playinone.com
รีวิว บทความ หนัง ซีรีส์ Netflix สตรีมมิ่งทุกระบบ

รีวิว Moxie (Netflix) สาวมัธยมขอล้มระบบชายเป็นใหญ่ (ไม่สปอยล์)

สรุป

สะท้อนภาพของสังคมชายเป็นใหญ่ และการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมในโรงเรียน

การแสดงเป็นธรรมชาติ และบทมีมิติและรายละเอียด แม้จะไม่มีอะไรหวือหวาหรือโดดเด่น

Overall
7/10
7/10
Sending
User Review
5 (2 votes)

Pros

  • เนื้อหาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ดูสนุก และมีรายละเอียดให้ติดตาม
  • ประเด็นเรื่องของปัญหาสังคมผ่านโรงเรียนมัธยม
  • เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
  • การแสดงที่เป็นธรรมชาติ ตัวละครน่าสนใจ
  • ประเด็นเฟมมินิสต์อัดแน่นเต็มเปี่ยม และเข้าใจง่าย
  • เพลงประกอบส่งเสริมเรื่อง

Cons

  • บทของบางตัวละครแอบน้อย ถ้าทำเป็นมินิซีรีส์จะดีกว่านี้มาก เพราะจะได้เห็นมิติมากขึ้นด้วย คือเสียดายเพราะตัวละครนี้เด่นสะดุดตามาก ๆ
  • เดินเรื่องไวไปหน่อย บางฉากก็แก้ปัญหาได้ง่ายไป ไม่ขยี้เรื่องให้แน่น
  • นอกจากประเด็นของเรื่องแล้ว รู้สึกว่าตัวหนังมันไม่ได้โดดเด่นสักเท่าไหร่

ADBRO

Moxie (ม็อกซี่) ภาพยนตร์วัยรุ่นคอเมดี้ดราม่า ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันในปี 2017 ของเจนนิเฟอร์ แมธทิว กำกับและแสดงโดย เอมี พูห์เลอร์ เขียนบทโดย ทามารา เชสต์น่า และ ดิลลัน เมเยอร์ นำแสดงโดย แฮดลีย์ โรบินสัน ลอเร็น ช่าย โจเซฟิน แลงฟอร์ด และ แพทริก ชวาร์เซเน็กเกอร์ เป็นภาพยนตร์เน็ตฟลิกซ์ที่ปล่อยออกมารับเดือนประวัติศาสตร์สตรีอย่างเดือนมีนา คับคั่งด้วยนักแสดงหนุ่มสาวเลือดใหม่ทุกเชื้อชาติ ไม่กีดกัน พร้อมเนื้อหาแสบสันต์ของเหล่าผู้หญิงที่ถูกกดทับโดยสังคมไม่ได้มาเพื่อประนีประนอมกับปัญหา แต่จะตะโกนกู่ก้องความโกรธที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ การปฏิวัติของสตรีนิยมได้เริ่มขึ้นแล้ว!

 Moxie (2021) on IMDb

เมื่อมีนักเรียนหญิงลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโรงเรียน ท่ามกลางสังคมที่ยินยอมให้ปัญหาเกิดขึ้น การรวมใจกันของกลุ่มนักเรียนหญิงที่ต่อต้านสังคมปิตาธิปไตยและความไม่เป็นธรรมในโรงเรียน ปิตาธิปไตย คือ ระบบชายเป็นใหญ่ การที่ผู้ชายทำอะไรก็ได้โดยมีมาตรฐานมากกว่าคนอื่น โดยไม่ต้องกังวลถึงผลที่ตามมา หรือการที่ให้เกียรติคนอื่น เพียงเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้หญิงหรือคนที่อ่อนแอสมควรได้รับการดูแลจากตัวเอง มากกว่าที่จะให้เกียรติเพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน หรือการบ่งชี้ว่าผู้หญิงควรทำตัวแบบไหนถึงจะเป็นที่ยอมรับ โดยภาพยนตร์นำหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวของ เจนนิเฟอร์ แมธทิวและเพื่อนๆ ของเธอในสมัยไฮสกูล และด้วยมูฟเมนต์ #MeToo หรือการที่คนในวงการบันเทิงออกมาบอกว่าตัวเองโดนคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ นั้นออกมาในช่วงที่สำคัญ ทั้งสำหรับผู้หญิงและเพื่อการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี เจนนิเฟอร์บอกว่านั่นก็อาจจะมีประโยชน์กับการขายหนังสือก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ เพราะสิทธิสตรีไม่ได้หมายถึงแค่สตรี แต่หมายถึงเหยื่อทุกเพศที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่มีเสียงพอจะต่อสู้กับสังคม ผ่านคำว่า moxie ที่แปลว่า เจตจำนงอันมุ่งมั่น ที่หนังเรื่องนี้กำลังจะนำเสนอ แค่คิดก็น่าสนใจแล้ว มาอ่านเรื่องย่อกันก่อนดีกว่า

