รีวิว Girls from Ipanema SS1-2 เพลงรัก จุดประกายฝัน ซีรีส์ผู้หญิงนอกกรอบในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่
Girls from Ipanema
-
คะแนน SS1 - 7.5/10
7.5/10
-
คะแนน SS2 - 7/10
7/10
สรุป
ซีรีส์แนวดราม่าเรื่องราวของวงการดนตรียุค 1960 ที่หาได้ยาก และทำออกมาได้ดีเกินคาด แม้ช่วงแรกอาจจะรู้สึกว่าไม่เข้มข้นเท่าไหร่ แต่พอกลางเรื่องไปตัวเรื่องผูกปมปัญหาหลายอย่างเข้ามาได้อย่างน่าติดตาม และเรื่องก็ไม่ได้เบาๆ มีฉากติดเรตเปลือยกาย ฉาก SEX รุนแรง ไปจนถึงโศกนาฎกรรมที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อผู้ชายอย่างร้ายแรง จนไม่คิดว่าจะเห็นได้จากหนังในยุคปัจจุบันนัก
SS2 มาใหม่มีแค่ 6 ตอน เล่าเรื่องเร็วไปไวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสร้างทิศทางความสัมพันธ์ตัวละครใหม่หมดไม่ซ้ำกับ SS1 แต่เสน่ห์อาจจะลดลงไปบ้าง เพราะตัวเรื่องขาดตัวละครสำคัญบางตัวไป
Overall
7.3/10User Review
( vote)Pros
- เรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกดขี่จากสังคมทุกรูปแบบ
- ฉากย้อนยุคสมัยที่เก็บรายละเอียดได้ดีทั้งหมด
- รวมตัวละครผู้หญิงหัวขบถทั้งเรื่อง
- นำเสนอปมปัญหาตัวละครจากทุกชนชั้นและจากทุกเชื้อชาติสีผิว
- ฉากเปลือยกายของนักแสดงเยอะไม่มีเซ็นเซอร์
- นำเสนอจุดกำเนิดดนตรีแนว “บอสซาโนวา” ที่โด่งดังในยุค 1960
- ท่วงทำนองเพลงบราซิลที่คุ้นหูและไพเราะ
Cons
- นักแสดงในเรื่องต้องเล่นทั้งตอนเด็กวัยเรียนกับตอนโตในปัจจุบัน ทำให้ดูขัดๆ ตอนย้อนไปวัยเรียนอยู่บ้าง
- ช่วงเปิดผับกลางเรื่องดูรวบรัดง่ายไปสักหน่อย
- ประเด็น LGTB จบง่ายไป ถ้าเทียบกับความแรงของสังคมในยุคนั้นที่ต้องปกปิดไว้เป็นความลับ
- เรื่องเน้นปัญหาของผู้หญิงเยอะมาก สำหรับผู้ชายที่ไม่ได้สนใจก็คงไม่อินอะไรนัก
- SS2 รวบรัดเล่าเรื่องเร็วจนข้ามรายละเอียดหลายอย่างไปมาก
Girls from Ipanema เพลงรัก จุดประกายฝัน ซีรีส์ย้อนยุคแนวดราม่าชีวิต วงการธุรกิจและดนตรี ผ่านตัวละครผู้หญิงกับอุปสรรคในยุคสมัยที่ผู้หญิงถูกตีกรอบการใช้ชีวิตไว้มากมายในสังคมการทำงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้เท่านั้น
ตัวอย่าง Girls from Ipanema เพลงรัก จุดประกายฝัน
รีวิว เพลงรัก จุดประกายฝัน SS1
เรื่องนี้มีหลายชื่อบน Netflix มาก Most Beautiful Thing / Girls from Ipanema แต่ตัวชื่อซีรีส์ดั้งเดิมชื่อ “Coisa Mais Linda” เป็นซีรีส์ที่ได้แรงบันดาลใจมากจาก เพลงดัง The Girl from Ipanema (เด็กสาวจากอีปาเนมา) ของ João Gilberto กับ Tom Jobim อีปาเนมา เป็นตำบลหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรีโอเดจาเนโร บราซิล มีชื่อเสียงเรื่องชายหาดที่งดงามในยามพระอาทิตย์ตก ซึ่งผู้แต่งเพลงทั้งคู่พักอาศัยอยู่ในย่านนี้ ขณะแต่งเพลงนี้ และเป็นดนตรีแนว “บอสซาโนวา” ที่โด่งดังในยุค 1960 โดยมาจากการผสมผสานดนตรีแจ๊สของแอฟริกัน-อเมริกันกับดนตรีแซมบา ดนตรีพื้นบ้านของบราซิล เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้กับดนตรีบอสซาโนวาประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลัก 2 ชิ้น คือ กีตาร์และเปียโน และเรื่องราวในซีรีส์เริ่มที่จุดกำเนิดของดนตรีแนว “บอสซาโนวา” ที่ยังไม่เคยมีในโลกนี้นั่นเอง
