playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

จ่ายแพงกว่าทำไม? จะดีกว่าไหมถ้าเหมาเกมเล่นได้แบบ Netflix

นปัจจุบันเนี่ย การซื้อเกมเพื่อเป็นเจ้าของเกมๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแผ่น หรือซื้อในรูปแบบดิจิตอลตาม Launcher หรือ Platform ที่แตกต่างกันอย่างบน Steam หรือ Epic Games Store แต่ละค่ายเกมก็จะมีตัวลันเชอร์ที่ขายเกมต่างกันอีกอย่างของยูบิซอร์ฟก็ Uplay ล่าสุดนี้ Rock Star ก็ยังมีเป็นของตัวเองแล้ว เห็นได้ชัดว่าการแข่งขันมันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ายเกมไม่อยากจะตัดส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับนายหน้าเจ้าใหญ่อย่างสตีมหรือที่อื่นๆ ขายในที่ของตัวเอง กำไรก็เข้าหาตัวเองโดยตรง แต่มันก็ทำให้เกมเมอร์นักช็อปปวดหัว เพราะมันมีเยอะเสียเหลือเกิน ไอ้แพลตฟอร์มที่ซื้อเกมเนี่ย


การมาของคดีความที่ศาลฝรั่งเศส ตัดสินให้สตีมต้องอนุญาติให้ผู้ใช้งานขายเกมต่ออีกทอดได้ ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ  มันทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างมากมาย ลองคิดดูว่า ในปัจจุบัน การที่จะเป็นเจ้าของเกมๆ นึง อย่างเกม Gears 5 บน Xbox One เราสามารถซื้อเพื่อเป็นเจ้าของได้ในราคา 60 เหรียญ แต่มันมีอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าคุณสมัครสมาชิก Xbox Game Pass แค่ 10 เหรียญ ถูกกว่ากันหลายเท่า แถมได้เล่นเกมเหมือนกัน เพียงแค่ไม่ได้เป็นเจ้าของเกมๆ นั้น คำถามคือ “คุณต้องการเป็นเจ้าของเกมนั้น จริงๆ หรือ?” คุณจะหยิบ Gears 5 มาเล่นซ้ำ ได้ซักกี่ครั้งเชียว หรือเล่นมันได้นานเท่าไหร่ 1 สัปดาห์? 1 เดือน? หรือเป็นปี? จะดีกว่าไหมถ้าเราประหยัดเงินส่วนต่างระหว่างการเป็น“เจ้าของ”เกมนั้น กับการจ่ายเพื่อที่จะได้ “เล่น” เกมนั้นๆ แทน

มันก็มีบ้างที่ผู้เล่น “บางคน” ซื้อเกมๆ นั้น มาเล่นเกมเดียว หรือเล่นไม่กี่เกมไปนานๆ เลย เช่น Fallout4, Skyrim ที่แม้จะเล่นจบเนื้อเรื่อง ไล่เคลียร์เควสต์ เก็บอาชีฟเมนต์ ก็ยังสามารถลงม็อดต่างๆ ทำให้เล่นต่อได้นาน Replay Value มันสูง ซึ่งก็ต้องถามกลับอีกว่า มันจะมีซักกี่คน อย่างที่รู้ๆ กันว่าหลายๆ คนก็แทบไม่เล่นเกม เน้นดูคนอื่นเล่น สตรีมเมอร์ ยูทูปเบอร์สายเกมที่ผุดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ด คนที่เล่นเองจริงๆ ก็น้อยลงไปอีก แล้วมันจะคุ้มค่าจริงๆ เหรอที่ซื้อเกมเดียวมาเล่น

ล่าสุดที่เป็นประเด็น ทำให้แฟน CoD โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ นั่นก็คือ โหมดพิเศษของ CoD Modern Warfare จะมีให้เฉพาะเครื่อง PS4 เท่านั้น ทั้งๆ ที่แต่ละแพลตฟอร์มบน Xbox One,PC ขายพร้อมกัน ราคาเกมก็เท่ากัน จ่ายเท่ากัน แต่เล่นได้ไม่เท่ากันเนี่ยนะ? (มีข่าวลืออีกว่าโหมดพิเศษ จะดรอปไอเทมพิเศษในโหมดนั้นด้วย เล่นเครื่องอื่นนอกจาก PS4 อด!) ทำให้เราต้องมองย้อนกลับมาดูถึงความคุ้มค่าในตัวเกมนั้นๆ กับราคาที่เราปฏิเสธมันไม่ได้ว่า ก็มันแพงจริงๆ แล้วเรายังจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อเก็บแผ่นเกมแพงๆ อยู่อีกหรือเปล่า ซื้อ Day One จ่ายเต็มกับรอมันลดราคาแบบไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน ตอบแบบไม่คิดเลยว่า คนรอซื้อตอนลดราคาเยอะกว่าแน่ๆ

Netflix โมเดลเหมารวมบุฟเฟ่ต์สุดคุ้ม

ภาพประกอบจาก https://businesstech.co.za/news/mobile/294114/netflix-market-share/

ลองหันมามองทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนต์ ซีรีส์กันบ้าง อย่างที่รู้ๆ กันว่า Netflix คือระบบสมาชิกสตีมมิ่งอันดับ 1 ในโลกตอนนี้ จ่ายรายเดือนสูงสุดเพียง 420 บาท ดูได้ 4 เครื่อง หารกับเพื่อน 4 คนก็ตกคนละ 100 บาทนิดๆ หรือแพ็คเกจใหม่สมาชิก 1 อาทิตย์ในราคา 70 บาท เพื่อดูภาพยนต์ หรือซีรีส์ เรื่องใดก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน หรือว่า คุณยังเป็นคนที่สะสมแผ่น Blu-ray ราคาหลายร้อย (หรือหลายพัน) เพื่อมาเปิดดูหนังที่คุณชอบในห้องนั่งเล่นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์? ในยุคนี้กลุ่มคนแนวนี้คือส่วนน้อยแล้ว มักเป็นนักสะสมและเป็นกลุ่มที่เล่นเครื่องเสียงทำห้องโฮมเธียเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งใน Netflix ก็รองรับระบบเสียง 5.1 หรือแม้แต่ ATOMOS แบบแผ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งแผ่นต่างๆ ก็มีอายุการเก็บและต้องรักษาเก็บไว้อย่างดีด้วย ทำให้มีต้นทุนความเสี่ยงตรงนี้มากกว่าดิจิตอลมากนัก

ADBRO

การมาของ Apple Arcade

apple arcade
apple arcade จ่าย 99 บาทต่อเดือนเล่นได้ทุกหน้าจออุปกรณ์ของแอปเปิล

แล้วทำไม อุตสาหกรรมเกมจะทำแบบนั้นบ้างไม่ได้? ถ้าเราอยากเล่นเกม เราก็จ่ายเงินเพื่อสมัครรายเดือน เล่นเกมอะไรก็ได้ที่เราอยากเล่น แทนที่จะไปซื้อแผ่นแพงๆ เล่นได้ไม่กี่ทีก็ปล่อยให้แผ่นอยู่บนชั้นวางให้ฝุ่นเกาะเล่นๆ แต่ก็จะมีบางคนที่ชอบ สะสม เป็นคุณค่าทางจิตใจ อันนั้นก็ไม่ว่ากัน แล้วแต่บุคลไป ซึ่งตอนนี้ทาง Apple ก็ได้เปิดตัวบริการใหม่อย่าง Apple Arcade จ่ายค่าบริการขั้นต่ำเพียงเดือนละ 99 บาท แชร์กันใช้ได้ถึง 6 คน หารกันก็แค่คนละ 16.5 บาท ถูกมากๆ เล่นบน iPhone iPad และบนเครื่อง Mac ก็ได้ สามารถเล่นเกมอะไรก็ได้ในสโตร์ และในเกมก็ไม่มี Microtransaction อีกด้วย แม้ว่าปัจจุบันเกมจะยังไม่มาก เริ่มเปิดให้บริการ 100 เกมในตอนนี้ แต่ถ้าแอปเปิลทำเกมดีๆ หรือดึงเกมฟอร์มยักษ์มาให้บริการได้ ในราคาที่ถูกแสนถูก คนก็จะแห่มาใช้บริการมากขึ้นแน่นอน ซึ่งรูปแบบธุรกิจใหม่ของแอปเปิลนี้ทำให้กำไรต่ออุปกรณ์ของแอปเปิลเพิ่มขึ้นในระยะยาวด้วย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาคนเปลี่ยนมือถือช้าลง การมาของสตีมมิ่งทั้งระบบของแอปเปิลจะช่วยให้กำไรเพิ่มมากขึ้น แม้ยอดขายจะไม่หดตัวลงก็ตามที เป็นการแก้ปัญหาพร้อมกันไปในทีเดียว

