playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Skater Girl (Netflix) หนังสเก็ตแนว Coming of age ท้าทายปมสังคมกดขี่เด็กสาวอินเดีย

สรุป

หนังออริจินอลเน็ตฟลิกที่ได้ผู้กำกับโปรไฟล์ดีจากฮอลลีวู๊ดมาทำ (ดูเครดิตในเนื้อหารีวิว) ตัวหนังเป็นแนว Coming of age ของเด็กสาวในหมู่บ้านชนบท ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาสังคมกดขี่ ผ่านโลกของสเก็ตบอร์ดที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ในอินเดียเช่นกัน ถึงเป็นหนังอินเดียแท้ๆ ก็จริง แต่มีกลิ่นอายและสไตล์ฮอลลีวู๊ดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ออกแนวหนังดิสนีย์) มีเพลงประกอบที่เพราะลงตัว แต่ตัวเรื่องก็ยังเป็นสูตรสำเร็จเอามากๆ ทั้งๆ ที่หยิบจับปัญหาสังคมมาต่อสู้ได้ดีแล้ว แต่นำเสนอพวกนี้เพียงแค่สั้นๆ หลายฉากยังสามารถขยี้ลากปมให้เข้มข้นได้มากกว่านี้

Overall
7.5/10
7.5/10
Sending
User Review
5 (1 vote)

Pros

  • หนังสเก็ตที่เน้นปัญหาสังคมกดขี่เด็กสาวอินเดียเป็นเมนเรื่องหลัก ไม่ได้เป็นหนังสเก็ตเน้นโชว์ท่าหรือตัวเอกมีพรสวรรค์ด้านนี้
  • นำเสนอปัญหาทุกระดับชั้นของชุมชนเล็กๆ ในอินเดียปัจจุบันออกมาได้ดี
  • ผลงานเรื่องแรกของผู้ช่วยผู้กำกับหญิงจากหนังดังในฮอลลีวู๊ด
  • ตัวเอกเป็นนักแสดงหน้าใหม่เล่นเรื่องแรก ที่ไม่ได้เน้นสวยมีเสน่ห์เพื่อให้ตรงกับบท
  • เพลงประกอบไพเราะลงตัว (มีแปลเนื้อเพลงครบ)
  • แอบมีมุกตลกแทรกอยู่เล็กๆ ตลอดเรื่อง
  • มีเสียงพากย์ไทย

Cons

  • หลายฉากของปมปัญหาที่หยิบยกมายังขยี้ไม่พอ บางปมตัดจบไวมาก
  • เนื้อเรื่องแนว Coming of age แบบสูตรสำเร็จไม่ได้มีฉีกอะไร
  • มีกลิ่นอายสไตล์หนังฝรั่งมากกว่าหนังอินเดียแท้ๆ ไม่มีฉากเต้นด้วย (แต่ถ้าคนไม่ชอบอินเดียแท้ๆ ก็อาจจะชอบมากกว่า)

 

ADBRO

Skater Girl สเก็ตติดฝัน สู่วันใหม่ หนังสเก็ตบอร์ดแนว Coming of age จาก Netflix อินเดีย เรื่องราวของเด็กสาวชนชั้นล่างอินเดียที่เริ่มกล้าคิดฝันสู่อนาคตนอกกรอบสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านโลกของสเก็ตบอร์ดในชุมชนเล็กๆ ของอินเดีย

 Skater Girl (2021) on IMDb

ตัวอย่าง Skater Girl สเก็ตติดฝัน สู่วันใหม่

หนังสเก็ตบอร์ดจากเน็ตฟลิกซ์ที่ดูเหมือนหาเรื่องทำตามกระแสฮิตอนนี้ ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่พอลงลึกไปดูโปรไฟล์ผู้กำกับ นี่คือผลงานกำกับเรื่องแรกของเธอ Manjari Makijany ที่มีโปรไฟล์เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังดังฮอลลีวู๊ดหลายเรื่อง Wonder Woman, The Dark Knight Rises, Mission: Impossible – Ghost Protocol, Dunkirk Manjari Makijany

