รีวิว สยองขวัญอย่างมีศิลป์ Layers of Fear 2 ผู้ท้าชิงว่าที่เกมสยองขวัญแห่งปี!
สยองขวัญอย่างมีศิลป์ Layers of Fear 2
สรุป
Layers of Fear 2 ถือเป็นเกมที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่โหยหาเกมสยองขวัญที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อเรื่องเข้มข้น, อารมณ์หลอนๆ เขย่าขวัญสั่นประสาท และความอาร์ตที่ไม่เหมือนใคร
Overall
8/10User Review
( votes)Pros
- การเดินเรื่องไว ไม่มีจังหวะอืดแม้แต่น้อย
- บรรยากาศอึมครึม รู้สึกถึงความขนลุกขนพอง
- การนำเสนอโลกฟิล์มนัวร์ที่ลงตัวกับความหลอน
- ไม่เน้นฉากผีตุ้งแช่เยอะจนเกินไปเหมือนแต่ก่อน
- การไขปริศนาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
- เพลงประกอบไพเราะ แต่แฝงความน่ากลัว
- กราฟิกสวยงามกว่าภาคที่แล้วหลายเท่า
Cons
- มุกบางมุก + จังหวะหลอนแอบเดาง่ายไปหน่อย
- “วิ่งหนีผี” ที่ดูบังคับให้เล่นไปตามบทมากเกินไป
- ภาพกระตุกและเฟรมเรทตกในบางครั้งบางคราว
- สเปคคอมที่ใช้ในการเล่นต้องสูงระดับหนึ่ง
- ใครที่เป็นโรคหัวใจ หรือตกใจง่ายๆ ไม่เหมาะกับเกมนี้
รีวิว เกมหลอน Layers of Fear 2 กลับมาสร้างปรากฎการณ์เขย่าขวัญสั่นประสาทกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากภาคที่แล้วประสบความสำเร็จอย่างมากมายทั้งคำวิจารณ์ทั้งยอดขาย จนกลายเป็นกระแส Talk of the Town และถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในเกมสยองขวัญแห่งปี 2016 ดังนั้นทีมพัฒนา Bloober Team จึงตัดสินใจทำภาคต่อพร้อมรับเงินทุนมาอัดฉีดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือของค่าย Gun Media กันลับๆ มาตลอดถึง 3 ปี
ถึงแม้ว่าจู่ๆ Layers of Fear 2 เปิดตัวแบบกระทันหัน โดยไม่มีการแจ้งข่าวคราวใดๆ เลยก็ตาม แต่ด้วยผลงานที่สร้างชื่อให้กับพวกเขาก่อนหน้านี้ มันก็เป็นตัวการันตีถึงความสามารถของทีมพัฒนาที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ย่อมเป็นที่น่าจับตามองของผู้เล่นทั่วโลกเอามากๆ จึงทำให้ผู้เขียนรอคอยเวลาที่จะหยิบมาเล่นดูสักที ซึ่งมันจะยังคงความสยองขวัญสไตล์อาร์ตและความน่าสนใจอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า ติดตามอ่านกันในได้ในบทความ Review กันเลยครับผมเ
เทรลเลอร์ Layers of Fear 2
Story
หากภาคก่อนหน้าเป็นการเล่าเรื่องราวของจิตรกรหนุ่มผู้ป่วยเป็นโรควิกลจริต (โรคจิต, ประสาทหลอน หรือสติไม่เต็ม) ผ่านความทรงจำที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและการสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน มาในภาคนี้จะเป็นการเรื่องราวของคนที่อยากลืมเรื่องราวในอดีตที่เลวร้ายไปให้ได้ แต่ไม่ว่าจะหนีไปไกลเพียงใด ความทรงจำก็มักจะตามมาหลอกหลอนและพร้อมจะทำให้คุณ “นึกออก” อีกครั้งหนึ่ง
