playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Mythic Quest: Raven’s Banquet ซีรีส์ของคนรักเกมอย่างแท้จริง!

Mythic Quest: Raven's Banquet

สรุป

ซีรีส์ทำออกมาเฉพาะกลุ่มเอามากๆ ถ้าคนนอกวงการเกมหรือคนเล่นที่ไม่ได้สนใจตามงานสร้างเบื้องหลังมากก็อาจจะไม่อินหรือขำสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคนรักเกมที่สนใจรายละเอียดการทำเกมนี่บอกเลยบันเทิงสุดๆ ดูไปอมยิ้มไปรักเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แถมยังได้ความรู้เบื้องหลังการทำเกมมาเพิ่มอีกด้วยครับ แนะนำห้ามพลาด!

อัพเดท SS2 กำลังตามมาในปี2021 ครับ

Overall
9/10
9/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • เบื้องหลังการทำเกมในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน
  • รวมทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องในวงการเกมมาไว้ในเรื่องเดียวกัน
  • ทุกตัวละครโดดเด่นมีสีสันไม่แพ้กัน
  • มุกจิกกัดเสียดประเด็นต่างๆ ในวงการเกมที่การันตีความฮามากๆ
  • ดราม่าซึ้งๆ จากประเด็นเรื่องจริงของการสร้างเกมภาคต่อ
  • ประเด็นผู้หญิงในวงการเกมที่ตลกแต่ซีเรียสเอาเรื่อง
  • สาวแว่นนางเอกโปรแกรมเมอร์แอบมีเสน่ห์อย่างคาดไม่ถึง

Cons

  • เรื่องราวแต่ละตอนสั้นมากไปสักหน่อย
  • บางประเด็นยังต้องมีต่อ แต่ซีรีส์ตัดจบไปก่อน

Mythic Quest: Raven’s Banquet  มิธิก เควสต์ ซีรีส์ใหม่ของ Apple TV+ แนวดราม่าคอมเมดี้ หรือซิทคอม ที่ชวนหัวเราะขำท้องคัดท้องแข็งไปกับก๊วนคนบ้าที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์วิดีโอเกมสุดฮิตที่สุดในโลก แต่ต้องหาทางรักษาแชมป์นี้ไว้ให้ได้ เมื่ออุปสรรคในวงการนี้มีมากมายเกินกว่าที่คิด

 Mythic Quest: Raven's Banquet (2020) on IMDb
คะแนนเฉลี่ย IMDB

ตัวอย่าง Mythic Quest: Raven’s Banquet

นี่เป็นซีรีส์ของคนรักเกมมาดูโดยเฉพาะ ด้วยเรื่องราวที่ดูเหมือนบ้า แต่จริงๆ ก็ไม่ได้บ้าเกินเลยอะไร เพราะนี่เป็นเบื้องหลังการทำงานในวงการวิดีโอเกมจริง แต่แค่แต่งเสริมเติมแต่งให้มีจังหวะยิงมุกซิทคอมเพิ่มเข้ามา พร้อมกับการผูกเรื่องราวดราม่า ครอบครัว ความรัก สังคมในที่ทำงานเข้ามาให้เป็นเรื่องราวของกลุ่มก๊วนคนทำเกม ที่บอกเลยว่าสนุกสุดๆ ถ้าเป็นคนรักเกมที่สนใจเบื้องหลังต่างๆ ควรดูเป็นอย่างยิ่ง แถมยังได้อาการท้องแข็งโป๊กแถมไปด้วยแน่นอนครับ 555

