playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Irishman เปิดปมการเมืองเรื่องสกปรกของอเมริกา ผ่านสายตามาเฟียอิตาลี

รีวิว The Irishman เปิดปมการเมืองเรื่องสกปรกของอเมริกา ผ่านสายตามาเฟียอิตาลี

สรุป

The Irishman ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วสนุกตื่นเต้นอะไรนัก หนังมาในแนวเรียลสตอรี่จริงจังทั้งอารมณ์และเรื่องราวประวัติศาสตร์สกปรกของอเมริกา ซึ่งไม่ได้เหมาะกับผู้ชมแมสวงกว้างสักเท่าไหร่ ยิ่งคนไทยด้วยแล้วเป็นเรื่องไกลตัวเข้าไปอีก

แต่ถ้าเจาะลึกในเรื่องรายละเอียดงานสร้างแล้ว นี่เป็นหนังที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแน่นอน และเป็นนิมิตหมายใหม่ของหนังสตรีมมิ่ง Netflix ที่ท้าชนวงการหนังฮอลลีวู๊ดจังๆ

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
0 (0 votes)
Comments Rating 0 (0 reviews)

Pros

  • งานสร้างสุดเนี๊ยบทุกรายละเอียด
  • เทคโนโลยีลดอายุสุดล้ำในเรื่อง
  • ฉากฆ่าในแบบสมจริงตามเรื่องราวมาเฟียตัวจริง
  • ความยาวจุใจ 3 ชั่วโมงครึ่งสำหรับคนที่ชอบแนวประวัติศาสตร์
  • เรื่องราวประวัติศาสตร์อีกด้านที่สกปรกสุดๆ ของการเมืองอเมริกา

Cons

  • หนังเรียบๆ เล่าเรื่องเรื่อยๆ เนือยๆ ไปจนจบ
  • หนังยาวมากเกินไปสำหรับคนที่ไม่อินหรือสนใจประวัติศาสตร์ในเรื่อง
  • เทคโนโลยีลดอายุใบหน้าที่บางทีก็รู้สึกแปลกตาไม่เหมือนจริงไปสักหน่อย
  • หนังไม่ได้ขยายความประวัติศาสตร์ที่หยิบมาให้ชัดเจนสักเท่าไหร่
  • เสียงพากย์ดี แต่มีพากย์ไม่ตรงความหมายหลายจุด รวมถึงซับไตเติ้ลผิดด้วยเช่นกัน
  • หนังตัดสลับเรื่องราวบ่อยมากจนสับสนได้ (เพราะให้ดูจากริ้วรอยใบหน้านักแสดงล้วนๆ)

The Irishman คนใหญ่ไอริช หนังฟอร์มยักษ์ทุนสร้าง 159 ล้านเหรียญของ Netflix สูงสุดที่เคยมีมา และก็ตั้งเป้าเป็นหนังสายรางวัลที่เล็งกวาดออสการ์ หนังได้ดารารุ่นใหญ่ โรเบิร์ต เดอ นีโร, อัล ปาชิโน่ และโจ เปสซี กลับมาร่วมงานหนังแก๊งสเตอร์แนวถนัดกันอีกครั้ง ผ่านการกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี่ บอกเล่าเรื่องราวองค์กรอาชญากรรมในอเมริกาช่วงหลังสงครามผ่านมุมมองของแฟรงค์ ชีแรน ทหารผ่านศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลายมาเป็น 1 ในบุคคลสำคัญของแก๊งมาเฟียอิตาลีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของจิมมี่ ฮอฟฟา ผู้นำสหภาพแรงงานในตำนาน ที่คดียังไม่มีการไขกระจ่างมาจนทุกวันนี้

ตัวอย่าง The Irishman ไอริชแมน Netflix

หนังดัดแปลงจากหนังสือ I Heard You Paint Houses ปี 2004 ของชาร์ลส์ แบรนด์ ว่าด้วยบันทึกการสัมภาษณ์ของแฟรงค์ ชีแรน อดีตหนึ่งใน 3 ของผู้นำสูงสุดแก๊งมาเฟียอิตาลี ที่มีเชื้อสายไอริชเพียงคนเดียว โดยเขาสารภาพว่าเป็นคนสังหารเพื่อนของเขา จิมมี่ ฮอฟฟา ผู้นำสหภาพแรงงานที่หายตัวไปอย่างปริศนาเมื่อปี 1975 อ่านเรื่องราวต่อที่นี่ จิมมี่ ฮอฟฟ่า คดีอุ้มฆ่ามาเฟีย เรื่องจริงใน The Irishman โดย มาร์ติน สกอร์เซซี่

