playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว HUNGER เหมือน The Menu ผสม Whiplash ก็จริง แต่ก็มีเนื้อเรื่องแตกต่างเป็นของตนเอง

HUNGER

Summary

หนังไทยแนวอาหารที่เหมือน  The Menu ผสม Whiplash ซึ่งก็มีความเหมือนคล้ายหลายอย่างจริงๆ แต่ก็ไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะหนังก็มีเนื้อเรื่องในแบบของตัวเอง เรื่องของหญิงสาวชนชั้นกลางล่างที่ใฝ่ฝันอยากถีบตัวเองขึ้นมาอยู่สังคมหรูดูแพง ด้วยฝีมือทำอาหารของเธอ แต่บทกลับค่อนข้างวางไว้เป็นสูตรสำเร็จแล้วก็ไม่ได้ทำให้เธอดาร์คอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งเชฟตัวร้ายก็ร้ายแบบตรงๆ ทื่อๆ ขาดมิติความลึกของตัวละครในช่วงหลัง จนกลายเป็นการแบ่งฝั่งตัวดีตัวร้ายชัดเจนตามสูตรสำเร็จมากไป ทำให้เรื่องจบลงเอยแบบแฮปปี้เอนดิ้งง่ายๆ ตามสูตรสำเร็จทั่วไป ซึ่งผู้ชมสายดาร์คคงแอบผิดหวังอยู่ลึกๆ 

ถึงแม้จะมีข้อตำหนิเรื่องความเหมือนแรงบันดาลใจกับเนื้อเรื่องที่ยังไปไม่สุดแนวทางที่วางไว้ แต่หนังก็ดูแล้วสนุก นักแสดงตัวเอกมีเสน่ห์สวมบทบาทเล่นได้ดุเดือด ตรึงให้ผู้ชมติดตามดูได้ทุกฉาก มีงานโปรดักชั่นที่ดีมากในฉากทำอาหารสวยๆ เรียกว่าเป็นหนังไทยจาก Netflix เรื่องแรกเลยที่รู้สึกว่าโกอินเตอร์ได้แบบเชิดหน้าชูตาภูมิใจได้สักทีครับ

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
4.33 (3 votes)

Pros

  • แนวทำอาหารแบบโหดๆ
  • ฉากทำอาหารออกมาสวย 
  • งานโปรดักชั่นดี
  • นักแสดงตัวเอกเล่นได้สมบทบาท

Cons

  • เนื้อเรื่องยังติดสูตรสำเร็จไม่ดาร์คให้สุด 
  • หยิบจับเอาข่าวดังเปรมชัยมาดัดแปลงใส่ลงแบบเล่นง่ายไป
  • นักแสดงตัวประกอบในฉากปาร์ตี้อาหารดูปลอมมาก
  • บทพระเอกสมทบดูจืดๆ

ADBRO

HUNGER คนหิว เกมกระหาย หนังไทย Original Netflix จากผลงานการเขียนบทและอำนวยการสร้างของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และการกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ เรื่องราวของออย (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ผู้สืบทอดร้านราดหน้าข้างถนนต้องชีวิตพลิกผัน เพราะเธอตัดสินใจเข้าร่วมทีมเซฟชั้นนำของวงการที่นำโดย เชฟพอล (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) ผู้ทำให้เธอได้พบกับด้านมืดของวงการอาหารหรูสำหรับคนรวยโดยเฉพาะ

Hunger (2023) on IMDb

ตัวอย่าง HUNGER (ไม่มีสปอยล์)

