รีวิว Jagame Thandhiram (Netflix) นักฆ่าแอนตี้ฮีโร่เจ้าของร้านโรตีในลอนดอน
Jagame Thandhiram โลกนี้สีขาวดำ
สรุป
หนังอินเดียที่ลงทุนถ่ายทำในอังกฤษ โดยรวมดูเพลินๆ ได้กับแนวอาชญากรรมติดตลกร้าย ในครึ่งแรกเป็นแนวมาเฟียปะทะกันในลอนดอน แต่ในครึ่งหลังกลายเป็นเรื่องปัญหาของผู้อพยพกับการเมืองในอังกฤษ ซึ่งพระเอกครึ่งแรกคือตัวร้ายน่ารังเกียจของเรื่อง แต่มาครึ่งหลังคือแอนตี้ฮีโร่กลับใจที่ชวนให้น่าติดตามการไถ่บาปของตัวเอกได้โอเคเลย แต่หนังมีปัญหาตรงฉากเต้นยืดยาวและทำออกมาไม่ดี รวมถึงส่วนเกินล้นๆ หลายอย่างในเรื่องที่ทำให้ภาพรวมหนังดูแย่ลงไปมาก
Overall
6.5/10User Review
( votes)Pros
- หนังอินเดียที่ลงทุนถ่ายทำในลอนดอน
- พระเอกแอนตี้ฮีโร่ที่ครึ่งแรกดูเชี่ยมาก แต่ครึ่งหลังน่าเห็นใจในชะตากรรม
- นางเอกสวยและมีบทบาทสำคัญกับเรื่อง
- ฉากแอ็กชั่นมีความโหดในแนวตลกร้าย
- ปมปัญหาผู้อพยพในอังกฤษคือหัวใจของเรื่อง
- มีเสียงพากย์ไทย
Cons
- ฉากเต้นยืดยาวทำออกมาไม่ดี แถมยังใส่มาเยอะจนเกินพอดี
- มุมกล้องหมุนวนๆ รอบตัวละครหลายฉากจนดูน่าเวียนหัว
- ฉากเล่าแฟลชแบ็คจุดหักมุมครึ่งหลังยาวจนเหมือนสารคดี
- มีฉากส่วนเกินล้นๆ หลายๆ อย่างของเรื่องมากไป
Jagame Thandhiram โลกนี้สีขาวดำ หนังอินเดียเน็ตฟลิกซ์ แนวแอ็กชั่นดาร์คคอมเมดี้กับพระเอกแอนตี้ฮีโร่ เรื่องราวการปะทะกันของแก๊งมาเฟียอินเดียกับอังกฤษในลอนดอนที่ลามไปถึงการเมืองประวัติศาสตร์ผู้อพยพจากศรีลังกา ที่มีอังกฤษเป็นตัวต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
ตัวอย่าง Jagame Thandhiram โลกนี้สีขาวดำ
มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของเรื่อง
หนังอินเดียทุนสร้างที่ยกกองไปถ่ายทำที่ลอนดอน อันเป็นฉากหลังใหญ่ของเรื่องราวแก๊งมาเฟียอินเดียกับอังกฤษปะทะกันในลอนดอน โดยมีตัวเอกชื่อ “ซุรูลี” เป็นมือปืนขาใหญ่เจ้าของร้านโรตีที่ถูกมาเฟียอังกฤษจ้างมาให้เป็นที่ปรึกษาหาทางจัดการแก๊งมาเฟียอินเดียคู่อริให้ได้ภายใน 1 เดือน แต่เรื่องราวไม่ได้หยุดอยู่ตรงจุดนั้น ตัวหนังกลับลงลึกไปถึงเรื่องการเมืองกับผู้อพยพ และปัญหาของอังกฤษที่มีต่ออินเดียมาช้านาน ซึ่งซุรูลีเองก็ได้กลายเป็นฮีโร่ลับๆ ช่วยแก้ไขสถานการณ์คุกรุ่นทางการเมืองของผู้อพยพกับชาวอังกฤษได้อย่างไม่น่าเชื่อ
หนังเรื่องนี้วางแนวตัวเองเป็นแอ็กชั่นดาร์กคอมเมดี้ เป็นการเล่าชีวิตของซุรูลีนักเลงหรือมือปืนขาใหญ่ที่มีฝีมือเหลือร้ายมาก จนเขาได้รับการติดต่อให้ไปช่วยเหลือมาเฟียอังกฤษ ด้วยค่าจ้าง 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน พร้อมกับเสนอสถานะพลเมืองอังกฤษกับร้านอาหารอินเดียให้ในลอนดอน ซึ่งในครึ่งแรกของเรื่องคือการทำงานของซุรูลีที่มาลอนดอนทั้งๆ ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ต้องมีล่ามคนอินเดียมาช่วยแปลอีกที และก็ใช้ความไม่รู้ภาษาอังกฤษของซุรูลีมาเป็นมุกตลกเล็กๆ ประกอบเรื่อง ผสมกับการเจาะเครือข่ายแก๊งชาวอินเดียด้วยกัน ที่หาเงินจากปืนเถื่อนแลกเป็นทอง ผ่านบริษัทจัดงานศพกับงานแต่งงานของชาวอินเดียในลอนดอน ซึ่งซุรูลีก็สามารถเจาะเส้นทางเครือข่ายพวกนี้ได้อย่างง่ายดาย จนช่วยมาเฟียอังกฤษถล่มปิดบัญชีแก๊งอินเดียชาวทมิฬนี้ได้อย่างราบคาบ
แต่ครึ่งแรกของเรื่องกลับไม่ใช่หัวใจหลัก เพราะตัวเรื่องจริงๆ เริ่มจากจุดที่ซุรูลีประสบความสำเร็จและได้กลายมาเป็นลูกน้องคนสำคัญของมาเฟียอังกฤษ มีกิจการร้านรวงในครอบครองมากมาย แต่เขากลับพบว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปกลายเป็นความอัปยศที่สุดของชาวอินเดียเชื้อสายทมิฬ เมื่อปีเตอร์หัวหน้าแก๊งมาเฟียอังกฤษกลับคิดการใหญ่กว่านั้น ในการหากินกับผู้อพยพที่หนีมาจากที่อิ่น โดยเฉพาะชาวทมิฬที่ศรีลังกา ที่ต้องหนีภัยสงครามกับการแบ่งแยกการปกครองที่มีต้นเหตุมาจากอังกฤษ แถมยังมีแผนการผลักดันกฎหมายจับกุมผู้อพยพอย่างรุนแรงเข้าคุกที่เขาสร้างขึ้นมาเอง โดยฮั้วกับนักการเมืองในสภา และมีซุรูลีเป็นตัวหมากสำคัญในแผนการนี้
หนังสร้างให้ซุรูลีเป็นแนวแอนตี้ฮีโร่กลับใจ ครึ่งแรกหมอนี่เรียกว่าเชี่ยมากๆ แบบคนดูเกลียดตั้งแต่การเปิดตัวครั้งที่บุกยิงคนบนรถไฟแบบไม่แคร์ใคร แถมยังกลับมางานหมั้นตัวเองหน้าตาเฉย บุคลิกหน้าตากับหลายๆ อย่างไม่ชวนให้รู้สึกว่านี่คือพระเอกเลย แม้เราจะเข้าใจว่ามันเป็นหนังอาชญากรรม แต่เรื่องตั้งใจให้ซุรูลีในครึ่งแรกนี่เลวเรียกพี่ แถมยังไปปิ๊งรัก “แอตทิลา” สาวอินเดียที่ทำงานเป็นนักร้อง แล้วก็ทำตัวแย่ๆ แบบกร่างอยากได้มาเป็นของตัวเองผ่านอำนาจอิทธิพลที่ตัวเองได้มาจากแก๊งของปีเตอร์
แต่จุดหักเหของเรื่องก็มาจากเขาพึ่งรู้ความจริงบางอย่างของศิวะโรจน์หัวหน้าแก๊งชาวอินเดียที่เขาจัดการไป ซึ่งศิวะโรจน์มีงานเบื้องหลังเป็นนักบุญในคราบมาเฟีย ซึ่งพอถึงจุดหักเหตรงนี้ หนังแฟลชแบ็คย้อนเล่าเรื่องราวยาวมากตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหาที่มาจากสงครามชาวทมิฬกับสิงหลในศรีลังกา ซึ่งเป็นสงครามล้างเผาพันธ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จริง และอังกฤษก็มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นต้นเหตุของสงครามนี้ เรียกว่าหนังพลิกกลับมาเล่นปัญหาการเมืองกับผู้อพยพในอังกฤษเป็นประเด็นหลักของเรื่อง พร้อมกับพลิกให้ซุรูลีกลายมาเป็นนักฆ่ากลับใจที่พร้อมทำทุกอย่างไถ่บาป รวมถึงแก้ปัญหาความรักที่เขามีกับแอตทิลาอย่างจริงใจกว่าในตอนแรก ซึ่งบุคลิกของซุรูลีแม้จะยังเป็นวายร้ายเก๋าๆ อยู่ แต่ ณ จุดนี้เขาก็กลายเป็นพระเอกวายร้ายที่คนดูคงโอเคยอมรับได้และน่าเห็นใจอยู่ เพราะเรื่องราวหลังจากนี้ไปเขากลายเป็นผู้ถูกกระทำจากปีเตอร์แทน และยังเป็นการชดใช้กรรมที่เขาก่อเรื่องทั้งหมดขึ้นมาด้วย