ฉากหลังของเรื่องย้อนยุคสมัยไปที่ปี 1959 ของบราซิล นางเอก “มาเรีย ลุยซ่า” มาที่เมืองรีโอเดจาเนโร เพื่อเปิดร้านอาหารกับสามีตามความฝัน แต่กลายเป็นว่าสามีหนีหายไปกับหญิงชู้รักที่เป็นใครก็ไม่รู้ แถมเชิดเงินพ่อตาไปหมด ทิ้งร้านร้างๆ ไว้ให้ดูต่างหน้า กลายเป็นว่านางเอกของเราก็ท้อแท้หมดไฟในชีวิต แต่แล้วก็ได้มาเจอกับ “อเดเลีย” สาวผิวดำชนชั้นแรงงานที่มาปลุกไฟให้เธอลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง ด้วยไอเดียแปลงร้านอาหารมาเป็นผับดนตรีเล่นดนตรีสดหลากหลายแบบในยุคที่ผับมีแค่ดนตรีแจ๊ซเท่านั้น และก็ตั้งชื่อร้านว่า “Coisa Mais Linda (เพลงรัก จุดประกายฝัน)” ชื่อเรื่องนี้นั่นเอง
แกนหลักของเรื่องนี้คือตัวละครผู้หญิงเป็นตัวเดินเรื่องแทบทั้งหมด หลักๆ ก็จะเป็นตัวนางเอก 2 คน “มาเรีย ลุยซ่า” กับ “อเดเลีย” ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน เป็นเหมือนคนสองชนชั้นที่แตกต่างกันทุกอย่าง แต่ต้องมาทำธุรกิจร่วมกัน ในยุคสมัยที่ผู้หญิงถูกขีดเส้นตีกรอบไว้หมดโดยสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าผู้หญิงแค่หาสามีแต่งงานเป็นภรรยารับใช้ในบ้านก็พอแล้ว ไม่ต้องทำงานอะไร แม้แต่แค่การมาร้องเพลงในผับก็ยังเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่สามียอมไม่ได้ หรือการกู้ธนาคารเพื่อมาทำธุรกิจก็ไม่ได้ เพราะคิดว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงล้มเหลวมากกว่าผู้ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งตัวเรื่องนี้หยิบจับเรื่องราวที่ผู้หญิงถูกกดขี่ตีกรอบมานำเสนอแทบทุกอย่าง ตัวละครหลักทั้งสองคนแม้จะมาจากพื้นเพชีวิตที่ต่างกัน อย่างมาเรียคือลูกคุณหนูตระกูลดัง ดูมีความพร้อมทุกอย่างในชีวิต แต่กลับกลายเป็นเหมือนนกน้อยในกรงทองของพ่อ ที่เชื่อว่าลูกสาวควรมีหน้าที่แค่แต่งงานเลี้ยงลูก (มาเรียมีลูกแล้ว 1 คน) ไม่ควรมาทำธุรกิจอะไรแบบนี้ ซึ่งก็ถึงขั้นต้องตัดพ่อลูก ลามไปถึงหลานด้วย ส่วนอเดเลียก็มีต้นทุนชีวิตต่ำ ทำงานใช้แรงงานเลี้ยงลูกสาวมาตลอด ใช้ชีวิตแบบประทังพอมีอาหารกินไปวันๆ ไม่สามารถคิดฝันทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากถูกตัดการศึกษาตั้งแต่เด็ก แถมผู้หญิงผิวดำที่ถูกสังคมกีดกันหลายอย่างมากกว่าปกติ แม้กระทั่งการขึ้นลิฟต์ร่วมกับคนผิวขาวก็ทำไม่ได้ การเปิดผับของทั้งคู่จึงมีอุปสรรคมากมายเข้ามาตลอดเวลา