ซึ่งตอนนี้ผู้ใช้ทุกคนที่มีอุปกรณ์ของ Apple ก็สามารถเข้าใช้งานทดลองได้ฟรี ซึ่งอุปกรณ์ของแอปเปิลก็กินตลาดไปเกือบครึ่งหนึ่งในโลกไปแล้ว ก็เหลือแค่ว่าจะได้รับความนิยมต่อไปแค่ไหน แต่จากการที่กมบน iPhone iPad ได้รับการยอมรับมากกว่าฝั่งแอนดรอยด์ทั้งผู้เล่นและผู้พัฒนา เพราะตัดปัญหาการปรับให้เข้ากับสเปคอุปกรณ์ที่รองรับ ทำให้คาดการณ์ได้ค่อนข้างแน่ว่าบริการใหม่ Apple Arcade จะมีอนาคตและฐานผู้ใช้ที่รองรับมากพอแน่นอน

แฟร์ทั้งผู้เล่นและผู้พัฒนาเกม

ถ้าเรามองในมุมผู้บริโภค นี่จะเป็นทางเลือกใหม่ในอนาคตที่คุ้มค่ามาก แต่กลับกันถ้ามองในมุมมองของผู้พัฒนา แม้เราจะจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมระดับ AAA เต็มจำนวน 60 เหรียญ มันก็ยังไม่คุ้มทุนค่าพัฒนาที่ได้ถ้าถัวเฉลี่ยกับยอดขาย หลายเกมในปัจจุบันเลยมีระบบ Microtransaction ซื้อของในเกมด้วยเงินจริง ทั้งๆ ที่มันเป็นเกม Single Player แต่ถ้าเกม Multiplayer เราคงเห็นจนชินตาแล้วล่ะ (กาชา, LootBoxes etc.) ทำให้หลายๆ คนรู้สึกยี้เอามากๆ เสียเงินซื้อเกมตั้งแพง ยังจะมาเสียเงินซื้อของในเกมอีก เนื้อหาส่วนเสริมอย่าง DLC นั่นนู่นนี่ แทนที่จะทำเข้ามาในเกมแล้วปล่อยขายพร้อมกัน ทางค่ายเกมก็ทำเหมือนกับตัดฟีเจอร์พวกนี้ออกไปในเกมเต็ม เพื่อแบ่งมาขายเป็นส่วนเสริมเพื่อหารายได้เข้ากระเป๋าอีกทาง เทียบกับเกมสมัยก่อนไม่ได้เลย แม้แต่ Nintendo เองก็ยังปรับตัวและทำ ล่าสุดนี้คือเกม Mario Kart Tour ที่ลงมือถือ เปิดให้เล่นฟรี แต่ถ้าอยากได้รถดีๆ แรงๆ ก็ต้องเติมเงินซื้อเอา ใช้หน่วยเงินในเกมซื้อได้ แต่คงต้องเสียเวลาเล่นเอาเป็นเอาตายเลยล่ะ