เรื่องราวภายในเกมจะกล่าวถึงนักแสดงฮอลลีวูดที่ถูกผู้กำกับคนหนึ่งเรียกตัวมาให้เล่นเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์ที่กำลังถ่ายทำอยู่บนเรือยอร์ชสุดหรู แต่แล้วจู่ๆ ตัวเอกของเรากลับหน้ามืดเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ จนพอรู้สึกตัวอีกทีกลับพบว่าทีมงานภาพยนตร์บนเรือยอร์ชหายสาญสูญไปทั้งหมด แถมยังถูกปล่อยให้ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทรอีกด้วย มีเพียงแค่บุคคลลึกลับติดต่อคุยกับตัวเอกของเราผ่านโทรโข่งเท่านั้น
การกระทำของบุคคลลึกลับมีเป้าหมายอยู่เพียงแค่อย่างเดียว นั้นก็คือ ต้องการให้ตัวเอกของเรารื้อฟื้นความทรงจำในอดีตที่ปิดผนึกเอาไว้เมื่อนานมาแล้วให้ออก ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เจ้าตัวหนีมาเป็นนักแสดงฮอลลีวูดอีกด้วย ทางฝั่งบุคคลลึกลับได้จัดวางชิ้นส่วนความทรงจำไปตามจุดต่างๆ ของเรือยอร์ช ถ้าหากไม่ยอมทำตามที่สั่งล่ะก็ มันจะปล่อยให้อดตายไปจนกว่าเราจะ “นึกออก” นั่นเอง เมื่อไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องเดินไปตามเกมของมัน โดยหารู้ไม่ว่ามีพลังงานบางอย่างตามหลอกหลอนเราอยู่
การดำเนินเรื่องมักจะเล่นกับ “การไม่รู้อะไร” เป็นส่วนใหญ่ เพราะพอเริ่มเกมมาปุ๊บนี่แทบจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่? วิธีการเล่ามันจะค่อยๆ ทยอยให้ผู้เล่นซึมซับเรื่องราวในอดีตที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในเบื้องหลัง ผ่านทางชิ้นส่วนความทรงจำที่หยิบขึ้นมา แม้ว่าเหตุการณ์บางส่วนอาจเล่าแบบสะเปะสะปะ จนต้องคอยจับมาโยงเข้าด้วยกันไปบ้าง แต่ถือเป็นการนำเสนอที่น่าสนใจจนติดพันไปกับตัวเกม ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นนักสืบที่กำลังสืบหาปริศนา & ความจริงของตัวเอกว่าประสบพบเจออะไรมาก่อน
ATMOSPHERE
บรรยากาศภายในเกมขับเน้นความหลอนระทึกที่พร้อมจะสั่นประสาทแบบฉากต่อฉาก ไม่ว่าจะทั้งบรรยากาศเงียบเฉียบและอึมครึม, ฉากสถานที่อันคับแคบและแสนมืดหมัว, เสียง & ฉากทำลายข้าวของเป็นระยะ, เพลงประกอบอันไพเราะ แต่แฝงไปด้วยทำนองหลอนๆ, ฉากผีตุ้งแช่ (Jumpscare) ออกมาไม่ให้ทันตั้งตัวแบบพอดิบพอดี รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยรอบ จนเหมือนกับทะลุเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ซึ่งอันหลังเรียกว่าเป็น Signature ของทีมพ้ัฒนาก็ว่าได้