เรื่องมีตัวหลักอีก 2 คนคือ “เทเรซ่ากับลิเจีย” แต่มาในบทสมทบที่มาช่วยเติมเต็มร้านนี้ให้สมบูรณ์ เทเรซ่าทำงานนิตยสารผู้หญิง ที่มีนักเขียนผู้หญิงคือเธอคนเดียวทั้งบริษัท ซึ่งเรื่องฉายภาพสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ในที่ทำงานได้อย่างเจ็บแสบ เมื่ออะไรๆ ก็ตามที่ผู้หญิงยุคนั้นอ่านกลับมาจากความคิดผู้ชายที่ตีกรอบไว้ นิตยสารกลายเป็นเครื่องมือล้างสมองให้ผู้หญิงเชื่อตามที่นักเขียนกำกับไว้ ซึ่งเทเรซ่าเองหัวก้าวหน้า แต่กลับต้องจำยอมเงียบๆ รอวันปฏิวัตินิตยสารเล่มนี้ ซึ่งก็มีเรื่องราวการเปิดผับของมาเรียมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอด้วย ส่วนลิเจียเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่เด็กของมาเรียที่มีชีวิตครอบครัวดูดี สามีกำลังเป็นใหญ่เป็นโต แต่เบื้องหลังกลับข่มเหงภรรยาบ่อยครั้ง ลิเจียฝันเป็นนักร้องมาตลอดชีวิต กลับไม่สามารถร้องเพลงให้ใครฟังได้ เพราะสามีไม่ยอมถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ซึ่งคนดูในยุคนี้คงรู้สึกเหมือนกันว่าดูการกดขี่ผู้หญิงในเรื่องนี้ดูโอเว่อร์เอามากๆ แต่ตัวเรื่องนี้ถอดปัญหายุคสมัยนั้นออกมาจริงๆ แน่นอนครับ และก็นำเสนอออกมาได้รุนแรง ไม่ใช่แบบแค่ซอฟท์ๆ เลยแม้แต่น้อย
ตัวเรื่องแม้จะเน้นสะท้อนปัญหาผู้หญิงถูกกดขี่ แต่เรื่องก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชายเลวร้ายไปซะทั้งหมด ทุกตัวละครในเรื่องมีคู่ของตัวเอง โดยที่เด่นมากที่สุดก็คือหนุ่มขี้เมาเจ้าเสน่ห์ “ชิโก้” ที่เป็นนักดนตรีคนแรกที่แต่งเพลงและเล่นทำนองเพลงเแนว “บอสซาโนวา” อันเป็นที่มาของเพลง Girls from Ipanema ที่เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องนี้ ซึ่งเขาก็ต้องมาติดพันกับมาเรีย แต่ว่าตัวเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำเรื่องความรักออกมาแนวโรแมนติกอะไรมากนัก มีฉากเปลือยกับฉาก SEX ค่อนข้างเยอะมาก เรื่องกลับใช้ตัวละครผู้ชายที่เข้ามาเกี่ยวพันให้เป็นปัญหาซะมากกว่า แบบที่ดูตอนแรกไม่คิดว่าเรื่องจะผูกปมไว้มาก แต่กลายเป็นว่าผ่านไปสัก 4 ตอน ตัวละครที่ตอนแรกดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน กลับมาพัวพันยุ่งเหยิงมากมาย และก็เป็นส่วนผลักดันให้เรื่องเข้มข้นขึ้นอย่างมาก จนตอนจบซีซั่น 1 กลายเป็นโศกนาฎกรรมอย่างคาดไม่ถึง
เรื่องนี้ในช่วงแรกอาจจะดูเรื่อยๆ ไม่ค่อยเร้าอะไรมาก เส้นทางธุรกิจของนางเอกก็มีอุปสรรคเยอะจนคิดว่าอาจจะไปจบเปิดร้านได้ตอนท้าย แต่เรื่องไปเร็วกว่านั้นเมื่อช่วงกลางเรื่องเปิดผับได้แล้ว และก็เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องให้มาสนุกเข้มข้น รวมถึงเรื่องเพลงต่างๆ ที่ถูกนำมาขับร้องในผับที่ขยายไปถึงเรื่องราวความฝันของตัวละครหลายตัวที่ก้าวไปสู่วงการเพลงระดับโลกในยุคสมัยนั้น ซึ่งเรื่องทำช่วงเล่นดนตรีร้องเพลงออกมาได้ดี นักแสดงเล่นและร้องเองจริงๆ ได้อย่างไพเราะ แม้อาจจะไม่คุ้นชินต่างกับเพลงในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่รับรองว่าพอฟังทำนองบราซิลในเรื่องนี้ก็ต้องคุ้นๆ เคยได้ยินกันมาก่อนทั้งนั้นแน่นอนครับ ถือเป็นซีรีส์แนวดนตรีที่หาได้ยาก และทำออกมาได้ดีเกินคาดเหมือนกันครับ
รีวิว เพลงรัก จุดประกายฝัน SS2
มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนจาก SS1