ตัวหนังจริงๆ ถือว่าดูได้เพลินๆ แม้ความยาวจะถึง 2 ชั่วโมง 37 นาที แต่หนังกลับใช้เวลาไปกับฉากเต้นประกอบเพลงตามสูตรหนังอินเดียมากไปหน่อย เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นหนังโรงที่เน็ตฟลิกซ์ซื้อมาถึงมีฉากเต้นเยอะมากจากปกติที่ออริจินอลเน็ตฟลิกซ์มักไม่ค่อยทำกัน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับฉากเต้นในหนังอินเดีย แต่เพราะเรื่องนี้ฉากเต้นกลับใส่มาแบบไม่เหมาะเจาะกับเรื่อง อย่างฉากเต้นในงานหมั้นของตัวเอกตอนแรกที่ยาวนานก็ไม่ได้เป็นฉากสำคัญกับเรื่องราวเลย เพราะโดยปกติฉากเต้นของหนังอินเดียคือการบอกเล่าเรื่องราวแบบรวดรัดผ่านบทเพลงกับท่าเต้น แต่ในเรื่องนี้กลับเอามาใช้สุรุ่ยสุร่ายไม่ได้เป็นฉากสำคัญใดๆ แถมยังยืดเยื้อยาวมาก เพลงก็ไม่เพราะติดหู ท่าเต้นก็ไม่ได้ทำได้ดีอะไร ฉากเต้นที่เป็นส่วนสำคัญของหนังอินเดียบอลลีวู๊ดเลยกลายเป็นส่วนแย่ๆ ของเรื่องที่อยากกรอข้ามไปซะมากกว่า
อีกอย่างคือตัวหนังมักใช้ภาพหมุนกล้องรอบตัวนักแสดงยาวนานจนคนดูคงมึนหัวแทน แบบหมุนๆ เกิน 4-5 รอบต่อซีนนั้น ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าต้องการให้เท่หรือยังไง แต่มันกลับออกมาดูแย่มากกว่าเท่จริงๆ นอกจากนั้นก็ยังมีพวกฉากเล่านั่นนี่ยาวๆ อย่างแฟลชแบ็คเรื่องราวของศิวะโรจน์ก็ยาวมากเกินพอดีจนเหมือนสารคดีประวัติศาสตร์สงครามศรีลังกาไปแทน และหลายๆ อย่างในเรื่องนี้มักใส่มาแบบไม่ค่อยเข้าท่า จนกลายเป็นหนังที่ยาวกว่าปกติจากเรื่องพวกนี้ไปแทน ซึ่งถ้าเรื่องกระชับลงตัวหนังจะดีกว่านี้มาก
แต่ก็ต้องถือว่าเป็นหนังที่กล้าเล่าเรื่องการเมืองปัญหาจากประวัติศาสตร์จริงของอังกฤษกับอินเดีย แถมยังยกกองถ่ายทำหลักในอังกฤษอีก เรียกว่าลงทุนมากพอตัวกับเซ็ตติ้งแก๊งอินเดียในลอนดอน ส่วนตัวปีเตอร์เจ้าพ่อแก๊งอังกฤษ บทจะออกแนวให้ดูติดตลกมากกว่า แม้การกระทำต่างๆ จะออกแนวมาเฟียจริงจังก็ตาม แต่นักแสดงเล่นแนวโอเว่อร์แอ็กติ้งจนทำให้ดูติดตลกร้าย ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเพราะตัวเรื่องก็วางแนวนี้มาตั้งแต่แรกกับตัวซุรูลีที่ทำร้านโรตีแต่ประกอบระเบิดได้ในชั่วพริบตา ซึ่งตลกร้ายในเรื่องนี้แม้จะไม่ถึงกับขำก๊ากได้ แต่ก็แอบเจ็บแสบนิดๆ พอดูเหมือนกัน ยิ่งกับตอนจบของเรื่องบทสรุปของปีเตอร์กับซุรูลีถือว่าเจ็บแสบ และแอบเผื่อไว้เป็นภาคต่อได้อีก เพราะซูรูลีเองก็กลายมาเป็นพระเอกแอนตี้ฮีโร่ที่พร้อมจะช่วยคนอินเดียด้วยกันในต่างแดนไปแล้ว