playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Lessons in Chemistry (Apple TV+) บทเรียนเคมีสตรีโดยเฟมินิสต์ตัวแม่ Brie Larson

Lessons in Chemistry

Summary

โดยรวมนี่เป็นซีรีส์ที่เน้นเรื่องเฟมินิสต์อย่างหนักทั้งเรื่อง โดยเล่าเรื่องในมุมของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ถูกกดทับไว้โดยกฎเกณฑ์ของผู้ชายในยุค 1950 และก็ได้โอกาสเฉิดฉายในวงการโทรทัศน์แทน ซึ่งคาแรกเตอร์ผู้หญิงแข็งกล้าทั้งท่าทางกับความคิดในเรื่องก็แทบเหมือนตัวจริงของ Brie Larson ที่เป็นตัวแม่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ชมที่ชอบประเด็นเฟมินิสต์หนักๆ ร่วมกับประเด็นอื่นในสังคมที่ถูกกดขี่ก็น่าจะถูกใจเพราะซีรีส์ทำมันออกมาได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่อาจจะหนักไปสำหรับใครที่ไม่ได้อินกับประเด็นพวกนี้มากนัก แม้จะมีเรื่องความรักเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ก็ยังมีจุดที่หนักหน่วงสาหัสอยู่ดีครับ

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • เน้นเรื่องเฟมินิสต์ในยุค 1950 ผ่านนักวิทยาศาสตร์หญิง
  • การแสดงของ Brie Larson ที่เข้มข้นมาก
  • พ่วงประเด็นคนผิวดำ เกย์ ศาสนา
  • งานโปรดักชั่นดีเยี่ยม

Cons

  • เน้นเรื่องเฟมินิสต์อย่างหนักมากจนหลายครั้งดูเกินจริงไป
  • ตอนจบเรียบง่ายมาก

ADBRO

Lessons in Chemistry ซีรีส์ apple Tv+ 8 ตอนจบ สร้างจากจากนิยายเปิดตัวชื่อดังของ บอนนี การ์มัส (มีแปลไทยในชื่อ บทเรียนเคมีสตรี) เรื่องราวของ เอลิซาเบธ ซ็อตต์ นักเคมีสาวในศตวรรษที่ 1950 เผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในห้องแล็บที่มีแต่นักวิทยาศาสตร์ชายล้วน จนกระทั่งพบรักกับ คัลวิน อีแวนส์ นักเคมีหนุ่มแสนฉลาดอนาคตไกล แต่ชีวิตก็พลิกผันให้เธอกลายเป็นพิธีกรสอนทำอาหารในรูปแบบวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายไปทั่วอเมริกา
Lessons in Chemistry (2023) on IMDb

 

รีวิว Lessons in Chemistry (ไม่มีสปอยล์)

ซีรีส์เรื่องนี้สร้างมาเพื่อ Brie Larson โดยเฉพาะ เมื่อตัวจริงของเธอคือเฟมินิสต์ตัวแม่ที่พ้องกับตัวละครในเรื่องนี้อย่างชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว ด้วยบุคลิกท่าทางแข็งๆ เป็นสาวเนิร์ดนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ยิ้มแย้มหรือแต่งตัวสวยเพื่อผู้ชาย และยังไม่สนใจเข้าสังคมการทำงานใดๆ ที่ผู้หญิงในยุคนั้นถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎของผู้ชายเป็นใหญ่ นี่จึงเป็นซีรีส์ที่เหมือนกับเอาตัวจริงของเธอมาเล่นเป็นตัวละครในเรื่องไปโดยปริยาย ในแง่ดีมันก็คือทำให้การแสดงเป็นตัวละครนี้ได้สมจริง และน่าจะถูกใจกลุ่มคนดูเฟมินิสต์เป็นอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องก็สะท้อนตีแผ่ปัญหาจากในยุคนั้นโดยตรง ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ที่มีผู้หญิงน้อยคนมากแบบนึกได้แค่ มาดาม มารี คูรี่ จนเป็นมุกให้เธอยิงคำถามกลับใส่ผู้ชายเสมอที่สงสัยว่าผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ถูกกดขี่ไว้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนำเสนอปัญหาเรื่องนี้เป็นชุดตั้งแต่ในระบบการทำงานที่เธอต้องรับเป็นแค่คนชงกาแฟของทีม และยังงานปาร์ตี้ต่างๆ ที่บังคับให้เธอเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจ จนมาถึงช่วงในวงการโทรทัศน์ที่พลิกชีวิตเธอให้มีตัวตนเป็นคนดังขึ้นมาก็ยังมีปัญหานี้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เธอจะทำเรตติ้งได้ดีแค่ไหน แต่เจ้าของรายการที่เป็นผู้ชายก็คิดว่าเธอเป็นแค่ลูกจ้างในฐานะสินค้าขายดีชิ้นหนึ่งเสมอ ซึ่งเนื้อเรื่องก็คือการหาทางออกจากกรอบที่ผู้ชายสร้างไว้ให้ได้ในยุคที่สิทธิสตรียังไม่ถูกเรียกร้องในสังคม แม้แต่สตรีด้วยกันก็ยังยึดติดค่านิยมเดิมไว้ไม่เปลี่ยน จนเป็นอุปสรรคให้เธอต้องต่อสู้เรียนรู้เอาชนะให้ได้ในที่สุด

