รีวิว Ready Set Love เกมชนคนโสด ซีรีส์ Netflix ที่สร้างมาขายด้อมสาวบ้าผู้ชายจนดูกลวงโบ๋มาก…
Ready Set Love เกมชนคนโสด
Summary
สรุปโดยรวมเป็นซีรีส์ไทยที่แย่ตั้งแต่การก็อปพล็อตเรื่องของฝรั่งจากจริงจังมาทำให้ตลก แต่ก็เป็นตลกฝืดมากๆ โดยเฉพาะการเล่นเรื่องผู้หญิงบ้าชายแบบสุดขีด ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยเสียงกรี๊ดของตัวละครสาวๆ ตัวประกอบเวิ่นเว้อกับหนุ่มไอดอลผู้ชายที่เหลือน้อยในโลก โดยมีเนื้อหาที่กลวงมากๆ กับความรัก ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นไปแบบฝืนๆ และเซ็ทติ้งโลกที่พยายามเป็น Squid Game แบบทุนต่ำเกมเด็กๆ แม้ครึ่งหลังเรื่องจะพยายามยกระดับให้มีปมความลับมากมายไปจนถึงการโค่นล้มรัฐบาลที่ปกครองโลก แต่ก็ใส่มาแบบกลวงๆ จนดูแล้วไม่ได้ช่วยให้เรื่องดีขึ้นได้เลยครับ
Overall
2/10User Review
( vote)Pros
- ซีรีส์ขายนักแสดงชายให้สาวๆ กลุ่มด้อมกรี๊ดโดยเฉพาะ
Cons
- เซ็ตติ้งโลกขึ้นมาแบบกลวงๆ
- ตลกฝืดเน้นมุกผู้หญิงบ้าผู้ชายล้วนๆ
- เกมทำออกมาง่ายๆ ไม่ได้ใช้ความคิดอะไร
- นักแสดงหญิงไม่ได้สวยมีเสน่ห์
- จบแบบพยายามมีต่อแบบฝืนๆ
Ready Set Love เกมชนคนโสด ซีรีส์ Original Netflix แนวรอมคอมของไทย 8 ตอนจบ เมื่อโลกเกิดวิกฤตโลกระบาดในปี 1974 ทำให้เด็กผู้ชายแทบไม่เกิดมาบนโลกจนผู้ชายเหลือน้อยมาก รัฐบาลจึงดูแลรักษาผู้ชายไว้ในฟาร์ม และหาคู่ครองให้ผ่านรายการเกมจับคู่
รีวิว Ready Set Love เกมชนคนโสด
จากผู้สร้าง เสือ ยรรยง คุรุอังกูร ที่มีเครดิตกำกับหนัง 2538 อัลเทอร์มาจีบ (2015) App War (2018) Mother Gamer (2020) ซึ่งผู้เขียนดู 2 เรื่องแรกของเขาและก็คิดว่าทำได้ค่อนข้างดีในกลุ่มหนังไทยรุ่นใหม่ช่วงหลัง แต่ซีรีส์ไทยเรื่องนี้ผลงานกลับต่างกันมาก เริ่มตั้งแต่พล็อตก๊อปมาจากของฝรั่ง Y: The Last Man ที่มีทั้งคอมมิคและลงเป็นซีรีส์ใน Disney+ ด้วยเรื่องราวแนวเดียวกันคือยีนส์กลายพันธ์ทั้งโลกจนผู้ชายเหลือเพียงแค่น้อยนิด แต่ของฝรั่งจะเป็นแนวการเมืองการปกครองเอาชีวิตรอด เมื่อผู้หญิงปรับตัวเองปกครองทั้งโลกและการมีอยู่ของผู้ชายเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่ไว้ปกครองโลกได้ แต่ของไทยจะเป็นแนวตลกที่เอาการปกครองในโลกมาทำเป็นเกมโชว์ให้ผู้หญิงเข้ามาเล่นเกมเพื่อหาสามี ซึ่งผู้ชายในเรื่องก็คืออภิสิทธิ์ชนที่ผู้หญิงต้องปกป้องเกรงใจและดูแลรักษาไว้ตลอด ไม่ต่างไปจากแนวคิดวงการด้อมที่ต้องเปย์ให้นักร้องนักแสดงที่ชอบ ซึ่งทำให้เรื่องนี้เจาะจงกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงแบบนี้โดยเฉพาะ และก็แทบไม่ได้เน้นหน้าตานักแสดงหญิงสวยหรือเป็นนักแสดงดัง (ส่วนใหญ่คือเล่นผลงานซีรีส์ทีวีดิจิตอลมา) นางเอกเดย์ (เขมิศรา พลเดช) ก็เล่นบทหน้าตาเปิ่นๆ ไม่ได้สวยมาก มีชื่อเรียกในเรื่องว่าเป็นสาวล็อตโต้ ก็คือผู้หญิงที่ถูกรางวัลหวยเครื่องดื่มจากน้องสาวที่เชียร์และติดตามรายการนี้มาตลอด ซึ่งนางเอกก็มักทำอะไรต๊องๆ แตกต่างจากคนอื่นเสมอจนเป็นจุดเด่นเรียกความสนใจ ส่วนคู่แข่งนางเอก ชาแนล (ณิชภาลักษณ์ ทองคำ) ว่าที่สาวตัวท็อปของสังคมไฮโซในเรื่องก็ยังแค่เน้นความสูงหน้าตาลูกคุณหนูหน่อยๆ แค่นั้น ซึ่งนักแสดงเหล่านี้ก็ไม่ได้มีเสน่ห์ดึงดูดอะไรให้ชวนดูเลยด้วยครับ แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรื่อง แต่ก็เข้าใจว่าซีรีส์โฟกัสให้นักแสดงหญิงเหมือนเป็นตัวแทนเป้าหมายของสาวๆ ด้อมทั้งหลายในโลกจริงนี่แหละ ซึ่งในเรื่องก็นำเสนอออกมาแบบเดียวกันว่าทำไม เดย์ สาวล็อตโต้บ้านๆ ถึงถูกรายการช่วยเซฟไว้ให้เล่นต่อทั้งเรื่อง เพราะเธอคือตัวแทนด้อมผู้หญิงที่หลงผู้ชายในเรื่องเพื่อให้ได้ลูกมาสนับสนุนสปอนเซอร์แบบทุนนิยมนั่นเอง ซึ่งซีรีส์เขียนบทให้ตัวละครหญิงอื่นๆ นอกจากนางเอกบ้าผู้ชายอย่างหนักจนแทบไม่มีบทบาทน่าสนใจอะไรเลย แล้วก็ให้นางเอกดูมีบทเด่นว่าไม่ได้บ้าผู้ชายอยู่คนเดียว มาเล่นเกมเพื่อช่วยน้องสาวให้ได้รับการผ่าตัดให้สำเร็จ ซึ่งบทมันตื้นเขินมากแต่ก็ยังหยิบมาใช้ให้เป็นแก่นของเรื่องที่กลวงมาก แล้วก็ยังใส่มุกตลกแย่ๆ อย่างการแอบดูผู้ชายฉี่เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน โดยย้ำเรื่องนี้ 2-3 รอบเหมือนเป็นมุกตลกเด็ดของเรื่องในตอนแรก แต่มันดูทุเรศมากกว่าตลกจริงๆ ครับ
ตัวเรื่องพยายามเน้นขายนักแสดงชายมากกว่าแบบจงใจให้ทุกคนเหมือนวงไอดอลชายรวมตัวกันเรียกว่า “เจนเทิลเมน” โดยมีหัวหน้าที่อายุเยอะสุดอย่าง อัลมอน (ธฤษณุ สรนันท์) เป็นผู้คุมกฏกับช่วยดูแลน้องๆ ในทีม ซึ่งก็มี พงศ์ทิวัตถ์ ตั้งวันเจริญ เล่นเป็นซัน พระเอกของเรื่อง ซึ่งฝ่ายผู้ชายในเรื่องนี้คือคัดมาให้ดูดีต่างกับผู้หญิงอย่างชัดเจน ทุกคนมีหน้าที่แอ็กติ้งให้สาวๆ ในเรื่องกรี๊ดกันตลอด เสียงกรี๊ดในเรื่องจึงเยอะมากจนน่ารำคาญ เมื่อนักแสดงพวกนี้ปรากฏตัวในบทอ่อยสาวๆ หรือฉากโรแมนติกที่แทรกมาในเรื่องเป็นของรางวัลจบเกมเมื่อผ่านแต่ละด่านได้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่องนี้ใน 4 ตอนแรกที่เนื้อหาตั้งเป้ามาให้เป็นเกมชิงรักทำความสนิมสนมกับผู้ชายตรงๆ โดยในส่วนของตัวเอกก็มีปมเนื้อเรื่องในอดีตตอนเด็กมาเกี่ยวข้องตามสูตรเดิมๆ อย่างจี้สองเส้นที่แยกขาดจากกันแล้วแต่ละคนเก็บไว้กับตัว ซึ่งมันน้ำเน่ามากๆ ไม่คิดว่าจะยังมีคนเอามาใช้กันอีก
