Official Secrets รัฐบาลซ่อนเงื่อน
สรุป
นี่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงกึ่งๆ เกือบเป็นเหมือนสารคดีที่เล่าได้สนุกพอตัว แม้หน้าหนังจะดูฟอร์มเล็กๆ แต่ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายแง่มุมกับคดีประวัติศาสตร์ที่พลเมืองตัวเล็กๆ ของอังกฤษเปิดโปงความชั่วร้ายของรัฐบาล
Overall
7.5/10User Review
( votes)Pros
- หนังเปิดโปงเบื้องลึกคดีได้อย่างน่าสนใจทุกแง่มุม
- ในส่วนการสืบเสาะยืนยันข่าวคือไฮไลท์ของเรื่องนี้
- บทสนทนาคมคายหลายฉาก
Cons
- ครึ่งหลังหนังอืดๆ แผ่วๆ ไป
- จุดพีคในศาลสั้นมากแม้จะสร้างจากเรื่องจริง
Official Secrets รัฐบาลซ่อนเงื่อน เรื่องจริงของการเปิดโปงความลับรัฐบาลที่ฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์ ในปี 2003 ช่วงเวลาก่อนสงครามอิรัก ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษหาทางบุกโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของสหประชาชาติหรือพลเมืองในประเทศตัวเอง แคทธารีน กัน (เคียร่า ไนท์ลี่ย์) เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองของอังกฤษ (GCHQ) ได้รับอีเมลเป็นเอกสารลับ ที่เผยว่าทางการสหรัฐฯ กำลังสอดแนมสมาชิกคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาติเพื่อบีบบังคับสมาชิกให้ยินยอมการทำสงครามอิรัก แคทธารีนได้ส่งสำเนาเอกสารให้ มาร์ติน ไบรท์ (แมทท์ สมิธ) นักข่าวของ The Observer เพื่อตีพิมพ์ บทความดังกล่าวได้สร้างแรงสะเทือนทั่วเกาะอังกฤษ ที่ผู้คนไม่ต้องการนำประเทศเข้าไปก่อสงคราม ส่งผลให้ชีวิตของแคทธารีนตกอยู่ในอันตรายเมื่อเธอถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ ที่เธอเห็นว่ารัฐบาล “โทนี แบลร์” กำลังโกหกประชาชน
ตัวอย่างหนัง Official Secrets รัฐบาลซ่อนเงื่อน ซับไทย
Official Secrets เป็นหนังสร้างจากเรื่องจริงเกือบ 100% มีการอ้างอิงชื่อ ตำแหน่ง ต่างๆ ของเหตุการณ์ในช่วงนั้นชัดเจนทุกคน รวมถึงแทรกฟุตเทจช่วงก่อนและหลังเกิดสงครามอิรัก ที่กลายมาเป็นจุดจบของ “ซัดดัม ฮุสเซน” ผู้นำอิรักที่ถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธเคมีร้ายแรงไว้ในครอบครอง ถึงขั้นรายงานว่าซัดดัมสั่งให้สร้างโรงงานผลิตบนรถไฟที่เคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลา เพื่อหลบหลีกการตรวจสอบจากนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง (อ่านข่าวเสริมได้ที่ท้ายบทความรีวิว) เรียกว่า ซัดดัมเป็นผู้บริสุทธ์ (ในข้อกล่าวหานี้) ที่ตกเป็นเหยื่อมหาอำนาจสองประเทศ ที่กระหายจะเข้าไปยึดครองสูบผลประโยชน์โดยรัฐบาลเงาที่แต่งตั้งขึ้นมาเอง แม้แต่ศาลที่ตัดสินแขวนคอซัดดัมก็ตั้งขึ้นแยกออกมาจากปกติ เพื่อให้มีอำนาจตัดสินพิจารณาคดีแบบที่ซัดดัมไม่มีทางสู้ให้ชนะ