มิธิก เควสต์ เป็นชื่อเกม MMORPG ดังในเรื่องนี้ที่ครองอันดับ 1 ของโลกมาตลอด นึกซะว่าเป็น World of Warcraft เลยครับ ที่หน้าตาและความอิสระในเกมสูงเหมือนกัน แต่ว่าวันเวลาผ่านไปความนิยมก็ต้องมีลดลงเป็นธรรมดา รวมถึงการเกิดมาใหม่ของคู่แข่งเจ๋งๆ ทำให้ทีมงานต้องออกแพทช์ใหญ่ทุ่มทุนสร้างในชื่อ Raven’s Banquet มาเพื่อดึงผู้เล่นกลับมาให้ได้ ซึ่งต้องผ่านอุปสรรคบ้าๆ มากมายจากปัจจัยภายนอกกับผู้เล่น ทำให้ทีมงานหัวปั่นกันทุกตอน รวมด้วยปัญหาในที่ทำงานของแต่ละแผนก ที่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจอะไรกันเลย

ฟังดูเนื้อเรื่องเหมือนเครียดๆ แต่ในซีรีส์นี่เต็มไปด้วยความฮายิงมุกหน้าตายถี่ยิบ บอกเลยถ้าไม่ใช่คนเล่นเกมมาไม่เก็ทเต็มร้อยได้แน่นอน ด้วยความที่ซีรีส์หยิบเอาทุกเรื่องราวของการทำเกมมาเล่น ตั้งแต่หัวสุดของทีมงาน ครีเอฟทีฟ โปรแกรมเมอร์ นักเขียนสตอรี่ เกมเทสเตอร์ มาจนล่างสุดอย่างฝ่ายบุคคลก็ไม่เว้น ต้องบอกเลยว่าทุกมุกจากทุกตัวละครในเรื่องนี้ต่างมีความฮาเป็นของตัวเองอย่างร้ายกาจ! แต่ก็ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของมุกตลกที่มาจากเรื่องจริงซะเป็นส่วนใหญ่ แถมยังจิกกัดแสบๆ คันๆ คืนกลับให้คนทั้งวงการ ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น เกรียนเมอร์ เกรียนคีย์บอร์ด ยูทูบเบอร์ สื่อเกม ร้านค้าขายเกม นายทุน แม้แต่ ค่ายหนังดิสนีย์ ก็ยังไม่รอด ทีมสร้างหยิบจับมาจิกกัดด้วยมุกกวนๆ ที่ล้วนแฝงด้วยเรื่องจริงแทบทั้งนั้น

ยกตัวอย่างมุกทำเกมลงทุนหลายล้านกับทีมงานนับร้อยคน แต่ต้องมาลุ้นกับสตรีมเมอร์เด็ก 10 ขวบให้ชอบคนเดียวพอ! หรือมุกเอาไอเทมในเกมไปใช้ผิดจุดประสงค์อย่าง เอาพลั่วไปขุดดินสร้างรูปจู๋ สวัสดิกะนาซี อะไรแบบนี้ซึ่งทีมผู้สร้างต้องมานั่งปวดกบาลแก้ปัญหาไปวันๆ ซึ่งบอกเลยถ้าตามทันฮามากทุกมุกในระดับขำก๊ากทันที แบบถ้าวัดความฮาในเรื่องนี้ตีเป็นดาว 5 ดวง ก็คงอยู่ราวๆ 3-5 ดวงทุกมุกครับ