ถ้าหากว่าเกมเมอร์จ่ายเงินสมัครสมาชิกเพื่อเล่นเกม ทางผู้พัฒนาก็ได้เงินตามอัตราการเล่น ตามชั่วโมงการเล่น มันก็จะแฟร์กับทั้งสองฝ่าย และคงจะลดปัญหาในเรื่อง “เกมเถื่อน” ไปได้อีกมาก หลายสาเหตุที่ปัจจุบันยังคงมีคนโหลดบิท โหลดเกมเถื่อนมาเล่นแทนการซื้อ ก็เพราะ “ราคา” ของเกมที่มันแพงเสียเหลือเกิน ถ้าเกมดีๆ ดังๆ มันถูกลง คนก็จะหันมาสนใจและยอมเสียเงินกันมากขึ้น ล่าสุดที่โดนไป อย่างเกม Home Sweet Home EP.2 ก็ถูกปล่อยลงเว็บโหลดเถื่อนเรียบร้อย (ขนาดว่าเกมแค่ไม่กี่ร้อย)

มองมุมผู้จัดจำหน่ายและเจ้าของแพลตฟอร์มสตีมมิ่ง

ในมุมผู้จัดจำหน่ายเองก็คงไม่ได้ปฏิเสธโมเดลแบบนี้ เพราะการที่คอนเทนต์จะเข้ามาในระบบนี้ได้ก็ยังต้องมีคนกลางช่วยจัดการให้อยู่ ซึ่งโดยปกติก็คือการที่ผู้จัดจำหน่ายแบบเดิมติดต่อกับเจ้าของแพลตฟอร์ม แต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นดิจิตอลสตีมมิ่งเท่านั้นเอง อย่างที่รู้มาในไทยค่ายหนังต่างๆ มีข้อกำหนดซื้อหนังมาไม่ให้ลง Netflix ก็มี หรือไม่ทำแผ่น ลงแต่ Netflix เท่านั้น ซึ่งเป็นการดีลสัญญามีหลายรูปแบบ และมีกำหนดเวลาที่อยู่ในระบบไม่ได้อยู่ตลอดไป

สำหรับการผูกสมาชิกให้จ่ายรายอาทิตย์รายเดือนไว้ก่อน เจ้าของแพลตฟอร์มก็เหมือนได้เงินล่วงหน้าไว้หมุนเป็นเงินทุนสบายๆ ซึ่งคนเล่นอาจจะไม่มีเวลา แต่ก็ต้องจ่ายเผื่อไว้ก่อน พอมีเวลาเล่น (ซึ่งไม่รู้ว่าตอนไหน) ก็จะได้เล่นได้เลย โดยปกติโมเดลแบบนี้ถ้ามีจำนวนคอนเทนต์มากๆ ผู้ใช้เองมักมีปัญหาเสียเวลาวนอยู่หน้าเมนูเลือกคอนเทนต์ โดยที่อาจจะยังไม่ได้เล่นสักที เพราะมัวแต่เลือกที่ชอบกับลิสต์ไว้ พอคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาก็กลายเป็นสะสมดองไว้ไม่ต่างอะไรจากการดองเกมแบบที่ซื้อไว้ก่อนเล่นทีหลังนั่นแหละ

ซึ่งในมุมนี้เจ้าของแพลตฟอร์มรู้ดี ถึงพยายามเน้นจำนวนคอนเทนต์อัดเข้าไปเยอะๆ ซึ่งการที่ผู้ใช้เป็นสมาชิก แต่ใช้งานจริงน้อยกว่าค่าบริหารจัดการในระบบ นั่นเป็นการลดภาระบริหารจัดการ และกลายเป็นกำไรที่กลับมาอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง Netflix เองก็เติบโตขึ้นจนมีเงินทุนทำคอนเทนต์เอง จากแค่เจ้าของระบบ กลายเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เองด้วย และก็มีมูลค่าบริษัทสูงมากๆ ในเวลาไม่กี่ปี นั่นแสดงให้เห็นว่ารายได้จากโมเดลแบบนี้ประสบความสำเร็จ (ในตอนนี้) เราถึงเห็นการมาของสงครามสตีมมิ่งที่ Disney+ Apple Tv+ และอื่นๆ ตามกันมาป็นพรวน เพื่อแบ่งเค๊กก้อนนี้จาก Netflix ที่แทบครองตลาดอยู่เจ้าเดียวในระบบสมาชิกสตีมมิ่งตอนนี้