จิมมี่ ฮอฟฟา ผู้นำสหภาพแรงงาน
จิมมี่ ฮอฟฟา ผู้นำสหภาพแรงงานในตำนาน เล่นโดย อัล ปาชิโน่

ก่อนอื่นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกับการดูหนังเรื่องนี้ ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่หนังแก๊งสเตอร์โดยตรงแบบที่เคยเห็นกันทั่วไป ถ้าคิดว่าจะได้เห็นฉากบู๊หรือฉากแนวแอ็กชั่นต่างๆ แม้แต่การดวลปืนกับตำรวจหรือระหว่างแก๊งจะไม่มีในหนังเรื่องนี้ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมในเรื่องก็ไม่ได้มีการอธิบายตรงๆ นี่เป็นหนังชีวประวัติของ “แฟรงค์ ชีแรน” ที่นำไปสู่เรื่องราวของ “จิมมี่ ฮอฟฟา” โดยตรง เป็นรื่องราวเชิง “บริบทของแก๊งสเตอร์” ตามที่ผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี่บรรยายไว้ในเบื้องหลังงานสร้างเรื่องนี้ ซึ่งมีให้ดูใน Netflix พร้อมกับหนัง (คลิกรับชมได้ที่นี่) โดยบริบทที่ว่านี้ก็คือ สิ่งต่างๆ ในสังคมอเมริกาที่เชื่อมโยงกับแก๊งมาเฟียอิตาลีนี้แทบทั้งหมด ตามที่ในหนังบอกไว้ว่า “ถนนทุกสายย้อนกลับมาที่นี่” และแก๊งนี้ก็เป็นเจ้าของถนนเส้นนี้นี่เอง

และเพื่อความสมบูรณ์ในการดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องดูผลงานหนังแก๊งสเตอร์ขึ้นหิ้งอีกเรื่องของผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี่ ด้วยนั่นคือ Goodfellas (1990) ชื่อไทย คนดีเหยียบฟ้า (คลิกรับชมผ่าน Netflix ได้ที่นี่) ซึ่งในเรื่องนี้จะอธิบายรากฐานแนวคิดโลกของมาเฟียอิตาลีโดยละเอียด ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงเช่นเดียวกัน ทำให้เข้าใจเรื่องราวใน The Irishman ที่ตัดข้ามไปหลายอย่าง เช่น สถานะคนเชื้อสายไอริชในแก๊งอิตาลีเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะเกี่ยวพันกับการที่แฟรงค์ ชีแรนเป็นคนพิเศษมากๆ ที่ได้รับแหวนผู้นำที่มีเพียงแค่ 3 วงในโลก อันเป็นไฮไลท์หนึ่งของหนังเรื่องนี้ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยหลายๆ อย่างของสังคมแก๊งที่อาจจะไม่ได้มีอธิบายไว้ดีพอในไอริชแมน แต่ถ้าใครไม่คิดจะดูก็อ่านจากท้ายบทความจะมีสปอยล์บางส่วนไว้ให้ได้ทราบกันครับ แต่แนะนำว่าถ้าดูได้ควรดูด้วยตัวเองเป็นอย่างยิ่ง (ส่วนตัวหนังสนุกและบันเทิงแตกต่างจากไอริชแมนมากครับ) ที่พิเศษอีกอย่างคือ Goodfellas ดารานำเล่นโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร กับ โจ เปสซี เช่นเดียวกัน และบทในเรื่องนี้กับไอริชแมนก็มีความต่างกัน เป็นสถานะมาเฟียที่เติบโตขึ้นอีกด้วย (ใน Goodfellas ยังไม่ใช่ระดับผู้นำแก๊ง)

