playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Jamtara สิบแปดมงกุฏไซเบอร์ SS1-2 ระทึกกดดันขยี้เบี้ยล่างชนชั้น Underdog อินเดีย!

  • คะแนน SS1 - 7.5/10
    7.5/10
  • คะแนน SS2 - 7/10
    7/10

สรุป

รีวิว SS1 ตัวเรื่องไม่ได้เน้นเรื่องไปที่การหลอกลวงคนแบบหน้าตาภายนอก แต่เป็นเรื่องการกดขี่ข่มเหงจากอำนาจอิทธิพลและชนชั้นวรรณะในอินเดีย ซึ่งแทบเดาเรื่องไม่ออกเลย เพราะหนังเล่นปิดประตูทางออกให้ตัวละครที่ตกเป็นเบี้ยล่างจนมืดมนไม่เห็นทางออก เรียกว่าหนังทำสำเร็จแล้วกับจุดนี้ที่ทำให้ผู้ชมเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างสนิทใจ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นอาชญากรไซเบอร์ก็ตามที

 

รีวิว SS2 ตัวเรื่องยังคงสนุกในแบบดิบๆ แปลกๆ มีเอกลักษ์ของตัวซีรีส์เองได้แบบเดิม แต่ความกดดันของเรื่องจะไม่เท่าซีซั่นแรก เพราะเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองมากกว่าอาชญากรรมทำร้ายร่างกายตรงๆ แบบซีซั่นแรก แต่พอเรื่องบีบงวดลงตอนท้ายก็ยังมีฉากอาชญากรรมรุนแรงใส่มาให้ระทึกได้อยู่ และก็จบตัวเรื่องแบบเคลียร์ปมในตัวของซีซั่นนี้ไว้หมด ก่อนที่จะไปต่อซีซั่น 3 ซึ่งน่าติดตามว่าเรื่องจะเดินหน้าต่อไปยังไงในที่สุดครับ

Overall
7.3/10
7.3/10
Sending
User Review
5 (2 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • สอดแทรกเรื่องราวชนชั้นวรรณะควบคู่ไปโลกอาชญากรรมได้อย่างน่าสนใจ
  • ตัวละครดูดิบแบบบ้านๆ อาจจะไม่หล่อไม่สวย แต่สมกับเรื่องราว
  • แจกความหดหู่สิ้นหวังให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร
  • ซีรีส์สั้นกระชับ ตอนละ 20 กว่านาทีมี 10 ตอน

Cons

  • การถ่ายทำภาพออกมาดูเก่าๆ
  • ช่วงการหลอกลวงต้มตุ๋นแต่ละครั้งดูง่ายดายเกินจริง
  • ไม่มีฉากเต้นหรือเพลงประจำเรื่องแบบหนังอินเดียปกติ
  • ss2 มีฉากเต้นใส่มาค่อนข้างเยอะ

สิบแปดมงกุฏไซเบอร์ Jamtara: Sabka Number Ayega  ซีรีส์ Original Netflix อินเดีย เรื่องราวที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงในโลกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองจัมตารา รัฐฌารขัณฑ์ เมืองเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากอาชญากรรมต้มตุ๋นทางโทรศัพท์ เมื่อกลุ่มเด็กหนุ่มกลายเป็นอาชญากรไซเบอร์ที่ทางการเอาผิดไม่ได้ และก็กลายที่หมายตาของผู้มีอำนาจที่หวังใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือหลอกลวงคน

 Jamtara: Sabka Number Ayega (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง สิบแปดมงกุฏไซเบอร์ Jamtara: Sabka Number Ayega

รีวิว สิบแปดมงกุฏไซเบอร์ Jamtara SS1

ซีรีส์หนังอินเดียที่หน้าหนังดูโทรมๆ เก่าๆ ไม่ชวนดู แต่เนื้อหาภายในเป็นหนังแนว Underdog ที่กดดันชวนให้เชียร์ตัวละครเบี้ยล่างของชนชั้นวรรณะอินเดียได้อย่างน่าสนใจ