เพียงแต่ว่าโมเดลนี้จะกลายเป็นการกินรวบไม่เหลือที่ให้การแข่งขันมาก สุดท้ายก็ต้องมีเจ้าไหนที่กินรวบได้มากสุด และมีกำไรมากสุด ครองตลาดใหญ่ไป ซึ่งยังคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะที่แท้จริง

ตัดปัญหาการทำแผ่นเกมแบบเดิมๆ ที่แสนวุ่นวาย

ข้อดีอีกอย่างของระบบสมาชิกคือ อย่างน้อยผู้พัฒนาก็ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนกับการทำแผ่นเกมขาย เพราะจริงๆ แล้ว การลงทุน พัฒนาเกมสักเกมหนึ่งมันมีค่าใช้จ่ายเยอะเอามากๆ และบางอย่างมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แถมมันยังมีความเสี่ยงกับทางผู้พัฒนา ทางบริษัทที่ผลิต ผมจะยกเคสตัวอย่างของผู้พัฒนาเกมไทยอย่าง AethernoBlade II ที่ทางผู้พัฒนาต้องเจอกับปัญหาในการผลิตเกมแบบเดิมๆ นั่นก็คือ การขายแผ่น ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่เริ่ม ซึ่งผู้พัฒนาเกมก็ต้องดีลกับบริษัทผลิตแผ่นเกม ในประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะวางจำหน่าย เช่นใน USA ก็ต้องปั๊มแผ่นใน USA ในยุโรป ก็ต้องเป็นบริษัทยุโรป ปั๊มแผ่นขายในยุโรป ซึ่งบางแพลตฟอร์มอย่าง Nintendo Switch บริษัทผลิตกล่องกับแผ่นเกมก็ต้องแยกกันทำอีกต่างหาก ต้องดีลหามาประกอบกันให้วุ่น

ทีมพัฒนาสัญชาติไทย Corecell Technology

นอกจากนั้นยังมีปัญหาความไว้ในเนื้อเชื่อใจกันด้วย เพราะมันคือการติดต่อ ค้าขาย ทำธุรกิจกันข้ามประเทศ ที่ทางผู้พัฒนาเกมเล็กๆ ไม่ได้มีคนมีประสบการณ์ด้านนี้มาโดยเฉพาะ (แถมหาคนแบบนี้ไม่ได้ในไทยด้วย) รวมถึงความเสี่ยงในการจัดจำหน่าย จะขายได้ไหม ขายได้กี่แผ่น ขายที่ไหนบ้าง เสี่ยงอีกต่อก็คือเมื่อขายได้แล้ว ผู้พัฒนาจะเก็บเงินกับผู้จัดจำหน่ายได้ตามจำนวนที่ขายไปจริงๆ หรือเปล่า หรือมีการลักลอบผลิตเพิ่มจากที่ตกลงกันแบบนี้ก็มี ทำให้การกระทำทุกๆ อย่าง มันเสี่ยง และเพิ่มต้นทุนการผลิดขึ้นมาอย่างมาก ราคาเกมก็แพงขึ้น ถ้าหากว่าเปลี่ยนเป็นการขายแบบดิจิตอลในรูปแบบสมัครสมาชิกแทน สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงตรงนี้จากมุมนักพัฒนาเกมไปได้อย่างมาก เกมถูกลงอีกต่างหาก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของผู้พัฒนาเกมไทยได้ที่บทสัมภาษณ์นี้ครับ

