รีวิว Racket Boys ซีรีส์กีฬาแบดมินตันกับเด็กชนบทที่หวังคว้าฝันให้ได้
Racket Boys
สรุป
ซีรีส์แนวกีฬาฟีลกู๊ดแบบเด็กๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวมิตรภาพ ความรัก ความฝัน ของเด็ก ม.ต้น กับกีฬาแบดมินตันออกมาได้ดีเลย โดยใช้โลเกชั่นชนบทเป็นฉากหลังสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด แต่ช่วงแรกนี้ยังไม่มีฉากเกมการแข่งอะไรมาก มีแค่สั้นๆ แต่ก็ทำออกมาได้สนุกตื่นเต้นดี สำหรับคนที่สนใจแนวกีฬาเข้มๆ คงต้องรอดูก่อนว่าหลังจากกลางเรื่องไปจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เพราะในช่วงแรกนี้ค่อนข้างเน้นเรื่องราวชีวิตของเด็กๆ กับผู้คนในชนบทมากกว่าการแข่ง
Overall
7/10User Review
( votes)Pros
- เรื่องราวมิตรภาพแบบเด็กๆ ในชนบทกับกีฬาแบดมินตัน
- เลิฟไลน์เบาๆ ของเรื่องที่เป็นเด็ก ม.ต้น ดูน่ารักน่าลุ้น
- ฉากการแข่งแบดมินตันทำออกมาดูสนุก (แม้จะสั้นๆ)
- ฉากชนบทในเรื่องถ่ายทอดออกมาได้สวยงาม
- ความน่ารักของตัวนักแสดงเด็กในเรื่อง
Cons
- เนื้อเรื่องไปแบบช้าๆ ไม่ค่อยหวือหวา ไม่ค่อยคืบหน้าไปมาก อาจจะดูอืดๆ มากไป
- มีเนื้อเรื่องเสริมของผู้คนในชนบทเยอะ โดยไม่เกี่ยวกับแบดมินตันเลย ทำให้เรื่องดูไม่โฟกัสไปในทางเดียวแบบเข้มๆ
Racket Boys แร็กเก็ต บอยส์ ซีรีส์เกาหลี Netflix แนวกีฬาดราม่าฟีลกู๊ด เรื่องราวของเด็กหนุ่มวัย 16 ปี นักกีฬาเบสบอลที่ต้องย้ายไปอยู่ชนบทตามพ่อที่เป็นโค้ชแบดมินตัน มาคุมทีมแข่งแบดมินตันที่กำลังจะโดนยุบ และเขาก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแบดมินตันในโรงเรียนแห่งนี้
ตัวอย่าง Racket Boys แร็กเก็ต บอยส์
ซีรีส์แนวดราม่ากีฬาแบดมินตัน ที่เล่าเรื่องในช่วงวัยรุ่นของเด็กในชนบทที่มีฝันถึงการแข่งระดับชาติ โดยมีจุดเด่นของเรื่องอยู่ที่นักแสดงเด็กที่พึ่งเล่นเป็นตัวเอกในเรื่อง Move to Heaven มาเล่นเป็นตัวเอกหลักในเรื่องนี้ติดๆ กัน ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนของ Tang Joon-Sang ก็ติดตามดูได้เลย
สำหรับคนที่อยากดูแนวกีฬาเข้มๆ อันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แบบนั้น ตัวเรื่องเป็นแนวดราม่าการเข้าร่วมทีมของ ยุนแฮกัง นักกีฬาเบสบอลพรสรรค์ที่ต้องมาติดอยู่ในโรงเรียนชนบทที่ไม่ได้เน้นเบสบอล และที่นี่เองพ่อของแฮกังก็ได้มาเป็นโค้ชปลุกปั้นทีมที่ใกล้ถูกยุบ แต่เพราะโรงเรียนนี้ในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องแบดมินตัน