playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว The Queen’s Gambit สนุก กดดัน ลุ้นระทึกไปกับเกมหมากรุก พร้อมความงามของ อันยา เทย์เลอร์ จอย (ไม่มีสปอยล์)

The Queen's Gambit

สรุป

นี่เป็นลิมิเต็ดซีรีส์เกี่ยวกับกีฬาหมากรุกที่สนุกมาก และสำหรับแฟนๆ ที่ต้องการมาดูนางเอก อันยา เทย์เลอร์ จอย นี่ก็อิ่มจนจุกแน่นอนเพราะบทเป็นของเธอทุกฉากตลอดเวลา ไม่ได้เป็นซีรีส์ที่แตกย่อยมีเรื่องของตัวละครอื่นเลย เรียกว่าแค่มาดูน้องคนเดียวก็คุ้มค่ามากแล้วครับ แถมตัวเรื่องยังทำออกมาโชว์เหนือจากความสามารถของนางเอกที่เก่งแบบฟ้าประทาน แต่ก็ไม่ได้จะชนะเสมอไป ทำให้เราได้ลุ้นกันตลอดทุกเกมสำคัญที่เกิดขึ้นในเรื่อง ประหนึ่งเป็นผู้ชมที่ยืนดูข้างโต๊ะเลยทีเดียวครับ

Overall
8.5/10
8.5/10
Sending
User Review
5 (2 votes)

Pros

  • ใบหน้าสวยๆ ของนางเอก อันยา เทย์เลอร์ จอย ที่สะกดคนดูได้ทุกฉาก
  • ช่วงการเล่นหมากรุกทั้งในจินตนาการที่น่าทึ่งกับการแข่งที่โชว์เหนือของนางเอก
  • รายละเอียดเบื้องหลังของนักแข่งหมากรุกมืออาชีพ
  • ฉากย้อนยุคสมจริงมากจนถึงในรัสเซีย
  • ปมปัญหาชีวิตติดเหล้าติดยาและการเป็นเด็กกำพร้าของนางเอก
  • นางเอกเป็นพวก one night stand
  • มิตรภาพในวงการหมากรุกที่มากกว่าแค่คู่แข่งขัน
  • ประเด็นเฟมินิสต์ในยุคนั้นกับวงการหมากรุก

Cons

  • ปมดราม่าติดเหล้าติดยาทำพังใช้วนซ้ำหลายครั้งจนแอบน่าเบื่อช่วงหลัง
  • นางเอกติดยาหนักแต่ไม่ค่อยเห็นผลกระทบเท่ากับที่นางเอกติดเหล้าจนดูไม่ค่อยสมจริงเท่าไหร่
  • ปมอุบัติเหตุวัยเด็กถูกใบ้ออกมาให้เดาได้ง่ายตั้งแต่แรก จนไม่ค่อยรู้สึกถึงความสำคัญที่ต้องปิดไว้
  • อายุของนักแสดงจริงที่มากกว่าในบทเกือบ 10 ปี ทำให้ดูไม่ค่อยเนียนในช่วงแรก

 

ADBRO

ถ้าชัยชนะต้องแลกมาด้วยทุกสิ่ง แล้วชีวิตเราจะเหลืออะไร “เกมกระดานแห่งชีวิต The Queen’s Gambit” มินิซีรีส์ Netflix เรื่องราวความสำเร็จของเซียนหมากรุกสาวจากบ้านเด็กกำพร้ามาสู่เวทีหมากรุกระดับโลก แต่ความเป็นอัจฉริยะนั้นใช่ว่าได้มาฟรีๆ

 The Queen's Gambit (2020) on IMDb

ตัวอย่าง เกมกระดานแห่งชีวิต The Queen’s Gambit

ซีรีส์ทำมาจากนิยายเก่าแก่ของนักเขียนวอลเตอร์ เทวิส ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1983 และมีความพยายามนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง จนเกือบสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างโดยมี ฮีธ เลดเจอร์ ร่วมงานสร้างด้วยกับ เอลเลน เพจ ที่ถูกวางตัวเป็นนางเอกของเรื่อง แต่แล้วโปรเจ็กต์ก็ถูกระงับไปหลังการเสียชีวิตของ ฮีธ เลดเจอร์ จนโครงการถูกย้ายมาอยู่ในมือของ Netflix และก็ได้ Scott Frank ทำหน้าที่เป็นนักเขียน ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง ซีรีส์ 7 ตอนจบ โดยมี อันยา เทย์เลอร์ จอย นักแสดงวัยรุ่นดาวรุ่งชื่อดังมาเล่นเป็นนางเอก