ถึงตำแหน่งที่กล่าวมาจะมีได้หลายคนในหนังเรื่องหนึ่ง แต่การที่เธอเป็นผู้หญิงอินเดียที่สนใจงานด้านนี้ แล้วก็ส่งตัวเองเข้ามาอยู่ในวงการมืออาชีพก็ไม่ใช่ธรรมดาแน่นอน และเรื่องนี้ก็เป็นการเดบิวต์กำกับเองเรื่องแรก (ก่อนนั้นมีแค่หนังสั้น) จากทุนเน็ตฟลิก ผนวกกับความสนใจสเก็ตของเธอเองด้วย เพราะจบเรื่องนี้เธอยังทำสารคดีสเก็ตบอร์ดในอินเดียต่ออีกเรื่อง ซึ่งก็เป็นโลเกชั่นเดียวกับในเรื่องคือ รัฐราชสถาน ที่อินเดียพึ่งเริ่มมีสนามสเก็ตบอร์ดขนาดใหญ่มาตรฐานที่แรกในรัฐ  ซึ่ง Skater Girl ก็เป็นกึ่งๆ เรื่องจริง บอกเล่าที่มาของสนามสเก็ตแห่งนี้ ที่สร้างไปพร้อมกับหนังเรื่องนี้ด้วย (เข้าใจว่าใช้ทุนจากหนังมาสร้างเพื่อใช้จริงต่อไปด้วย)

ในเรื่องบทน้องชายของเพรนาก็เป็นตัวละครสำคัญที่แอบช่วยพี่สาวมาตลอด น้องแสดงได้น่ารักมาก

ต้องบอกก่อนเลยว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังขายการเล่นท่าสเก็ต ไม่ใช่หนังโชว์ตัวเอกเทพมีพรสวรรค์ หรือเป็นหนังแข่งขันจริงจัง แต่นี่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวการลุกขึ้นคิดฝันของเด็กผู้หญิงอินเดียที่ถูกตีกรอบด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ รวมถึงกฎหมาย ค่านิยม วัฒนธรรม ชนชั้นวรรณะ ความยากไร้ ทั้งหมดคือปัญหาที่กดทับเด็กผู้หญิงอินเดียอยู่จริงๆ ไม่ต้องพูดถึงการลุกขึ้นมาปฎิบัติ แม้แต่ความคิดก็อาจจะไม่มี เพราะเด็กผู้หญิงอินเดียถูกปิดกั้นโอกาสและความรู้จนไร้จินตนาการความฝันกับอนาคตของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้มีความเหมือน กัณจัญ ศักเสนา ติดปีกสู่ฝัน GUNJAN SAXENA: The Kargil Girl (คลิกอ่านรีวิวที่นี่) ซึ่งถ้าใครชอบนี่ปิดรีวิวนี้แล้วลุกไปดู Skater Girl ได้เลย ซึ่งปมความฝันของเด็กผู้หญิงนี้ก็มีหนังอินเดียดังอย่าง Dangal ปล้ำฝันสนั่นโลก หนังกำเนิดนักกีฬามวยปล้ำหญิงที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกสร้างจากเรื่องจริง จนทำให้เด็กผู้หญิงอินเดียหันมาสนใจมวยปล้ำกันทั่วประเทศ

แพะน้อยของเพรตาในเรื่องมีบทแทรกมานิดเดียว แต่แอบสะเทือนใจ

แน่นอนว่าหนังหยิบเอากระแสสเก็ตบอร์ดมาเป็นเมนหลักด้วย ซึ่งไทยก็ได้เห็นกันทั่วไป ในอินเดียเองก็เริ่มเป็นแบบนั้นเช่นกัน แต่หนังเลือกโฟกัสเรื่องราวที่หมู่บ้านยากจนแห่งหนึ่งของอินเดีย ที่ “เพรนา” เด็กสาวในครอบครัวคนจนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ได้มาพบกับ “เจสซิก้า” สถาปนิกสาวที่ลาพักร้อนจากลอนดอนมายังอินเดีย และมาที่หมู่บ้านนี้ด้วยจุดประสงค์ส่วนตัวบางอย่าง สาวอินเดียจากต่างประเทศที่ไม่ได้ถูกตีกรอบชีวิตเมื่อมาพบกับเพรนาที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรในอนาคตได้ แค่มีชีวิตไปวันๆ ก็ลำบากมากอยู่แล้ว ทำให้เจสซิก้าอยากยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และการมาของเพื่อนเจสซิก้าที่เป็นนักสเก็ต ก็ทำให้ทุกอย่างในหมู่บ้านนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ตัวเอกเพรนาไม่ใช่สาววัยรุ่นที่หน้าตาดี มีเสน่ห์ หรือมีพรสวรรค์ในทางสเก็ตก็ไม่ใช่ รับบทโดย Rachel Saanchita Gupta เล่นเรื่องนี้เรื่องแรก ตัวเรื่องสร้างให้เธอคือเด็กผู้หญิงธรรมดามาก แถมไร้ซึ่งความรู้ ขนาดลอนดอนก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ไหน ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ อะไรคือสเก็ตบอร์ดก็ไม่รู้จักมาก่อน จนการมาของเจสสิก้าสร้างโอกาสที่เธอไม่เคยคิดฝันว่าตัวเองจะทำได้ขึ้นมา ซึ่งสเก็ตคือการทำตามความฝันครั้งแรกของเธอว่าอยากเล่นสเก็ต อยากมีอิสระ อยากรู้จักโลกภายนอกผ่านการดูยูทูบ ทำให้เพรนาได้รับโอกาสใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต ตัวเรื่องเป็นแนว Coming of age ที่มีสเก็ตเป็นตัวเชื่อมไปสู่ความฝันของเด็กสาวจนๆ คนหนึ่งที่ไม่เคยได้รับอะไรมาก่อนในชีวิต