สร้างโมเดลการเก็บเงินแบบใหม่ให้หลากหลายขึ้น

ดูฟรี แต่ดูทีหลังคนจ่ายตังค์นะ

ลองมาดูโมเดลการเก็บค่าบริการในวงการวีดีโอสตรีมมิ่งกันบ้าง แบบ Netflix คือต้องเสียรายเดือน ถ้าไม่จ่ายก็ดูไม่ได้เลย แต่สามารถทดลองใช้ฟรี 1 เดือน มาดูกันที่ WeTV ของ Tencent ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกม (ซื้อ Epic Games Store และให้เงินลงทุนในการดึงเกมต่างๆ มา Exclusive) ก็หันมาเอาทางด้านของบริการวีดีโอสตรีมมิ่งด้วย ซึ่ง WeTV ดูฟรี! แต่คนที่เสียรายเดือนจะได้ดูตอนใหม่ๆ ของซีรีส์ก่อนคนดูฟรี 1 สัปดาห์ เป็นทางเลือกที่ดีมากๆ สำหรับบางคนที่อาจจะมาดูทีหลัง หรือไม่มีเวลาดู ถ้าอดทนได้ก็ต้องรอไปสัปดาห์นึงแต่ดูฟรี ใครอดใจไม่ไหวก็สมัครสมาชิกกันไป

ถ้าเราลองคิดดูว่า โมเดลการเก็บค่าบริการแบบนี้กับวงการเกมบ้าง สมัครสมาชิกแทนการซื้อเกมแบบขายขาด ในราคาแพงๆ ทั้งดิจิตอลและแบบกล่อง มันคงดีไม่น้อย เช่น Steam ปล่อยให้เล่นเกมฟรี แต่เล่นได้ถึงตรงเควสนี้ Chapter นี้ ถ้าอยากเล่นต่อก็ สมัครรายเดือนเล่นไป หรือปล่อยเกมให้เล่นก่อนสำหรับผู้ที่สมัครสมาชิก ใครสายฟรีก็รอไปก่อน การทำให้ผู้เล่นมีทางเลือกทดลองเล่นเกมใหม่ๆ ถ้าเกมไหนดี ถูกจริตเรา เราก็ซื้อบริการเพื่อเลือกเล่นได้

ไม่ใช่แนวคิดนี้กับคอนโซลยังไม่มา แต่มันมาแล้ว!

Stadia บริการ Cloud Gaming ของ Google เสียรายเดือนเพียง 9.99 เหรียญ หรือประมาณ 300 บาท

อีกอย่างที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ การมาของวงการ Cloud Gaming ที่คุณไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอนโซล หรือ PC สเปคสูง แต่สามารถเล่นเกมได้ผ่านเซิฟเวอร์ของ Google โดยตรงอย่าง Stadia ที่แม้ว่าในช่วงแรกจะมีปัญหาในเรื่องความเสถียร แต่ปัจจุบันระบบ Internet ในโลกมันไปไวมากขึ้นทุกๆ ปี อีกไม่นาน Stadia ก็จะสามารถเล่นได้ทั่วโลก ซึ่งค่าบริการก็จะเป็นแบบรายเดือน มีเกมฟรีมาบางส่วนในแพ็คเกจ Stadia Pro เดือนละ 9.99 ดอลลาร์ ซึ่งจะได้สิทธิเล่นเกมฟรีของ Stadia กับความละเอียดสูงสุด 4K เปิดบริการเดือนพฤศจิกายน 2019 รายละเอียดเกมฟรียังไม่มีลงไว้ชัดเจนต้องรอดูกันต่อไป อ่านรายละเอียดของ Stadia เพิ่มเติมได้ที่นี่

มาเงียบๆ แต่ของดีเพียบนะครับ

Xbox Game Pass PC รีวิว

Xbox Game Pass อีกหนึ่งบุฟเฟ่ต์เกมแบบเหมาที่หลายๆ คนยังไม่มีโอกาสได้ทดลอง เนื่องจากยังคงจำกัดเฉพาะบางมุมของโลกเท่านั้น ผมเองปัจจุบันเป็นเมมเบอร์อยู่ ต้องบอกว่าสำหรับคนที่ชอบเล่นเกมจาก Microsoft นั้นค่อนข้างคุ้ม เพราะแค่ Gears of War ก็เล่นกันเพลินแล้ว จุดเด่นของ Microsoft คือเกมในค่ายที่เปิดให้เล่นตั้งแต่วันแรก อย่าง Gears of War 5 ก็ได้เล่นกันแบบจัดเต็ม

