลาที่บังเอิญช่วยเขาหนี ซึ่งคดีนี้แหละเป็นคดีหลักของเรื่องนี้ โดยที่คดีแม่ของเธอจะหายไปจากการปูเรื่องในตอนแรกเลย แล้วก็มาโผล่เอาตอนจบปิดท้ายแบบง่ายๆ ซึ่งไม่ได้ถูกวางไว้ทำเป็นภาคต่อแบบที่คิดด้วย ทำให้แอบผิดหวังอยู่เหมือนกันที่ตัวเรื่องเลือกเฉลยคดีความลับของแม่แบบแทบไม่ต้องสืบ แต่ตัวเรื่องก็มีฉากทั้งบู๊เกือบตายและช่วงปุ๋นใช้สมองให้เอโนลาได้โชว์ตลอดเป็นระยะๆ ไม่น่าเบื่อ แต่อาจจะไม่ถึงกับเร้าสุดๆ อะไรได้นัก คดีดูรุนแรงจากการไล่ล่า แต่ก็ไม่ได้มีคนตาย หรือฉากโหดร้ายทารุณอะไรมากนัก เพราะขอบเขตของเรื่องยังเป็นแค่นักสืบวัยรุ่นที่ค้นหาตัวเองไปพร้อมกับไขคดีด้วยอารมณ์สับสนว่าแม่ทิ้งไปจริงๆ หรือแค่เล่นเกมกับเธอเท่านั้น
แต่ตัวคดีที่สองที่เรื่องเบนเข็มไปเล่นอาจจะน่าสนใจกว่าตรงที่ดารานำวัยรุ่นรูปหล่อ Louis Partridge ที่มาเล่นเป็นเคาท์ทิวส์เบอรี เด็กหนุ่มผู้มีสกิลเกี่ยวกับพืชพรรณไม้ และสนใจเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการเป็นนักการเมือง ซึ่งก็คือพระเอกของเรื่องนี้ ที่บทเปิดโอกาสให้เขากับเอโนลามีโมเมนต์ชวนจิ้นอยู่เป็นระยะๆ แต่เรื่องก็ไม่ได้เลยเถิดไปถึงขั้นจูบหรือมีอะไรกับแบบหนังวัยรุ่นเน็ตฟลิกซ์ปกติ ซึ่งขอบเขตของอารมณ์ความรักในเรื่องนี้ออกมากำลังดี เหมาะไปกับพื้นเพของเรื่องที่เอโนลาต้องไม่ไว้ใจหรือสนิทกับผู้ชายตามที่แม่สอน และยิ่งเธอตั้งเป้าเป็นนักสืบด้วย ตัวเรื่องสืบคดีจึงสำคัญมากกว่าความรัก แต่ตัวหนังก็ทำให้คนดูรู้แหละว่าทั้งคู่มีใจให้กันตามประสาหนุ่มสาวที่มีนิสัยความนึกคิดแปลกแยกจากสังคมในยุคนั้น ตัวเรื่องพยายามนำเสนอความเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคเก่า ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในช่วงชีวิตต่อไปของพวกเขา แต่กลับต้องเจอกับการขัดขวางจากคนรุ่นเก่า หัวเก่า ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งนี่คือคีย์ของเรื่องนี้ไปจนจบเคสนี้เลย รวมถึงแอบเชื่อมโยงไปยังคดีของแม่เอโนลาในภายหลังอีกด้วย