ตัวเรื่องถ่ายทอดปัญหารากเหง้าของเพรนาที่เริ่มมาจากพ่อกดทับทุกอย่างในครอบครัวไว้ แค่ภรรยาของไปทำงานในโรงงานก็ยังไม่ได้ เพราะคิดว่าจะทำให้คนในหมู่บ้านดูถูกที่เลี้ยงเมียไม่ได้ แต่กับเพรนาที่เป็นลูกสาวยิ่งเลวร้ายกว่า จากความคิดที่ว่าลูกสาวมีหน้าที่แค่แต่งงานออกเรือนไวๆ การอยู่ของลูกคือภาระของครอบครัว พ่อรักน้องชายมากกว่า เพรนาคือตัวสร้างปัญหาให้บ้าน ยิ่งการเล่นสเก็ตนี่ก็เป็นเหมือนยิ่งสร้างความอับอายให้พ่อ (ว่าเด็กผู้หญิงเล่นของเล่นเด็กผู้ชาย) ส่วนแม่แม้จะมีความอ่อนโยนให้เพรนา แต่เธอก็โดนกดทับมาอีกทีจนมาใช้กับลูกแบบไม่ตั้งใจ อย่างการรับของคนแปลกหน้าที่แม่ห้ามเสมอ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครให้อะไรเปล่าๆ โดยไม่หวัง การได้มาซึ่งชุดนักเรียน สเก็ตบอร์ด จากเจสสิก้า หรือการมีความรักต่างวรรณะกับพราหมณ์ผ่านหนุ่มที่เปิดตัวว่าชอบเพรนา คือความรู้สึกไม่ดีที่เธอไม่อยากให้ลูกรับเข้ามาในบ้าน ก็เลยกลายเป็นการปิดโอกาสใหม่ๆ ทุกอย่างในชีวิตจากลูกไปโดยไม่รู้ตัวว่าเธอเลี้ยงลูกแบบผิดๆ มาก่อน (แม้ตัวเองจะเคยโดนมาก่อนเช่นกัน)

ในส่วนของเจสซิก้า รับบทโดย Amy Maghera คาแรกเตอร์กับรายละเอียดในเรื่องเชื่อว่าถ่ายทอดมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับสาว Manjari Makijany ด้วยแน่ๆ เพราะหลายอย่างมันค่อนข้างคล้ายกับโปรไฟล์ชีวิตของเธอที่ผลักดันตัวตนจนกลายเป็นมืออาชีพ จากโอกาสที่เธอมีอยู่ในครอบครัวผู้สร้างหนังในมุมไบอยู่แล้ว ซึ่งเจสซิก้าเองคือผู้หญิงที่หลุดกรอบปมปัญหาส่วนใหญ่ในอินเดียไปได้แล้ว แต่การมาอินเดียครั้งนี้คือเพื่อทำความเข้าใจชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเธอในอินเดีย ที่ซึ่งไม่ว่าผ่านไปนานแค่ไหนจนถึงปัจจุบันนี้ ปัญหาการปิดกั้นโอกาสในชีวิตของผู้หญิงก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เหมือนวรรณะในอินเดียที่ไม่มีใครพูดถึง แต่กลับปฏิบัติกันอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยน มีสิ่งของสาธารณะแบ่งแยกชนชั้น แบ่งแยกการคบหาเพื่อนในหมู่บ้าน ซึ่งตัวละครเจสซิก้าก็ได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเองจากการพยายามให้เด็กๆ ได้เล่นสเก็ตที่พวกเขาชอบ โดยต้องต่อสู้กับคนในชุมชนที่มองเธอว่าเป็นคนแปลกหน้าที่นำมาซึ่งปัญหาจากชาติตะวันตก และพยายามบีบให้เธอยอมรับกฎชุมชนในอินเดีย แม้สเก็ตไม่ผิดกฎหมาย แต่ชุมชนนี้ไม่ต้อนรับ ซึ่งหนังใช้เธอเป็นตัวเดินเรื่องตีแผ่ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ชนชั้น ความจน การศึกษา ไปจนถึงการเมืองที่เธอต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเมื่อพยายามสร้างลานสเก็ตบอร์ดขึ้นมาในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีเกร็ดๆ เสริมว่าลานสเก็ตขนาดใหญ่ที่สร้างในเรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นแห่งแรกของจริงใน รัฐราชสถาน ของอินเดียด้วย