นี่จึงเป็นหนังที่เรียกได้ว่าแฉรัฐบาลอังกฤษแบบเปลือยความเชี่ยได้หมดจรด ซึ่งตัวแคทธารีนเองก็เป็นพลเมืองคนหนึ่งที่ทนเห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ไหว และก็เป็นหนึ่งเดียวในทีมงาน GCHQ ที่กล้าตัดสินใจกบฏต่อรัฐบาลที่ตัวเองทำงานให้ โดยให้เหตุผลที่หนักแน่นว่า “ฉันไม่ได้ทำงานเพื่อรับใช้รัฐบาล แต่ฉันทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนที่รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องพวกเขา ไม่ใช่การโกหกแบบนี้” หนังพาไปพบกับการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของเธอ ที่ไม่มีใครเห็นด้วย แต่เธอก็ยังยืนกรานที่จะทำ และก็กล้าเปิดเผยตัวเองเพื่อยืนยันหลักฐานที่เปิดให้สื่อ ทำให้รัฐบาลจ้องเล่นงานเธอทุกทางที่ทำได้ไม่ให้ชีวิตเป็นสุขตลอดคดีความที่เกิดขึ้น
นอกจากมุมของแคทธารีนแล้ว หนังได้พาไปพบกับเบื้องลึกการทำงานของ สำนักข่าวของ The Observer ที่เป็นหนังสือพิมพ์ที่เชียร์โทนี แบลร์ จากผลประโยชน์เรื่องการได้คอนเน็คชั่นข่าวจากรัฐบาลไว้ทำงาน แต่หลังการได้มาของข้อมูลนี้ The Observer ก็ต้องคิดหนักว่าการที่จะเปิดโปงโทนี แบลร์ ต้องแลกกับการเสียคอนเน็คชั่นกับรัฐบาลตลอดไป แต่แล้วด้วยสปิริตสื่อที่แท้จริง รวมถึงการสืบค้นเพื่อยืนยันหลักฐานที่ไม่เปิดเผยตัวตนครั้งนี้ ซึ่งหนังทำให้เห็นความเป็นมืออาชีพของนักข่าวต่างประเทศที่ ไม่ชัวร์ไม่เผยแพร่ เช็คแล้วเช็คอีกทุกทางที่ทำได้ ซึ่งในส่วนนี้เป็นอะไรที่สนุกมาก หนังพาไปพบกับเทคนิคการพิสูจน์ข่าวในแบบต่างๆ ทั้งในภาคสนาม หรือแม้แต่การติดต่อกับสายลับ MI6 ที่เรียกว่าเพื่อนตีเทนนิส และการพิสูจน์อักษรที่แม้แต่คำๆ เดียวก็มีผลพลิกความน่าเชื่อถือได้เลยทันที ตรงนี้ถ้าใครเคยดูหนัง Spotlight ของปี 2015 มาก็ต้องชอบแน่ๆ เพราะหนังจำลองการทำงานแบบเดียวกันเป๊ะ
นี่เป็นหนังที่ดูง่าย สนุกในระดับเพลินไปกับเรื่องราวเบื้องลึกของคดีนี้ แต่ด้วยความที่หนังยาวเกือบสองชั่วโมง ก็มีช่วงเวลาที่อืดๆ ในครึ่งหลัง ที่ดูไม่เร้าใจเท่ากับช่วงที่แคทธารีนกับ The Observer เปิดโปงรัฐบาลในช่วงชั่วโมงแรก ครึ่งหลังเป็นช่วงที่แคทธารีนเตรียมสู้คดีกับทีมทนายความที่หาแง่มุมให้เธอชนะกฎหมายเปิดเผยข้อมูลลับราชการ ซึ่งเป็นบทสนทนายาวๆ ถกกันในแง่มุมต่างๆ ของคดี แล้วก็จบลงที่การสู้คดีในศาล ที่เรียกว่าสั้นที่สุดในประวัตืศาสตร์ของคดีใหญ่ขนาดนี้เลยก็ว่าได้ แต่หนังก็ดำเนินไปตามเหตุการณ์จริงทั้งหมด ทำให้เราคนดูได้รู้ว่ารัฐบาลที่ไหนๆ ก็สกปรกได้ท้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่แบบประชาธิปไตยอันดับต้นๆ ของโลกอย่างอังกฤษ
สุดท้ายสงครามก็ยังเกิด และผู้คนตายไปในสงครามอิรักหลายแสนคน แม้เรื่องจริงและหนังจะเปิดโปงความชั่วของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เป็นหัวหอกบุกอิรักในครั้งนั้น แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้กับข้อเท็จจริงนี้ ไม่มีการตั้งข้อหาอาชญากรสงครามให้กับผู้นำทั้งสองประเทศ จอร์จ บุช กับโทนี แบลร์ ก็ยังลอยนวลกับความผิดในครั้งนี้ ก็คงได้เป็นแค่บทเรียนว่าประชาชนไม่ว่าประเทศไหน ก็ต้องพยายามหยุดยั้งตรวจสอบรัฐบาลอย่าให้เกิดสงครามขึ้นมาอีกเลยเป็นดีที่สุด เพราะทุกครั้งจะต้องมีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ โดยที่ประชาชนก็เหมือนเบี้ยที่ตายฟรีให้กับผู้มีอำนาจที่สูบผลประโยชน์เข้าตัวโดยไม่แคร์กับประชาชน แบบที่คดีในเรื่องนี้ก็กลายเป็นแค่บันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เพียงเท่านั้น