หนังไทยที่ถูกมองว่ามีความคล้ายหนังอาหารเชฟโหด The Menu ผสม Whiplash ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะสองเรื่องนี้ทำมาก่อน แล้วก็เป็นหนังที่มีไอเดียแนวทางแปลกใหม่ทั้งคู่ ซึ่งหลังรับชมจบผู้เขียนก็คิดว่ามันมีความเหมือนคล้ายในแนวทางหลายๆ อย่างจริง และยังมีบางอย่างที่มาจากการ์ตูนจอมโหดกระทะเหล็ก การ์ตูนทำอาหารโหดๆ ชื่อดังในตำนาน อย่างตอนเริ่มต้นที่นางเอกต้องถูกทดสอบด้วยเมนูข้าวผัด อาหารเบสิคที่ดูง่ายๆ ก็เหมือนตอนเปิดเรื่องของจอมโหดเช่นกัน แม้แต่มุกอาหารตอนจบก็ยังคล้ายจอมโหดกับ The Menu ด้วย (ซึ่งถ้าใครดูมาแล้วก็คงนึกออกว่ามันคืออาหารแนวไหน) แต่ทั้งนี้เรื่องความเหมือนความคล้ายหลายๆ อย่างก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร เรียกว่าเรามาใส่ใจที่ตัวหนังเรื่องนี้ตรงๆ จะดีกว่า

หนังเดินเรื่องด้วย ออย ลูกสาวร้านราดหน้าผัดซีอิ๊วที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ จนเธอถูกชักชวนให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมเชฟพอล เซฟที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการอาหารหรู รับงานเฉพาะคนรวยเท่านั้น เซฟพอลก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นคนพิเศษแบบเขา แต่ความเข้มงวดรุนแรงถึงขั้นกักขฬะของเชฟพอลก็เป็นอันตรายกับลูกมือทุกคนในครัว ซึ่งเนื้อเรื่องก็มีการถูกกดขี่ดูถูกต่างๆ นาๆ แบบหนังต้นตำหรับที่ว่า แต่สิ่งที่ต่างไปคือในสองเรื่องนั้นตัวละครนี้ไม่ได้เป็นตัวร้ายโดยตรง แต่เป็นคนแบบเปอร์เฟ็กชั่นนิสต์ มองทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบและมีกฎของตัวเองชัดเจน และทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อสอนผลักดันลูกศิษย์ให้เก่งขึ้นจริงๆ แม้จะใช้วิธีการเข้มงวดรุนแรงจนเกินขอบเขต แต่ใน Hunger ตัวละครเชฟพอลกลับเป็นตัวร้ายจริงๆ แม้ว่าแรกๆ จะมีความรู้สึกในแบบสองเรื่องก่อนนั้นอยู่บ้าง แต่พอช่วงหลังคือบทวางการกระทำของเขาให้ไปสุดกู่แบบผิดกฎหมายเพื่อสนองตัวเองล้วนๆ ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ห่าเหวอะไรอย่างที่คิด จะถือว่าผิดคาดก็ว่าได้ เพราะตัวละครแนวนี้ที่จริงมันควรมีความลึกเป็นเหตุเป็นผลรองรับกันมากกว่านี้ แต่นี่คือบทกลับเขียนให้เขาเป็นตัวร้ายไปแบบง่ายๆ โดยหยิบข่าวดังเปรมชัยเสือดำมาดัดแปลงกันตรงๆ แบบที่คนไทยยังไงก็ดูออกว่ามันคือคดีนี้ (มีอีกฉากที่ล้อผู้ใหญ่วงการเมืองสายทหารด้วย) ทำให้บทตัวละครนี้ร่วงหล่นขาดมิติความท้าทายในเรื่องไปเฉยๆ เป็นปัญหาที่หนังไทยมักติดการเขียนบทที่ต้องมีตัวดีตัวร้ายแยกให้ชัดเจนเกินไป ทั้งๆ ที่ตัวเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลยก็ได้แท้ๆ

