The Billion Dollar Code ซีรีส์ Netflix ที่ทวงความยุติธรรมให้ผู้สร้างกูเกิลเอิร์ธตัวจริงได้อย่างทรงพลัง! (ไม่มีสปอยล์)
The Billion Dollar Code
สรุป
นี่เป็นซีรีส์เฉพาะทางสายไอทีที่ทรงพลังมาก ทั้งในแง่ความสนุกพร้อมสาระที่มอบให้ผู้ชมเต็มเปี่ยมจากเรื่องราวที่โลกไม่รู้มาก่อน ช่วยทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือนไปกลับมาอยู่ในปัจจุบันได้อีกครั้ง และยังเป็นบรรทัดฐานตัวอย่างให้แก่วงการไอทีที่บริษัทเล็กไอเดียสร้างสรรค์มักถูกกลืนกินไปหมดได้ทันเกมและได้ไกด์ไลน์ทางคดีสิทธิบัตรได้ลุกขึ้นมาสู้กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ชมที่ไม่ใช่สายไอทีเองก็ยังสามารถดูสนุกและเข้าใจเรื่องราวซับซ้อนนี้ได้ เพราะตัวเรื่องถูกทำออกมาให้ย่อยง่าย มีความบันเทิงสูง จนสามารถเพลิดเพลินไปกับเรื่องนี้ได้เช่นกัน แนะนำห้ามพลาดเพราะเป็นลิมิเต็ดซีรีส์ 4 ตอนจบสั้นๆ เท่านั้นเอง (พ่วงสารคดีจริงต่อท้ายหลังจบอีกครึ่งชั่วโมงที่ควรดูต่อด้วยเช่นกัน)
Overall
9/10User Review
( votes)Pros
- สร้างจากเรื่องจริงที่น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวที่แท้จริงของกูเกิลเอิร์ธ
- รายละเอียดการต่อสู้คดีสิทธิบัตรที่ละเอียดมากจนเป็นไกด์ไลน์ได้เลย
- ย้อนอดีตเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์วงการไอทีโลกก่อนมีอินเตอร์เน็ตจนถึงปัจจุบันไปพร้อมกัน
- นักแสดงแคสมาดีและเล่นได้สมบทบาทมาก
- งานโปรดักชั่นคุณภาพสูงทุกด้าน
- จำนวนตอนสั้น 4 ตอนจบ
Cons
- มีศัพท์เฉพาะด้านไอทีกับศัพท์เนิร์ด Geek ใช้อยู่เยอะ จนคนนอกสายพวกนี้อาจจะไม่ทันหรือไม่อินไปกับบทสนทนาในเรื่องนี้ได้ (แต่เรื่องก็มีอธิบายศัพท์พวกนี้ด้วย)
The Billion Dollar Code รหัสพันล้านดอลล่าร์ ลิมิเต็ดซีรีส์ 4 ตอนจบของ Netflix จากงานสร้างเยอรมันแนวดราม่า สร้างจากเรื่องจริงของการต่อสู้คดีความระหว่างผู้สร้างโปรแกรมต้นกำเนิดกูเกิลเอิร์ธในเยอรมัน ที่ลูกขึ้นมาต่อสู้ทวงสิทธิ์ของพวกเขาหลังถูกขโมยผลงานไป 3 ทศวรรษ พร้อมด้วยสารคดีเบื้องหลังคดีที่กูเกิลไม่อยากให้โลกรู้
ตัวอย่าง The Billion Dollar Code รหัสพันล้านดอลล่าร์
นี่คือซีรีส์ที่สร้างจากเรื่องจริงที่ทรงพลังมาก เชื่อเลยว่าหลังจากนี้ไปกูเกิลเองก็คงต้องเจอกับคำถามในเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนี้อย่างหนักด้วย เพราะนี่ไม่ใช่แค่งานสร้างจากเรื่องจริงแบบทั่วไป แต่มันเป็นตัวแทนทวงความยุติธรรมให้กับผู้สร้างต้นแบบกูเกิลเอิร์ธที่กูเกิลนำไปใช้ โดยถูกกล่าวว่าก็อปทั้งไอเดีย แนวคิด ภาพการทำงานที่ปรากฎ รวมถึงโค๊ดเบื้องหลังการทำงาน ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นรายละเอียดของเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดที่น่าทึ่งเอามากๆ รวมทั้งเบื้องหลังงานสร้างซีรีส์ชุดนี้ในแบบสารคดีจากตัวจริงของเรื่องราวนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้มุมมองที่คุณมีกับกูเกิลเปลี่ยนไปแน่นอน
เรื่องราวเป็นจริงแค่ไหนเมื่อถูกทำเป็นซีรีส์?