อย่างที่บอกไว้ในข้างต้นว่านี่เป็นเรื่องราว “บริบทของแก๊งสเตอร์” หนังเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเล่าอีกด้านของประวัติศาสตร์อเมริกาที่สุดแสนสกปรก ผ่านตัวละคร “แฟรงค์ ชีแรน” ที่ขึ้นตรงกับ “รัสเซล บัฟฟาลิโน” มาเฟียระดับบนสุดของแก๊งอิตาลี ซึ่งหนังให้เวลาการปูเรื่องแฟรงค์ตั้งแต่เป็นอดีตทหารผ่านศึกแล้วได้มาบังเอิญเจอกับรัสเซล ก่อนที่จะได้รับงานเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงฆ่าคน ที่หนังในหนังใช้คำว่า “ช่างทาสีบ้าน” (เพราะยิงคนแล้วเลือดกระเซ็นติดผนัง ต้องทาสีกลบทับอีกที) และกลายเป็นมือหนึ่งของแก๊งที่ถูกไว้ใจมอบหมายให้ไปช่วยเหลือ “จิมมี่ ฮอฟฟา” ประธานสหภาพแรงงานอเมริกาที่กำลังมีปัญหาลึกๆ อยู่ในขณะนั้น และก็กลายเป็นว่าแฟรงค์ได้กลายมาเป็นทั้งเพื่อนสนิท และก็คนในสายสหภาพแรงงานของจิมมี่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จิมมี่จะถูกสอยเข้าคุกจากปัญหาส่วนตัวที่เกี่ยวโยงไปยังการเมืองระดับชาติ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มของชนวนเหตุที่ทำให้จิมมี่กลายเป็นคนหายสูบสูญจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดมาจากการให้สัมภาษณ์ของของแฟรงค์ ชีแรนในบ้านพักคนชราในตอนต้นเรื่องที่กลายมาเป็น หนังสือ I Heard You Paint Houses ผมได้ยินว่าคุณรับทาสีบ้าน จากประโยคสนทนาผ่านโทรศัพท์ของแฟรงค์กับจิมมี่ครั้งแรก หนังตัดสลับเรื่องเล่าของแฟรงค์ในปัจจุบันไปยังอดีต ผ่านการขับรถทางไกลตลอดเรื่องกับมาเฟียรุ่นพี่รัสเซล บัฟฟาลิโน ซึ่งในช่วงเวลานี้เป็นเส้นเรื่องหลักช่วงเวลากันก่อนที่จิมมี่ ฮอฟฟาจะหายตัวไป และหนังก็ใช้ช่วงเวลาเดินทางยาวไกลนี้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของแฟรงค์ซ้อนอยู่อีกชั้น เท่ากับหนังเรื่องนี้มี 3 ไทม์ไลน์หลักคือ

1.แฟรงค์ในปัจจุบันที่กำลังให้สัมภาษณ์กับชาร์ลส์ แบรนด์ (ช่วงวัยชรา)

2.แฟรงค์ที่เดินทางไปกับรัสเซล บัฟฟาลิโน (ช่วงสูงวัยของแฟรงค์)

3.อดีตจนถึงปัจจุบันแฟรงค์ (ช่วงหนุ่มใหญ่วัยกลางคน)

ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจให้ดีๆ ในระหว่างที่รับชม เพราะหนังตัดสลับไปมาโดย 3 ตัวละครหลักใช้นักแสดงเดิมเล่นเองทั้งหมด ผ่านเทคโนโลยีลดอายุนักแสดง ที่ว่ากันว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการภาพยนตร์ ทำให้สมจริงขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนตัวนักแสดงตามอายุ ดีกว่าการเมคอัพหน้าเพราะทำให้แสดงสีหน้าได้ตามจริง โดยเทคนิคนี้ใช้กล้องพิเศษหลายตัวจับภาพโดยที่ไม่มีเซ็นเซอร์อะไรติดที่ใบหน้าเลย (หาดูได้จากเบื้องหลังงานสร้างในเน็ตฟลิกซ์) ซึ่งตัวละครในเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงอายุผ่านริ้วรอยบนใบหน้าตลอดเวลาในเรื่อง ทำให้อาจจะสับสนหน่อยถ้าคนดูตามไม่ทันว่าตอนนี้เล่าในช่วงไหน ทำให้ต้องใช้สมาธิสูงในการรับชม

