รีวิว Jurassic World: Camp Cretaceous ไดโนเสาร์แอนิเมชั่นที่ยังคงลุ้นระทึกได้เหมือนภาพยนตร์อยู่
Jurassic World: Camp Cretaceous
สรุป
จูราสสิคปาร์คในแบบแอนิเมชั่นเรตเด็กลงกว่าภาพยนตร์ ช่วง 3 ตอนแรกเหมือนหนังเด็กวอนหาเรื่องไม่สมเหตุผลจนน่าหงุดหงิด แต่พอพ้นช่วงนั้นไปเข้าสู่หายนะเดิมๆ ของแฟรนไชนส์นี้เมื่อไดโนเสาร์หลุด ตัวเรื่องสนุกขึ้นมาก และก็มีหลายฉากที่หยิบเอาตัวร้ายจากจูราสสิคเวิลด์มาทำแบบแอนิเมชั่นได้ตื่นเต้นระทึกมากไม่แพ้ภาพยนตร์เลย พร้อมตอนจบที่ผิดคาด กับการขึ้นเรื่องใหม่ไปต่อซีซั่น 2 ครับ
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- งานแอนิเมชั่นไดโนเสาร์ที่ดูลื่นไหล มีรายละเอียดและความน่ากลัวได้ใกล้เคียงภาพยนตร์อยู่
- หยิบไดโนเสาร์ตัวร้ายจากจูราสสิคเวิลด์มาครบ
- ต่อเติมโลกจูราสสิคปาร์คแบบที่ยังไม่มีในภาพยนตร์
- มีเสียงพากย์ไทย
Cons
- เส้นเรื่องหลักแบบเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง
- ฉากการเอาตัวรอดแบบเว่อร์ๆ เหมือนการ์ตูนมากไปหลายครั้ง
- ตัวละครบางตัวมีนิสัยกับบทพูดแอบน่ารำคาญอยู่บ้าง (แซมมี่กับเบน)
- หน้าตาตัวละครไม่ค่อยสวย เหมือนเป็นตัวการ์ตูนโหลๆ
Jurassic World Camp Cretaceous จูราสสิค เวิลด์ ค่ายครีเทเชียส การต่อยอดจากจูราสสิคปาร์คของค่ายดรีมเวิร์คร่วมกับ Netflix มาเป็นแอนิเมชั่นเด็กผจญภัยลุ้นระทึกภายใต้เส้นเรื่องแบบเดิม เมื่อปาร์คกลายเป็นฝันร้ายไดโนเสาร์หลุดออกมาอีกครั้ง ตัวเรื่องมีทั้งหมด 8 ตอนจบซีซั่น ตอนละ 24 นาทีเท่ากันหมด
ตัวอย่าง จูราสสิค เวิลด์ ค่ายครีเทเชียส (Jurassic World Camp Cretaceous)
รีวิวไม่มีสปอยล์
เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยดูแฟรนไชนส์จูราสสิคปาร์คนี้แน่นอน ดังนั้นก็คงไม่ต้องเกริ่นถึงแบ็คกราวด์เรื่องราวอะไรมากในรีวิวนี้นะครับ เพราะแม้จะเปลี่ยนเรื่องใหม่มาเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่น 6 คน แต่โครงเรื่องก็ยังเป็นแบบเดิมที่ขึ้นต้นด้วย กลุ่มตัวเอกหลายคนมารวมกันที่เกาะแห่งนี้ ก่อนจะเจอกับความซวยไดโนเสาร์หลุดจากน้ำมือมนุษย์บนเกาะที่โลภแบบเดิมๆ แต่คราวนี้เป็นรูปแบบแอนิเมชั่นที่ใช้เรตเพียงแค่ 7 ปีสำหรับเด็กดูได้ (ของภาพยนตร์เป็น PG13) ความรุนแรงของภาพก็จะเบาลงไป แต่ความตื่นเต้นระทึกขวัญยังคงอยู่เหมือนเดิม
