รีวิวหนังเกาหลี แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ (Unlocked) Netflix
Unlocked
Summary
หนังเกาหลีที่ดูแล้วสนุกลุ้นระทึกกับการกระทำจิตๆ ของคนร้ายที่กระทำกับเหยื่อผ่านการแฮ็กมือถือที่ตัวเอกทำตกไว้ โดยมีปมบาดแผลในจิตใจเป็นเหตุเป็นผลสะท้อนสังคมให้น่าเชื่อว่าคนร้ายโรคจิตแบบนี้มีได้จริงๆ แล้วยังช่วยทำให้ตระหนักถึงภัยร้ายของการเสพติดฝากชีวิตไว้กับมือถือด้วยเช่นกัน แต่ตัวเรื่องไม่ได้มีฉากฆาตกรรมให้เห็น แม้จะวางตัวเป็นแนวสืบสวนฆาตกรรมตั้งแต่แรกก็ตาม ซึ่งก็อาจจะทำให้ผู้ชมที่หวังพวกฉากโหดไล่ฆ่าต้องผิดหวังอยู่บ้าง รวมถึงพาร์ทสืบสวนของตำรวจที่ดูเว่อร์ๆ ไม่สมเหตุผลเท่าไหร่นัก
Overall
7/10User Review
( votes)Pros
- จากนิยายญี่ปุ่นมาเป็นหนังเกาหลี
- นำเสนอภัยร้ายของการเสพติดมือถือ
- ลุ้นระทึกได้ตลอดเรื่อง
- มีพากย์ไทย
Cons
- พาร์ทสืบสวนของตำรวจดูเกินจริง
- คนร้ายใช้นักแสดงบอยแบนด์หล่อใสเว่อร์เกินจริงไปหน่อย
แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ (Unlocked) หนังเกาหลี Netflix แนวสืบสวนฆาตกรรม เรื่องรสวของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งพลิกผัน หลังจากโทรศัพท์มือถือบังเอิญตกอยู่มือของบุคคลอันตรายที่ใช้มันติดตามเธอในทุกฝีก้าว
รีวิว แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ (Unlocked)
หนังเกาหลีจากนิยายของชาวญี่ปุ่น Akira Shiga ที่เป็นนักเขียนพล็อตเรื่องแนวภัยร้ายของเทคโนโลยีมาก่อน โดยเรื่องก่อนหน้านั้นก็ถูกทำเป็นหนัง Stolen Identity มี ด้วยกัน 2 ภาค เป็นเรื่องราวหญิงสาวที่ทำมือถือหาย แล้วก็เริ่มถูกคุกคามวุ่นวายจากข้อมูลส่วนตัวที่หลุดไป ก่อนจะมีศพปรากฎขึ้นบนภูเขาตามมาอีก ซึ่งพล็อตเรื่องก่อนนี้กับเรื่องนี้ก็แทบจะถอดแม่พิมพ์เดียวกันมาเลย แต่คราวนี้คือเกาหลีทำเท่านั้น ซึ่งชื่อเรื่องโครงเรื่องแม้จะทำให้คิดว่าเป็นแนวฆาตกรรมต่อเนื่อง แต่ตัวเรื่องจริงๆ กลับเน้นไปที่ปัญหาการเสพติดมือถือของผู้คนในยุคนี้ซะมากกว่า
การดำเนินเรื่องเน้นไปที่ปัญหาของตัวนางเอกที่ติดมือถือหนักทั้งวันทั้งคืน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะผู้คนปัจจุบันก็แทบจะเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ตัวเรื่องจึงนำเสนอความอันตรายของจุดนี้ให้ผู้ได้ตระหนัก ตั้งแต่ชื่อเรื่องต้นฉบับญี่ปุ่น スマホを落としただけなのに 囚われの殺人鬼 ที่แปลเป็นไทยยาวๆ ว่า “แค่ทำโทรศัพท์มือถือหาย ทำไมต้องกลายเป็นศพ” (ที่จริงญี่ปุ่นชอบตั้งชื่อนิยายยาวๆ แบบนี้อยู่แล้วด้วยครับ) ซึ่งก็คือการตั้งคำถามให้ผู้พบเห็นสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงกลายมาเป็นคดีฆาตกรรมได้ ซึ่งทั้งหมดในเรื่องคือการเล่าเรื่องราวผลร้ายของการฝากข้อมูลทั้งชีวิตไว้ในมือถือ ซึ่งถ้าตกไปอยู่ในมือคนร้ายอย่างในเรื่องก็คือหายนะทันที โดยตัวเรื่องพยายามแสดงให้เห็นถึงปมทางจิตของคนร้ายที่เลือกกระทำกับเหยื่อที่เขาเก็บมือถือได้ ไม่ใช่เป็นแนวฆาตกรรมตรงๆ แต่เป็นการใช้ข้อมูลของเหยื่อเพื่อสนองปมความเจ็บปวดในอดีตของตนไปสู่เหยื่อให้โดนแบบเดียวกัน ซึ่งก็ทำให้ตัวเรื่องเป็นแนวแฮ็กมือถือเพื่อทำลายชีวิตคนมากกว่า โดยมีแบ็คกราวด์แค่ว่าคนร้ายก่อคดีฆาตกรรมซ่อนศพไว้หลายศพมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งถ้าใครต้องการจะดูพวกฉากเชือดไล่ฆ่าอันนี้คือไม่มี แต่สิ่งที่ได้คือความระทึกน่ากลัวแบบแอบจิตของคนร้ายที่เฝ้ามองทำร้ายเหยื่อแบบจิตๆ มากกว่า
นอกจากนี้ตัวหนังยังพยายามเล่นกับปมการสืบสวนของตำรวจตัวเอกในเรื่อง ที่เปิดเรื่องมาพบศพบนภูเขาแล้วพบหลักฐานบางอย่างชี้ว่าคนร้ายน่าจะเป็นลูกชายเขาที่หนีออกจากบ้านหายตัวไป ซึ่งตัวเรื่องจะตัดสลับกับเรื่องที่นางเอกโดนคุกคาม ก่อนจะค่อยๆ โยงเข้ามาให้ทั้งสองคนนี้เจอกัน โดยมีปมปัญหาครอบครัวของตำรวจผู้เป็นพ่อผลักดันให้เกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นมา เป็นการเชื่อมโยงสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้จริง
แต่ในส่วนของการสืบสวนตำรวจนี้เองก็เป็นจุดอ่อนใหญ่ของเรื่องเช่นกัน เพราะด้วยความที่เรื่องผูกให้พ่อที่เป็นตำรวจพยายามทำทุกอย่างให้จับลูกชายให้ได้ โดยไม่แจ้งรายงานเรื่องนี้ให้กับทางสถานีทราบ ตัวเรื่องจึงดูไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าไหร่กับการทำงานของตำรวจในเรื่อง ทั้งๆ ที่เรื่องค่อนข้างใหญ่โตระดับนั้น
อีกส่วนที่อาจจะเป็นข้อตำหนิอยู่บ้างคือการเลือกใช้ดาราหน้าหล่อบอยแบนด์อย่าง อิม ซี-วัน หรือรู้จักกันในชื่อ ซีวัน เป็นนักร้องและนักแสดงชาวเกาหลีใต้ มาแสดงเป็นคนร้ายโรคจิตที่ดูแล้วหล่อใสโอบป้ามีอันจะกินเกินไปหน่อย ซึ่งก็เข้าใจได้แหละว่าเกาหลีชอบใช้นักแสดงหล่อๆ มารับบทตัวละครโรคจิต ในขณะที่นางเอกเล่นโดย ชอน อู ฮี ที่หน้าตาลุคดูบ้านๆ ธรรมดาเหมือนหญิงสาวออฟฟิสธรรมดาทั่วไป ที่บังเอิญมาซวยจากมือถือตก ทำให้ตรงนี้ดูน่าเชื่อถือกว่าตัวคนร้ายที่หล่อใสเว่อร์ขนาดนั้น (แบ็คกราวด์ตัวร้ายคือ คนไม่มีบัตรประชาชนด้วย ออกแนวคนเถื่อนนอกระบบ)
โดยรวมถือเป็นหนังเกาหลีที่ดูแล้วสนุกลุ้นระทึกกับการกระทำจิตๆ ของคนร้ายได้ดีทีเดียว แล้วยังช่วยทำให้ตระหนักถึงภัยร้ายของการเสพติดเทคโนโลยีได้ดีเช่นกันด้วยครับ