เทคโนโลยีการลดอายุใน The Irishman ที่สุดยอดมากๆ

และด้วยความยาวของเรื่องราว 3 ชั่วโมง 19 นาทีไม่รวมเครดิต ซึ่งเป็นความยาวที่เกินกว่าการดูหนังทั่วไปมาก ผู้กำกับใช้โอกาสพิเศษในการลงสตรีมมิ่ง Netflix ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวแบบตั้งใจเก็บทุกรายละเอียดแทบไม่มีการหั่นฉากทิ้งตามแบบหนังฉายโรงทั่วไป เอาแค่เรื่องราวของแฟรงค์ ชีแรนก่อนจะมาเจอกับจิมมี่ ฮอฟฟา ก็ปาเข้าไป 45 นาทีแล้ว ซึ่งถ้าถามว่ายาวเกินไหม ก็ต้องตอบว่ายาวมาก แต่ก็ไม่ได้ยาวเกินแบบไม่จำเป็น เพราะผู้กำกับตั้งใจใส่เรื่องราวมีมิติในรายละเอียดสำคัญยิบๆ ทุกช่วง แต่ว่าหนังไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อเมริกาและสงครามในช่วงนั้นแทรกเข้ามาหลายอย่าง ถ้าไม่ใช่คนสนใจหนังประวัติศาสตร์อเมริกาจะดูแล้วเกิดคำถามงงๆ เป็นระยะตลอดเรื่องได้ เพราะหนังเอาตัวแฟรงค์เข้าไปเกี่ยวกับเรื่องราวพวกนี้โดยไม่ได้อธิบายละเอียดว่าเหตุการณ์นั้นคืออะไรแบบชัดเจน มีแบ็คกราวด์ที่มาอย่างไร หนังเล่าด้วยข้อมูลจริงและก็สร้างจากเรื่องจริงเป็นหลัก แต่ไม่ใช่การเล่าแบบในหนังฟอเรสกั๊มพ์ที่คนดูทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายๆ ทันที และก็ไม่ได้เล่าเรื่องสนุกหวือหวาอะไร อารมณ์ในเรื่องออกแนวสมจริงเรียบๆ ของแฟรงค์ ที่ก็ไม่ค่อยแสดงอารมณ์อะไรออกมามาก ในแบบฉบับมาเฟียอิตาลีที่พูดน้อยเจอหน้ายิงเลยแบบดิบๆ ซึ่งหนังมาในแนวทางสมจริง ไม่มีการมาพูดเจรจาต่อรองอะไรเวลายิงกันทั้งสิ้น ดังนั้นเราจะได้เห็นฉากแฟรงค์เก็บงานทุกงานในแบบไม่ต้องมีบทพูด หรือมาคร่ำครวญหลังยิงอะไรทั้งสิ้น แม้แต่กับจิมมี่ ฮอฟฟา เพื่อนสนิทของเขาที่ตัวเองสารภาพว่าเป็นคนยิงก็ตามที เรียกว่าหนังนำเสนออารมณ์ของการเป็นมือปืนมาเฟียอิตาลีจริงๆ ที่ยิงคนเป็นว่าเล่นตามหน้าที่เพื่อเป็นการตอบและมีเกียรติในแก๊งโดยไม่ได้มีเงินมาเกี่ยวข้อง