ตัวเอกของเรื่องในภาคนี้คือ “ดาเรียส” เด็กหนุ่มผิวดำที่ชอบเล่นวิดีโอเกมจูราสสิคปาร์คและจดจำรายละเอียดต่างๆ ของไดโนเสาร์ได้เป็นอย่างดี และก็ชนะเกมจนได้รางวัลมาที่เกาะนี้เพื่อแคมป์ครั้งแรกก่อนเปิดตัวค่ายครีเทเชียสที่เป็นส่วนสำหรับเด็ก ซึ่งคนที่เหลือจะประกอบไปด้วย “บรุ๊คลิน” เด็กสาวที่เสพติดการทำแชนแนลโซเชียลมีเดีย เป็นป๊อบสตาร์ออนไลน์ที่มีผู้ติดตาม 27 ล้านคน “แซมมี่” เด็กสาวชาวไร่ที่เป็นมิตรกับทุกคน “ยาซ” เด็กสาวนักวิ่งที่มีนิสัยเก็บตัวไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับใคร “เบน” หนุ่มน้อยที่ขี้กลัว อ่อนแอ ไม่ค่อยกล้าเผชิญหน้ากับอะไรต่างๆ ที่ดูอันตราย “เคนจิ” ลูกชายเจ้าของโรงแรมบนเกาะ ที่มาเข้าแคมป์เหมือนแค่พักร้อน
ตัวเรื่องใน 3 ตอนแรกเป็นแนวเรื่องเด็กๆ มาก แต่ละตอนคือเด็กกลุ่มนี้ผลัดกันทำเรื่องนอกกฎแคมป์จนมาเจอไดโนเสาร์เข้า และก็รอดตายมาได้แบบฟลุ๊คๆ แต่ก็ไม่เข็ดยังหาเรื่องไปเสี่ยงอีก ซึ่งทำเอาการรับชม 3 ตอนแรกนี่อาจจะหงุดหงิดกับการสร้างให้ตัวละครเด็กกลุ่มนี้ดูเป็นเด็กเจ้าปัญหาที่พยายามหาเรื่องใส่ตัวแบบหนังเด็กๆ ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมาก อย่างการที่บรุ๊คลินอยากได้ไลค์จากผู้ติดตามเพิ่มก็ไปเสี่ยงถ่ายวิดีโอกับไดโนเสาร์อันตราย หรือเคนจิที่พาดาเรียสไปชมที่ลับเขตหวงห้ามจนเจอ คาร์โนทอรัส ไดโนเสาร์ที่มีเขาบนหัวเหมือนวัว และก็ถูกเคนจิตั้งชื่อเรียกว่าเจ้าวัว ซึ่งเจ้าวัวนี้เองเป็นตัววายร้ายสุดของเรื่องที่จะตามจองเวรกลุ่มเด็กไปจนจบเหมือนพวกตระกูลทีเร็กซ์ในภาคก่อนๆ ซึ่งการที่บทช่วงแรกเขียนให้เด็กวอนหาเรื่องเองทำให้ดูแล้วไม่รู้สึกอยากเอาใจช่วย และพาลให้รู้สึกว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้บทน่าจะงี่เง่าไม่เมคเซนส์แบบนี้ไปจนจบแน่ๆ
แต่ก็กลายเป็นว่าผิดคาดเมื่อตอน 4 เป็นต้นไปเรื่องเริ่มเข้าสู่ช่วงหายนะตามสูตรสำเร็จของแฟรนไชนส์ แม้จะรู้สึกว่ามุกนี้อีกแหละ น่าเบื่อมากกับการให้นักวิทยาศาสตร์ในเรื่องเป็นต้นเหตุ อย่างการออกแบบไดโนเสาร์ที่ดุร้ายเป็นพิเศษ ความโลภต้องการเอาเทคโนโลยี DNA นี้ไปขาย จนสุดท้ายไดโนเสาร์ก็หลุดการควบคุมออกมาไล่ล่าพวกคนบนเกาะ แต่เรื่องไม่ได้โฟกัสไปที่ใครอื่นนอกจากเด็ก 6 คนนี้ที่พยายามเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ และก็เจอกับไดโนเสาร์ตัวร้ายแต่ละพันธ์ตามแบบหนังจูราสสิคเวิลด์ทั้งนั้น ซึ่งก็มี อินดอมินัส เร็กซ์ ตัวร้ายจากภาพยนตร์ที่เป็นไดโนเสาร์ตัวเดียวที่ไม่ได้มีอยู่จริง มาเป็นไฮไลท์ช่วงกลางเรื่อง คู่กับโมซาซอรัส ไดโนเสาร์ใต้น้ำที่คราวนี้มีบทเด่นที่แอนิเมชั่นทำออกมาได้น่ากลัวและตื่นเต้นมากกว่าภาพยนตร์ซะอีก