The Queen’s Gambit ต้นฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1983

ซีรีส์เดินเรื่องอยู่ในช่วงยุค 1960 ที่รัสเซียยังเป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัว และก็เป็นคู่แข่งในหลายๆ ด้านกับสหรัฐอเมริกาที่กังวลกับการแพร่ขยายตัวของคอมมิวนิวนิสต์ในเวลานั้นอยู่ด้วย ทำให้ไม่ว่าอะไรก็ตามทางอเมริกาต้องพยายามเหนือกว่าให้ได้ ไม่เว้นแม้แต่หมากรุกสากล ที่ทางรัสเซียเหนือชั้นกว่ามาก ถึงขั้นที่ว่าครองแชมป์โลกอันดับต้นๆ หมด ทางอเมริกาไม่เคยมีใครสู้ได้มาก่อนเลย ซึ่งเรื่องราวในเรื่องนี้นางเอกคือ เด็กกำพร้าที่มีพรสวรรค์ในการเล่นหมากรุก และพยายามไต่เต้าขึ้นไปแข่งกับแชมป์โลกของรัสเซียให้ได้ด้วยตัวเอง โดยมีอุปสรรคใหญ่คือ สภาพจิตใจในวัยเด็กที่ต้องเจอเรื่องสะเทือนใจที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับแม่ แต่เธอกลับรอดมาแบบปาฏิหาริย์ และถูกส่งไปอยู่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่เธอได้เจอกับภารโรงที่ชื่นชอบหมากรุกในชั้นใต้ดิน และสอนเธอหลายอย่างจนกลายเป็นเซียนหมากรุกในวัยเด็กเพียง 9 ขวบ แต่เบื้องหลังความเก่งของเธอก็ต้องพึ่งยาระงับประสาทที่กินจนเสพติดพร้อมเหล้า ที่คอยบั่นทอนชีวิตการเป็นนักหมากรุกระดับโลกของเธอทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

ที่ผ่านมามีหนังหมากรุกทำออกมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งในแง่ภาพยนตร์ก็ดูกระชับลงตัวดี แต่เรื่องนี้มาเป็นซีรีส์แบบ 7 ตอนจบ ซึ่งมีเรื่องราวมากกว่าการแข่งหมากรุกหลายอย่างผสมลงไป โดยตัวนางเอกของเรื่อง เบธ ฮาร์มอน เป็นตัวละครที่มีปมวัยเด็กกำพร้าแม่จากอุบัติเหตุทางรถยนตร์ชนกับรถบรรทุก ซึ่งเรื่องจะใบ้ไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่ใช่อุบัติเหตุปกติธรรมดา และตัวนางเอกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่เล่าให้ใครฟัง จนออกแนวเก็บกดตั้งแต่เด็ก ซึ่งจริงๆ ส่วนนี้เดาไม่ยากเพราะจุดใบ้ตอนแรกค่อนข้างเฉลยไปเยอะแล้วว่าเพราะอะไร แต่เรื่องก็ใช้ส่วนนี้แหละค่อยๆ แฟลชแบ็คกลับมาทีละนิดๆ ในทุกตอน เป็นชีวิตของเบธตอนที่ยังอยู่กับแม่ แต่ครอบครัวมีปัญหากับพ่อจนต้องแยกทางกัน จนสุดท้ายต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าไปอยู่สถานสงเคราะห์รอการอุปการะ ซึ่งที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ทั้งความอัจฉริยะที่ถูกค้นพบและสั่งสอนชี้นำจากภารโรงที่เป็นทั้งอาจารย์และคู่แข่งคนแรกของเธอ กับอีกด้านคือจุดเริ่มต้นของการติดยาระงับประสาท ซึ่งเธอได้รับจากการแจกให้เด็กๆ ทุกคนได้กินในสมัยนั้น ก่อนถูกห้ามให้เด็กในเวลาต่อมา และก็กลายเป็นว่าเธอต้องหาทุกช่องทางให้ได้มา แม้ว่าจะต้องทำผิดก็ตาม

ฉากดื่มเหล้ามั่วยาในเรื่องเยอะมาจากจนติดเรต 18+ แต่ฉาก SEX ในเรื่องเบาบาง (อันยาไม่ได้เล่นแบบเปลืองตัว)