‘โทนี แบลร์’ สั่งบุกอิรักโดยไม่มีหลักฐาน ‘ก่อสงครามอิรัก’ นาน 7 ปี
ซอร์ จอห์น ชิลคอต องคมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการสอบสวนของคณะองคมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เผยแพร่รายงานผลการสอบสวนที่หลายฝ่ายเฝ้ารอมานานนี้ที่ศูนย์ประชุม ควีน เอลิซาเบธที่ 2 ในกรุงลอนดอน
เนื้อหาจากรายงานดังกล่าวชี้ว่าเกี่ยวกับ โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้น ที่กล่าวเกินจริงในเรื่องภัยคุกคามจากซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักผู้พร้อมทั้งตัดสินใจเข้าร่วมสงครามด้วยข้อมูลข่าวกรองที่มีช่องโหว่ และผิดพลาดทางการประเมินผล ทั้งที่สามารถเลือกวิธีแก้ปัญหาทางการทูตได้
หลังจากรายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา โทนี แบลร์ ได้จัดงานแถลงข่าว ขอเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจโจมตีอิรักทั้งหมด และยอมรับในความผิดพลาดของภารกิจนี้ พร้อมทั้งกล่าวคำขอโทษ และแสดงความเศร้าโศก เสียใจแต่เขายังคงยืนยันว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเชื่อว่าการตัดสินใจดังกล่าว ทำให้โลกปลอดภัยยิ่งขึ้น
ผลกระทบจากสงครามในอิรักที่กินเวลายาวนานกว่า 7 ปี มีผู้พลัดถิ่นในอิรักกว่า 1 ล้านคน และประชาชนในอิรักได้รับความเดือนร้อนอย่างมาก
“ในความคิดของผม โลกกลายเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นเมื่อไม่มีซัดดัม ฮุสเซน”
“ซัดดัมผิดอะไร” ?? รำลึกครบรอบ 15 ปี สงครามอิรัก !!
การบุกอิรักเริ่มขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อนด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มกรุงแบกแดด เพราะสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเชื่อว่า “ซัดดัม ฮุสเซน” ผู้นำอิรักในขณะนั้นครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง วันที่ 20 มี.ค. 2003 เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ดำเนินต่อเนื่องมา 7 ปี สงครามนี้เกิดขึ้นจากการกล่าวหาว่า ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักในขณะนั้น ครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง หลังผู้นำอิรักถูกโค่นล้ม แต่ไม่พบอาวุธใด ๆ จนเป็นที่มาของ “เกาหลีเหนือ” ที่จำเป็นต้องฐานะตัวเองเป็น “รัฐนิวเคลียร์” โดยนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หากโสมแดงไม่มีนิวเคลียร์ คงมีชะตากรรม เฉกเช่นเดียวกับ “อิรัก” ไปแล้ว
สงครามอิรัก เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอิรักตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 ด้วยการรุกรานอิรักโดยสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชเป็นผู้นำ และสหราชอาณาจักรซึ่งมีนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์เป็นผู้นำ สงครามคราวนี้อาจเรียกชื่ออื่นว่า การยึดครองอิรัก, สงครามอ่าวครั้งที่สอง หรือ ปฏิบัติการเสรีภาพอิรัก โดยทหารสหรัฐ สงครามครั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554