“วิเวียน คาร์เตอร์ เด็กสาวจากเมืองเล็กๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจแม่ของเธอ การค้นหาตัวเอง และมุมมองต่อสภาพสังคมโรงเรียนที่ต่างเมินเฉยต่อปัญหาไปรอบ ๆ จนกระทั่ง ลูซี่ นักเรียนสาวผิวสีคนใหม่เริ่มถูกคุกคามและออกมาต่อต้าน นั่นเลยทำให้เธอก่อการปฏิวัติเพื่อสิทธิสตรีที่โรงเรียนมัธยมปลายของเธอเพื่อจัดการกับปัญหาการเหยียดเพศ การคุกคามทางเพศ การนิ่งเฉยต่อการคุกคาม ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ และรวมไปถึงปิตาธิปไตย (ระบบชายเป็นใหญ่) ในโรงเรียนด้วยการทำเฟมินิสต์ซีน (หนังสือทำมือ) ที่ชื่อว่า ‘Moxie’ เธอเขียนขึ้นมาแบบไม่เปิดเผยนามแจกให้ทั่วโรงเรียน หลายๆ คนเริ่มให้ความสนใจ ไม่เพียงแต่ผู้หญิง แต่รวมไปถึงผู้ชายและคนอื่นๆ พวกเขาต่างวาดรูปดาวไว้ที่มือ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการสนับสนุนมูฟเมนต์นี้ จนสั่นสะเทือนทั้งครูและนักเรียนชายตัวแสบทั้งหลาย มิตรภาพและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองจึงเกิดขึ้น”

สุดแสบสันต์

ตัวละครเด็กสาวอย่างวิเวียนที่ค่อย ๆ เป็นตัวแทนพาเราไปดูความปกติที่ไม่ปกติของสังคมในโรงเรียน ทำตัวคุกคาม และสารพัดที่ผู้ใหญ่จัดการได้อย่างห่วยแตกจนน่าโมโห กระทั่งมีจุดเปลี่ยนขึ้นเมื่อมีคนออกมาต่อต้าน หนังเล่าเรื่องอย่างเป็นเส้นตรงสะท้อนภาพสังคมชายเป็นใหญ่ให้เห็นไปเลยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันแย่ยังไง ซึ่งเราจะอินมาก ถ้าเรามองสังคมที่วุ่นวายเพราะภัยจากการคุกคามทางเพศในตอนนี้ ในส่วนเนื้อเรื่องอาจจะไม่ได้หวือหวา แปลกใหม่อะไร เพราะมันเป็นหนังวัยรุ่นสะท้อนสังคมการต่อสู้ที่แสบสันต์ใช้ได้ เพราะเล่นถึงเรื่องคำว่าเอาจริง อาจจะไม่ใช่ถึงเลือดถึงเนื้อ แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้พอสมควร โดยเฉพาะใครที่ชอบแนว ๆ นี้ แต่ความน่าสนใจคือหนังมีแมสเซจเรื่องสตรีนิยมที่ชัดเจน เข้าใจง่ายและทำให้เห็นได้ว่าความเท่าเทียมที่พวกเขาต้องการคืออะไร และเราจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงสังคมขึ้นมาได้บ้าง เหมือนที่ตัวละครเลือกที่จะสู้โดยการทำหนังสือทำมือที่แฉเรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นและให้ความหวังกับผู้หญิงในโรงเรียน จนกระทั่งสามารถจุดประกายไฟแห่งความโกรธของผู้หญิงทั้งโรงเรียนได้ โดยที่เธอก็ไม่คาดคิดเหมือนกัน ซึ่งก็มีพาร์ทแสบ ๆ ฮา ๆ แบบไม่เน้นมุกอะไรมาก แต่มาจากการจิกกัดแซะของตัวละครในเรื่องนี่แหละ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตรงใจผมทั้งนั้น