ตัวเรื่องเน้นหนักไปที่ชีวิตของเบธในด้านที่แม้มีพรสวรรค์มาก แต่กลับติดยาเพื่อช่วยให้เธอสงบจิตใจได้ และต่อมาก็เพิ่มเหล้าเข้าไปด้วย จนกลายเป็นเลิกทั้งสองอย่างไม่ได้ ซึ่งเรื่องราวดราม่าในส่วนนี้จะเยอะมาก แทบจะเป็นเมนหลักของเรื่องมากกว่าการแข่งหมากรุกด้วยซ้ำ โดยทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิตที่เข้าใกล้ความสำเร็จ กลับต้องกลายมาเละเทะเพราะเรื่องนี้ทุกที จนดูน่าเบื่อบางช่วงเหมือนกันที่เรื่องปูให้ลุ้นๆ กับการแข่งหมากรุก แต่กลับจบด้วยปัญหาติดเหล้าติดยาทำพังอยู่เรื่อย จากปมปัญหานี้เองที่ทำให้ตัวเรื่องลากยาวเป็นซีรีส์ได้ แต่ก็ทำให้การเดินเรื่องดูซ้ำน่าเบื่อในช่วงหลังๆ และรู้สึกเฟลเพราะกำลังลุ้นๆ จะได้เห็นฉากการแข่งหมากรุกที่สนุก แต่กลับถูกตัดจบง่ายๆ ด้วยเรื่องนี้แทน

ดราม่าอีกอย่างของเรื่องคือการที่เธอเป็นเด็กกำพร้า แม้จะถูกอุปการะไปในช่วงวัยเด็ก แต่กลับเจอครอบครัวที่มีปัญหาด้านการเงินในเวลาต่อมา และพ่อเลี้ยงก็ทิ้งเธอให้อยู่กับแม่ที่ไม่มีอาชีพอะไรติดตัว ทำให้เธอกลายเป็นคนหาเลี้ยงแม่แทน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิต ก่อนจะพบกับเรื่องเศร้าในเวลาต่อมา และก็ทำให้เธอต้องพึ่งพาตัวเองหาเงินเอาชีวิตรอดจากการแข่งหมากรุกได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังไม่วายมาเจอปัญหากับพ่อเลี้ยงอีกครั้ง และการที่ต้องอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ก็ทำให้เธอเหงาจนต้องเปิดรับเพื่อนชายนักแข่งหมากรุกด้วยกันเข้ามาในชีวิต กลายเป็นชีวิตแบบ one night stand สนุกแบบชั่วคราวเรื่อยๆ จนดูเป็นสาวกร้านโลกในตอนหลัง แม้จะมีคนที่ชอบเก็บไว้ในใจตลอดเวลาก็ตาม

แชมป์โลกหมากรุกของรัสเซียที่เป็นคู่แข่งเป้าหมายสุงสุดของนางเอก ในเรื่องต้องเจอกันหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ตอนจบ

แม้ปมปัญหาดราม่าชีวิตนางเอกจะเยอะหลายเรื่อง แต่พอถึงฉากเกี่ยวกับหมากรุกทั้งในจินตนาการและการเล่นจริง ตัวเรื่องทำออกมาได้ยอดเยี่ยมมาก ทั้งกดดัน เร้าอารมณ์ สนุก ไปกับสีหน้าท่าทางของนางเอกที่สนุกกับการขยี้คู่แข่งลงอย่างราบคาบ โดยมีประเด็นเฟมินิสต์ของวงการหมากรุกที่ให้ความสำคัญแต่ผู้ชายมากกว่า จนดูเหมือนนางเอกเป็นผู้หญิงที่ชนะผู้ชายได้และก็โด่งดังจากเรื่องนี้มากกว่าฝีมือจริงๆ ผสมกับบุคลิกดูหยิ่งทะนงอยู่ตลอดเวลาของนางเอกว่าตัวเองเก่งที่สุด เป็นคนที่คิดแต่ชนะเพียงอย่างเดียวไม่แม้แต่ยอมเสมอกับใคร แต่ในเรื่องก็มีความพ่ายแพ้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งแทบจะตลอดเวลาในการแข่งกล้องจะโคลสอัพไปที่หน้าตาของตัวนักแสดง อันยา เทย์เลอร์ จอย ใบหน้ากับตาโตๆ ของเธอไม่ว่าอารมณ์ไหนก็สวยเด่นสะกดผู้ชมได้ตลอดเวลา รวมถึงนักแสดงตอนเด็กเองก็เล่นได้ยอดเยี่ยม ทั้งหน้าตา ท่าทาง ประสานกับนางเอกตอนโตเหมือนเป็นคนเดียวกันได้เลย แต่ช่วงเวลาที่กระโดดจากตอนเด็กไปตอนโตอาจจะแปลกๆ สักหน่อยเพราะตัวเรื่องเล่นข้ามไปหลายปีทันทีหลังจบตอนแรก และตัวอันยาเองก็อายุ 24 ปีแล้ว แต่ต้องมาเล่นแบบปรับทรงผมท่าทางให้เหมือนเด็กวัยรุ่นต้นๆ ก่อนจะค่อยๆ โตตามช่วงเวลา จนเหมาะสมกับอายุนักแสดงจริงในภายหลัง

