playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Maharaj มหาราช (Netflix) หนังอินเดียจากคดีประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าท้าทายศาสนา

Maharaj มหาราช

Summary

หนังอินเดียจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่แม้จะมีการแต่งเติมไปมาก แต่การเดินเรื่องก็สนุกด้วยตัวเอกที่ตั้งคำถามถึงความเชื่อศาสนาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยมีตัวละครที่งมงายอยู่ทั้งเมืองที่ตัวเอกต้องทำให้พวกเขาตื่นขึ้น ผ่านการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แล้วไปจบที่ศาลในความปกครองของอังกฤษ หนังมีงานโปรดักชั่นที่ดี ใส่ฉากเต้นจัดเต็มมากทั้งเรื่อง แต่จุดด้อยคือบทของตัวละครออกทื่อๆ ดีกับชั่วตรงๆ จนดูยัดเยียดมาก และตอนจบสุดท้ายก็ไม่สุดจริงตามประวัติศาสตร์นักครับ   

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
0 (0 votes)

Pros

  • สร้างจากคดีจริงในประวัติศาสตร์อินเดีย
  • ตัวเอกท้าทายความเชื่อศาสนา
  • นางเอกหัวก้าวหน้าสดใหม่
  • เพลงเพราะใช้ฉากเต้นเล่าเรื่องเยอะ
  • มีพากย์ไทย

Cons

  • บทตัวเอกกับตัวร้ายทื่อๆ ตรงๆ
  • เรื่องไม่ได้ทำตรงตามประวัติศาสตร์จริง

Maharaj มหาราช ภาพยนตร์ Original Netflix อินเดีย ที่อ้างอิงจากคดีความในศาลที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ นักข่าวที่กล้าหาญตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่มีศีลธรรมของผู้นำนิกาย ที่ได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างมากในเมือง

Maharaj (2024) on IMDb

 

รีวิว Maharaj มหาราช

หนังจากเค้าโครงเรื่องจริงในคดีประวัติศาสตร์ 1950 ของอินเดีย ในยุคสมัยที่อังกฤษยังปกครอง แต่เมืองในบอมเบย์ผู้นำนิกายหนึ่งของฮินดูกลับมีอำนาจมากกว่า จากการเคารพบูชาของประชาชน โดยมีตำแหน่งที่เรียกว่า “มหาราช” ซึ่งตัวจริงในประวัติศาสตร์ก็คือ K.M. Munshi  โดยคดีเป็นเรื่องของการฟ้องร้องหมิ่นประมาทนักข่าวที่ชื่อ K.A. Abbas ว่าเขียนเรื่องการหลับนอนกับเด็กสาว ประพฤติผิดขัดแย้งกับภาพลักษณ์ของเขาในฐานะผู้นำทางศีลธรรมและศาสนา แล้วเขาชนะไปจนกลายเป็นบรรทัดฐานให้เกิดการต่อสู้เอาผิดกับผู้มีอำนาจทางศาสนาในอนาคตต่อมา 

 

แต่ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เล่าเรื่องนี้อย่างซื่อตรงนัก เพราะมีการแต่งเติมเรื่องราวให้ดูเกินจริงไปค่อนข้างเยอะตามประสางานสร้างของ Netflix จนทำให้เกิดกระแสแบนหนังเรื่องนี้ขึ้นในอินดีย โดยที่นักแสดงพระเอกในเรื่องนี้ก็คือ ลูกชายของอาเมียร์ ข่าน คนดังที่คนไทยที่ดูหนังอินเดียมาก็น่าจะรู้จักกันดีจากเรื่อง PK  แต่กระแสแบนนั้นก็ไม่มีผลเพราะหนังก็ยังขึ้นท็อป 1 ของ Netflix อินเดียต่อเนื่องตั้งแต่ออกฉาย

