รีวิว Paper Lives หนังดราม่า กับชีวิตคนเรา มีค่าไม่เท่ากัน
Paper Lives
สรุป
โดยรวมก็ถือว่าเป็นหนังดราม่าชีวิตที่ดี กับตอนจบในแบบที่อาจจะปวดใจสำหรับบางคนที่อินกับเรื่องราวแนวนี้ การนำเสนอชีวิตของคนเก็บขยะ เหล่าคนไร้บ้าน ภาพสะท้อนของการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ความเสื่อมโทรมของสังคมในย่านเล็กๆ ในภูมิประเทศที่สวยงามผ่านฉากต่างๆ ของเรื่อง แต่มันไม่ได้ทำให้รู้สึกประทับใจหรือซาบซึ้งกับช่วงเวลาเหล่านั้นเท่าที่ควร เพราะหลายๆ ช่วงเราจะรู้สึกถึงควาไม่ปกติของเหตุการณ์และตัวละครในเรื่องจนเราเริ่มเอะใจ และเดาตอนจบได้ในที่สุด แต่ถ้าใครที่อินกับดราม่าครอบครัว การเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีพ่อแม่ อะไรพวกนี้ อาจจะกินใจกับคนที่มีประสบการณ์ตรงนี้โดยตรงมากก็ได้ ถ้าใครชอบเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ หรือเสพบรรยากาศสวยๆ เรื่องนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ดู
Overall
6.5/10User Review
( vote)Pros
- งานภาพสวยมาก
- ดนตรีประกอบเพราะและเข้ากับอารมณ์
- จบแบบหักมุม
- นำเสนอมุมมองแปลกใหม่
Cons
- ฉากดราม่าเกินจริงและโอเวอร์แอคติ้ง
- ตอนจบแม้จะหักมุม แต่อาจจะเดาง่าย
Paper Lives เศษชีวิต ภาพยนต์แนวดราม่าชีวิตจากตุรกี ที่จะพาไปชมชีวิตของผู้ที่เป็นหัวหน้าของคนเก็บขยะในใจกลางกรุงอิสตันบูล แต่ชีวิตก็ดันพลิกผันเมื่อมีเด็กที่ถูกทำร้ายโดยครอบครัว ต้องมาอาศัยอยู่กับเขา เกิดเป็นดราม่าเคล้าน้ำตาชวนปวดใจ
ตัวอย่าง Paper Lives
รีวิว เศษชีวิต
นี่เป็นหนังดราม่าชีวิตที่มีเซ็ตอัพที่เราไม่ค่อยได้เห็นมาก่อน นั่นก็คือ ตัวเอกเป็นพนักงานเก็บขยะ กับการนำเสนอวัฒนธรรมของชาวตุรกีผ่านมุมมองของหนังเรื่องนี้ที่ดูแปลกตา และได้มุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ยังทำได้ไม่ค่อยสุดเท่าไหร่ ทั้งในแง่ดราม่าหรือการสะท้อนสังคม
เมห์เม็ด หัวหน้าพนักงานโรงงานขยะ ที่คอยคุมเหล่าโฮมเลสในย่านเล็กๆ ให้ออกตระเวนเก็บขยะเพื่อมาส่งให้เขาขายแลกกับเงิน เมห์เม็ดสุขภาพไม่ค่อยดีเพราะเป็นโรคไต เขาจึงพยายามเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้เพื่อใช้ในการรักษาตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่งตอนเลิกงานนั้น กลับมีเด็กชายปริศนาชื่อว่า อาลี กระโดดออกมาจากรถเข็นเก็บขยะ เมห์เม็ดจึงต้องจำใจรับเลี้ยงเอาไว้แล้วสืบหาให้ได้ว่าเด็กคนนี้เป็นใคร เกิดอะไรขึ้นกับเขา ยิ่งเขารับเลี้ยงเด็กคนนี้ไปเท่าไหร่ มันก็เหมือนกับการเห็นภาพสะท้อนวัยเด็กของตัวเอง ทำให้ไม่ว่าจะยังไงเขาจะทุ่มสุดตัวเพื่อให้เด็กชายคนนี้มีความสุข
เนื่องจากว่าหนังเรื่องนี้เป็นแนวดราม่าชีวิต การดำเนินเรื่องแม้ว่าความยาวของหนังจะประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันดำเนินเรื่องช้ามากอยู่ดี ค่อยเป็น ค่อยไป แต่สิ่งที่ได้ทดแทนมาก็คืองานภาพที่ดูสวยมากของหนังเรื่องนี้ ดูเพลิน นำเสนอย่านเล็กๆ ที่เสื่อมโทรมและสวยงาม ทั้งกลางวันและกลางคืนของอิสตันบูลได้ดีมาก เช่นฉากตอนกลางคืนก็จะมีไฟ แสงสีเสียงจากร้านผับ บาร์ การจัดสีแทบจะเรียกได้ว่าออกแนวๆ ไซเบอร์พังค์ ก็ว่าได้ แสงนีออนฟ้าๆ ชมพูตัดกัน พอมาเป็นฉากตอนเช้าก็จะเป็นเหมือนกับเมืองที่มีตึกสวยๆ มีผ้าตากระโยงระยางบนตึก ต้องยอมรับคุณภาพของงานภาพเรื่องนี้จริงๆ