สำหรับใครที่คิดว่าการสร้างเรื่องจริงมาเป็นหนังหรือซีรีส์ต้องมีการบิดนั่นแต่งนี้ใส่ไข่เพิ่มไป ก็ต้องบอกว่าสำหรับเรื่องนี้ก็มีส่วนแบบนี้อยู่จริงบ้างบางส่วน แต่ไม่ใช่การบิดเรื่องราวหลักของจริงให้แตกต่างออกไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่มีหลักฐานการมีอยู่ของทีมที่สร้างต้นแบบกูเกิลเอิร์ธมาตั้งแต่ในอดีตก่อนมีอินเตอร์เน็ตเข้าใช้ในบ้าน ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของวงการคอมพิวเตอร์ในวงจำกัด ช่วงยุค 1990 โดยเรื่องราวเริ่มจาก “ยูรี” แฮ็กเกอร์นักเขียนโปรแกรมได้มาเจอกับ “คาร์สเตน” นักศึกษาปริญญาโทศิลปะที่พยายามสร้างมีเดียดิจิตอลอาร์ทขึ้นมาในยุคที่ยังไม่มีเรื่องนี้แพร่หลาย เขาทั้งคู่ได้ไอเดียสร้างโปรแกรมการสร้างแผนที่โลกแบบสมจริงขึ้นมา ในชื่อ ในชื่อ เทอร์ร่าวิชัน (Terra Vision) โดยได้ทุนจากรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารให้สร้างผลงานไปโชว์ในงานประชุมเทคโนโลยีสื่อสารโลกที่เกียวโต ก่อนจะประสบความสำเร็จกลับมาและเริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากผลงานนั้น ซึ่งก็ทำให้บริษัทในซิลิคอนวัลเล่ย์ชวนเขาไปสาธิตพูดคุยส่วนตัว แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มของการถูกขโมยผลงานไปเป็นกูเกิลเอิร์ธในภายหลัง
ตัวเรื่องดำเนินไปโดยใช้เรื่องจริงเป็นโครงสร้างหลักทั้งหมด 90% ได้ ซึ่งมียืนยันได้จากภาพหลักฐานต่างๆ ที่เราจะได้เห็นท้ายเอนด์เครดิตเมื่อจบเรื่อง กับอีกส่วนคือสารคดี 28 นาทีที่จะขึ้นมาหลังดูจบครบ 4 ตอน เป็นการพูดคุยกับเผยให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ยืนยันอีกครั้งว่านี่เป็นเรื่องจริงแน่นอน แต่ส่วน 10% ที่เหลือเว้นไว้คือการเติมแต่งเติมเล็กๆ น้อยๆ กับองค์ประกอบเรื่องราวให้ดูสนุกเท่านั้น อย่างไอเดียการแก้ปัญหาแบบเฉียดฉิวที่คิดได้จากการป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือการตัดเรื่องจริงบางส่วนออกเพื่อให้กระชับอย่างขั้นตอนการจ้างทนายข้ามชาติที่แพงมหาศาลว่ามาได้อย่างไร ซึ่งพวกนี้จะมีรายละเอียดให้เห็นในสารคดี โดยไม่ได้เป็นการไปบิดเรื่องหลักของจริงไป นั่นทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูมีพลังขึ้นมากระหว่างที่รับชม เพราะถ้าเป็นแค่อ้างอิงหรือได้เค้าโครงจากเรื่องจริงก็คงกึ่งๆ เชื่อได้ไม่เต็มร้อย แต่เรื่องนี้คือสามารถใช้อ้างอิงถึงคดีการต่อสู้กับกูเกิลได้เลยจริงๆ ซึ่งตัวผู้สร้างเองก็ต้องการแบบนั้น เป็นกระบอกเสียงช่วยต่อสู้ให้บริษัทเล็กที่ถูกบริษัทใหญ่รังแกในโลกนี้ ผ่านเรื่องราวที่ถูกลบลืมเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์เกือบ 3 ทศวรรษให้กลับมามีที่ยืนอีกครั้ง ส่วนใครที่ค้นเรื่องราวของ Terra Vision กับคดีนี้จากกูเกิลไม่ค่อยเจอ ตรงนี้ก็มีคำตอบอยู่ในสารคดีนี้แล้วเช่นกัน (เท่าที่ผู้เขียนลองค้นเจอแค่ตอนเรื่องนี้สร้างลงเน็ตฟลิกซ์แล้วเท่านั้น)