ในแง่ที่ดีของเรื่องสิทธิสตรีเรื่องนี้ให้คะแนนเต็มได้เลย เพราะซีรีส์ขับเน้นประเด็นนี้อย่างหนักมากทุกตอนจนผู้ชมแทบจะเหนื่อยแทนตัวเอก แต่ในอีกแง่คือซีรีส์เรื่องนี้ก็เน้นส่วนนี้มากๆ ตั้งแต่ทุกอย่างที่ตัว เอลิซาเบธ ซ็อตต์ แสดงออกมาแทบจะเป็นการต่อต้านสังคมไปซะทุกอย่าง แม้จะมีเหตุผลที่ยอมรับได้ แต่มันก็ดูจงใจปั้นแต่งให้รู้สึกว่านี่เป็นแค่นิยายเกินจริงไปเสมอ ยกตัวอย่าง ประเด็นถกเถียงกันว่าทำไมพิธีกรรายการทีวีต้องยิ้ม ซึ่งถึงจะเป็นเนิร์ดขนาดไหน แต่หลายประเด็นในเรื่องก็หยุมหยิมเกินจริงไปมาก ยิ่งเธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาโทมายิ่งดูเป็นไปไม่ได้ที่จะมาสงสัยอะไรกับเรื่องแค่นี้ ทำให้ทั้งเรื่องเธอเหมือนตัวละครที่พยายามฝืนต่อต้านทุกอย่างอยู่ร่ำไป และยิ่งเป็น Brie Larson เองด้วยยิ่งเหมือนเอาเธอมาเล่นเพื่อขายตรงนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ชมที่แอนตี้เธอก็คงไม่ชอบ ส่วนผู้ชมที่ชอบก็ชื่นชมเธอแน่นอน

แต่ยังดีที่ซีรีส์ก็ไม่ได้เน้นเล่าเรื่องของ เอลิซาเบธ ซ็อตต์ ทั้งเรื่อง ยังมีเนื้อหาของตัวละครชาย คัลวิน อีแวนส์ นักเคมีหนุ่มที่มีบุคลิกแตกต่างจากใครและก็มาพบรักกับเธอเข้า เนื้อเรื่องของเขามีส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวตนของ เอลิซาเบธ ซ็อตต์ เปลี่ยนไปมาคิดเรื่องชีวิตคู่ และก็เรียนรู้ความรักกันทั้งสองคน ซึ่งซีรีส์สร้างตอนเล่าเนื้อหาของเขาโดยเฉพาะเต็มๆ 1 ตอน ตั้งแต่วัยเด็กจนโต เพื่อให้เข้าใจว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาถึงกลายมาเป็นผู้ชายที่แตกต่างไปจากปกติทั่วไปในยุคนั้นได้ ซึ่งมีเรื่องประเด็นความเชื่อทางศาสนา vs วิทยาศาสตร์ แทรกเข้ามาในรูปแบบของเพื่อนทางจดหมายที่โต้ตอบกันจนกลายเป็นมิตรแท้แม้ความเห็นจะต่างกันสุดขั้ว  และก็มีเรื่องของ เอลิซาเบธ ซ็อตต์ ในวัยเด็กก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นแบบปัจจุบันอีก 1 ตอนที่นำเสนอปมปัญหาเกย์ในครอบครัวที่หากินกับศาสนาคริสต์ และก็ยังมีตัวละครจากมุมมองสุนัขที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในเรื่องกับเขาอีก 1 ตอน รวมถึงเนื้อเรื่องของเพื่อนบ้านสาวผิวดำที่เป็นแกนนำประท้วงการเวนคืนไล่ที่คนผิวดำเพื่อนำไปสร้างถนน ซึ่งเนื้อหาส่วนเสริมเหล่านี้มีตัวละคร เอลิซาเบธ ซ็อตต์ ไปเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้เป็นเนื้อหาหลักสำคัญ ทำให้ซีรีส์ดูกลมกล่อมมากขึ้นกว่าการนำเสนอประเด็นเฟมินิสต์ต่อเนื่องล้วนๆ

และด้วยงานสร้างของ apple tv+ ทำให้งานโปรดักชั่นเรื่องนี้ก็ดีในทุกรายละเอียดของยุค 50 ทั้งเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ ชุดเสื้อผ้าทรงผม ทีวีก็ยังเป็นขาวดำ ระบบการทำงานในสตูดิโอก็ยังเป็นกล้องรุ่นเก่าสมัยก่อน มีฉากในห้องส่งแบบเก่า การทำงานแบบเก่าให้ผู้ชมได้เห็นรายละเอียดกันหมด แต่เนื้อหาในช่วงนี้จะไม่เยอะเท่าเนื้อหาการเล่าเรื่องชีวิตของเธอและตัวละครอื่นๆ เพราะกว่าจะมาถึงช่วงทำรายการอาหารได้ก็ท้ายๆ เรื่องแล้วครับ

โดยรวมนี่เป็นซีรีส์ที่เน้นเรื่องเฟมินิสต์อย่างหนักทั้งเรื่อง โดยเล่าเรื่องในมุมของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ถูกกดทับไว้โดยกฎเกณฑ์ของผู้ชายในยุค 1950 และก็ได้โอกาสเฉิดฉายในวงการโทรทัศน์แทน ซึ่งคาแรกเตอร์ผู้หญิงแข็งกล้าทั้งท่าทางกับความคิดในเรื่องก็แทบเหมือนตัวจริงของ Brie Larson ที่เป็นตัวแม่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ชมที่ชอบประเด็นเฟมินิสต์หนักๆ ร่วมกับประเด็นอื่นในสังคมที่ถูกกดขี่ก็น่าจะถูกใจเพราะซีรีส์ทำมันออกมาได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่อาจจะหนักไปสำหรับใครที่ไม่ได้อินกับประเด็นพวกนี้มากนัก แม้จะมีเรื่องความรักเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ก็ยังมีจุดที่หนักหน่วงสาหัสอยู่ดีครับ

including other English reviews

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!