โดยหนัง Underdog คือหนังแนวที่ตัวละครหลักเสียเปรียบถูกเหยียบย่ำจนแทบไม่เหลือทางให้สู้ ซึ่งในทางจิตวิทยาคนดูจะเห็นใจจนอยากเชียร์ให้พลิกกลับมาชนะ ซึ่งจัมตาราก็มาในแนวทางนี้แบบนึกไม่ถึงคิดว่าแนวแก๊งต้มตุ๋นธรรมดา แต่กลายมาเป็นหนังที่หยิบเอาเรื่องราวชนชั้นวรรณะในอินเดียขึ้นมาเป็นประเด็นผูกโยงเข้ากับโลกอาชญากรรมอำนาจทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

หนังเรื่องนี้สร้างมาจากโครงสร้างเรื่องราวจริงของเมืองจัมตารา (Jamtara) เมืองเล็กๆ ที่ตกเป็นข่าวดังในอินเดียว่าเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องผู้คนหากินโดยการต้มตุ๋นทางโทรศัพท์จากสถิติในอินเดียเกิน 90% ต้นตอโทรมาจากเมืองนี้ ซึ่งทางการอินเดียพยายามหาทางจัดการปัญหานี้แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดล้วนแล้วแต่เป็นเด็กอายุไม่ถึง 16 ปี ที่ยังเป็นสถานะเยาวชน ที่กฎหมายเอาผิดได้ลำบาก แถมยังเป็นอาชญากรรมที่มีการวางแผนป้องกันตัวไว้รอบคอบ จนยากที่จะหาหลักฐานผูกมัดเอาผิดเด็กพวกนี้ได้

หนังเริ่มเรื่องโดยกลุ่มเด็กหนุ่มที่มีหัวโจกเป็นสองพี่น้อง “ร็อคกี้กับซันนี่” เป็นแกนนำ โดยซันนี่เป็นมันสมองของกลุ่มที่ทำเงินได้มากสุด ต่างกับร็อคกี้พี่ชายที่มักสร้างปัญหา และก็หาทางเข้าหานักการเมืองท้องถิ่นที่มีอำนาจอย่าง “ประเจษ” ให้ช่วยคุ้มครอง ซึ่งประเจษเองก็กำลังหมายตารวบรวมเด็กหนุ่มมาทำงานต้มตุ๋นภายใต้สังกัดเขา แต่ซันนี่กลับไม่สนใจและหาทางแยกตัวออกไปทำงานกับ “คุทิยา” วัยรุ่นสาวที่รับสอนภาษาอังกฤษหาเงินเพื่อหนีไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันสถานีตำรวจในจัมตาราก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น หลังจากที่ตำรวจแทบทั้งสถานีล้วนเกียร์ว่างในเรื่องนี้ “ดอลลี่” ผู้กำกับสาวหน้าใหม่ไฟแรงถูกส่งมาเพื่อกวาดล้างอาชญากรเด็กพวกนี้โดยเฉพาะ โดยไม่สนใจคำเตือนของ “บิสวา” ตำรวจเก่าแก่ประจำสถานี 30 ปีที่เห็นอกเห็นใจเด็กพวกนี้ และเขาก็ยังรู้ว่าการที่จะอยู่รอดในเมืองนี้ได้ต้องไม่ไปแตะต้องธุรกิจของประเจษ ซึ่งมีอำนาจตกทอดผ่านตระกูลปกครองเมืองแห่งนี้มายาวนาน