เทคนิคเล่าเรื่องอดีต VS. ปัจจุบัน
ซีรีส์เรื่องนี้มี 4 ตอน จะแบ่ง 3 ตอนแรกเป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของการสร้าง เทอร์ร่าวิชัน ของสองตัวเอก ส่วนตอนที่ 4 จะเป็นช่วงการต่อสู้คดีในศาลเต็มๆ ไปจนจบ ซึ่งความเก๋ของเรื่องใน 3 ตอนแรกอยู่ที่ ตัวเรื่องไม่ได้ย้อนอดีตกันตรงๆ แต่ผ่านการซ้อมสู้คดีในศาลอีกทีจากทีมทนายที่ถูกว่าจ้างมาจากอมเริกา ซึ่งตัวเอกทั้งคู่จะผลัดกันมาซ้อมแยกคนจากปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัว ตัวเรื่องจะใช้นักแสดง 2 ชุดปัจจุบันกับอดีต ตัวละครในปัจจุบันจะโดนจี้ถามให้จนมุมเป็นแนวว่าความแบบซีเรียสหนักๆ จนทำให้ลูกความแทบคุมสติไม่อยู่ ก่อนที่จะตัดกลับไปเรื่องราวจริงในอดีตที่เปลี่ยนอารมณ์กลับไปในแนวสนุกสนานผจญภัยไปกับก่อร่างสร้างตัวของทั้งคู่ เหมือนเรากำลังได้ชมการก่อร่างสร้างสตาร์ทอัพในยุคแรกที่ยังไม่มีใครรู้จักคำศัพท์นี้เลย ซึ่งตัวเทอร์ร่าวิชันเองถือเป็นสตาร์ทอัพแรกที่กำเนิดขึ้นในเยอรมันเลยก็ว่าได้ ก่อนจะถูกขโมยผลงานไป จนกลายเป็นความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ของสองตัวเอก ซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบันที่ทำให้ทั้งคู่ไม่พูดคุยกันมากว่า 15 ปี แต่กลับต้องมาร่วมกันต่อสู้คดีนี้ด้วยกัน ซึ่งจุดแตกหักของทั้งคู่ก็เป็นปมสำคัญของเรื่องที่ซ่อนไว้อย่างหนึ่ง และน่าติดตามว่าเพราะอะไรกันแน่เพื่อนซี้ขนาดนี้ถึงแยกทางกันจนกลายเป็นคนแปลกหน้าที่เคยเป็นเพื่อนเท่านั้น โดยที่เรื่องจะค่อยๆ เชื่อมรอยร้าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของทั้งคู่ เป็นพาร์ทดราม่ามิตรภาพที่ทำออกมาดีมาก ไม่แพ้เรื่องราวความของเทอร์ร่าวิชันเลย โดยมีจุดสำคัญที่ตัวยูรี (โปรแกรมเมอร์) กลายเป็นคนมีสภาพจิตใจไม่ปกติ เป็นโรคแพนิคจากเหตุการณ์ในอดีตเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เขากลายเป็นจุดอ่อนของทีมที่มีแต่อดีตเพื่อนสนิทคาร์สเตนเท่านั้นที่สามารถช่วยเขาได้
รายละเอียดการต่อสู้คดีสิทธิบัตรในศาลละเอียดยิบ
ส่วนสู้คดีนี้ในตอน 4 จะถูกบอกเล่าเต็มๆ ทั้งตอน ใครที่ไม่ชอบแนวว่าความกับบทสนทนายาวๆ ไม่ต้องห่วง เพราะเรื่องนี้ทำออกมาสนุก มีจุดพีคลุ้นกันทุกช่วงของการไต่สวนสู้กับทนายของกูเกิล และคงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นฉากต่อสู้ในคดีสิทธิบัตร เพราะหลักๆ มันก็ยากอยู่แล้วที่จะทำให้คนดูทั่วไปมาเข้าใจเทคนิคเชิงลึกทางไอทีที่ต้องนำขึ้นมาสืบสวนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็มีช่วงศัพท์เฉพาะทางยากๆ ที่ว่านั้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นหลัก แต่เรื่องทำให้เห็นว่าการต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ต้องเตรียมอะไรมาบ้างอย่างละเอียด ซึ่งเรื่องนี้เก็บรายละเอียดมาดีมาก