แต่ถึงหนังจะไม่ได้เล่าตรงตามประวัติศาสตร์จริงนัก แต่การดำเนินเรื่องก็ทำได้สนุกในแบบที่บทและงานสร้างดีกว่าหนัง Netflix สร้างเองหลายเรื่อง โดยสิ่งที่น่าจะถูกใจผู้ชมรุ่นใหม่ที่สุดก็คือ นี่เป็นหนังที่ท้าทายความเชื่อทางศาสนาของคนรุ่นเก่าโดยตรง เรื่องเล่าตั้งแต่ตัวเอกเป็นเด็กก็มีแต่คำถามถึงการประพฤติประฏิบัติในทางศาสนา อย่างเช่น การจุดไฟเพื่อส่งสารถึงพระเจ้า งั้นแสดงว่าไฟรู้ว่าพระเจ้าอยู่ไหน? ทำไมผู้หญิงต้องคลุมปิดหน้าจนชีวิตลำบากเพียงเพื่อป้องกันผู้ชายมอง? ซึ่งเรื่องเล่าด้วยการตั้งคำถามจากตัวเอกตั้งแต่เด็กจนโต ไปจนถึงการต่อสู้คดีในศาลที่แม้พยานหลักฐานอาจจะแพ้ แต่คำถามที่พระเอกพูดออกมาก็ทำให้ฝ่ายที่นับถือศาสนาต้องเกิดการจำนนด้วยเหตุผลทันที เรื่องนำเสนอโดยที่ตัวเอกก็ยังนับถือศาสนาอยู่ด้วย ไม่ได้ลบหลู่ดูหมิ่น เพียงแต่ไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้นำศาสนาหรือใครคนอื่นบอกมาโดยไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ ซึ่งผู้ชมที่เคยดู PK มาแล้วชอบ ก็คงชอบแนวคิดการดำเนินเรื่องนี้ได้เช่นกัน

หนังยังเล่าถึงด้านการงมงายแบบสุดโต่งว่าเป็นสิ่งที่สร้างตัวร้ายมหาราชขึ้นมา แน่นอนว่าตัวมหาราชชั่วโดยการบิดเบือนคำสอนหลอกหลับนอนกับผู้หญิงมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ตัวร้ายนี้ทำได้ก็คือคนในเมืองต่างเชื่อในการกระทำแบบนี้สุดใจว่าเป็นพิธีศักสิทธิ์ โดยเปิดให้สาวกได้เข้ามาร่วมชมการหลับนอนกับผู้หญิงที่เขาคัดเลือกมาในแต่ละวันแบบไม่ซ้ำหน้าเอง แม้แต่คู่หมั้นของเขาเองก็เชื่อเรื่องนี้อย่างปักใจว่ากำลังร่วมพิธีศักสิทธิ์ ครอบครัวและทุกคนที่พระเอกรู้จักก็งมงายโดนหลอกในสิ่งที่ค้านกับความรู้สึกเหตุผลกันไปหมด แม้ว่าเรื่องจะดูแปลกประหลาดจนแทบไม่น่าเชื่อ แต่ก็คือเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ยุคนั้นที่คนยังไม่ตระหนักรู้สิทธิหลายๆ อย่างที่ตัวเองมี โดยหนังใช้อังกฤษเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มในด้านดีของเรื่องนี้ มีทนายเป็นคนอังกฤษ สู้กันในศาลอังกฤษ มีการตัดสินที่ยุติธรรมตามหลักกระบวนการยุติธรรมจริงๆ ไม่ใช่ศาลของอินเดียที่ยังล้าหลังกว่าในสมัยนั้น แล้วสิ่งที่ทำให้ตัวเอกตื่นรู้เรื่องต่างๆ ก็มาจากการเรียนการสอนของอังกฤษที่ถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ให้ตัวเอกอีกด้วย โดยเขาเป็นเหมือนนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้ประชาชน โดยการทำงานเป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น