แถมมุกจากเกมยังไม่พอ ในเรื่องนี้ทุกตัวละครมีคาแรกเตอร์ที่แทนความสุดโต่งในแต่ละสายอาชีพ จนเรียกว่าเข้าขั้นเส้นแบ่งสร้างสรรค์กับใกล้บ้า ซึ่งถ้าใครเคยได้อ่านพวกเบื้องหลังการทำเกมมาก็คงเคยผ่านตามาบ้างว่า ตอนระดมไอเดียประชุมกันนี่ต้องออกแอ็กชั่นพรีเซนต์กันขนาดไหนให้คนในที่ประชุมเข้าใจ อย่างเกม Bayonetta ภาคแรกนี่คามิยะถึงกับต้องขึ้นไปเต้นแหกขาบนโต๊ะในที่ประชุมเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าทำไม เจ๊แม่มดต้องมีลีลาท่าเต้นประกอบการยิงตลอด ซึ่งในเรื่องนี้ก็คล้ายๆ แบบนี้แหละครับ ทุกตอนมีแต่ความบ้าของทุกตัวละครมารวมกัน ตั้งแต่ “ไออัน กริมม์” ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ผู้คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกในเกมนี้ ที่เขามักคิดอะไรเพี้ยนๆ แล้วก็สั่งโปรแกรมเมอร์สาวแว่น “ป็อปปี้” ให้ทำออกมาเป็นรูปร่างให้ได้ ซึ่งสองคนนี้เป็นเหมือนคู่กัดแล้วก็พระเอกนางเอกในเรื่องนี้ไปพร้อมกัน แล้วต่างคนต่างก็เป็นเหมือนตัวแทนของเพศชายหญิงในวงการเกม ที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าวงการนี้เป็นของผู้ชายเป็นหลัก ผู้หญิงเป็นส่วนเกินหรือแค่ตัวประกอบ หนังสร้างให้ป๊อปปี้เป็นเหมือนตัวแทนของเฟมินิสต์ในวงการเกมลุกขึ้นมาเป็นแถวหน้าได้ แต่ก็ยังไม่วายต้องตกอยู่ใต้อำนาจเหล่านี้อยู่ดี แต่รับรองว่าแม้แต่เรื่องการเรียกร้องสิทธิหนักๆ แบบนี้ซีรีส์ยังทำออกมาไม่เครียด แล้วก็สนุกปนขำไปกับเรื่องนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้คนในทีมที่เหลือก็บ้าไม่แพ้กัน อย่างลุงนักเขียนสตอรี่ของทีม ที่ไม่ว่าอะไรก็ต้องมีโยงแต่งเรื่องราวให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่พลั่วอันเดียวก็ต้องมีเรื่องราวดุจเทพสวรรค์ประทานลงมาในเกม ซึ่งบอกเลยฮาทุกมุกที่ลุงแกพ่นสตอรี่พวกนี้ออกมา ในมุมคนดูรู้ว่ามันคือการประชดจิกกัดการทำเกม ที่ต้องมีบรรยายไอเทมให้ดูเว่อร์ๆ เพื่อให้คนเล่นเกมทัชอินไปกับเรื่องในเกม หรือฝ่ายการขายของเกมนี้ที่มักคิดอะไรเป็นเงินเป็นทองไปหมด แล้วก็พยายามยัดอะไรที่ไม่เข้ากับเกมเลยมาให้ทีมทำ อย่างเช่น รูปหัวนมเทพสาวที่ถูกไอเทมปิดบังไว้ก่อนซื้อ เพื่อหวังว่าเกมเมอร์จะจ่ายตังปลดมันลงมาซะ ซึ่งแต่ละมุกรับรองว่าฮาแบบจิกกัดผู้เล่นกับบริษัททำเกมกันสุดๆ จนเป็นเหมือนหนังที่เอาเรื่องจริงมาล้อกันทั้งวงการ แบบก็รู้ๆ กันอยู่ว่าคนเล่นเกมเองก็บ้าแค่ไหนกับการจินตนาการไปกับสิ่งเหล่านี้ที่มีพวกสุดโต่งไม่แพ้กัน