แม้ภายนอกถ้าดูเผินๆ เรื่องอาจจะดูไม่น่ากลัวหรือตื่นเต้น ยิ่งตัวละครดูเป็นการ์ตูนๆ กับคาแรกเตอร์ที่ดูพื้นๆ ตามสูตรมาก แต่พอเป็นแอนิเมชั่นก็มีข้อดีตรงทำให้ครีเอทฉากเว่อร์ๆ ได้ง่ายกว่าการใช้ CG ร่วมกับคนแสดงที่ลงทุนมหาศาล และนี่เป็นงานของดรีมเวิร์คเองซึ่งก็ทำการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ออกมาได้ลื่นไหลดีเลย ขอยืนยันว่าอารมณ์ระทึกน่ากลัวของเรื่องยังมีอยู่ใกล้เคียงเดิม แม้เรตจะลดลงไม่เห็นใครถูกกิน หรือมีเลือดกับความรุนแรงให้เห็นแม้แต่แวบเดียวก็ไม่มี ตัวฉากครีเอทจังหวะการไล่ล่าหลบหนีของเด็กในเรื่องได้แปลกใหม่หลายครั้งเลย และไม่ได้มีมุกซ้ำภาพยนตร์มาก (แม้จะมีมุกไดโนเสาร์โง่ๆ ถูกหลอกไปตามเสียงแบบในภาพยนตร์ต้นฉบับอยู่บ้าง) แต่ก็ต้องยอมมองข้ามการเอาตัวรอดบางครั้งที่ดูเป็นการ์ตูนไม่สมจริง อย่างการตกที่สูงเว่อร์ๆ แล้วไม่ตาย หรือการบ้าบิ่นทำอะไรที่ดูเกินจากความเป็นไปได้มาก หรือเรื่องแบบไดโนเสาร์เพื่อนรักของเบนที่ดูการ์ตูนมากๆ ซึ่งในภาพยนต์คงไม่มีฉากแบบนี้แน่ๆ ถ้ามองข้ามพวกนี้ไปได้ ส่วนนี้ก็ดูเพลินๆ สนุกสนานไปกับเรื่องได้เลยครับ
ตัวบทเฉลี่ยความสำคัญให้กับทุกตัวละครได้ดีเลยทีเดียว แม้ดาเรียสที่เป็นตัวเอกอาจจะเด่นกว่าสักนิด เมื่อเป็นมันสมองคิดหาทางออกให้กับคนในทีม จากประสบการณ์ที่เล่นวิดีโอเกมจูราสสิคสุดหินและจบเกมได้คนเดียวในโลก และก็มีดราม่าปมครอบครัวกับพ่อแซมมานิดหน่อย “บรุ๊คลิน” ดูเหมือนนางเอกเจ้าปัญหาที่เสพติดมือถือ “แซมมี่” มีความลับปกปิดไว้มากกว่าที่เห็น และเป็นตัวละครที่เปิดใจราซ “เคนจิ” เด็กรวยขี้อวดก็จะได้เติบโตขึ้น “เบน” ก็จะได้บทก้าวข้ามนิสัยขี้กลัวของตัวเอง และเป็นตัวละครที่มีบทแอบเซอไพรส์ของเรื่องอยู่ด้วย เพียงแต่ช่วงแรกบทพูดกับการกระทำของทุกคนอาจจะดูน่ารำคาญ แต่พอเข้าตัวเรื่องหายนะตัวละครเหล่านี้จะดูดีขึ้นมาก และก็รู้สึกว่าไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว อาจจะเรียกว่าเหมือนแนวการเติบโต Coming of Age เล็กๆ ก็ได้ เมื่อแต่ละคนได้เปลี่ยนแปลงนิสัยไม่ดีของตัวเองผ่านการผจญภัยสุดโหดถึงตายได้จริงครั้งนี้
ตัวเรื่องมีตอนจบที่แอบผิดคาดเหมือนกัน เมื่อเรื่องจบลงแบบไม่สวยงาม แฮปปี้เอนดิ้งแบบในภาพยนตร์เหมือนทุกครั้ง (เอาตัวรอดหนีจากเกาะได้) และก็ทิ้งปมใหญ่ไว้พอสมควร ซึ่งต่อจากนี้น่าจะสนุกขึ้นมากเมื่อเรื่องไม่ต้องมีการปูเรื่องแบบเด็กๆ ในช่วงแรกของซีซั่นนี้แล้วครับ ซึ่งมีต่อแน่นอนเพราะนี่เป็นงานสร้างของดรีมเวิร์คเอง ไม่เคว้งแน่นอนครับ
รีวิว Dragon’s Dogma Netflix อนิเมะเลือดสาดสุดมันส์จากเกม RPG ชื่อดัง