แม้ว่าหนังจะนำเสนอฉากอาชญากรรมด้วยอารมณ์เรียบๆ แต่หนังก็ไม่ได้จืดชืดไร้อารมณ์ซะทีเดียว หนังเน้นไปที่เรื่องราวมิตรภาพระหว่างแฟรงค์กับจิมมี่ผ่านเกมการเมืองในสหภาพแรงงานที่จิมมี่ปั้นแฟรงค์ขึ้นมาช่วยตัวเขาเองกับงานด้านนี้  ซึ่งต่างจากความผูกพันที่รัสเซลมีให้ผ่านการปั้นแฟรงค์ขึ้นมาเป็นมือปืนประจำตัวที่รับงานไหนไม่มีพลาด ก่อนก้าวขึ้นมาถึงจุดสุดยอดด้วยการได้แหวน 1 ใน 3 วง ซึ่งแฟรงค์เป็นคนไอริชเพียงคนเดียวที่ถูกยอมรับให้ขึ้นมาถึงระดับนี้ (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของการแบ่งชนชั้นของเชื้อสายไอริชกับมาเฟียอิตาลีได้ที่ท้ายบทความ) ซึ่งมิตรภาพที่ทั้งสองคนมีผ่านแฟรงค์ที่เป็นตัวกลางของเรื่องราวสองฝั่ง โดยจุดเริ่มมาจากกองทุนเงินเกษียณของสหภาพแรงงานที่จิมมี่ดูแลอยู่ถึง 8 พันล้านเหรียญ เป็นเหมือนแหล่งเงินสีเทาให้มาเฟียหยิบยืมไปใช้จ่ายสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขหรือดอกเบี้ยเยอะแบบธนาคาร

แหวน Irishman
แหวนผู้นำสูงสุดใน The Irishman

หนังลากขุดไส้การเมืองอเมริกาตั้งแต่สหภาพแรงงานจากฐานล่างท้องถิ่นขึ้นมาถึงข้างบนระดับประเทศ เชื่อมโยงไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่พ้นต้องพึ่งแหล่งเงินสกปรกเหล่านี้เช่นกัน อันเป็นเรื่องจริงในอดีตที่คงปฏิเสธไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะหนังเชื่อมโยงเรื่องราวการตอบแทนบุญของประธานาธิบดีกันให้เห็นชัดๆ ตามประวัติศาสตร์อย่างสงครามคิวบาว่าทำไมสหรัฐต้องหาทางโค่นล้มผู้นำอย่าง “ฟิเดล กัสโตร” ให้จงได้ รวมไปถึงการตั้งหน่วยเฉพาะกิจหาทางเล่นงานนายทุนที่สนับสนุนคู่แข่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างนิกสัน ซึ่งมีจิมมี่ ฮอฟฟาเป็นผู้ให้การช่วยเหลือโดยตรง

หนังมีพาร์ทของเรื่องราวแฟรงค์ก่อนฆ่าจิมมี่ ฮอฟฟาเป็นเส้นหลักที่เล่าแบบเรื่อยๆ ค่อยๆ กดดันมากขึ้นตามลำดับ ทำให้เห็นสาเหตุว่าทำไมคนระดับจิมมี่ ฮอฟฟาที่ว่ากันว่าในยุคนั้นมีอำนาจและความนิยมของผู้คนรองจากประธานาธิบดีสหรัฐถึงโดนสั่งเก็บได้ ซึ่งความกดดันที่ว่านั้นก็มาจากมิตรภาพที่ทั้ง 3 คนมีให้กัน และก็พยายามอย่างที่สุดที่จะช่วยจิมมี่มาตลอด จนถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้ว จากความหลงไหลในอำนาจของจิมมี่เองที่ล้ำเส้นเบื้องบนที่แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐยังไม่รอด และก็กลายมาเป็นคดีปริศนาหาผู้บงการตัวจริงไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน

The Irishman
The Irishman

แม้หนังจะมีเรื่องราวมาเฟียการเมืองเข้มข้น แต่ก็ไม่ลืมที่จะเล่าเรื่องราวความเป็นมนุษย์ของแฟรงค์ ในมุมที่พยายามอย่างหนักตลอดชีวิตให้ลูกสาวทั้ง 3 คนยอมรับ แม้จะประสบความสำเร็จในแก๊งหาเงินมายกระดับฐานะให้ครอบครัวได้ แต่เขาก็ไม่เคยชนะใจหรือได้รับการยอมรับจากลูกสาวตลอดชีวิตเลย ต่างกับจิมมี่ที่ลูกสาวของแฟรงค์ยอมรับนับถือชื่นชมมากกว่าผู้เป็นพ่อแท้ๆ ซะอีก หนังมีแง่มุมตรงนี้มาเป็นระยะๆ ตามเวลาการเติบโตของลูกสาวแฟรงค์ในเรื่อง ก่อนที่จะทิ้งตูมสุดท้ายให้น้ำหนักเต็มที่หลังเรื่องราว 3 ไทม์ไลน์รวมกันในยุคปัจจุบัน ที่แฟรงค์กลายเป็นคนแก่ในบ้านพักคนชราที่ไร้เงาลูกหลานมาเยี่ยม ซึ่งก็กลายเป็นจุดจบบทสรุปของเรื่องราวที่แฟรงค์ยอมให้สัมภาษณ์เปิดเผยเรื่องราวในปี 2003 ก่อนตายในปีเดียวกัน และหนังสือตีพิมพ์ในปี 2004 ก่อนถูกดัดแปลงนำมาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ในที่สุด

