รีวิวหนังสารคดี Nail Bomber: Manhunt ล่ามือระเบิดตะปูในลอนดอน
Nail Bomber: Manhunt
สรุป
หนังสารคดีตามล่ามือระเบิดต่อเนื่องในลอนดอนที่ทำออกมาสั้นกระชับจบในชั่วโมงนิดๆ งานเทคนิคภาพย้อนยุคสวย พร้อมจุดพิเศษคือบุคคลปริศนาที่อยู่เบื้องหลังการไขคดีนี้ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน แนะนำเลยว่าใครที่ชอบดูสารคดีอาชญากรรม นี่เป็นอีกเรื่องที่ Netflix ทำออกมาได้ดี มีความน่าติดตามเหมือนภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนจบ
Overall
8/10User Review
( vote)Pros
- การเปิดเรื่องราวของบุคคลปริศนาที่อยู่เบื้องหลังการไขคดีมือระเบิดตะปู
- เทคนิคงานภาพสวยเหมือนภาพยนตร์
- เรื่องเล่าไวสั้นกระชับไม่มีอืดอาดยืดยาด
- มีเสียงเล่าที่มาของการวางระเบิดจากปากคนร้ายเองประกอบเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง
- มีเบื้องหลังของคดีเชื่อมโยงไปถึงพรรคการเมืองขวาจัด
- จุดเซอร์ไพรซ์ตอนจบกับการพิสูจน์ว่าหมอนี่ไม่ได้วิกลจริตอย่างที่พยายามอ้างเพื่อหลุดคดี
Cons
- เรื่องไม่ได้เน้นเร้าอารมณ์อะไรมากทั้งๆ ที่เป็นคดีใหญ่โต
- ไม่ได้มีฟุตเทจคนร้ายตัวจริงให้เห็นนอกจากภาพนิ่ง
Nail Bomber: Manhunt ล่ามือระเบิดตะปู สารคดี Netflix ตามรอยคดีมือระเบิดต่อเนื่องในลอนดอน ช่วงปี 1999 ที่เล่าเรื่องราวเบื้องหลังที่มาการตามหามือระเบิดจนเจอจากสายลับพรรคการเมืองอังกฤษที่แฝงตัวเข้าไปอยู่กับกลุ่มขวาจัดฟาสซิสต์
ตัวอย่าง Nail Bomber: Manhunt ล่ามือระเบิดตะปู
คดีนี้เป็นคดีการใช้ระเบิดโจมตีผู้คนแบบต่อเนื่องคดีแรกในอังกฤษ โดยไม่ได้เกิดจากการก่อการร้าย แต่เป็นเป้าหมายส่วนตัว เป็นการระเบิด 3 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 17 ถึง 30 เมษายน 1999 โดยใช้ระเบิดตะปูที่มือระเบิดสร้างขึ้นมาเอง และตั้งเวลาจุดชนวนไว้ ที่เกิดเหตุแรกคือตลาดนัดเมืองบริกซ์ตันทางใต้ของลอนดอน , ย่าน Spitalfields ในเขต East End และที่ผับ The Admiral Duncan ในย่านโซโห แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของชาวเกย์
ตัวสารคดีเป็นการบอกเล่ารายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบคดีทั้งหมด ที่พิเศษคือการเริ่มเรื่องด้วยบุคคลลึกลับสวมฮู๊ดใช้เงาบังใบหน้าไว้ไม่ให้เห็น ซึ่งตัวสารคดีเรียกเขาว่า อาเธอร์ เป็นชื่อสมมุติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปกปิดตัวตน โดยอาเธอร์เป็นสายลับของพรรคชาติอังกฤษ ที่สนับสนุนนโยบายขวาจัด เรียกร้องสิทธิให้คนผิวขาวดั้งเดิมมีสิทธิมากกว่าผู้อพยพเข้ามาในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาเธอร์ในตอนนั้นเป็นหนุ่มวัย 24 ปี ที่ถูกมอบหมายให้ไปฝังตัวกับกลุ่มผู้คนขวาจัด ฟาสซิสต์ นิยมนาซี