การดำเนินเรื่องจะไม่ได้มีฉากกดดันหรือเครียดตลอด จะสลับกับช่วงเวลาที่มีความสุข อย่างฉากกอนโซ คนสนิทของพระเอกที่เป็นคนเก็บขยะ ได้ไปเก็บขยะจากอีกย่านแล้วมันข้ามเขตกัน เลยเจอพวกโฮมเลสของอีกย่านไล่กวด แต่ก็หนีด้วยการแว้นรถเข็นขยะซอกแซกต่างๆ เป็นทริลเลอร์เล็กๆ ที่ดูสนุกและเพลินดี แต่พอถึงฉากกดดันหรือดราม่าบีบหัวใจ มันกลับทำให้เรารู้สึกสงสัยและตะหงิดๆ กับความไม่สมเหตุสมผลของตัวเด็กชายอาลีเอง จนทำให้เราเริ่มที่จะสงสัยในตัวเด็กชายคนนี้ จนไปถึงการเฉลยตอนจบที่ชวนหักมุมที่พอจะเดาได้ตั้งแต่แรก
ตัวหนังเองก็พยายามที่จะสอดแทรกเรื่องราวคุณค่าชีวิตของคนที่ไม่เท่ากันมาตั้งแต่เปิดเรื่อง เมื่อพระเอกเองป่วยหนักจนต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาลในสภาพร่อแร่ แต่เนื้อตัวเหม็นหึ่งเพราะเพิ่งไปเก็บขยะมา พนักงานพยาบาลเลยไล่ให้ไปนั่งรอก่อน แต่กับคนที่ใส่เสื้อผ้าเนื้อตัวดีๆ เหล่าพยาบาลก็รีบบริการอย่างเต็มที่ แตกต่างกับที่ปฏิบัติกับพระเอกลิบลับ หรือการนำเสนอความเสื่อมโทรมของย่านนั้น ที่เด็กตัวเล็กๆ ดมกาวกัน ในเรื่องก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แทรกเข้ามาที่บางคนอาจจะมองข้าม แต่เป็นกิมมิคที่ดีเมื่อนำมันมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวของหนัง เช่นครอกถนนที่พระเอกอยู่ แปลชื่อได้ว่า “พี่น้อง” และ “คุณลุง” ซึ่งคำว่าคุณลุงก็จะเป็นคำที่เด็กชายอาลี เรียกพระเอก ส่วนคำว่าพี่น้องน่าจะหมายถึง เหล่าพี่น้องโฮมเลสที่เติบโตมาโดยไม่มีพ่อแม่เหมือนกัน
ในส่วนนี้เองตัวหนังก็เหมือนสับขาหลอกเราอีกที เมื่อพระเอกหายดี ก็กลายเป็นคนแต่งตัวดูดีมีฐานะปกติ เพราะจริงๆ อย่างที่บอกว่าเมห์เม็ดเองไม่ได้เป็นคนเก็บขยะ แต่เป็นหัวหน้า คอยรับขยะที่พวกโฮมเลสเอามาขายให้ ในตอนแรกเราจึงไม่เข้าใจว่าพระเอกเราจะไปเก็บขยะทำไม ตัวเองก็ป่วย จนมาเฉลยในตอนหลัง
ปมของเด็กชายอาลีเอง ที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในเด็ก กับการที่เขาต้องถูกแม่จับใส่รถขยะของคนไร้บ้านเพราะไม่มีทางเลือก เพราะอาลีถูกพ่อเลี้ยงทุบตี ตรงส่วนนี้ฟังทีแรกแล้วมันไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่พอดูไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ เริ่มเชื่อเรื่องราวพวกนี้มากขึ้น เพราะตัวพระเอกแล้วจะเป็นคนใจดี มีลูกน้องนับหน้าถือตา แต่พอเป็นเรื่องของอาลี เขาเหมือนจะสลับสวิตซ์กลายเป็นคนก้าวร้าว วิตกกังวล ตวาดใส่กับทุกคนรวมไปถึงคนสนิทของเขาเองด้วย ในส่วนนี้มันก็เริ่มจะทำให้เราตะหงิดๆ มีแบบนี้ทั้งเรื่อง จนอาจจะเดาตอนจบได้ก่อที่ปมมันจะเฉลยด้วยซ้ำ ตรงส่วนนี้มันเป็นเหมือนฉากดราม่าเกินจริง และโอเวอร์แอคติ้ง เป็นแบบนี้หลายฉากเลยด้วย
นอกจากเรื่องงานภาพ ที่ต้องชมเลยก็คือการเลือกใช้เพลงประกอบที่เข้าได้กับอารมณ์และบรรยากาศของตัวเรื่อง ทำให้เราอินกับสถานการณ์ของตัวละครในเรื่องมากขึ้นไปอีก
โดยรวมก็ถือว่าเป็นหนังดราม่าชีวิตที่ดี กับตอนจบในแบบที่อาจจะปวดใจสำหรับบางคนที่อินกับเรื่องราวแนวนี้ การนำเสนอชีวิตของคนเก็บขยะ เหล่าคนไร้บ้าน ภาพสะท้อนของการใช้ความรุนแรงกับเด็ก ในภูมิประเทศที่สวยงามผ่านฉากต่างๆ ของเรื่อง แต่มันไม่ได้ทำให้รู้สึกประทับใจหรือซาบซึ้งกับช่วงเวลาเหล่านั้นเท่าที่ควร เพราะหลายๆ ช่วงเราจะรู้สึกถึงควาไม่ปกติของเหตุการณ์และตัวละครในเรื่องจนเราเริ่มเอะใจ และเดาตอนจบได้ในที่สุด แต่ถ้าใครที่อินกับดราม่าครอบครัว การเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีพ่อแม่ อะไรพวกนี้ อาจจะกินใจกับคนที่มีประสบการณ์ตรงนี้โดยตรงมากก็ได้ ถ้าใครชอบเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ หรือเสพบรรยากาศสวยๆ เรื่องนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ดู
รับชม Paper Lives เศษชีวิต ได้ทาง Netflix แล้ววันนี้
อ่านรีวิวหนัง/ซีรีส์เรื่องอื่น ได้ที่นี่