The Irishman คนใหญ่ไอริช ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วให้อารมณ์สนุกตื่นเต้นอะไรนัก หนังมาในแนวเรียลสตอรี่จริงจังทั้งอารมณ์และเรื่องราวประวัติศาสตร์สกปรกของอเมริกา ซึ่งไม่ได้เหมาะกับผู้ชมแมสวงกว้างสักเท่าไหร่ ยิ่งคนไทยด้วยแล้วอาจจะไกลตัวเข้าไปอีก แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียดแล้ว นี่เป็นหนังที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแน่นอนถึงความกล้าที่ทำออกมา ทั้งการตีแผ่ความจริง เทคโนโลยีลดอายุสุดล้ำในเรื่อง การเล่าเรื่องยาวกว่าที่หนังในโรงภาพยนตร์จะทำได้ง่ายๆ รวมถึงทุนสร้างอลังการที่นายทุนฮอลลีวู๊ดไม่กล้าให้เขาทำหนังเรื่องนี้ ถ้าพูดให้เจาะจงเลยคือแนวมาเฟียนี้ที่ออกจะตกยุคในปัจจุบันที่เฟื่องฟูไปกับหนัง Super Hero จนเป็นประเด็นดราม่าในเวลาต่อมา ซึ่งหลายๆ อย่างที่ผู้กำกับมาร์ติน สกอร์เซซี่ ทำไว้ในเรื่องนี้คือสิ่งที่ท้าทายวงการภาพยนตร์ในแบบเดิมๆ และเป็นนิมิตหมายใหม่ก้าวต่อไปของวงการหนังสตรีมมิ่งอย่าง Netflix ที่เราคงต้องติดตามกันต่อในเวทีออสการ์ว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลสูงสุดมาได้สมกับที่ตั้งใจไว้หรือไม่ครับ

ปล.เสียงพากย์ไทยดี แต่มีพากย์ไม่ตรงความหมายหลายจุด รวมถึงซับไตเติ้ลผิดด้วยเช่นกัน บางทีดูแล้วอาจจะงงได้ อาจจะต้องพึ่งการเปิดซับ ENG เช็คในบางจุด

เกร็ดมาเฟียอิตาลีจากหนัง Goodfellas ที่ช่วยอธิบายสังคมมาเฟียในไอริชแมนได้

  1. ชื่อมาเฟียอิตาลีที่ซ้ำกันจนเป็นมุกตลกเสียดสีในไอริชแมน (โทนี่ไหน?) มาจากความเชื่อค่านิยมของพวกนี้ที่นิยมตั้งชื่อลูกซ้ำตามชื่อโหลเพื่อหวังให้สืบทอดกันต่อไปเรื่อยๆ แม้แต่ภรรยาของมาเฟียพวกนี้ก็ยังมีชื่อโหลที่ซ้ำเช่นกัน
  2. สังคมมาเฟียอิตาลีเน้นความสัมพันธ์วงแคบกับเพื่อนฝูงในแก๊งล้วนๆ ไม่มีคนนอกมาปะปนเลยเพื่อความปลอดภัยสูงสุด นิยมไปไหนมาไหนกับคนที่ไว้ใจกันเองเท่านั้น
  3. สายเลือดไอริชโดยปกติจะไม่สามารถขึ้นมาเป็นระดับผู้นำได้เลย เพราะมาเฟียอิตาลีมีกฎให้เฉพาะเชื้อสายอิตาลี 100% เท่านั้นเพื่อให้สามารถสืบสาวตามรอยกลับไปยังบ้านเกิดเวลามีปัญหาได้

 

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!