ฉากการเล่นหมากรุกในจินตนาการของนางเอกจะเป็นกระดานกลับหัวบนเพดานห้อง ซึ่งทำออกมาได้น่าทึ่งมาก แม้จะไม่ได้เป็นฉากที่มีเรื่องการแพ้ชนะ แต่ทุกครั้งที่นางเอกจินตนาการถึงเกมกระดานในหัว ซึ่งคู่ไปกับการใช้ยาระงับประสาทร่วมด้วย ฉากพวกนี้ดูทรงพลังจนเป็นเหมือนฉากโชว์ความสามารถเหนือมนุษย์ของนางเอกไปเลย

ฉากจินตนาการเล่นหมากรุกกลับหัวบนเพดานที่ดูน่าทึ่งทุกครั้ง

ส่วนในเกมการเล่นจริง ตัวเรื่องจะค่อยๆ ปูศัพท์ความรู้ในการเล่นหมากรุกแข่งขันเข้ามาให้ผู้ชมทราบ ตั้งแต่นาฬิกาจับเวลา ช่องแต่ละช่องมีชื่อ กฎการเบรคเกมไว้แข่งต่อวันอื่น หรือการยื่นขอเสมอกันเพื่ออะไร เทคนิคการเดินหมากต่างๆ อย่าง The Queen’s Gambit ชื่อเรื่องก็เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งตัวเรื่องทำออกมาได้ดี ใช้ทุกอย่างที่มีในเกมจริงๆ มาเป็นฉากสนุกๆ ของเรื่อง รวมถึงเบื้องหลังการเป็นนักแข่งอาชีพต้องมีความรู้อะไรบ้าง อย่างการทบทวนกระดานของตัวเองที่ชนะไปเพื่อหาช่องโหว่ การอ่านหนังสือวิเคราะห์หมากต่างๆ ประวัติแชมป์หมากรุกดังๆ ระดับแกรนมาสเตอร์ หรือพวกนิตยสารวงการหมากรุกต่างๆ ซึ่งตัวเรื่องสอดแทรกรายละเอียดของอาชีพนักหมากรุกไว้ครบถ้วน

ส่วนการแข่งของนางเอกนอกจากอารมณ์ลุ้นกดดันตามเกมปกติ ยังมีการแข่งแบบดวลหลายกระดานพร้อมกัน อย่างตอนแรกที่นางเอกวัย 9 ขวบเจอ 1 ต่อ 10 หรือการแข่งเดินหมากรุกไวที่ต่างออกไปจากการแข่งปกติที่มีเวลาให้คิดเยอะ แถมยังมีโชว์เหนือแข่งหลายกระดานพร้อมกันอีก จนถึงฉากสุดท้ายของเรื่องที่ถ่ายทำในรัสเซียแบบย้อนยุคไปช่วงปีนั้นจริงๆ ซึ่งการแข่งขันในยุคนั้นมีคนติดตามผ่านวิทยุเป็นหลัก และก็เหมือนเป็นเดิมพันหน้าตาของประเทศอเมริกากับรัสเซีย ซึ่งตัวเรื่องทำฉากต่างๆ ออกมาได้สมจริงมากกับบรรยากาศการแข่งที่ยิ่งใหญ่ต่างจากการแข่งในอเมริกามาก (คนรัสเซียบ้าหมากรุกมากที่สุดในโลก) และยังทำให้เราลุ้นสนุกไปกับเกมสุดท้ายที่สูสีคู่คี่กันมากๆ โดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวนิดๆ พอให้เข้าใจได้ว่าเกมนี้สำคัญต่อทั้งสองประเทศในแบบไหนในยุคสมัยนั้น

นี่เป็นลิมิเต็ดซีรีส์เกี่ยวกับกีฬาหมากรุกที่สนุกมาก และสำหรับแฟนๆ ที่ต้องการมาดูนางเอก อันยา เทย์เลอร์ จอย นี่ก็อิ่มจนจุกแน่นอนเพราะบทเป็นของเธอทุกฉากตลอดเวลา ไม่ได้เป็นซีรีส์ที่แตกย่อยมีเรื่องของตัวละครอื่นเลย เรียกว่าแค่มาดูน้องคนเดียวก็คุ้มค่ามากแล้วครับ แถมตัวเรื่องยังทำออกมาโชว์เหนือจากความสามารถของนางเอกที่เก่งแบบฟ้าประทาน แต่ก็ไม่ได้จะชนะเสมอไป ทำให้เราได้ลุ้นกันตลอดทุกเกมสำคัญที่เกิดขึ้นในเรื่อง ประหนึ่งเป็นผู้ชมที่ยืนดูข้างโต๊ะเลยทีเดียวครับ

อ่านรีวิวหนัง Netflix ในเว็บไซต์เพิ่มเติมคลิกที่นี่

รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