และเขาก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน จึงต้องปิดบังตัวตนตลอดการให้สัมภาษณ์ในสารคดีนี้ ซึ่งเรื่องจะค่อยๆ ปะติดปะต่อว่างานของอาเธอร์เข้าไปเกี่ยวกับคดีนี้ได้อย่างไร และอาเธอร์นี่เองคือตัวละครลับในคดีนี้ที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยมาก่อน ว่าเขาคือผู้ที่ช่วยไขคดีนี้ตัวจริง ที่เป็นแนวปิดทองหลังพระ และไม่ได้ต้องการชื่อเสียงใดๆ ทั้งสิ้น แต่การมาให้สัมภาษณ์นี้คือการบอกเล่าอีกมุมของคดีที่น่าสนใจมาก ทั้งในแง่สายลับที่ตัวเองเกลียดพวกเหยียดเชื้อชาติ แต่ต้องแสร้งแฝงตัวไปกับกิจกรรมต่างๆ ของคนพวกนี้มาโดยตลอด จนเขาเองก็ยังถูกทำร้ายโดยกลุ่มคนที่แอนตี้ฟาสซิสต์ด้วยเช่นกัน
การดำเนินเรื่องของสารคดีก็เป็นการตัดสลับไปมาของอาเธอร์กับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเหยื่อที่รอดตายและพิการในแต่ละครั้ง แต่มีจุดพิเศษอีกอย่างคือ ตัวเรื่องใช้เสียงของ เดวิด โคปแลนด์ (David Copeland) คนร้ายในคดีนี้มาเล่าผสมไปพร้อมกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่าแรงจูงใจและการวางระเบิดแต่ละที่คือมีที่มายังไง ซึ่งตัวสารคดีทำเหมือนกับว่าได้ไปสัมภาษณ์คนร้ายมาโดยตรง และใช้ CG เป็นภาพคลื่นเสียงจากเทปบันทึกกับฟันเฟืองหมุนไปเรื่อยๆ ให้อารมณ์เหมือนมองภาพปริศนาในขณะที่ฟัง ก่อนจะมาเฉลยในช่วงหลังว่าเสียงที่เราได้ยินนี้มาจากที่ไหน ซึ่งมีจุดแอบเซอร์ไพรซ์นิดๆ เหมือนกัน
นอกจากนี้ระหว่างที่สารคดีเล่าเรื่องที่มาของผู้คนในแต่ละเขตว่ามีความแตกต่างทางเชื้อชาติกันยังไง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่คนร้ายก่อเหตุขึ้น ภาพในสารคดีจะใช้การฟรีซผู้คนไว้ในซีนนั้นๆ ซึ่งเหมือนการหยุดเวลา ย้อนไปยังช่วงยุคสมัยอดีตแบบภาพ Retro ซึ่งช่วยทำให้สารคดีเรื่องนี้มีการเล่าเรื่องด้วยภาพที่สวยเหมือนอารมณ์ภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่งเลย
ตัวหนังสารคดีสั้นแค่ชั่วโมงกับ 12 นาที (รวมเครดิต) ซึ่งเรื่องดำเนินไปแบบรวดเร็ว ต่อเนื่อง และยังมีจุดสำคัญของคดีในช่วงตอนจบที่แปลก หลังจากที่จับคนร้ายได้ กลายเป็นว่าคนร้ายเตรียมการณ์ไว้แล้วว่าต้องดิ้นหลุดจากคดีที่ก่อยังไง ด้วยการแสร้งเป็นคนวิกลจริต ซึ่งทีเด็ดส่วนท้ายเรื่องคือเบื้องหลังการหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า เดวิด โคปแลนด์ เป็นบุคคลปกติ ด้วยการย้อนศรความต้องการเป็นคนดังของคนร้าย โดยสร้างตัวละครสมมุติเป็นแฟนผู้คลั่งไคล้คดีวางระเบิดต่อเนื่องนี้ติดต่อกันผ่านจดหมายจากในเรือนจำตลอดคดี จนกลายมาเป็นหลักฐานสำคัญที่เอาผิดลงโทษเขาได้ในที่สุด โทษจำคุกตลอดชีวิตจากฆาตกรรม 3 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 150 ราย เข้าใจว่าอังกฤษไม่มีโทษประหาร ก็เลยเป็นโทษสูงสุดที่ได้รับแล้ว