ตัวละครตัวแทนของปัญหา

ตัวละครผู้หญิงในเรื่องก็มีหลายแบบหลายสไตล์มีปมปัญหามาเป็นระยะ ๆ และขับเคลื่อนไปด้วยความโกรธ ซึ่งผมไม่รำคาญตัวละครที่ดูจะคิดมาก เรื่องเยอะกับอะไรแบบนี้หรอก เพราะผมมองว่าการที่คนเริ่มรู้สึกไม่ดีหรืออึดอัดและออกมาพูด มันหมายความถึงแบบนั้นจริง ๆ ผมจึงโกรธมากกว่าที่ถูกคนเมินเฉยกับปัญหาของสังคม และเข้าอกเข้าใจตัวละครในเรื่องเป็นอย่างดี แต่อย่ากังวลว่าหนังจะทำตัวกีดกันคนดูกลุ่มอื่น เพราะหนังให้ภาพความเท่าเทียมกับทุกคนอย่างแท้จริง ดูได้ทุกเพศทุกวัยเลย ไม่ใช่แค่กับผู้หญิง จะได้รู้วิธีปฏิบัติตัวให้เหมาะสมหรือถูกต้องกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ผูกขาดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่หนังเฟมมินิสต์ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใส่เนื้อหาเยอะจนถูกด่าว่า “สตรีนิยมมากเกินไป” จริง ๆ ควรปรับความคิดก่อนว่าสาสน์ของความเป็นสตรีนิยมที่ต้องการคือยังไง

สตรีนิยมบางคนโกรธ บางคนก็อ่อนโยน บางคนก็ดูเมินเฉย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่แบ่งแยกการเรียกร้องเพื่อสิทธิเลย มันก็คือแนวคิดเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะเพศไหน ๆ สตรีนิยมคือการที่ได้ใช้ชีวิตตัวเองในการเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ (ใช่ทุกคนเป็นมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ควรมีอิสระ และมีชีวิตที่ปลอดภัย ถึงจะเรียกว่ามนุษย์) แต่การแสดงออกต่อปัญหาจะต่างก็เพียงประสบการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นของแต่ละคนมากกว่า เพราะงั้นอย่าเมินคนที่กำลังคนตะโกนด้วยความโมโหว่าหัวรุนแรงหรือไร้เหตุผล เพราะนั่นแหละคือเหตุผลแต่คนส่วนใหญ่มักจะชอบเมินเฉย และทำเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องตัวเอง ซึ่งน่าเศร้าที่สังคมโซเชียลหรือความจริงก็เป็นแบบนี้อยู่ แต่อย่างน้อยมันก็ต้องใครสักคน หรือคนสักกลุ่มที่จะรับฟังปัญหาของเราเสมอ เพราะงั้นอย่ากลัวที่จะออกมาเรียกร้อง และไม่ต้องกลัวว่าจะต้องถูกกล่าวโทษ เพราะถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกกระทำ เราควรจะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ผิดก็คือผิด ไม่มีบ่ายเบี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ

ปัญหาของสังคม คือ ปัญหาของทุกคน

ปัญหาของการที่สังคมมองว่าผู้หญิงต้องอยู่ห่างจากผู้ชายมันเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นการโยนความผิดให้กับเหยื่อ แล้วทำไมไม่สอนให้ผู้ชายมายุ่งกับผู้หญิงตอนเขาปฏิเสธ มันก็น่าคิดนะครับว่าทำไมปัญหาถึงถูกมองที่ฝ่ายผู้หญิงเสมอ ทุกคนต้องเปิดใจก่อนว่าปัญหาสังคมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากผู้คุกคามซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจริง ๆ และภาพยนตร์ก็ทำให้ภาพความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นด้วย เช่น การจัดอันดับตำแหน่งของผู้หญิง การที่ผู้หญิงถูกผู้ชายแย่งที่นั่งหรือแตะต้องร่างกายโดยไม่ยินยอม การมีพริวิลเลจหรือสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่เพียงเพราะตัวเองเป็นหน้าเป็นตาให้กับโรงเรียนจนไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ เพราะผู้ใหญ่ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ารำคาญ แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มันจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ในช่วงสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งจริง ๆ หนังให้เบาะแสเราผ่านรีแอ็คหรือการแสดงออกของตัวละคร ถ้าใครสังเกตจะพอเดาได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรียกได้ว่ามันมีรายละเอียดแอบแฝงในแต่ละฉากไว้อยู่ อยากให้สังเกตกันดี ๆ แล้วจะเก็ตว่าทำไมตัวละครถึงแสดงออกแบบนั้น

ประเด็นจากตัวละครที่ออกมาแสดงความเห็นช้า อาจเพราะความกลัวที่จะออกมาพูดเรื่องที่ตัวเองอยากจะพูด ทั้งสังคมหรือความเชื่อที่มีมา อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก กว่าจะออกมาพูด ทำให้บางครั้งการเงียบก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้สนใจปัญหาแต่กำลังรอจังหวะอยู่ หรือผู้ใหญ่บางคนที่เลือกจะยัดเยียดหรือปิดปากเหยื่อเพื่อทำให้ปัญหาที่กำลังเกิดในสงครามดูเบาลง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อปัญหามันโดดเด่นเกินกว่าจะปิดบังก็ต้องยอมรับกับความจริง กหนังยังพาเราไปค้นหาตัวเองให้ยอมรับในสิ่งที่ทำ และภูมิใจในการเป็นตัวเอง แม้ว่าในตอนแรกจะเป็นการทำเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยกย่อง แต่พอได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยใจและอยากช่วยเหลือ มันก็ทำให้ผลออกมาดี แม้ว่ามันอาจจะต้องล้มเหลวหรือไม่สำเร็จ แต่ตราบใดที่มีมิตรภาพ มีคนรัก มีครอบครัวพร้อมจะอยู่เคียงข้างเป็นกำลังใจโดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ ก็ไม่มีอะไรที่จะมาขวางทางได้ ถ้าเราเห็นความไม่ปกติของสังคม มันอยู่ที่เราแล้วว่าจะปล่อยเฉยหรือลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และมันก็ไม่มีอะไรมากเกินไป เพราะทุกอย่างมีการเรียกร้องเสมอเมื่อมันไร้ความเป็นธรรมในสังคม แต่ถ้าเราเลือกจะอยู่เฉยไม่ทำอะไร เราก็อาจจะกลายเป็นปัญหาซะเอง