หนังยังสอดแทรกเรื่องราวความรักไว้เล็กๆ โดยมีตัวละครนางเอก วิรัจ (Meher Vij) ที่เป็นผู้หญิงเรียนน้อย แต่มีความคิดหัวก้าวหน้า สมัครงานมาช่วยตัวพระเอก โดยตัวละครนี้เป็นนางเอกแบบที่ไม่เหมือนใครด้วยการประกาศว่าจะจีบพระเอกให้มาเป็นสามีให้ได้ ซึ่งในยุคนั้นไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น ผู้หญิงยังถูกกดขี่ไว้ทุกด้านแม้แต่การแต่งกาย การออกจากบ้าน ซึ่งทำให้ตัวละครนางเอกในเรื่องนี้ดูสดใหม่ มีเสน่ห์แบบร้ายๆ ในการตอบโต้กับฝ่ายศาสนาแบบไม่ยอมจำนนเคียงคู่กับตัวพระเอก 

นอกจากนี้หนังใส่ฉากเต้นมาแบบจัดเต็มมากเหมือนหนังลงฉายโรงในอินเดีย ซึ่งโดยปกติหนังอินเดีย Netflix ทำแทบไม่ค่อยมี หรือมีก็น้อยฉากมากเพราะงานในส่วนนี้ค่อนข้างยากในการแต่งเพลงใหม่ ซ้อมคิวเต้น แต่เรื่องนี้คือใส่มาเพื่อเล่าเรื่องราวอยู่ตลอด สำหรับผู้ชมที่ชอบก็ถูกใจแน่นอนเพราะเรื่องทำฉากเต้นได้สวยปราณีตงดงาม เพลงเพราะดูเพลินเลย แต่ถ้าคนไม่ชอบก็คงต้องกดกรอข้ามกันไปเองละกันนะครับ

 

แต่สิ่งที่เรื่องนี้ทำได้ไม่ดีจริงๆ กลับเป็นการพยายามสร้างตัวละครแบบทื่อๆ ทั้งพระเอกกับมหาราช บทพูดของทั้งคู่แสดงออกในด้านเดียวแบบดีกับชั่วตรงไปตรงมามากจนเกินไป รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ก็ดูยัดเยียดให้เป็นไปแบบเส้นตรง จนแอบรู้สึกว่าเหมือนบทละครไทยเลย โดยที่ตอนจบของเรื่องก็ทิ้งค้างไว้ให้คนดูเข้าใจไปเองว่ามหาราชต้องโทษข่มขืนผู้หญิงในการฟ้องร้องต่อไป แต่เรื่องจริงคือเขายังคงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในวงการการเมืองและวัฒนธรรมของอินเดียอยู่ดี (เหมือนอย่างพระไทยทั้งหลายที่โดนคดี แต่ก็ยังมีลูกศิษย์นับถือจำนวนมากอยู่) ซึ่งเหมือนผู้สร้างก็ยังไม่กล้าทำตามประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วนแม้จะจบเรื่องแล้วก็ตามครับ

 

สรุป หนังอินเดียจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่แม้จะมีการแต่งเติมไปมาก แต่การเดินเรื่องก็สนุกด้วยตัวเอกที่ตั้งคำถามถึงความเชื่อศาสนาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยมีตัวละครที่งมงายอยู่ทั้งเมืองที่ตัวเอกต้องทำให้พวกเขาตื่นขึ้น ผ่านการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แล้วไปจบที่ศาลในความปกครองของอังกฤษ หนังมีงานโปรดักชั่นที่ดี ใส่ฉากเต้นจัดเต็มมากทั้งเรื่อง แต่จุดด้อยคือบทของตัวละครออกทื่อๆ ดีกับชั่วตรงๆ จนดูยัดเยียดมาก และตอนจบสุดท้ายก็ไม่สุดจริงตามประวัติศาสตร์นักครับ   

 

รวมรีวิว Netflix คลิกที่นี่

The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!