ทั้งแง่มุมตัวผู้ฟ้องเองที่ต้องเตรียมตัวถึงขั้นมีโค้ชแก้ไขภาษากายขณะขึ้นให้การ การทำให้ลูกขุนที่ไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้สามารถโน้มเอียงมาได้ต้องทำยังไง (ลูกขุนอเมริกาคือสุ่มมาจากพลเมืองปกติไม่มีความรู้ไอทีมาก) การพิสูจน์ทราบว่าเลียนแบบโค๊ดจริงหรือไม่โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปห้องเก็บข้อมูลลับสุดยอดของกูเกิล และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการทำคดีนี้ในอเมริกาถูกเปิดเผยว่าถึง 10 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก ซึ่งค่าเสียหายที่ต้องชดใช้จะมีวิธีคิดว่าต้องเท่าไหร่ถึงเหมาะสมเป็นเหตุผลเป็นผล ซึ่งเป็นประสบการณ์ฟ้องร้องของจริงที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อบันเทิงได้ดีมากจนอ้างอิงเอาไปใช้ได้แน่ๆ
Don’t Be evil วลีสวยหรูที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงของกูเกิล
คติพจน์อย่างเป็นทางการของบริษัทกูเกิลมาตั้งแต่แรก ก่อนที่ตอนหลังจะโดนถอดออกไป ซึ่งก็หมายความถึงการไม่ทำตัวเป็นปีศาจทางธุรกิจ ในเรื่องจะมีช่วงที่เล่าให้เห็นความเลวร้ายของกูเกิลจากช่วงเวลาเปราะบางระหว่างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนของกูเกิล ซึ่งตัวเอกยูรีคือคนที่ไปเกี่ยวข้องและเป็นจุดกำเนิดของการขโมยโครงสร้างผลงานนี้ไปจากความไว้ใจที่เขามอบให้ในฐานะเพื่อน และยังมีช่วงอธิบายถึงกลวิธีที่กูเกิลใช้เรื่องลอกสิทธิบัตรแบบลึกๆ จากทนายด้านนี้โดยตรง ในแบบที่เหมือนยื่นไมตรีให้ แต่กลายเป็นการดักทางฟ้องร้องในอนาคตของบริษัทเล็กๆ ที่มีไอเดียใหม่ๆ และไม่ทันเกมที่กูเกิลขุดบ่อล่อไว้ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครตามทันกลวิธีที่กูเกิลใช้แน่ๆ แม้มันจะซิมเปิลง่ายๆ ก็ตาม เพราะความที่เป็นบริษัทใหญ่ทำให้ไม่มีใครคิดว่าจะเจอเรื่องราวแบบนี้ และไม่ใช่แค่กูเกิลใช้ แต่ตัวเรื่องอธิบายให้เห็นภาพรวมของธุรกิจยักษ์ใหญ่ไอทีเหล่านี้ว่าเหมือนกันหมดในแง่ของการฟ้องร้องทางสิทธิบัตร ต่างก็เป็น evil ด้วยกันทั้งนั้น แม้ภาพหน้าฉากจะสร้างไว้ให้ดูสวยหรูยังไงก็ตาม ซึ่งไม่ใช่คำกล่าวหาเกินเลย เพราะในเรื่องชี้ให้เห็นรายละเอียดปัญหาที่เป็นข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้น
บทพูดศัพท์ไอทีแบบเนิร์ดๆ ที่สนุก
แน่นอนว่าบทสนทนาในเรื่องต้องหนีไม่พ้นศัพท์แสลงต่างๆ จากคนไอที ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นสายไอทีมาดูเรื่องนี้เองคงยิ่งชอบมากเข้าไปอีก จากความเนิร์ด Geek ของบทสนทนาที่โยงเรื่องราวประวัติศาสตร์ไอทีเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ ตามยุคสมัยเข้ากับเรื่องราวแบบสนุกๆ นอกจากนี้ก็มีการดึงเรื่องราวของซูเปอร์แมนมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเทอร์ร่าวิชันให้เสมือนบินลงมาจากจากนอกโลกเข้าถึงได้ทุกที่แบบที่ซูเปอร์แมนเท่านั้นที่ทำได้ หรือการใช้เรื่องราวในซีรีส์สตาร์เทร็คมาประยุกต์เข้ากับเรื่องราวการแก้ปัญหาในบางช่วง ซึ่งแฟนพันธ์แท้พวกนี้รับรองว่าถูกใจแน่นอน คนเขียนบทนี้ก็ต้องเป็นเนิร์ดด้วยแน่ๆ ถึงหยิบจับมุกพวกนี้มาใส่ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก แต่ถึงจะไม่ใช่สายไอทีโดยตรงก็ยังสามารถดูสนุกร่วมไปได้ เพราะในเรื่องก็มีอธิบายศัพท์ต่างๆ ให้เราเข้าใจตามมาเสมอ แต่ถ้าใครที่ไม่มีหัวด้านนี้เลยสักนิดก็อาจจะชวนมึนงงได้เหมือนกัน เรียกว่าเป็นจุดด้อยหลักของเรื่องนี้เลย แต่ไม่ใช่ความผิดของตัวซีรีส์เฉพาะทางที่ต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว
นักแสดงที่แคสมาดีกับการแสดงที่เข้าถึงสุดๆ
เรื่องนี้แคสนักแสดงมาได้ใกล้เคียงตัวจริงมาก ซึ่งเราจะได้เห็นพวกเขาในช่วงสารคดีจริงหลังจบเรื่อง แต่ที่ต้องชมมากเลยคือนักแสดงหลายคนเล่นได้อย่างสมบทบาทสุดๆ ส่งอารมณ์ให้ผู้ชมรับรู้ถึงความเจ็บปวดจากการโดนความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ ที่เด่นๆ ก็คือ ยูรีโปรแกรมเมอร์ในเรื่องที่โดนผลกระทบจากเรื่องนี้จนกลายมาเป็นคนมีอาการทางจิตเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวยูรีเองบทจะลึกว่าใครเพราะมีช่วงย้อนอดีตไปถึงปมวัยเด็กเพิ่มมาอีกช่วง ช่วยทำให้เราเข้าใจบุคลิกภาพตัวตนของเขาในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนักแสดงที่เล่น 2 วัยช่วงหนุ่มกับสูงวัยต่างทำได้ดีจนเหมือนเป็นคนเดียวกันจริงๆ อีกคนที่เด่นคือทนายสาวของเรื่อง แม้บทนี้จะเป็นตัวละครสมทบแต่ก็มีช่วงที่แสดงดราม่าสปิริตของการเข้ามาว่าความให้คดีนี้แบบที่เงินไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นการทวงความยุติธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่บริษัทเล็กในอุตสาหกรรมไอทีจริงๆ ซึ่งฉากนี้เธอเล่นได้อย่างจับใจมาก และเป็นฉากที่ส่งผลทำให้เรื่องราวนี้ไม่ดูเป็นการฟ้องเพราะหิวเงินแบบที่เราติดภาพทนายอเมริกาไว้ในหัวอยู่เสมอ
สรุปรีวิว The Billion Dollar Code
นี่เป็นซีรีส์เฉพาะทางสายไอทีที่ทรงพลังมาก ทั้งในแง่ความสนุกพร้อมสาระที่มอบให้ผู้ชมเต็มเปี่ยมจากเรื่องราวที่โลกไม่รู้มาก่อน ช่วยทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกลบเลือนไปกลับมาอยู่ในปัจจุบันได้อีกครั้ง และยังเป็นบรรทัดฐานตัวอย่างให้แก่วงการไอทีที่บริษัทเล็กไอเดียสร้างสรรค์มักถูกกลืนกินไปหมดได้ทันเกมและได้ไกด์ไลน์ทางคดีสิทธิบัตรได้ลุกขึ้นมาสู้กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ชมที่ไม่ใช่สายไอทีเองก็ยังสามารถดูสนุกและเข้าใจเรื่องราวซับซ้อนนี้ได้ เพราะตัวเรื่องถูกทำออกมาให้ย่อยง่าย มีความบันเทิงสูง จนสามารถเพลิดเพลินไปกับเรื่องนี้ได้เช่นกัน แนะนำห้ามพลาดเพราะเป็นลิมิเต็ดซีรีส์ 4 ตอนจบสั้นๆ เท่านั้นเอง (พ่วงสารคดีจริงต่อท้ายหลังจบอีกครึ่งชั่วโมงที่ควรดูต่อด้วยเช่นกัน)