หนังมอบอำนาจทางชนชั้นให้กับประเจษ นักการเมืองที่เลวสุดขั้ว ที่คนนับหน้าถือตาเพราะมีทั้งอำนาจและเงิน ซึ่งประเจษนี่เองที่เป็นชนชั้น “วรรณะกษัตริย์” ที่ปกครองเมืองนี้มาอย่างยาวนาน ผ่านรู่นสู่รุ่นที่เป็นนักการเมืองมีอำนาจในท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ซึ่งการที่เมืองจัมตาราเต็มไปด้วยอาชญากรไซเบอร์ ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนในเมืองเต็มไปด้วยชนชั้น “วรรณะศูทรกับจัณฑาล” ที่ยากจนและด้อยโอกาส จนต้องหาเลือกทางออกด้วยการเป็นอาชญากรไซเบอร์ที่ทำเงินได้เป็นจำนวนมาก และเมื่อมีเงินก็ช่วยทำให้สังคมเลือกมองข้ามชนชั้นวรรณะที่ติดตัวพวกเขาไป

หนังมีเรื่องของชนชั้นวรรณะแทรกอยู่ค่อนข้างมาก แม้จะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าตัวละครไหนวรรณะไหน แต่ก็ทำให้เห็นเลยว่าระบบนี้เป็นต้นตออย่างหนึ่งที่สร้างปัญหาให้เกิดอาชญากรแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งตัวเอกของเรื่อง “ซันนี่” ก็เลือกทางเดินชีวิตเป็นนักต้มตุ๋นเพราะต้องการหาเงินเพื่อแต่งงานกับ “คุทิยา” สาวที่เขาแอบหลงรักในวรรณะที่สูงกว่า (ซันนี่น่าจะจัณฑาล ส่วนคุทิยาวรรณะศูทร) โดยใช้เรื่องความร่วมมือทางธุรกิจต้มตุ๋นมาเสนอด้วย แม้คุทิยาจะไม่ได้คิดรักเขา แต่ก็ยอมร่วมมือเพราะต้องการเงินเพื่อพาตัวเองออกไปจากอินเดีย ซึ่งเมื่อมีเงินมากองให้พร้อม แม่ของคุทิยาซึ่งยึดถือว่าวรรณะสูงกว่าก็ยอมขายลูกสาวกิน กลายเป็น “เงินใหญ่กว่าวรรณะ” และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ชนชั้นล่างของอินเดียอย่างกลุ่มเด็กในเมืองจัมตารา ยอมทำทุกอย่างแม้เป็นเรื่องผิดกฏหมาย เพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับหน้าถือตาปลอมๆ จากสังคมที่แบ่งชนชั้นวรรณะกันตั้งแต่ก่อนเกิดเสียอีก (วรรณะในอินเดียกำหนดตั้งแต่คู่แต่งงานแล้วว่าลูกจะออกมาเป็นวรรณะไหน)

และการที่ประเจษมีอำนาจได้ต่อเนื่องยาวนานส่วนหนึ่งก็เพราะตระกูลเป็นชนชั้นปกครองมาตลอด ซึ่งในเรื่องราวตอนแรกจะได้เห็นภาพตระกูลของประดิษในชุดแต่งองค์ทรงเครื่องจาก “วรรณะกษัตริย์” และการที่อำนาจสืบทอดกันมาก็ทำให้เขามีอิทธิพลจนไม่มีใครล้มเขาได้ และเมื่อเขาสนใจกลุ่มเด็กของ “ร็อคกี้กับซันนี่” ก็เลยเป็นการเอาอำนาจมาบีบให้วรรณะต่ำกว่าตกเป็นทาสอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งอำนาจทางชนชั้นของประเจษก็ควบคู่ไปกับการเล่นการเมืองจนได้เป็น สส.ตลอด เหมือนอย่างที่บ้านเราเป็น แต่แค่ไม่มีวรรณะติดตัวแบบอินเดียเท่านั้น