ส่วนตัวละครนางเอก ออย นี่คือการวางคาแรกเตอร์ที่มาเพื่อเดินเรื่องให้ครบรสตามสูตรสำเร็จ หญิงสาวจากครอบครัวธรรมดาฐานะปานกลาง ไขว้คว้าหาความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน จนได้พบกับหนทางนั้นและความรักที่มีตามมา ก่อนที่ทุกอย่างจะพลิกเปลี่ยนไปอีกครั้งและเริ่มหาทางเดินของตัวเอง ซึ่งบทแทบจะไม่มีหลุดจากสูตรสำเร็จไปเลย แม้จะมีช่วงที่ทำให้นางเอกเหมือนกระหายอยากเป็นอย่างเชฟพอล แต่บทกลับใส่ช่วงเวลานั้นมาสั้นๆ แล้วก็ไม่ได้มีอิมแพ็คอะไรกับเรื่องมาก เพราะสุดท้ายตัวนางเอกเองก็ไม่ได้ดาร์คอย่างที่ตัวเรื่องปูทางไว้เลย แต่กลับเลือกเส้นทางบทสรุปจบแบบง่ายๆ แฮปปี้เอนดิ้งตามสูตรทั่วไป จนทำให้หนังจบลงแบบธรรมดามาก ทั้งๆ ที่สามารถจบแบบดาร์คและเรียลกว่านี้ได้ ด้วยความที่บทความนี้ไม่ได้สปอยล์ก็อาจจะงงๆ ว่าแบบไหน ก็ขอยกตัวอย่างหนังไทย ฉลาดเกมโกง ที่ตอนจบแบงค์กลายเป็นสายดาร์ค ซึ่งนี่แหละที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดังกับตอนจบแบบนี้ (พอเป็นซีรีส์เลือกจบแบบไม่ดาร์ค แถมโลกสวย ก็ทำให้แป๊กไปเลยเช่นกัน)

 

แต่แม้ว่าบทหนังการดำเนินเรื่องจะไม่ถึงกับแปลกใหม่แล้วก็ยังติดสูตรสำเร็จ แต่หนังก็ดูสนุกด้วยการแสดงของทั้งคู่ ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง คือเล่นได้ดีมีเสน่ห์ออร่าจับแบบที่คนดูพร้อมเชียร์เธอให้ต่อสู้ชนะเชฟพอลให้ได้ ส่วน ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม คือนักแสดงที่เล่นแนวนี้ได้ร้ายโรคจิตสมจริงกับบทบาทที่ได้รับมาก คนดูจะเห็นอารมณ์ที่เกี้ยวกราดรุนแรง ทำให้บรรยากาศตรึงเครียดได้ทุกฉากที่เขาปรากฎตัวออกมา เพียงแต่บทมันไม่ได้มีมิติลึกมากอย่างที่หวังไว้เท่านั้น

อีกส่วนที่ทำให้เรื่องนี้ดูดีคือฉากทำอาหารต่างๆ ที่เน้นโคลสอัพออกมาสวย มีการเล่นสโลวโมชั่นในหลายครั้ง ซึ่งงานโปรดักชั่นฉากทำอาหาร จัดวางอาหารสวยๆ มีดีไซน์หน้าตาที่หรูดูแพงกับคอนเซ็ปต์แปลกๆ ทั้งหมดทำออกมาได้สมราคาหนังไทยที่ขายลงสตรีมมิ่งโกอินเตอร์มาก ไม่แพ้ The Menu เลย แต่ส่วนนี้ก็มีที่ตินิดหน่อย ตรงฉากในเรื่องเน้นการจัดงานกับกลุ่มคนรวยจัดปาร์ตี้หรู แต่ดูปลอมไม่แพงจริง แล้วก็ใช้ฉากแบบนี้ซ้ำเยอะไป ตัวประกอบในเรื่องที่รับบทกินอาหารดูปลอมๆ เหมือนนักแสดงสมัครเล่นมากไป จนดูขัดตาเมื่อเทียบกับฉากอาหารที่เสิร์ฟมาสวยๆ 

 

โดยรวมแม้จะมีข้อตำหนิเรื่องความเหมือนแรงบันดาลใจ กับเนื้อเรื่องที่ยังไปไม่สุดแนวทางที่วางไว้ แต่หนังก็ดูแล้วสนุก มีงานโปรดักชั่นที่ดีมาก เรียกว่าเป็นหนังไทยจาก Netflix เรื่องแรกเลยที่รู้สึกว่าทำได้ดีสมมาตรฐานงานโกอินเตอร์มาก

 

 

ติดตามรีวิวหนัง Netflix เรื่องอื่นคลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!