นอกจากมุกตลกที่ยิงตลอดไม่หยุดแล้ว Mythic Quest ยังมีโหมดดราม่าซึ้งๆ รักๆ เศร้าๆ ผสมรวมอยู่ด้วย โดยแทรกมาแบบไม่คาดคิดกับตอน A Dark Quiet Death ที่แทรกคั่นเรื่องมาไม่เกี่ยวกับทีม Mythic Quest โดยตรง แต่เป็นเรื่องย้อนยุคไปยังสมัยวิดีโอเกมเริ่มบุกเบิกใหม่ๆ ยังเป็นตลับอ้วนใหญ่ กับคู่รักสองคนที่ร่วมกันสร้างเกมอินดี้ในชื่อเดียวกับตอนนี้ขึ้นมา และก็กลายเป็นเกมฮิตดังจากคอนเซ็ปต์ฆ่าสัตว์ประหลาดไม่ได้ แต่แล้วพอภาคต่อๆ มากลับทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่แย่ลงๆ จากการพยายามรักษาคอนเซ็ปต์เดิม vs การทำตามใจนายทุนกับตลาดผู้เล่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นเรื่องราวเบื้องหลังการทำเกมละเอียดยิบว่า มีครีเอเตอร์ที่ต้องปวดใจแค่ไหนเมื่อเห็นเกมของตัวเองถูกเปลี่ยนธีมไปในภาคต่อๆ มาจนแทบไม่เหลือจิตวิญญาณดั้งเดิม ซึ่งคนเล่นเกมเองก็เจอเรื่องนี้กันจนเซ็งกับเกมโปรดที่มักแย่ลงๆ จนหมดรักไปสักวัน เรื่องราวตอนนี้ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมากถึงมากที่สุด แบบที่ต้องคาราวะทีมสร้างที่เข้าถึงจิตใจตรงนี้ได้ลึกซึ้ง ผ่านเรื่องราวความรักตั้งแต่แรกพบจนจบลงด้วยเส้นขนานที่ยากจะบรรจบกันของ ‘งานศิลป์กับเงิน’

แต่ก็ไม่ใช่มีดราม่าแค่ตอนนี้เท่านั้น ตัวหนังเองยังพยายามแทรกอะไรแบบนี้ลงไปทุกตอน แต่ว่าอาจจะเป็นจุดเล็กๆ ให้คนตามติดนิดๆ อย่างเรื่อง LGTB ของเกมเทสเตอร์สาวสองคน ที่นั่งห้องเดียวกันทั้งวัน ยิ่งใกล้ยิ่งหวั่นไหว หรือปูมหลังของตัวไออันที่เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์นิสัยเสียแบบนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้ววัยเด็กถูกพ่อแม่ห้ามเล่นเกมอย่างรุนแรงส่งผลยังไงมาถึงเขาในปัจจุบัน ซึ่งซีรีส์สอดแทรกมาบางๆ แต่เรากลับรู้สึกสัมผัสเข้าถึงหัวจิตหัวใจเหล่านี้ได้ตรงๆ แบบทัชใจได้เลยครับ

ปัญหาอย่างเดียวของเรื่องเลยคือความสั้นของเนื้อหาในแต่ละตอน ราวๆ 25 นาทีเท่านั้น (หลังเครดิตแรกจะมีฉากแทรกเพิ่มอีกนิดเกือบทุกตอน อย่าพลาด!) ทำให้เรื่องราวดูเดินไปไว แล้วก็ยังลงลึกไม่พอจะทำให้อินกับดราม่าที่ปูเข้ามาได้มากนัก แต่ถ้ามองว่าเป็นซิทคอมก็เหมาะสมแล้วกับเวลาราวๆ นี้ครับ แล้วซีรีส์ก็จบเรื่องราวไวมาก ในซีซั่นแรกนี่ยังไม่ได้ไปไกลนักเลยกลับจบเอาดื้อๆ แค่ 9 ตอน แม้จะไม่ได้ค้างคาอะไร แต่คิดว่าน่าจะไปต่อได้มากกว่านี้ครับ

Mythic Quest: Raven’s Banquet เป็นซีรีส์เฉพาะกลุ่มเกมเอามากๆ ถ้าคนนอกวงการหรือคนเล่นที่ไม่ได้สนใจตามงานสร้างเบื้องหลังมากก็อาจจะไม่อินหรือขำสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นคนรักเกมที่สนใจรายละเอียดการทำเกมนี่บอกเลยบันเทิงสุดๆ ดูไปอมยิ้มไปรักเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แถมยังได้ความรู้เบื้องหลังการทำเกมมาเพิ่มอีกด้วยครับ แนะนำห้ามพลาด!

ติดตามอ่านรีวิวหนัง/ซีรีส์ใน Apple TV+ คลิกที่นี่

Leave a comment
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