หนังเล่นเรื่องการรุกไล่ของประเจษที่อยากได้ต้องเอาให้ได้ ทั้งการไล่ต้อนบีบคั้นซันนี่ทุกอย่างจนให้จนมุม คุทิยาเองก็ตกเป็นเป้าหมายเพื่อขยี้กามสนองตัณหาด้วยเช่นกัน แม้แต่ผู้กำกับสาวที่ตอนแรกมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กก็ยังโดนหางเลขไปด้วยเพราะสิ่งที่เธอกำลังทำไปขัดกับธุรกิจใหม่ของประเจษ จนเธอเปลี่ยนเป้าหันมาเล่นตัวการใหญ่อย่างประเจษแทน แต่ก็กลายเป็นว่านอกจากจะเอาผิดเขาไม่ได้ ตัวเองก็แทบเอาตัวไม่รอดไปด้วย หนังทำให้ทุกตัวละครในเรื่องตกเป็นฝ่ายถูกประเจษบดขยี้ในแบบสิ้นหวังไร้ทางต่อสู้ และสาดความสิ้นหวังให้ตัวละครเหล่านี้ไม่มีหยุด แบบดูไปรันทดไปจนเอาใจช่วยกลุ่มเด็กวัยรุ่นในเรื่องที่เป็นอาชญากรไซเบอร์ได้อย่างสนิทใจ เพราะเห็นเลยว่าที่จริงแล้วพวกเขาก็ไม่ได้เลวร้ายมากเท่ากับประเจษที่เป็นผู้ใหญ่มีอำนาจโหดเหี้ยมอำมหิตของจริง

นี่เป็นหนังที่คนดูแทบเดาทางเรื่องไม่ออกเลย เพราะหนังเล่นปิดประตูทางออกให้ตัวละครเบี้ยล่างจนมืดมนไม่เห็นทางออก แม้กระทั่งช่วงท้ายของเรื่องราวก็ยังไม่ได้เห็นความหวัง เรียกว่าผู้สร้างโหดเหี้ยมกับตัวละครและคนดูมาก จนไม่แน่ใจว่าตั้งใจทำแล้วจบเลยหรือมีต่อซีซั่น 2 แต่หนังทำสำเร็จแล้วกับการเล่นเรื่องราวชนชั้นวรรณะในอินเดียควบคู่ไปโลกอาชญากรรมไซเบอร์ที่จำลองมาจากเรื่องจริง แม้ส่วนนี้อาจจะดูแล้วตลกๆ หรือรวบรัดหลอกคนง่ายไปสักหน่อย นั่นเพราะหนังไม่ได้ต้องการเล่นเรื่องราวการต้มตุ๋นโดยตรง แต่ก็ยังทำให้เห็นวิธีการทำงานของอาชญากรรมแนวนี้อยู่พอสมควร ซึ่งถ้าใครต้องการดูแบบเจาะลึกแนวนี้เลยแนะนำให้ดูเรื่อง SCAMS  ที่เป็นซีรีส์อยู่ใน Netflix นี้เช่นกันครับ

 

รีวิว สิบแปดมงกุฏไซเบอร์ Jamtara SS2

ซีซั่นเริ่มเรื่องด้วยการสคิปข้ามตอนจบที่ค้างเติ่งไว้ของ SS1 ไปเลย นั่นก็คือตัวเอกซันนี่ถูกยิงจนพิการขาเดินไม่ได้ ส่วนคุทิยาก็กำลังลงรับสมัครเลือกตั้งแข่งกับประเจษ ตัวร้ายของซีซั่นแรก ก่อนที่เรื่องในตอน 2 จะย้อนกลับมาเล่าที่มาของเหตุการณ์หลังจากตอนจบ SS1 อีกที โดยตัวเรื่องเปลี่ยนมาเป็นแนวสองคนนี้พยายามล้างแค้นประเจษที่ยังตามราวีทั้งคู่ไม่เลิก โดยที่ซันนี่ก็พยายามหาเงินมาให้คุทิยาเลือกตั้งให้ชนะ โดยการพยายามหาอุบายกลโกงใหม่ๆ ผ่านมือถือครั้งใหญ่ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้อีกครั้ง