แต่ครึ่งหลังตอน 5 ไป เรื่องเปลี่ยนแนวให้มีความตรึงเครียดมากขึ้น เป็นการไขปริศนาเรื่องลับของชีวิตในฟาร์มที่ถูกรัฐบาลเลี้ยงดูมาตลอดเป็นปมในจิตใจเล็กๆ ว่าพวกเขาถูกกักขังไว้ในกรงมาตลอดได้อย่างไร แม่ที่ยินยอมให้พวกเขายังอยู่หรือไม่ แล้วก็ค้นหาว่าเกมนี้ถูกสร้างขึ้นมาและล็อกผลรางวัลไว้แล้ว โยงมาถึงการทำงานของรัฐบาลที่ร่วมสมคบคิดกับนายทุนสปอนเซอร์ที่ไม่โปร่งใส และการประท้วงต่อต้านการปกครองในโลกภายนอก โดยมีเรื่องราวของความรักแบบ LGTBQ เข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวละครทั้งหญิงทั้งชาย ซึ่งก็เหมือนเขียนบทแทรกมาตามข้อตกลงการทำงานของเน็ตฟลิกซ์ที่ต้องให้มีตัวละครแบบนี้เข้าไปมากกว่า แล้วก็ขยายเนื้อหาเพื่อไปต่อซีซั่น 2 โดยจบเรื่องราวไว้แบบห้วนๆ แฮปปี้เอนด์ดิ้งง่ายๆ ซึ่งการเปลี่ยนมาเป็นแนวนี้ก็ช่วยให้เรื่องดูดีขึ้นนิดนึง แต่ก็ยังไม่พ้นความกลวงของเนื้อหาที่ไม่ต่างไปจาก 4 ตอนแรกอยู่ดีครับ
ซีรีส์มีงานโปรดักชั่นที่ดูดีลงทุนกว่างานลงทีวีปกติ แต่ก็ยังไม่ดีมากเมื่อเทียบกับเรื่องที่ผ่านๆ มาของไทยด้วยกันเอง ตัวโครงสร้างโลกอยู่ในยุคปัจจุบันปี 2024 แต่ทำให้มีสีสันสดใสมากขึ้น ตัวเกมก็ออกแบบมาง่ายๆ ดูโปรดักชั่นแล้วก็เหมือนพยายามคล้ายๆ ซีรีส์สควิดเกม หลายเกมแทบจะก็อปจากงานวัดหรือการทดลองวิทยาศาสตร์ของเด็กๆ มาใช้เลย โดยเพิ่มกฎอะไรลงไปหน่อยให้ดูแตกต่างเท่านั้น อย่างเกมคีบตุ๊กตาที่ต้องใช้ 4 คนบังคับแท่นควบคุมอันเดียว แม้บางเกมจะดูเหมือนทำให้คิดมากขึ้นอย่างเกมล่าแม่มดกับชาวเมือง แต่สุดท้ายเรื่องก็ไม่ได้เป็นไปแบบนั้นอยู่ดีครับ
สรุปโดยรวมเป็นซีรีส์ไทยที่แย่ตั้งแต่การก็อปพล็อตเรื่องของฝรั่งจากจริงจังมาทำให้ตลก แต่ก็เป็นตลกฝืดมากๆ โดยเฉพาะการเล่นเรื่องผู้หญิงบ้าชายแบบสุดขีด ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยเสียงกรี๊ดของตัวละครสาวๆ ตัวประกอบเวิ่นเว้อกับหนุ่มไอดอลผู้ชายที่เหลือน้อยในโลก โดยมีเนื้อหาที่กลวงมากๆ กับความรัก ความสัมพันธ์ของตัวละครเป็นไปแบบฝืนๆ และเซ็ทติ้งโลกที่พยายามเป็น Squid Game แบบทุนต่ำเกมเด็กๆ แม้ครึ่งหลังเรื่องจะพยายามยกระดับให้มีปมความลับมากมายไปจนถึงการโค่นล้มรัฐบาลที่ปกครองโลก แต่ก็ใส่มาแบบกลวงๆ จนดูแล้วไม่ได้ช่วยให้เรื่องดีขึ้นได้เลยครับ