สำหรับคนที่หวังมาดู เฮนรี คาวิลล์ ในบท เชอร์ล็อกโฮมส์ เวอร์ชั่นนี้ก็อาจจะผิดหวังที่ออกมาไม่กี่ฉาก แต่ก็ดูเป็นเชอร์ล็อกโฮมส์เวอร์ชั่นที่หล่อ นุ่ม สุขุม ดูดีไปหมด แต่แค่มีปมเล็กๆ ว่าทิ้งครอบครัวไม่สนใจน้องสาว เอาแต่สนใจคดีของตัวเอง ซึ่งก็เป็นความหมกหมุ่นอันเป็นนิสัยดั้งเดิมของตัวละครนี้อยู่แล้ว ในเรื่องนอกจากมาไขคดีแข่งกับน้องสาวแบบไม่ออกหน้า ก็ยังออกมาช่วยชี้ทางแนะนำในฐานะนักสืบรุ่นพี่ในบางครั้ง ตรงข้ามกับตัว ไมครอฟต์ โฮมส์ พี่ชายคนโตที่ดูเหมือนเป็นตัวร้ายของเรื่องไปซะมากกว่า เมื่อยึดติดกับความคิดหัวเก่า หวังดีแต่กระทำร้าย ด้วยการบังคับน้องสาวให้ทำตามที่เขาต้องการ ให้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตกุลสตรีเป็นแม่บ้านแต่งงานมีลูกไปตามปกติ ซึ่งเขามองว่าการที่เอโนลาหัวขบถจากการสอนของแม่จะเอาตัวไม่รอดหลังแม่หายไปให้เผชิญหน้ากับสังคมจริง ในโลกที่เอโนลาไม่เคยพบมาก่อน และแม่ก็ไม่ได้สอนไว้ด้วย แต่นั่นกลับเป็นการทำร้ายเอโนลาตรงๆ ในขณะที่พี่รองเชอร์ล็อกก็เหมือนช่วยอะไรไม่ได้ และก็ไม่ได้อยากขัดพี่ชายในเรื่องนี้ด้วย
ตัวหนังเป็นแนวเฟมินิสต์ค่อนข้างเต็มตัว แต่ผู้กำกับเรื่องนี้ Harry Bradbeer กลับเป็นผู้ชาย แต่ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะมีปัญหากับการนำเสนอแนวคิดผู้หญิงลุกขึ้นมาปฏิวัติสังคม เพราะผลงานก่อนที่ขึ้นชื่อและดังมากของเขาคือ Fleabag ที่ตัวเอกฟลีแบ็กเป็นผู้หญิงมีนิสัยประหลาดๆ มีความมั่นใจในตัวเองสูงปรี๊ด ท้าชนกับเขาไปทั่วในลอนดอนยุคปัจจุบัน ก็ดูจะไม่แตกต่างอะไรจากเอโนลาในลอนดอนสมัยอดีตเรื่องนี้เลย รวมถึงสไตล์นำเสนอแบบให้นางเอกหันมาพูดคุยกับคนดูก็เหมือนกัน (คลิกที่นี่ดูฟลีแบ็กได้ใน Amazon Prime มี 2 ซีซั่นในตอนนี้)
สรุปโดยรวม ตัวหนังดูสนุกด้วยการเล่าเรื่องเก๋ไก๋ทันสมัยสไตล์วัยรุ่นของตัวเอกเอโนลาที่หันมาพูดคุยกับผู้ชมไปพร้อมกันตลอดเรื่อง มีแทรกโมเมนต์ความรักเบาๆ ชวนจิ้นกำลังดี แต่ตัวคดีหลักทั้งสองไม่ได้ลึกล้ำอะไรนัก อิงเข้ากับเรื่องการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติโครงสร้างทางสังคมของอังกฤษ ไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมไปสู่คนรุ่นใหม่ในยุคอดีต ที่ไม่ได้ต่างอะไรจากกระแสในปัจจุบันตอนนี้เลย แต่ถ้าใครหวังมาดูการเชือดเฉือนระหว่างพี่ชายเชอร์ล็อกกับน้องสาวเอโนลา ก็คงผิดหวังพอสมควรที่แทบไม่มีให้เห็น รวมถึงการออกมาน้อยฉากของ เฮนรี คาวิลล์ ก็คงไม่จุใจคนที่ต้องการดู เชอร์ล็อก โฮมส์ เวอร์ชั่นนี้สักเท่าไหร่ครับ
Miss Sherlock ซีรีส์ญี่ปุ่นใน HBO ดัดแปลงเชอร์ล็อคโฮล์มและวัตสันเป็นผู้หญิง