และระบบ Xbox Live ที่ต้องบอกว่าดีที่สุดในบรรดาระบบให้เล่นออนไลน์เลยก็ว่าได้ครับ ทั้งเรื่องความเสถียรและระบบสนับสนุนผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นคลับสำหรับหาเพื่อนเล่นเกมเดียวกัน หรือว่าจะเป็นระบบแชทกลุ่มที่ลื่นและแชทข้ามแพลตฟอร์มระหว่าง PC และมือถือได้ด้วยถ้ามือถือลง Xbox แอพไว้

ความเจ๋งของมันอีกอย่างคือ เกมบางเกมสามารถใช้เซฟร่วมกันข้ามระบบได้ อย่างเช่นเกม Blair Witch ที่ผมเริ่มเล่นบน PC แต่ด้วยเฟรมเรทที่สุดจะทน เลยลองมาดาวน์โหลดเล่นบนอีแก่ Xbox One รุ่นแรกและผมคิดไว้แล้วว่าสงสัยต้องเล่นใหม่ตั้งแต่ต้น แต่กลายเป็นว่าเซฟถูกดึงมาจาก PC และผมก็เล่นต่อได้เลยที่เฟรมเรทที่ลื่นกว่าเยอะ นี่แสดงให้เห็นว่าระบบของ Microsoft นั้นดีจริงๆ

และผมคิดว่า Microsoft จะนำ Xbox Game Pass ไปใช้กับโปรเจ็ค xCloud บริการสตรีมเกมที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนเปิดให้คนทั่วไปทดสอบใช้งาน ซึ่ง Microsoft เองมีระบบหลังบ้านอย่าง Azure รองรับอยู่แล้วด้วย ถือเป็นอีกขั้นของวงการเกมที่น่าติดตามในอีกปีสองปีข้างหน้าเลยทีเดียว

สิ่งหนึ่งที่คู่แข่งดูจะมีภาษีกว่าคือสามารถแชร์ให้กับเพื่อนหรือครอบครัวได้ง่าย ในขณะที่ Game Pass นั้นยังคงจำกัดแค่เจ้าของเครื่องเท่านั้น แม้ว่าจะสามารถใช้ทริคในการแชร์เกมกันด้วยการนำบัญชีหลักของเราไปล็อคอินเข้าเครื่องเกมที่อยากจะแชร์แล้วก็ดาวน์โหลดเกมมาลงและให้เพื่อนใช้บัญชีตัวเองเล่นได้ เพราะเกมจะแชร์กันภายในเครื่องได้แบบไม่จำกัดบัญชี แต่มันก็หมายความว่าคุณต้องทิ้งบัญชีคุณไว้ในเครื่องเพื่อนซึ่งมันไม่ค่อยจะเวิร์คเท่าไหร่ ดูจะวุ่นวายไปหน่อย

แต่ถึงอย่างไร Xbox Game Pass และ xCloud ถือเป็นบริการที่น่าจับตามอง เพราะเป็นของ Microsoft ที่คร่ำหวอดในวงการเกมมานาน และพวกเขามีทีมที่มีความสามารถเพรียบพร้อมในทุกแง่มุมที่ระบบต้องการ ทั้งสตูดิโอพัฒนาเกม ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วโลก ความรู้และประสบการณ์ในการให้บริการระบบออนไลน์มานานนับสิบปี

ใครสนใจสามารถอ่านรีวิว Xbox Game Pass ได้ที่นี่เลย

อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าทุกๆ คน คงจะเห็นว่าในตลาดสื่อดิจิตอลทั้งหลายๆ มันได้พยายามปรับตัวเองเข้ามาในรูปแบบนี้กันหมด ภาพยนต์ หนังสือ เกม เพลง ฯลฯ บางคนอาจจะดูว่านี่เป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่เชื่อเถอะว่า มันกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งที่อยากจะถามทิ้งท้ายไว้ก็คือ เราต้องการที่จะเป็น “เจ้าของ” สื่อพวกนั้นโดยการจ่ายเงินแพงๆ หรือเพียงแค่ต้องการ “เสพ” ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ที่เราเลือกได้ในราคาถูกแทน

Leave a comment
The Devil’s Hour ช่วงเวลาปีศาจ ตี 3.33 นาที ที่เต็มไปด้วยเรื่องเซอร์ไพรส์เกินคาด!