ตัวหนังเป็นการต่อสู้ของทั้งเพรนากับเจสซิก้าในคนละบริบทของปัญหา ซึ่งตัวเรื่องก็เดินไปแบบล้มลุกคลุกคลาน มีการบาดเจ็บจากปัญหาต่างๆ ทั้งทางจิตใจและร่างกาย ซึ่งแม้ไม่ใช่ฉากที่บีบคั้นอารมณ์อะไรมาก แต่หนังก็เดินไปแบบดูสนุกทำให้คนดูเอาใจช่วยทั้งคู่ซึ่งมีบทสลับไปมาพอๆ กัน ถือว่าเป็นนางเอกทั้งคู่ แต่เรื่องจะไปปิดท้ายที่งานแต่งแบบคลุมถุงชนของเพรนา ที่เธอต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตว่าจะจำยอมปิดโอกาสตัวเองต่อไป หรือจะเลือกขบถหักดิบกับพ่อแม่และสังคมชุมชน ซึ่งหนังก็ใช้ปมความกลัวล้มท่ายากของเพรนามาเป็นการก้าวข้ามฝ่าไปพร้อมกันกับปัญหาในชีวิต ซึ่งก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จฟีลกู๊ดทั่วไป อาจจะเบาๆ ง่ายๆ ไปสักหน่อย แต่ผู้ชมก็คงไม่ได้ติดใจอะไรมาก เพราะต้องการตอนจบแบบนี้อยู่แล้วเช่นกัน

มีเรื่องรักผสมเข้ามาหอมปากหอมคอกำลังดี

อีกสิ่งที่เรื่องนี้แตกต่างและทำได้ดีเลยคือการนำเพลงประกอบทั้งเสียงร้องฮินดีกับอังกฤษมาไว้ในเรื่อง (แต่ไม่มีฉากเต้น) ตรงนี้น่าจะมาจากประสบการณ์ของผู้กำกับ Manjari Makijany ที่ทำงานร่วมกับฮอลลีวู๊ดมาตลอด เธอก็เลยเหมือนเป็นคนที่ผสานสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งฟังและดูเผินๆ นี่คือหนังสูตรของดิสนีย์เต็มๆ เพลงก็มีทำนองจังหวะใสๆ ฟังสนุก ช่วงเศร้าก็เป็นเพลงชวนอินประกอบอารมณ์ได้ดีเลย ซึ่งเน็ตฟลิกซ์มีคำแปลเนื้อร้องไว้ทั้งหมด รวมถึงเสียงพากย์ไทยด้วย ซึ่งปกติหาได้ยากในหนังอินเดียของเน็ตฟลิก แสดงว่าเป็นงานที่เน็ตฟลิกซ์ตั้งใจทำมากกว่าปกติ

ตัวอย่างเพลงประกอบ Skater Girl

งานภาพของเรื่องนี้ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องราวขึ้นมากด้วย ในเรื่องเป็นฉากในชนบทที่ค่อนข้างแร้นแค้นของอินเดีย หลายอย่างดูเสื่อมโทรม แม้แต่บ้านยังไม่มีมุงหลังคา (ใช้ก้อนหินเรียงปิดไว้แทนกระเบื้อง) ฉากเล่นสเก็ตของกลุ่มเด็กร่อนไปในชุมชนเป็นการถ่ายทอดวิวต่างๆ มาให้คนดูได้เห็นไปด้วย ซึ่งก็ถือว่าถ่ายได้สวยเลยทีเดียว แม้จะไม่มีฉากไล่ตามผู้เล่นสเก็ตสวยๆ ให้ดูเร้าใจ แต่ก็เข้าใจได้ว่าตัวเรื่องไม่ได้เป็นธรมโชว์การเล่นสเก็ตเทพสวยๆ อะไรแบบนั้น

นี่เป็นหนังออริจินอลเน็ตฟลิกที่ได้ผู้กำกับฝีมือดีใส่ใจมาทำจริงๆ ผลงานที่ออกมาเลยแตกต่างจากปกติทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด แต่ว่าสำหรับคนดูหนังบอลลีวู๊ด (หนังโรงอินเดีย) เรื่องอาจจะไม่สุด และดูเป็นฝรั่งมากกว่าสไตล์อินเดีย รวมถึงความยาว

ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับสาว Manjari Makijany
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!