เพียงแค่ในภาคนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้กำกับภาพยนตร์แนวสยองขวัญชื่อดังในสมัยก่อนอย่าง Alfred Hitchcock และ Georges Melies จึงเปลี่ยนธีมจากโลกศิลปะสุดสะพรึงให้หลุดเข้ามาอยู่ในโลกฟิล์มนัวร์ (ภาพยนตร์ขาวดำสมัยก่อน) แทนครับ ในขณะที่อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงจะคิดว่าตัวเกมลดทอนความเป็น “วิจิตรศิลป์สุดสยอง” ด้วยการเน้นภาพขาวดำแบบง่ายๆ ต้องขอบอกเลยว่าคุณคิดผิดครับ
เพราะทีมพัฒนาได้วางสคริปต์บท (Script) เอาไว้ในใจแล้วว่าจังหวะไหนควรจัดขึ้นในฉากสีขาวดำสลับไปมาฉากแสงสีเข้มๆ [โดยเฉพาะสีแดง & สีเขียวอมน้ำเงิน] หรือจังหวะไหนควรปรับมุมกล้องให้ส่ายไปมาพร้อมภาพซ่าๆ ไปในตัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะฉากผีตุ้งแช่ที่ใครเห็นครั้งแรกคงสะดุ้งจนอยากเลิกเล่นกลางคันเลยทีเดียว (ฮา)
GAMEPLAY
ระบบเกมเพลย์จะเป็นแนวสยองขวัญเชิงจิตวิทยา [Horror Psychological] ควบคู่ไปกับการไขปริศนา [Puzzle] เพื่อหาทางไปต่อเหมือนเดิม เพียงแต่ปริศนาหลักๆ ออกแบบได้อย่างมีชั้นเชิงและชาญฉลาดเอามากๆ เพราะเดิมทีตัวเกมเน้นหนักในเรื่อง ‘ฟิล์มนัวร์’ อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราแก้ไขปริศนาไปสักระยะ พวกอุปกรณ์การแสดงและฉากพื้นหลังทุกอย่างๆ จะถูกนำมาเชื่อมต่อระบบกันเป็นทอดๆ ราวกับกำลังรับชมละครเวทีอยู่ไม่ปาน (แม้ปริศนาย่อยๆ อย่างการหารหัสมาเปิดประตู, เปิดตู้เซฟหรือการอ่านเศษกระดาษก็ยังคงมีอยู่บ้างก็ตาม)
การนำเสนอรูปแบบของปริศนานั้นผู้เขียนขอเปรียบเสมือนวิธีการไขลานนาฬิกา เมื่อเราขยับฟันเฟืองให้ไปข้างหน้า (เริ่มแก้ปริศนา) เวลาก็จะขยับเขยื้อนและหมุนตามเข็มนาฬิกาต่อไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหยุดการทำงาน (กลไกของปริศนาขับเคลื่อนการทำงานด้วยตัวของมัน จากนั้นค่อยสิ้นสุดเมื่อเปิดทางไปต่อแล้ว) หลักการแบบนี้ค่อนข้างเปิดกว้างกับผู้เล่นพอสมควร เพราะต่อให้ไม่ถนัดไขปริศนาก็สามารถเล่นยันจบเกมได้ ซึ่งมันเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดิบดีเลยล่ะครับ
อย่างไรก็ตามในส่วนของ “วิ่งหนีผี” ที่ทีมพัฒนาเพิ่มเข้ามาในตัวเกมนั้น ดูเหมือนยังทำออกมาได้ไม่ลงตัวดีนัก เนื่องจากการวางสคริปต์บท (Script) ของตัวเกมที่พิถีพิถันมากเกินไป เลยทำให้การ “วิ่งหนีผี” ค่อนข้างจำกัดและยุ่งยาก ยกตัวอย่างเช่น อยู่ๆ ผีก็โผล่ออกมาแล้วเราต้องหันหลังวิ่งหนี ระหว่างทางที่เดินมา เราไม่สามารถเปิดประตูเข้าไปหลบซ่อนได้เลย มีแต่ต้องวิ่งหนีไปยังจุดหมายที่สคริปต์บทกำหนดเอาไว้เท่านั้น
แถมเจ้าผีตัวนี้ดันวิ่งเร็วระดับ Hi- Speed มาจับทำ Game Over อีกด้วย บางครั้งจึงจำเป็นต้องเล่นกันใหม่อีกหลายรอบเลยครับ โดนแบบนี้บ่อยๆ เข้า จากอารมณ์รู้สึกที่ควรมี “ความน่ากลัว” กลับกลายเป็น “ความน่ารำคาญ” ซะมากกว่า แต่อย่างน้อยการปั้นโมเดลของผีถูกออกแบบมาได้หลอนดี ผู้เขียนเลยขอมองข้ามไปแล้วกัน (แต่มีหักคะแนนบ้างอะนะ)