นี่จึงเป็นความหวังเฮือกสุดท้ายที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งตัวเอกแฮกังก็ต้องยอมฝืนใจมาเล่นแบดมินตัน ก่อนจะกลายมาเป็นคนช่วยฟื้นชีวิตให้ทีมมีความหวังอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องราวของมิตรภาพ การประสานใจให้กับทีมที่มีสมาชิกอยู่เพียง 3 คน (รวมแฮกังด้วยเป็น 4) พยายามผลักดันให้รวมเป็นทีมเวิร์คให้ได้
แต่ปัญหาคือแฮกังเองเป็นพวกปากร้าย ขี้โมโห พูดไม่ตรงกับใจ แล้วก็ยังอยากกลับไปเล่นเบสบอลอยู่ ก็เลยเป็นดราม่าการทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างต่างๆ โดยมีปมในอดีตท่ีเกี่ยวเนื่องกับฮกะแบดมินตันของแฮกัง เมื่อพ่อแม่ก็เป็นโค้ชแบดมินตันทั้งคู่ แต่ทำไมเขาไม่คิดจะเล่นแบดมินตันและหันไปเล่นเบสบอลจนรุ่ง แต่ดันโดนย้ายโรงเรียนซะก่อนจะประสบความสำเร็จ
ตัวละครหลักนอกจากแฮกังก็คือพ่อของเขาที่เป็นโค้ชให้ทีม (รับบทโดย Kim Sang-Kyung) แต่เขากลับเป็นคนที่ไม่ได้เก่งหรือมีความทุ่มเทให้กับงานมาก ซึ่งตัวเรื่องพ่อกับแฮกังคือสองตัวละครที่ฟัดกันด้วยวาจาตลอด มีความไม่ลงรอยกัน แต่ก็ไม่ได้เกลียดกัน ซึ่งพ่อเองจากที่มาคุมทีมนี้เพื่อหาเงินล้วนๆ แต่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วย เมื่อเห็นเด็กๆ ในทีมมีความทุ่มเทให้กับแบดมินตันมากกว่าเขาซะอีก และยังมีหัวหน้าโค้ชที่คอยผลักดันเขาให้ทำทีมให้สำเร็จอีกทาง
นอกจากทีมชายแล้วตัวเรื่องก็มีทีมหญิงมาเป็นตัวละครสำคัญด้วยก็คือแม่ของแฮกัง (รับบทโดย Oh Na-Ra) ที่คุมทีมหญิงในเมืองเล็กๆ นี้เช่นกัน ซึ่งแม่เองก็มีปมกับแฮกังอยู่ลึกๆ เพราะชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนมีน้องสาวอีกคน แม่กลับทุ่มเทให้กับแบดมินตันมากกว่าเขาหรือครอบครัวซะอีก ซึ่งแม่ของแฮกังมีนักกีฬาดาวรุ่งอยู่คนหนึ่งคือ เซยุน (รับบทโดย Lee Jae-In) ที่ฝีมือระดับที่ 1 ของประเทศ และเซยุนก็เป็นนางเอกของเรื่องนี้คู่กับแฮกัง โดยทั้งคู่แม้ตอนแรกไม่ถูกชะตากัน แต่ลึกๆ แล้วกลับมีความสัมพันธ์ในอดีตซ่อนอยู่ ซึ่งบทของเซยุนกับแฮกังคือเลิฟไลน์แบบเบาๆ ตามประสาเด็ก ม.ต้น เรียกว่าเป็นรักแรกที่แอบรักโดยไม่กล้าเปิดเผย ซึ่งเรื่องทำออกมาได้น่าลุ้นน่ารักตามประสาเด็กวัยนี้ได้ดีเลย