สิ่งที่ต่างไปอย่างชัดเจนคือซีซั่นนี้พยายามเน้นเรื่องกลโกงขึ้นมากกว่าซีซั่นแรกที่ดูเหมือนแค่นำเสนอเป็นฉาบหน้าเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นในจัมทารา ที่คนยากจนแล้วไม่มีทางออกเลยต้องมาเป็นมิจฉาชีพกัน แต่ซีซั่นนี้คือการนำเสนอแบบว่าที่นี่ผู้คนต่างภูมิใจกับการหาเงินมาแบบนี้ โดยมีซันนี่หัวโจกที่ตอนนี้พิการแล้วก็จริง แต่ก็ออกอุบายโกงใหม่ๆ มาเรื่อย โดยสอนให้เด็กทำงานตามแผนที่เขาวางไว้ รวมถึงคุทิยาก็เป็นแบบนั้นไปด้วย โดยมีร็อคกี้มาช่วยเสริมหาเงินจากการลักพาตัวพวกต้มตุ๋นอีกที ซึ่งกลายเป็นซีซั่นนี้ผู้ชมคงไม่รู้สึกเห็นใจตัวละครนี้อีกแล้ว แต่ก็พอเข้าใจว่าตัวเรื่องพยายามให้เห็นที่มาที่ไปของการโกงในจัมทาราว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองมากแค่ไหน ซึ่งประเจษเองก็ใช้เงินจากการตั้งแก๊งคอลมาแจกเงินสร้างสิ่งต่างๆ ช่วงเลือกตั้งซื้อใจคนให้มาลงคะแนนเพื่อจะถอนทุนภายหลัง กลายเป็นการโกงในซีซั่นนี้คือการแข่งกันโกงของทั้งสองฝ่ายมากกว่า โดยมีผลเดิมพันการเลือกตั้งเป็นรางวัล

ตัวเรื่องเพิ่มตัวละครใหม่ รินกุ มือใหม่ต้มตุ๋นที่ฉลาดไหวพริบดีและเข้ามาขอเป็นลูกน้องของประเจษ ที่วันแรกก็ถูกเทสต์ให้ลองหลอกภรรยาของนักการเมืองดังระดับประเทศจนสำเร็จ จนทำให้ตัวละครตำรวจในซีซั่นแรกที่ย้ายไปแล้วก็ได้กลับมาตามล่าหาความจริงในคดีที่ค้างไว้จากรอบก่อนอีกครั้ง โดยที่รินกุเองก็มีเรื่องราวว่าเป็นพวกโกงแนวหลอกให้รัก (โรแมนซ์สแคม) มาก่อน แต่เป็นตัวละครที่อ่อนแอไม่ได้เข้มแข็ง จนดูน่าสงสารที่ถูกประเจษนำไหวพริบพรวรรค์ด้านการโกงของเขามาหาประโยชน์

 

ตัวเรื่องยังคงสนุกในแบบดิบๆ แปลกๆ มีเอกลักษ์ของตัวซีรีส์เองได้แบบเดิม แต่ความกดดันของเรื่องจะไม่เท่าซีซั่นแรก เพราะเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองมากกว่าอาชญากรรมทำร้ายร่างกายตรงๆ แบบซีซั่นแรก แต่พอเรื่องบีบงวดลงตอนท้ายก็ยังมีฉากอาชญากรรมรุนแรงใส่มาให้ระทึกได้อยู่ และก็จบตัวเรื่องแบบเคลียร์ปมในตัวของซีซั่นนี้ไว้หมด ก่อนที่จะไปต่อซีซั่น 3 ซึ่งน่าติดตามว่าเรื่องจะเดินหน้าต่อไปยังไงในที่สุดครับ

 

 

รีวิว SCAMS สอนคนให้เป็นโจร ตีแผ่เรื่องราวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ละเอียดยิบ!

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!