PERFORMANCE
ทีมพัฒนามีความทะเยอทะยานที่จะพัฒนากราฟิกของตัวเกมให้มีความสวยงามและสมจริงกว่าภาคก่อนขึ้นไปอีกขั้น โดยเราจะเห็นจุดที่ปรับปรุงเด่นชัดสุดๆ เลยก็คือ การลงรายละเอียดแสงเงาที่ดูเป็นธรรมชาติ, ความละเมียดละไมของฉากต่อฉาก และระบบฟิสิกส์ในการเคลื่อนไหวของทุกๆ อย่างราวกับของจริงก็ไม่ปาน เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตามมันก็แลกมาด้วยการใช้สเปคคอมที่สูงเอาเรื่อง
ผลก็คือหากผู้เขียนไม่ปรับการตั้งค่าคุณภาพกราฟิก High – Mid ในแต่ละส่วนสลับกันล่ะก็ ไม่มีทางเลี้ยง 60 เฟรมเรทได้เลย แถมบางครั้งตัวเกมมีฉากเฟรมเรทตกและอาการภาพกระตุกอีกด้วย หากว่าสเปคคอมของผู้เล่นไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ หมดสิทธิ์ที่จะเล่นเกมอย่างลื่นไหลเลยล่ะครับ ดังนั้นทุกคนจึงมี 2 ทางเลือกด้วยกัน อย่างแรกไว้ค่อยซื้อตัวเกมทีหลัง ไม่ก็หาทางอัพเกรดคอมในทางใดหนึ่งให้เล่นแบบเฟรมเรทเกิน 30 ขึ้นไปก็ได้นะครับ
CONCLUSION
หากใครที่กำลังโหยหาเกมสยองขวัญ + อารมณ์หลอนๆ + เขย่าขวัญสั่นประสาท + เนื้อเรื่องเข้มข้น + ความบิดเบี้ยวของจิตใจมนุษย์ Layers of Fear 2 ถือเป็นเกมที่ตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสมที่สุดเลยทีเดียว จนทำเอาอยากแนะนำให้ทุกคนเล่นกันจริงๆ เพราะมันครบเครื่องทุกองค์ประกอบของเกมสยองขวัญเลยก็ว่าได้ แถมที่สำคัญสำหรับผู้เล่นที่ไม่ชอบเล่นเกมแนวนี้ พอมาจับเกมนี้ปุ๊บ สามารถเล่นได้ยันจบเกมอย่างน่าอัศจรรย์เลยล่ะครับ ตัวเกมวางขายทั้งบนแพลตฟอร์ม PlayStation 4 และ PC [Steam]
สเปคคอมพิวเตอร์ขั้นต่ำ
- OS: Windows 7
- Processor: Intel Core i5-3470 (3.2 GHz) / AMD A8-7600 (3.1 GHz)
- Memory: 5 GB RAM
- Graphics: GeForce GTX 750 Ti / AMD Radeon R7 265
- DirectX: Version 11
- Storage: 14 GB available space
- Sound Card: DirectX® 11.0 compatible
- Additional Notes: Requires a 64-bit processor and operating system
สเปคคอมพิวเตอร์ขั้นแนะนำ
- OS: Windows 10
- Processor: Intel Core i5-6500 (3.2 GHz) / AMD Ryzen 5 1600
- Memory: 8 GB RAM
- Graphics: GeForce GTX 1070 / AMD Radeon RX 590
- DirectX: Version 11
- Storage: 14 GB available space
- Sound Card: DirectX® 11.0 compatible
- Additional Notes: Requires a 64-bit processor and operating system
เว็บไซต์หลัก : https://layersoffear2.com/
ติดตามผลงานผู้เขียนได้ที่นี่
Mr.T-Rat Jongjumruspun