นอกจากตัวละครหลักที่กล่าวมาแล้ว ตัวเรื่องก็มีบทสมทบหรือตัวเอกร่วมก็ว่าได้คือเพื่อนร่วมทีมของแฮกัง 3 คน (ตอนที่ 4 จะมีเพิ่มมาอีกคน) ซึ่งประกอบไปด้วย พัง ยุนดัม (รับบทโดย Son Sang-Yeon) เป็นมือหนึ่งของทีมคู่กัดแฮกัง นา อูซาน (รับบทโดย Choi Hyun-Wook) คนที่อ่อนสุดในทีมเพราะพึ่งมาเล่นแบดมินตันภายหลัง คนสุดท้ายคือ ลี ยงแท (รับบทโดย Kim Kang-Hoon) น้องเล็กสุดในทีม แต่เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์สุดของทีม ด้วยหน้าตาน่ารัก ตัวเตี้ยกับนิสัยที่ถูกวางไว้เป็นเด็กบ้านนอกร่าเริงอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นตัวละครที่เด่นมากในทีม และไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่ตัวเรื่องก็มีบทดราม่าเรียกน้ำตาแรงๆ ให้น้องได้แสดงฝีมือออกมาอีกด้วย
นอกจากทีมนักกีฬาเด็กกับโค้ชแล้ว ยังมีเนื้อเรื่องเสริมเป็นผู้คนที่อยู่ในชนบทที่เข้ามาเกี่ยวกับทีมแบดมินตันอ้อมๆ อย่างตายายที่แฮกังเจอตอนแรก และกลายมาเป็นความสัมพันธ์อันดี จากที่ยายมีไวไฟให้ใช้ฟรีๆ หรือคู่สามีภรรยาที่หมดอาลัยในชีวิตมาอยู่บ้านนอก ก็ได้ผู้คนที่นี่เยียวยาใจจนกลายเป็นมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเรื่องถ่ายทอดความเป็นชนบทแท้ๆ สังคมเกษตรปลูกผัก หาเลี้ยงชีวิตแบบบ้านๆ แต่ก็มีรายได้พอเลี้ยงตัวสบายๆ ซึ่งฉากชนบทในเรื่องนี้ถ่ายทำออกมาสวย เป็นส่วนเสริมเนื้อเรื่องที่ทำให้แฮกังเองจากที่เป็นเด็กเมืองเมื่อได้มาอยู่ที่นี่ก็รู้สึกชอบจนเลิกคิดถึงเมืองไปโดยปริยาย
ฉากการแข่งแบดมินตันในเรื่อง อาจจะไม่มากเพราะเรื่องนี้เน้นการใช้ชีวิตของเด็กๆ มากกว่าการขับเคี่ยวในเกมการแข่งขัน โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของเรื่องยังเป็นแค่การเริ่มก้าวเข้าสู่โลกแบดมินตันของแฮกัง จึงไม่มีฉากเกมการแข่งมาก หรือมีก็มักจะเป็นการเห็นแค่บางช็อตก่อนจัดจบไปเลย ซึ่งคนที่หวังการแข่งเข้มๆ มาดูตอนแรกอาจจะเฟลได้ แต่เรื่องเป็นไปตามจริงเพราะทีมของฝ่ายเด็กผู้ชายคือใกล้ถูกยุบจากปัญหาการไม่ชนะการแข่งใดๆ เลยมานานแล้ว ซึ่งเรื่องจะเริ่มมาเน้นการแข่งจริงจังก็หลัง EP6 ไป ซึ่งแฮกังพร้อมและมีไฟเต็มที่แล้วกับกีฬาแบดมินตันที่เขาเคยเมินในตอนแรก และต้องเจอกับคู่แข่งระดับที่ 1 ของประเทศที่เป็นเป้าหมายของเรื่องนี้
แต่เรื่องก็มีส่วนของเด็กผู้หญิงอย่างเซยุนที่เป็นนางเอกในเรื่องถูกวางไว้ว่ามีพรสวรรค์และเก่งระดับที่หนึ่งของประเทศ ในเรื่องจึงเน้นฉากการแข่งแบดมินตันไปที่เซยุนมากกว่า ซึ่งเธอไปไกลถึงระดับการแข่งต่างประเทศหลายครั้ง มีฉากการแข่งที่ทำออกมาสนุกเลย แม้จะสั้นๆ ไม่มากก็ตาม
ซีรีส์ Racket Boys เรื่องนี้ยังออนแอร์อยู่ช่วงแรก มีทั้งหมด 16 ตอนจบ ฉายทุกวันจันทร์-อังคาร หลังสี่ทุ่มไป สนใจติดตามได้ผ่าน Netflix