เรื่องราวในซีซั่นนี้ไม่ได้ต่อจากตอนจบสุดท้ายที่คาเรื่องไว้ว่าลิเจียกับนางเอกถูกยิง และเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เรื่องกระโดดไปถึงวันที่นางเอกมาเรียหายจากถูกยิงแล้ว แต่กลายเป็นว่าช่วงที่เธอสลบไป อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่คลับถูกยึดโดยเปโดรสามีเก่าที่แทบไม่มีบทในซีซั่นแรกได้กลับมาเป็นตัวร้ายในซีซั่นนี้ และออกุสโต้สามีของลิเจียเองที่ยิงเธอก็หลบหนีหายไป ซิโก้ก็หายไปเป็นนักร้องดังที่อเมริกาไม่มาเยี่ยมเธอเลย อีกทั้งปมต่างๆ ความสัมพันธ์ของตัวละครในซีซั่นแรกก็ถูกสับเปลี่ยนจัดที่ทางใหม่ทั้งหมด เหมือนซีซั่นนี้ต้องการรีบูสเนื้อเรื่องใหม่ขึ้นมาทั้งหมด
ถึงความสัมพันธ์ตัวละครจะเปลี่ยนไปมาก แต่ตัวเรื่องก็ยังคงอารมณ์แบบซีซั่นแรกอยู่ไม่เปลี่ยน โดยเรื่องราวช่วงครึ่งแรกจะเป็นความพยายามหลุดพ้นจากการกลับมาของเปโดร สามีของนางที่ทั้งคู่ยังไม่ได้หย่ากัน และคลับก็ตกเป็นทรัพย์สินของสามีเธอตามกฎหมายที่ต้องมีผู้ชายเป็นชื่อเจ้าของธุรกิจ ซึ่งช่วงเวลาครึ่งแรกนี้จะนำเสนอความว้าวุ่นใจของนางเอกกับความสัมพันธ์กับผู้ชายรอบตัวเธอ ในส่วนของอเดเลียก็เป็นการสานต่อความรักที่ค้างกับแก๊ปหนุ่มผิวดำในซีซั่นแรก และเตรียมแต่งงานกับเขา แต่กลายเป็นว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตของเธออีกครั้ง เมื่อความรู้สึกที่แท้จริงของเธอกลับยังมีให้เนลสัน ซึ่งในตอนนี้อเดเลียไม่ได้ปิดบังแล้วว่าเขาคือพ่อของลูกเธอ
ครึ่งหลังของเรื่องจะเป็นการกลับมาของออกุสโต้สามีของลิเจีย เพื่อมาสู้คดีที่เกิดขึ้นในตอนจบซีซั่นแรก ซึ่งกลุ่มของมาเรียต้องขึ้นสู้คดีความกับเขาเพื่อปกป้องลิเจีย ตัวออกุสโต้เองจะเหมือนเป็นตัวร้ายประจำซีซั่นที่ยังเลวไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นชนวนเหตุสำคัญปิดท้ายซีซั่น 2 เพื่อไปต่อซีซั่นอีกด้วย
ในซีซั่นนี้เปลี่ยนตัวบทนักร้องหญิงจากลิเจียมาเป็นไอโวนี น้องสาวของอเดเลียในซีซั่นแรกที่ไม่ค่อยมีบทบาทนัก แต่มาในซีซั่นนี้กลายเป็นตัวเด่นมากขึ้นมาเลย เธอเองมีพรสวรรค์ที่ไม่กล้าใช้อยู่ เนื่องจากเห็นพี่สาวที่วางแผนชีวิตผิดพลาดมาก่อน การลุกขึ้นมาทำตามฝันเป็นนักร้องคือความเสี่ยงสูดสุดในชีวิตสาวผิวดำที่มีการศึกษา และกำลังเริ่มต้นอาชีพการทำงานออฟฟิสครั้งแรกอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องราวของเธอจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับลิเจียในซีซั่นแรกด้วยในตอนหลัง เธอกลายมาเป็นตัวแทนความฝันที่ลิเจียทำค้างไว้ และยังขยายเรื่องราวของเพลงจากคลับไปสู่ค่ายเพลงผู้หญิงล้วนที่นางเอกกำลังเริ่มก่อตั้งขึ้นมา
ด้วยความที่ซีซั่นนี้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากมาย รวมถึงเลือกตัดตัวละครหลักบางตัวออกไป อย่างซิโก้เองก็แทบไม่มีบทเลยจนมาตอนหลัง เสน่ห์หลายๆ อย่างในซีซั่นแรกจึงลดลง ตัวเรื่องรวบรัดกระโดดข้ามหลายอย่างไปง่ายๆ แถมเดินเรื่องไวมากในแต่ละช่วงปมปัญหา และประเด็นผู้หญิงถูกกระทำในซีซั่นนี้ก็ลดน้อยลงด้วย แต่ก็ยังถือว่าตัวเรื่องนำเสนอส่วนนี้ได้ดีอยู่ ถ้าใครชอบซีซั่นแรกก็ยังติดตามรับชมสนุกได้เหมือนเดิม แต่อาจจะถึงกับดีมากเท่ากับซีซั่นแรกเท่านั้นครับ