องค์ประกอบที่ลงตัว

การถ่ายทำก็สไตล์หนังเน็ตฟลิกซ์จ๋า ๆ มุมกล้องอะไรต่าง ๆ ไม่ได้แปลกใหม่อะไร เหมือนดูซีรีส์ความยาว 1 ชั่วโมง 43 นาที ในส่วนบทอาจจะไม่ได้หวือหวาไปกว่าหนังเน็ตฟลิกซ์เรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่การตีแผ่สังคมโรงเรียนมัธยมระบอบชายเป็นใหญ่ก็ถือเป็นอะไรที่สอบผ่าน และน่าจะทำให้คนที่ได้ดูไม่รู้สึกเหมือนกำลังถูกปฏิเสธจากสาสน์ในเรื่อง หลายฉากเหมือนเขียนขึ้นมาจากคนที่เคยเจอปัญหาแบบนี้ในสังคมจริง ๆ ผมอาจจะเคยเป็นทั้งเหยื่อหรือผู้เมินเฉยแบบในเรื่อง แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือสิ่งที่สังคมกำลังเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังเดินเรื่องไว ไม่ได้มีปมให้เดาทางยากสักเท่าไหร่ แต่มันก็ทำออกมากลมกล่อม ทั้งเรื่องของการต่อสู้ เรื่องของมิตรภาพ เรื่องของความรักที่เป็นมิตรและไม่เป็นพิษด้วย ดูแล้วอาจจะได้ไอเดียในการริเริ่มการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองก็ได้ ในส่วนของทีมนักแสดง แฮดลีย์ โรบินสัน ก็สามารถเดินเรื่องของตัวเองได้จนจบ ในบทของเด็กสาวที่สับสนและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม แต่เป็นธรรมชาติและขับเคลื่อนเรื่องราวและปมของตัวเองได้เป็นอย่างดี นักแสดงคนอื่น ๆ ก็เป็นธรรมชาติ แค่รู้สึกว่าบทของบางตัวละครมันน่าจะขยายอะไรได้มากกว่านี้ เพราะหนังวนเวียนกับชีวิตตัวเอก ในขณะที่ตัวละครแวดล้อมรอบตัวมันเอื้อให้ทำได้มากกว่านี้ ถ้าทำเป็นมินิซีรีส์อาจจะเต็มอิ่มกว่านี้ก็ได้ ในส่วนของเพลงก็ไม่ได้เอามาแค่พังค์ร็อคผ่าน ๆ แต่เป็นเพลงที่แอบแฝงการเคลื่อนไหวของวงพังค์ร็อก/อัลเทอร์เนทีฟร็อกในยุค 90 ที่เป็นวงดนตรีหญิงซึ่งสอดคล้องกับตีมกับเรื่องที่ผู้หญิงออกมาส่งเสียงของตัวเอง โดยไม่ต้องแคร์สายตาของใคร เดือดและเสริมกำลังกับหนังมากไปอีก

ควรชม หรือ ข้าม

อยากแนะนำให้ทุกคนได้ดู ถือเป็นหนังดูฆ่าเวลาที่ได้อะไรมากกว่าความสนุก แม้การเล่าเรื่องจะไม่ได้หวือหวา แต่สาสน์หรือบทสนทนาของเรื่องนั้นทรงพลัง และให้ความสำคัญกับคนดูในเรื่องการเรียกร้องของสตรีโดยไม่ยัดเยียด ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้แบ่งแยก เปิดทางให้เรามาสำรวจตัวละครและปัญหาในเรื่อง และสนุกสุดเหวี่ยงไปกับการกระทำของผู้หญิงเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีเอามากๆ ในช่วงที่สังคมมีแต่อาชญากรรมการล่วงละเมิดทางเพศ หนังเรื่องนี้ควรให้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และผู้ใหญ่ได้ดู เพราะมันจะทำทุกคนหันกลับมามองและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเฟมินิสต์ได้ดียิ่งขึ้นผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณได้ยินเสียงนั้นมั้ย เสียงกรีดร้องของความโกรธที่ถูกกดขี่ของทุกเพศภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ (ไม่ได้หมายถึงแค่ผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็สามารถกดขี่กันเองได้เช่นกัน) เพราะงั้นเงี่ยหูฟัง และตั้งใจฟังภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องให้ดี ๆ เพราะมันอาจจะเปลี่ยนทัศนคติของคุณที่มีต่อเฟมมินิสต์ให้เป็นคนที่ดีกว่าที่เป็นมาเลยก็ได้

ตัวอย่างล่าสุด Moxie ม็อกซี่

สามารถชมได้แล้วที่ NETFLIX ไม่ควรพลาดครับ

  • ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจในแวดวงเกม รีวิวภาพยนตร์ ซีรีส์ และ อนิเมะ ได้ ที่นี่
  • ติดตามผลงานของผม Thousand Mar ได้ ที่นี่
รีวิว Black Doves พิราบเงา (Netflix) ซีรีส์สายลับที่ตัวละครมีเสน่ห์ซับซ้อนคมคายสุดๆ